เพื่อน ๆ คิดว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคน ครอบครัวสองครอบครัว หรือมากกว่านั้น ?
เมื่อการความรักไม่ได้มีแค่เรื่องของหัวใจ แต่ยังมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง StartDee เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาเรียนรู้เรื่อง ‘การหมั้น’ กันไว้ก่อน เวลาดูละคร หรือคนในครอบครัวเราหมั้นหมายจะได้ไม่งง ทั้งเรื่องสินสอดทองหมั้น เงื่อนไขอายุ และอีกหลายประเด็นที่เราอยากจะเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
‘การหมั้น’ คืออะไร ?
การหมั้น คือ การทำสัญญาระหว่างคู่รักว่าจะสมรสกันในอนาคต โดยต้องทำการหมั้นกันเป็นกิจจะลักษณะและเป็นที่เปิดเผยรับรู้ของบุคคลทั่วไป (แต่การสมรสไม่จำเป็นต้องมีการหมั้นก่อนเสมอไป) ซึ่งการหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายส่งมอบของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง โดยของหมั้นที่ว่านี้ คือทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิงเท่านั้น (หญิงจะมอบให้ชายไม่ได้) และจะต้องมอบให้ขณะที่ทำการหมั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะสมรสกับฝ่ายหญิงในวันข้างหน้า
เงื่อนไขการหมั้นมีอะไรบ้าง ?
1. อายุ โดยชายและหญิง* ต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์จึงจะหมั้นกันได้ ถ้าต่ำกว่านั้นการหมั้นนั้นจะเป็นโมฆะ** และหากยังอายุ 17 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ (บรรลุนิติภาวะ) จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
2. ความยินยอม โดยผู้เยาว์*** (อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) หากจะหมั้นต้องได้รับความยินยอมจาก
- บิดาและมารดา กรณีที่ผู้เยาว์มีทั้งบิดาและมารดา
บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ที่ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาทั้งคู่พร้อมกันได้ ให้ขอความยินยอมจากใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ - ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้รับบุตรบุญธรรม เช่น หากมีทั้งพ่อ แม่ และผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นเพราะมีอำนาจปกครองบุตรแล้ว ส่วนพ่อแม่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรแล้วเพราะได้มอบอำนาจปกครองบุตรให้แก่ผู้รับบุตรบุญธรรมแล้วจึงไม่ต้องให้ความยินยอมตามกฎหมาย
- ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลก่อนหน้านี้ หรือมีแต่ถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว หากการหมั้นไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลข้างต้น จะถือเป็นโมฆียะ**
3. ของหมั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้การหมั้นสมบูรณ์ โดยฝ่ายชายจะต้องมอบของหมั้นให้ฝ่ายหญิง ขณะทำการหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นโดยเป็นทรัพย์สินอะไรก็ได้ เช่น แหวนเพชร ทองคำ เงินสด รถ เครื่องบิน เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นนั้นจะตกเป็นสิทธิแก่ฝ่ายหญิงทันที และฝ่ายชายอาจเรียกคืนได้หากฝ่ายหญิงผิดสัญญาไม่สมรสด้วย
ขอบคุณภาพจาก Boomerang Official
*ข้อสังเกต กฎหมายในปัจจุบันเขียนไว้ว่า ชายและหญิงเท่านั้นที่สามารถหมั้นกันได้ ถ้าเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง จะไม่สามารถหมั้นกันได้
*โมฆะ หมายถึง การกระทำที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย (ไม่มีสิทธิ์ทำตั้งแต่ต้น) ส่วน โมฆียะ หมายถึง การกระทำที่มีผลบังคับตามกฎหมายแต่อาจเป็นโมฆะได้เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม หรือมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการให้สัตยาบัน (มีสิทธิ์แต่มีเงื่อนไข เช่น ปลาทองอายุ 18 ปี หมั้นกับปลาทูอายุ 25 ปี หากผู้ปกครองของปลาทองไม่ได้ให้ความยินยอมการหมั้นจะเป็นโมฆียะ ผู้ปกครองของปลาทองย่อมสามารถบอกล้างโมฆียะกรรมทำให้การหมั้นเป็นโมฆะ หรืออาจจะให้สัตยาบันซึ่งคือการให้ความยินยอมในการที่ปลาทองหมั้นก็จะส่งผลให้การหมั้นนั้นสมบูรณ์)
***ผู้เยาว์ หมายถึง ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยการบรรลุนิติภาวะมี 2 กรณี ได้แก่ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์แต่ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย
‘สินสอด’ กับ ‘ของหมั้น’ ต่างกันอย่างไร ?
- ของหมั้น เป็นเงื่อนไขความสมบูรณ์ของสัญญาหมั้น ส่วนสินสอดไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการหมั้น แต่เป็นธรรมเนียมที่ฝ่ายชายจะมอบทรัพย์สินให้แก่ บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส และแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ดูแลเลี้ยงดูหญิงมาตลอด ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการมอบสินสอด (จะให้ภายหลังการหมั้นก็ได้) แต่หากมีการตกลงให้สินสอดกันแล้ว บิดามารดา หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงสามารถเรียกร้องสินสอดนั้นได้
- ผู้รับของหมั้น คือคู่หมั้นซึ่งเป็นฝ่ายหญิง ส่วนผู้รับสินสอด คือบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณี และของหมั้นจะตกเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง (ไม่รวมสินสอด)
- ของหมั้นต้องให้ขณะหมั้นเท่านั้น แต่สินสอดจะให้ตอนไหนก็ได้
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผิดสัญญาหมั้น ?
