เพื่อน ๆ หลายคนคงคิดเหมือนกันว่าสิ่งที่ปวดหัวไม่แพ้การทำรายงาน ก็คือส่วนท้ายสุดของเล่มอย่าง ‘บรรณานุกรม’ นั่นเอง ในการเขียนรายงานเชิงวิชาการต่าง ๆ การทำบรรณานุกรมถือเป็นส่วนบังคับที่รายงานเหล่านี้จะต้องมี แต่การใช้จุด ขีด จุลภาค (,) ตัวหนา ตัวเอียงก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราสับสนใช่เล่น แล้วแบบนี้เราจะทำบรรณานุกรมไปทำไม มีตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นกว่านี้ไหม ในบทความนี้ StartDee จะพาทุกคนไปหาคำตอบ
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากหาข้อมูลทำรายงานในวิชาต่าง ๆ อย่าลืมดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee เรียนครบจบทุกวิชาหลักกันไปเลย
ทำไมต้องเขียนบรรณานุกรม
ในการเขียนเชิงวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นบทความสำหรับวารสารทางวิชาการ รายงาน หรืองานวิจัย แม้จะเป็นการเสนอข้อมูลหรือการค้นพบใหม่ ๆ แต่ผู้เขียนก็ต้องสืบค้นทฤษฎีหรือข้อมูลจากแหล่งอื่นมาประกอบงานเขียนของตนเสมอ ถ้าเปรียบการเขียนรายงานเป็นการปรุงอาหาร วัตถุดิบในจานก็จะมีทั้งวัตถุดิบของเพื่อน ๆ เอง และวัตถุดิบที่ยืมนักคิด นักวิจัยคนอื่น ๆ มาด้วย ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับรายงานก็คือ ‘บรรณานุกรม’ ที่แสดงแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น ๆ และเป็นการให้ ‘เครดิต’ แก่เจ้าของข้อมูลนั่นเอง นอกจากจะเป็นการยืนยันว่าเราไม่ได้คัดลอกงานเขียนนั้นมาโดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของงาน (Plagiarism) ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์ บรรณานุกรมยังมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยให้เราสืบค้นข้อมูลได้ง่ายในภายหลังด้วย
แล้ว ‘เอกสารอ้างอิง’ กับ ‘บรรณานุกรม’ ต่างกันไหม
เมื่อตัดสินใจจะเริ่มเขียนบรรณานุกรม อีกหนึ่งคำที่ดูจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าบรรณานุกรมก็คือคำว่าเอกสารอ้างอิง เพื่อน ๆ หลายคนคงสงสัยว่าสองคำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร คำตอบก็คือ
เอกสารอ้างอิง หรือรายการอ้างอิง (Reference) เป็นรายชื่อของเอกสารทุกชิ้นที่เรากล่าวถึงในเนื้อหา ส่วนบรรณานุกรม (Bibliography) นั้นจะมีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยรวมถึงหนังสือ เอกสาร หรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่เราอ่านหรือค้นคว้าเพิ่มเติมไว้ด้วย ซึ่งผู้เขียนอาจนำข้อมูลจากเอกสารเหล่านี้มาเรียบเรียงใหม่ ไม่ได้ยกเนื้อความบางส่วน (Quotation) มาไว้ในรายงานโดยตรง เมื่อทราบถึงความแตกต่างระหว่างเอกสารอ้างอิงและบรรณานุกรมแล้ว การเขียนรายงานครั้งต่อไปก็อย่าลืมเลือกใช้ให้ถูกต้องด้วยล่ะ
Photo by J. Kelly Brito on Unsplash
การเขียนบรรณานุกรม
