โซตัสคืออะไร ถอดบทเรียนวัฒนธรรมรับน้องที่เด็กใหม่ไม่อยากเจอ

โซตัสคืออะไร

ตลอดช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เพื่อน ๆ คอซีรีส์หลายคนคงได้เห็นภาพการว้ากและประเพณีรับน้องสุดโหดจากซีรีส์เด็กใหม่ ซีซัน 2 ตอน SOTUS กันมาแล้ว นอกจากกระแสชื่นชมนักแสดงที่ทุ่มเทกับซีรีส์อย่างสุดตัว ประเด็นเรื่องความรุนแรงของระบบโซตัส (SOTUS) ในการรับน้องของมหาวิทยาลัยไทยก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ชาวเน็ตยกมาถกเถียงและแชร์ประสบการณ์กันอย่างกว้างขวาง เพื่อน ๆ หลายคนอาจพอรู้มาก่อนว่าซีรีส์เด็กใหม่ ซีซัน 2 แทบทุกตอนนั้นมีเค้าโครงมาจากข่าวฉาวที่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และการรับน้องโหดของไทยนั้นก็ขึ้นชื่อในแง่ความป่าเถื่อน รุนแรง ในช่วงสัปดาห์แรกของเทศกาลรับน้องใหม่มักมีรายงานข่าวน้องปีหนึ่งเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการเข้าร่วมกิจกรรมอยู่เสมอ และการรับน้องที่รุนแรงเหล่านี้ล้วนมีระบบโซตัสเป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม ว่าแต่... จริง ๆ แล้วระบบโซตัสคืออะไร การรับน้องจำเป็นต้องรุนแรงเหมือนในซีรีส์หรือไม่ วันนี้ StartDee จะพาเพื่อน ๆ ทุกคนไปหาคำตอบ

Banner-Orange-Standard

 

ระบบอาวุโส: ต้นกำเนิดระบบโซตัส

มีผู้สันนิษฐานไว้ว่าระบบโซตัสพัฒนามาจากระบบอาวุโสในโรงเรียนประจำของอังกฤษ โดยอาจารย์จะแต่งตั้งนักเรียนชั้นปีสูง ๆ ที่มีความประพฤติดีมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ (Fag, Prefect หรือ Perfect) เพื่อทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนรุ่นน้อง แนวคิดเรื่องระบบอาวุโสในโรงเรียนประจำปรากฏในพล็อตของนิยายและซีรีส์ต่าง ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น Black Butler (Kuroshitsuji) ในตอน 67 - 84 ที่ตัวเอกต้องไปสืบคดีในโรงเรียนประจำชื่อดังของผู้ดีอังกฤษอย่างเวสตัน คอลเลจ หรือจะเป็นแฮรี่ พอตเตอร์ที่มี ‘พรีเฟ็กต์’ หัวหน้าชั้นปีชายหญิงที่ได้รับคัดเลือกจากศาสตราจารย์ประจำบ้านให้ทำหน้าที่ดูแลเด็กใหม่ในโรงเรียนเวทมนตร์ (ซึ่งก็เป็นโรงเรียนประจำแบบอังกฤษเช่นกัน) ตำแหน่งพรีเฟกต์เป็นตำแหน่งในฝันของบรรดาเด็กใหม่ทั้งหลาย เพราะนอกจากจะเป็นที่ไว้วางใจของเหล่าอาจารย์ พรีเฟกต์ยังมีสิทธิพิเศษในการตักเตือน หักลบคะแนนพฤติกรรมนักเรียนรุ่นน้อง แถมยังมีห้องนั่งเล่น ห้องอาบน้ำส่วนตัวเป็นอภิสิทธิ์พิเศษเสริมมาอีกต่างหาก ซึ่งอำนาจและสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น ๆ ในรูปแบบเดียวกันนี้ก็ปรากฎให้เห็นในกลุ่มรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมรับน้องในไทยเช่นกัน

