กลุ่มดาวบนท้องฟ้า ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 วิชาวิทยาศาสตร์

Jutalak Cherdharun มิ.ย. 21, 2022 • 3 min read


cover-sky

เพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดหรือชานเมือง คงมีโอกาสได้เห็นดาวมากมายเต็มท้องฟ้าในเวลากลางคืน ซึ่งไม่ว่าใครก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่างสวยงามจริง ๆ มนุษย์เรามองเห็นดาวหลาย ๆ ดวงเรียงตัวอยู่ใกล้ ๆ กัน ก็เลยจับรวมให้เป็น “กลุ่มดาว” ต่าง ๆ ที่มีรูปร่างตามจินตนาการของผู้สังเกต กลุ่มดาวบนท้องฟ้าจะมีอะไรบ้าง และเราจะรู้ตำแหน่งของกลุ่มดาวเหล่านั้นได้ยังไง ไปดูกันเลย

 

กลุ่มดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า

เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า บนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ของเรามีกลุ่มดาวมากถึง 88 กลุ่มเลยนะ โดยมีทั้งกลุ่มดาวที่ปรากฏขึ้นในแต่ละเดือน ซึ่งจะปรากฏตัวประมาณ 30 วัน เช่น กลุ่มดาวแพะทะเล หรือกลุ่มดาวมกร (Capricornus) ปรากฏขึ้นในช่วงเดือนมกราคม กลุ่มดาววัว (Taurus) ปรากฏขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม กลุ่มดาวตราชั่ง (Libra) ปรากฏขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม เป็นต้น และกลุ่มดาวที่ปรากฏให้คนบนโลกเห็นได้ตลอดทั้งปีซึ่ง StartDee ขอเสนอกลุ่มดาว 2 กลุ่มที่สามารถมองเห็นได้ไม่ยากจนเกินไปนัก ดังนี้

1. กลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือกลุ่มดาวจระเข้ (Ursa Major)

ประกอบไปด้วยดวงดาวทั้งหมด 7 ดวง ผู้ที่อาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือสามารถมองเห็นได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่อยู่บริเวณซีกโลกใต้ จะมองเห็นได้ลำบาก

2. กลุ่มดาวนายพราน (Orion)

กลุ่มดาวนี้ สามารถมองเห็นได้ทั่วกันทั้งโลก ถ้าสังเกตที่ขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก ช่วงหัวค่ำของฤดูหนาว ในเดือนธันวาคม จะพบกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์ ที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนอย่างน้อย 8 ดวง วิธีสังเกตกลุ่มดาวนายพรานง่าย ๆ ให้เพื่อน ๆ มองหาดาว 3 ดวงที่เรียงกันเป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นส่วนของเข็มขัดของนายพราน

เราจะรู้ตำแหน่งของกลุ่มดาวต่าง ๆ ได้อย่างไร

เราสามารถบอกตำแหน่งของกลุ่มดาว ได้ด้วยการใช้เส้นขอบฟ้าและจุดเหนือศีรษะ โดยท้องฟ้าที่เราเห็นนั้น จะมีลักษณะคล้ายครึ่งทรงกลม ซึ่งแนวเส้นที่บรรจบกันระหว่างท้องฟ้า และผืนน้ำหรือผืนดิน ก็คือเส้นขอบฟ้านั่นเอง ส่วนจุดที่อยู่สุงสุดของท้องฟ้า และอยู่ตรงศีรษะพอดี นั่นมีหลายชื่อเรียก ทั้งจุดเหนือศีรษะ จุดยอดฟ้า และจุดจอมฟ้า

อย่างไรก็ตามเส้นขอบฟ้า และจุดเหนือศีรษะนั้น เป็นเส้นที่ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นตำแหน่งที่สมมติขึ้นจากการมองเห็น เพื่อให้เราใช้อ้างอิงเวลาศึกษาตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนท้องฟ้าได้ จากนั้นเราจะบอกตำแหน่งของดวงดาว โดยการวัดมุมทิศ และมุมเงย

มุมทิศ คือ มุมที่ทำกับทิศเหนือ โดยวัดจากทิศเหนือ ไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา วัดโดยการใช้เข็มทิศ ส่วนมุมเงย คือ มุมที่ทำกับเส้นขอบฟ้า ซึ่งวัดจากเส้นขอบฟ้าขึ้นไปในแนวดิ่ง

285131005_3397097350523578_8521777965133092905_n

สำหรับการวัดมุมเงยโดยประมาณ สามารถทำได้ด้วยการเหยียดแขนออกไปสุดแขนในแนวระดับ จากนั้นหลับตาข้างหนึ่ง แล้วใช้ตาอีกข้างหนึ่ง เล็งไปที่ปลายนิ้วมือ

286636468_613392579740472_2755097602977190100_n

ใช้มือวัดมุมเงยโดยเริ่มจากเส้นขอบฟ้า แล้วยกต่อขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงตำแหน่งที่ต้องการทราบค่ามุมเงย

288190467_806291337021188_7144757206469006489_n

นอกจากนั้น เรายังใช้ความกว้างของนิ้วและมือ บอกมุมของดวงดาวบนท้องฟ้าได้หลายค่า ซึ่งวัดได้ดังนี้

  1. ความกว้างของนิ้วก้อย มีค่าเท่ากับ 1 องศา
  2. ความกว้างของนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง สามนิ้วรวมกันมีค่าเท่ากับ 5 องศา
  3. ความกว้างของกำปั้น มีค่าเท่ากับ 10 องศา
  4. ความกว้างระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วก้อย มีค่าเท่ากับ 15 องศา
  5. ความกว้างระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วก้อย มีค่าเท่ากับ 20 องศา

286162392_2269446683193090_2393845189653284023_n

เป็นยังไงกันบ้างเพื่อน ๆ ทำตามวิธีด้านบนไปแล้ว หากลุ่มดาวเจอกันบ้างหรือเปล่า ถ้าเจอแล้วถ่ายรูปมาแชร์กับ StartDee บ้างนะ (ถึงกลุ่มดาวในรูปจะเล็กมาก แต่เราก็จะพยายามดู !) และถ้าเพื่อน ๆ สนใจอยากเรียนเรื่องดวงดาวต่อ อย่าลืมดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนกันนะ สนุกกว่าอ่านแน่นอน

แสดงความคิดเห็น