มาที่ประเด็นหลักของวันนี้กันเลย ! กับ ‘การเขียนบรรณานุกรม’ ปัญหาโลกแตกสำหรับคนทำรายงาน เพราะทั้งจุด ทั้งขีด การใช้อักษรตัวหนา และตัวเอียงที่ชวนสับสน ทำให้หลายคนอยากเลี่ยงการทำบรรณานุกรมด้วยการโยนไปให้เพื่อนคนอื่นทำในที่สุด แต่ขอบอกเลยว่าถ้ารู้หลักการเขียนแล้ว การทำบรรณานุกรมก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะ เริ่มจากจุดแรกคือเราต้องรู้ก่อนว่า “รูปแบบและส่วนประกอบของบรรณานุกรมมีอะไรบ้าง” โดยในบทความนี้จะใช้การเขียนอ้างอิงแบบ APA (American Psychological Association)* เป็นหลัก
*การอ้างอิงแบบ APA (American Psychological Association) เป็นรูปแบบการเขียนอ้างอิงที่เป็นที่นิยมสำหรับงานเขียนในสาขาวิชาสังคมศาสตร์และจิตวิทยา หากเป็นสาขาวิชาอื่น ๆ ก็จะมีรูปแบบการเขียนอ้างอิงที่แตกต่างกันออกไป เช่น สาขามนุษยศาสตร์นิยมใช้การเขียนอ้างอิงแบบ MLA (Modern Language Association) สาขาธุรกิจ ประวัติศาสตร์ หรือศิลปะจะใช้การเขียนอ้างอิงแบบ Chicago Style ส่วนในสาขาวิศวกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมจะนิยมใช้การอ้างอิงรูปแบบ IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers, Inc.) เป็นหลัก
รูปแบบการเขียนอ้างอิงจากหนังสือ
ชื่อผู้แต่ง นามสกุลผู้แต่ง. (ปีที่พิมพ์). ชื่อเรื่อง. เมืองที่พิมพ์: สำนักพิมพ์.
จากรูปแบบข้างต้น จะเห็นว่าองค์ประกอบของการเขียนอ้างอิงประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่
- ชื่อสกุลผู้แต่ง
- ปีที่พิมพ์
- ชื่อเรื่อง
- เมืองที่พิมพ์และสำนักพิมพ์
โดยการลงรายละเอียดในแต่ละส่วนจะมีหลักเกณฑ์ดังนี้
หลักการลงชื่อผู้แต่ง
1. กรณีที่มีผู้แต่ง 1 คน หากผู้แต่งเป็นชาวไทยให้ใส่ชื่อ เว้นวรรคตามด้วยสกุล เช่น
แววรัตน์ โชตินิพัทธ์
Waeorath Chotnipat
หากผู้แต่งเป็นชาวต่างประเทศ (ไม่ว่างานเขียนจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ) ให้ใส่ชื่อสกุล ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค เว้นวรรคหนึ่งครั้ง ตามด้วยอักษรย่อชื่อต้น เว้นวรรคหนึ่งครั้ง และตามด้วยอักษรย่อชื่อกลาง (ถ้ามี) ยกตัวอย่างเช่น
ผู้เขียนชื่อ Andrew T. Stephen จะลงชื่อผู้แต่งได้ว่า Stephen, A. T. หรือ สตีเฟน, เอ. ที.
2. กรณีที่มีผู้แต่ง 1 - 7 คน ให้ลงชื่อผู้แต่งตามที่ปรากฏ 1 - 7 คนโดยงานเขียนที่เป็นภาษาไทย ให้คั่นทุกชื่อด้วยเครื่องหมายจุลภาค และใส่คำว่า ‘และ’ นำหน้าชื่อผู้แต่งคนสุดท้าย ยกตัวอย่างเช่น
เกวลิน คุลานนท์, ธาวิศ ข้ามแยก, โอฬาร มิตรชอบ, อรัญ อรุณสาดแสง, อารียา สูงค่า, ไอริน แสงสว่าง และ กฤษณ์ รับสาร
สำหรับงานเขียนภาษาต่างประเทศให้ใช้หลักเดียวกัน แต่เปลี่ยนคำว่า ‘และ’ หน้าชื่อผู้แต่งคนสุดท้ายเป็นเครื่องหมาย & เช่น
Smith, T., Rana, R. S., Missiaen, P., Rose, K. D., Sahni, A., Singh, H., & Singh, L.