เพอร์ซี่ วีสลีย์และการทำหน้าที่พรีเฟกต์

แนวคิดเรื่องระบบอาวุโสเข้ามาสู่สยามราวช่วงปี พ.ศ. 2440 โดยถูกใช้ในโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน (ซึ่งเปลี่ยนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา) จากนั้นจึงกลายเป็นโซตัส (SOTUS) วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคมรูปแบบหนึ่งที่ยึดคุณค่าหลัก 5 ประการ ได้แก่ ความอาวุโส (Seniority) ระเบียบ (Order) ประเพณี (Tradition) ความสามัคคี (Unity) และความมีน้ำใจ (Spirit) นิสิตหลายคนในยุคนั้นมองว่าแนวคิดของระบบโซตัสเป็นค่านิยมที่น่าสานต่อ จนกระทั่งศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์หยิบอุดมการณ์นี้มาถ่ายทอดผ่าน ‘เกียรติภูมิจุฬา’ เพลงเชียร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีเนื้อความว่า...

อาวุโสเทิดไว้

น้ำใจ ระเบียบเรานี้

พร้อมประเพณี

เสริมให้มีแต่วัฒนา”

ถ้าหากเราพิจารณาที่มาของชื่อและคุณค่า 5 ประการที่ระบบโซตัสยึดถือ ทั้งการเคารพรุ่นพี่ที่มีความอาวุโสกว่า การเคารพกฎระเบียบ ปฏิบัติตนตามประเพณี มีความสามัคคีและมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมรุ่น รวม ๆ แล้วระบบโซตัสก็ไม่ได้เลวร้ายนัก จนกระทั่งในเวลาต่อมาที่การตีความและวิธีการนำระบบโซตัสไปใช้เริ่มเปลี่ยนไป

 

 

ระบบโซตัสและการรับน้องโหด

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญกล่าวว่าการรับน้องรุนแรงในประเทศไทยเริ่มเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยคาดว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ซึ่งมีประเพณีรับน้องแบบคลุกฝุ่นลุยโคลน เมื่อรวมกับระบบโซตัสเดิมที่มีอยู่เดิม การรับน้องในไทยก็เริ่มโหดขึ้นและมี ‘การว้าก’ เพิ่มเข้ามา โดยรุ่นพี่มักจัดสถานการณ์ยากลำบากให้รุ่นน้องต้องต่อสู้ร่วมกัน โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในกลุ่มรุ่นน้อง

“แค่นี้ยังทนไม่ได้ เรียนจบออกไปจะไหวเหรอ”

“รุ่นพี่ถูกเสมอ รุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง”

และยังมีวาทกรรมอื่นอีกมากมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับน้องที่รุนแรง การรับน้องส่วนใหญ่รุ่นพี่จะใช้อำนาจแบบสุดโต่ง กดดันให้รุ่นน้องเชื่อฟังแบบหลับหูหลับตา หลายกิจกรรมสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจ บางครั้งคำสั่งก็บ้าบิ่นเกินและเลยเถิดจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รุ่นน้องได้รับบาดเจ็บและอันตรายจนถึงชีวิต ทว่ารุ่นน้องที่เคยถูกกดขี่ในปีนี้ก็รอวันที่จะได้เป็นรุ่นพี่ในปีต่อไป จากนั้นก็เริ่มสืบทอดประเพณีรับน้องรุนแรงในปีการศึกษาใหม่ วัฒนธรรมโซตัสและการรับน้องรุนแรงจึงวนเวียนอยู่ในสถานศึกษาไทยอย่างไม่รู้จบ

 

 

ANTI SOTUS และเทรนด์รับน้องสร้างสรรค์

เมื่อการรับน้องเริ่มหนักข้อขึ้นและมีดราม่ารับน้องรุนแรงต่อเนื่องกันหลายปี จึงมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยและตั้งกลุ่ม ANTI SOTUS ขึ้น โดยมีการประชาสัมพันธ์แนวคิดต่อต้านการรับน้องรุนแรงผ่านสื่อออนไลน์ จนไปถึงการยื่นจดหมายถึงอธิการบดีของคณะและมหาวิทยาลัยให้เข้ามาสอดส่องการรับน้องที่่รุนแรงในสถาบัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่มองว่าการขับเคลื่อนด้วยการยื่นจดหมายของกลุ่ม ANTI SOTUS ยังไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร และการสื่อสารของกลุ่มก็ดูเหมือนประนามการรับน้องรุนแรงมากกว่าจะแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังทำให้การรับน้องที่ไม่รุนแรงของสถาบันอื่น ๆ โดนเหมารวมไปด้วย กระแสการต่อต้านระบบโซตัสและแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ANTI SOTUS จึงยังคงมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่