ถ้าคู่หมั้นของเราผิดสัญญาหมั้น เราไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้อีกฝ่ายสมรสกับเราได้นะเพื่อน ๆ เพราะการสมรสจะต้องเกิดจากความสมัครใจ ถ้าเขาไม่รักก็บังคับเขาไม่ได้ (ปาดน้ำตา) ดังนั้น การหมั้นจึงเปรียบเหมือนสัญญาใจ แต่ไม่ได้การันตีว่าจะต้องได้จดทะเบียนสมรสเสมอไป
หากอีกฝ่ายผิดสัญญาหมั้น อาจจะต้องจ่ายค่าทดแทนกรณีที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความเสียหาย เช่น A หมั้นกับ B พร้อมกำหนดวันแต่งงานไว้เรียบร้อยและตกลงกันว่าจะให้ A ลาออกจากงานเพื่อย้ายมาอยู่กับ B แต่ปรากฏว่า B ผิดสัญญาไปแต่งงานกับ C ! กรณีนี้ B จะต้องชดใช้ค่าเสียหายทดแทนที่ A ต้องลาออกจากงานนั่นเอง
ขอบอกก่อนว่าบทความเรื่องการหมั้นและวีดิโอสนุก ๆ ข้างบนนี้เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น เพราะเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูบทเรียนฉบับเต็มครบทั้ง 7 วิชา พร้อมทำข้อสอบกันต่อได้ในแอปพลิเคชัน StartDee ของเราเลย หรือจะเติมความรู้วิชาสังคมศึกษาม.4 ไปกับบทความองค์การระหว่างประเทศ (UN, ASEAN) หรือเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (APEC, AFTA, WTO) ไว้เตรียมสอบสังคมแบบคะแนนปัง ๆ กันไปเลย
ขอบคุณข้อมูลจากนายทีฆาทัศ บุณญพัฒน์ (ครูเอก) และนายธนดล หิรัญวัฒน์ (ครูไบรท์)
Did You Know ? : ความรักที่ไม่จำกัดเรื่องเพศ กับแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม
ขอบคุณภาพจาก BBC News
ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องการหมั้นแล้ว จะไม่พูดถึงแฮชแท็กฮิตติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่าง #สมรสเท่าเทียม ก็คงไม่ได้ ซึ่งแฮชแท็กนี้ได้รับความนิยมในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการผลักดันกฎหมายไทยให้รองรับสิทธิการแต่งงานของ LGBTQ เพราะเดิมทีการสมรสในกฎหมายเป็นเรื่องของเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งการผลักดันครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 แนวทางด้วยกัน ได้แก่
- การมีพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (พ.ร.บ.คู่ชีวิต) แยกออกมา ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม และมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
- การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) โดยไม่ต้องมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตแยกออกมา ซึ่งเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
สำหรับแนวทางที่สอง พรรคก้าวไกลให้เหตุผลว่า แนวทางแรกไม่รองรับความเท่าเทียมทางเพศเท่าที่ควร จึงเชิญชวนให้ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ และเป็นที่มาของแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ในทวิตเตอร์นั่นเอง
สำหรับความแตกต่างของ 2 แนวทาง เราสรุปมาจากเว็บไซต์ของ iLAW ได้ดังนี้
ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต (กระทรวงยุติธรรม) |
แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยสมรส (ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล) |
คนที่จดทะเบียนสมรสได้มีเฉพาะเพศชายสมรสกับเพศหญิง หากเป็นเพศเดียวกันต้องไปจดทะเบียนมีสถานะเป็น ‘คู่ชีวิต’ แทน |
ทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรส และมีสถานะเป็น ‘คู่สมรส’ ได้เหมือนกัน |
อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส คือ 17 ปีบริบูรณ์ |
อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส คือ 18 ปีบริบูรณ์ |
ยังไม่ได้กล่าวถึงการหมั้น |
อายุขั้นต่ำของการหมั้นคือ 17 ปีบริบูรณ์ โดยการให้ของหมั้น ฝ่ายชายให้หญิงและ/หรือหญิงให้ชายก็ได้ และถ้าจะให้สินสอด ก็ไม่จำกัดเพศของผู้ให้และผู้รับเช่นกัน (จากเดิมที่ฝ่ายชายต้องมอบให้กับฝ่ายหญิงเท่านั้น) |
การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐยังไม่ชัดเจน |
คู่สมรสมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการของรัฐบางประการ และเปิดให้แก้ไขกฎหมายบางอย่าง ที่ให้สวัสดิการเฉพาะชายหญิง |
Reference
ILAW. (2020, June 18). Pride Month: สำรวจ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส. Retrieved August 11, 2020, from https://www.ilaw.or.th/node/5695
ILAW. (2020, July 7). #สมรสเท่าเทียม : สำรวจหลักกฎหมายและร่างพ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส. Retrieved August 11, 2020, from https://ilaw.or.th/node/5711
The Matter. (2020, July 12). สรุปหลักการและข้อกฎหมาย ทำไม ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของรัฐ จึงไม่นำไปสู่การสมรสเท่าเทียม? Retrieved August 11, 2020, from https://thematter.co/brief/recap/recap-1594278268/117010