การเขียนรายชื่อผู้แต่งภาษาต่างประเทศเพื่อน ๆ ต้องระวังการใช้เครื่องหมายมหัพภาค (.) และจุลภาค (,) ข้อควรระวังก็คืออย่าลืมเว้นวรรคหลังเครื่องหมายจุลภาคทุกครั้ง อย่าตาลายและสับสนระหว่าง ‘จุดหลังตัวย่อของชื่อ’ และ ‘เครื่องหมายจุลภาค’ ที่ใช้คั่นระหว่างชื่อ หากเพื่อน ๆ สังเกตตัวอย่างที่เรายกมาให้ดู ส่วนสีน้ำเงินจะเป็นชื่อผู้แต่ง และส่วนสีดำจะเป็นรูปแบบเครื่องหมายบังคับในการเขียนอ้างอิงแบบ APA นะ
3. กรณีที่มีผู้แต่งเกินกว่า 7 คน ในกรณีนี้เราจะระบุชื่อผู้แต่ง 6 คนแรกแล้วข้ามไปที่ชื่อผู้แต่งคนสุดท้ายเลย โดยจะคั่นแต่ละชื่อด้วยเครื่องหมายจุลภาค และใส่เครื่องหมาย . . . นำหน้าชื่อผู้แต่งคนสุดท้าย ยกตัวอย่างเช่น
Wolshick, S. A., West, S. G., Sandler, I. N., Tein, J. Y., Coatsworth, D., Lengua, L., . . . Griffin, W. A.
กาญจนา แก้วเทพ, สมสุข หินวิมาน, กระสินธุ์ หังสพฤกษ์, เทพรัตน์ อึ้งเศรษฐพันธ์, ประจวบ ฉายบุ, นิวุฒิ หวังชัย, . . . สุภัทรา อุไรวรรณ
นอกจากนี้การลงชื่อผู้แต่งยังมีรายละเอียดเฉพาะอื่น ๆ อีกเยอะมาก เช่น กรณีที่ผู้แต่งมีบรรดาศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ ผู้แต่งเป็นพระภิกษุที่มีสมณะศักดิ์ ผู้แต่งที่มียศทางทหาร ตำรวจ มีตำแหน่งทางวิชาการ หรือมีคำเรียกทางวิชาชีพ และกรณีที่ผู้แต่งใช้นามแฝง โดยเพื่อน ๆ สามารถศึกษารูปแบบการลงชื่อผู้แต่งแบบ APA เพิ่มเติมได้ ที่นี่
หลักการลงปีที่พิมพ์
ในกรณีทั่วไป หากหนังสือหรือสิ่งพิมพ์มีปีที่พิมพ์ตามปกติ ให้ใส่ปีพิมพ์ในเครื่องหมายวงเล็บ ยกตัวอย่างเช่น (2021) ส่วนงานที่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ให้ใช้ปีที่ผลิตงานนั้นแทน แต่ก็ยังมีกรณียกเว้นอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย เช่น
-
กรณีที่หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ไม่มีปีพิมพ์แต่มีปีลิขสิทธิ์ (copyright) ให้ใส่ลิขสิทธิ์แทนโดยไม่ต้องใส่ตัวอักษร c ซึ่งหมายถึง copyright กำกับเช่น (2021) เป็นต้น
-
บทความที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ให้ใส่คำว่า ‘in press’ หรือ ‘กำลังจัดพิมพ์’ ในวงเล็บโดยไม่ต้องลงวันเดือนปี
-
หากไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ สำหรับงานเขียนที่เป็นภาษาไทยให้ใส่คำว่า (ม.ป.ป.) ซึ่งหมายถึง ‘ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์’ และใส่ (n.d.) หมายถึงนอน No date of publication สำหรับงานที่เป็นภาษาต่างประเทศ
-
สำหรับเอกสารเก่าที่ไม่ให้รายละเอียดปีที่พิมพ์ แต่สามารถคาดเดาช่วงเวลาที่พิมพ์ได้ให้ใส่คำว่า ‘ประมาณปี’ หรือ ca. ในวงเล็บเหลี่ยม [] ยกตัวอย่างเช่น
[ประมาณปี 2475] หรือ [ca. 1984]
โดยหลังจากใส่ปีที่พิมพ์ตามหลักเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว ให้เพื่อน ๆ ใส่เครื่องหมายมหัพภาคหรือ ‘จุด’ หลังปีที่พิมพ์ตามรูปแบบการอ้างอิงด้วยทุกครั้ง
หลักการลงชื่อเรื่อง
ชื่อบทความหรือชื่อหนังสือภาษาไทยให้เขียนด้วยตัวตรงทั้งหมดแล้วจบด้วยเครื่องหมายมหัพภาค หากเป็นงานเขียนภาษาอังกฤษให้พิมพ์ตัวแรกด้วยตัวใหญ่ ต่อจากนั้นเป็นตัวเล็กทั้งหมด แล้วจบด้วยเครื่องหมายมหัพภาคเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร.