68430999_2362288344035502_7635827759180152832_nภาพบรรยากาศการรับน้องก้าวใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้สร้างสรรค์ขึ้น ขอบคุณภาพจาก SGCU Camera

ทั้งนี้ผู้เขียนเองมองว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทำให้สถาบันศึกษาในปัจจุบันตระหนักเรื่องความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องกว่าเดิม รุ่นพี่ผู้จัดกิจกรรมหลาย ๆ กลุ่มเริ่มย้อนมามองจุดประสงค์ที่แท้จริงของการรับน้องมากขึ้น จนเกิดเป็นเทรนด์ ‘การรับน้องสร้างสรรค์’ ที่มุ่งให้น้อง ๆ สนุกกับกิจกรรม ได้ทำความรู้จักรุ่นพี่และเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้กฎระเบียบพื้นฐานของมหาวิทยาลัยแบบไม่ต้องข่มขู่ ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เคยผ่านการรับน้องของคณะที่เคยได้ขึ้นชื่อว่า ‘ห้องเชียร์โหด’ ติดอันดับต้น ๆ ของมหาวิทยาลัย แต่ในปีนั้นรุ่นพี่ผู้จัดงานรับน้องตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทั้งหมดไม่ให้มีการว้าก ไม่มีความรุนแรง หรือการกดดันรุ่นน้อง ถึงห้องเชียร์ปีนั้นจะคนน้อยจนใจหาย (เพราะกิติศัพท์ความโหดจากปีก่อน ๆ) แต่ก็พอเป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันได้ว่ารูปแบบการรับน้องและห้องเชียร์ในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ไม่สามารถเป็นตัวแทนรูปแบบการรับน้องในมหาวิทยาลัยไทยได้ทั้งหมด คณะอื่น มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอื่น ๆ ที่ยังใช้การรับน้องแบบเดิม ๆ ก็ยังมีอยู่ และผู้เขียนคงไม่สามารถระบุชื่อสถาบันเหล่านั้นได้โดยตรง แต่ผู้เขียนอยากย้ำว่า ‘การเข้าร่วม’ หรือ ‘ไม่เข้าร่วม’ เป็นสิทธิของรุ่นน้องทุกคนตั้งแต่แรก หากเพื่อน ๆ มองว่ากิจกรรมนั้นรุนแรงก็เลือกที่จะไม่เข้าร่วมได้เช่นกัน และหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมอย่างการทำร้ายร่างกาย การหมิ่นประมาท การกักบริเวณหรือการบังคับขืนใจให้ทำกิจกรรม ทั้งหมดนี้สามารถเอาผิดผู้กระทำทางกฎหมายได้ อย่างน้อย ๆ การที่มีกฎหมายเคียงข้างก็คงช่วยให้อุ่นใจในการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องมากขึ้น 

และสุดท้ายนี้ผู้เขียนก็ยังคงเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาการรับน้องโหดและการใช้ระบบโซตัสแบบไทย ๆ คือการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีปฎิบัติต่อรุ่นน้องของรุ่นพี่ผู้จัดกิจกรรม เราอาจจะต้องมานั่งคิดกันว่า “เราสามารถสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่รุ่นน้อง แต่ไม่ต้องสร้างสถานการณ์ หรือใช้อำนาจมากดดันได้ไหม” หากเราหาคำตอบของคำถามนี้และจัดกิจกรรมรับน้องที่สร้างสรรค์ขึ้นได้ เราน่าจะได้เห็นความเคารพรุ่นพี่จากรุ่นน้องที่จริงใจ ไม่ได้มาจากความกลัว และไม่ต้องรอให้ซีรีส์มาตีแผ่ปัญหาสังคมอย่างทุกวันนี้

 

 

Reference:

https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1057641/hazing-rituals-foster-authoritarianism-on-campuses

https://prachatai.com/journal/2013/05/46916

https://thematter.co/thinkers/sotus-thai-or-not-ja/6208

https://www.muggle-v.com/25504/

แสดงความคิดเห็น