The paper menagerie and other stories.
Happy city: Transforming our lives through urban design.
หลักการลงสถานที่พิมพ์และสำนักพิมพ์
ให้ใส่ชื่อเมืองที่พิมพ์ ตามด้วยชื่อสำนักพิมพ์ โดยคั่นด้วยเครื่องหมายทวิภาค (:) และเว้นวรรคหนึ่งครั้ง* ยกตัวอย่างเช่น
กรุงเทพฯ: ซอลท์ พับลิชชิ่ง
Amsterdam: Elsevier
กรณีเมืองที่พิมพ์ไม่เป็นที่รู้จักหรืออาจมีชื่อซ้ำกับเมืองในประเทศอื่นให้กำกับชื่อรัฐหรือประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น
Oxford, England: Basil Blackwell
กรณีไม่ปรากฏเมืองที่พิมพ์ในตัวเล่ม สำหรับงานเขียนภาษาไทย ให้ใส่คำว่า (ม.ป.ท.) หมายถึงไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์ ส่วนงานเขียนภาษาอังกฤษให้ใส่คำว่า (n.p.) ซึ่งหมายถึง No place
*หลักการเว้นวรรคของเครื่องหมายทวิภาค (:) คือเว้นวรรคหลังหนึ่งครั้งโดยไม่ต้องเว้นวรรคข้างหน้า
Photo by Patrick Tomasso on Unsplash
ตัวช่วยดี ๆ ที่จะทำให้การเขียนบรรณานุกรมง่ายขึ้น
จะเห็นว่าการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมมีรายละเอียดเยอะมาก ๆ ขนาดเราเลือกยกเฉพาะตัวอย่างที่เพื่อน ๆ น่าจะได้ใช้บ่อย ๆ ก็ยังยาวขนาดนี้ ในปัจจุบันจึงมีเครื่องมือที่ช่วยให้การเขียนบรรณานุกรมเป็นเรื่องง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Endnote และ Citation Machine
โดย Endnote เป็นโปรแกรมที่ช่วยการจัดทำรายการบรรณานุกรม หรือรายการอ้างอิงที่ผู้ใช้ได้ไปสืบค้นมาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ผู้ใช้สามารถลงโปรแกรมและเชื่อมต่อกับ Microsoft Words ได้ ตั้งค่าให้ Endnote ดึงข้อมูลชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ ชื่อสิ่งพิมพ์จากแหล่งข้อมูลของเราออกมาเป็นรายการได้ทันที แต่วิธีการตั้งค่ายากและซับซ้อนมาก ๆ แถมการดึงข้อมูลอาจไม่แม่นยำ 100% ต้องมาตรวจทานด้วยตัวเองอีกครั้ง โดยในความเห็นของผู้เขียน การทำรายงานเล่มเล็ก ๆ ที่ใช้แหล่งอ้างอิงไม่เกิน 50 ชิ้นก็ไม่คุ้มเท่าไหร่ที่จะใช้ Endnote เพราะการติดตั้งและการตั้งค่าค่อนข้างยุ่งยาก ส่วนใหญ่จะใช้กันในกลุ่มนักวิจัยที่ใช้เอกสารอ้างอิงกันหลัก 100 ชิ้นขึ้นไป (เยอะมาก ๆ ช่วยด้วย)
สำหรับงานเขียนชิ้นเล็ก ๆ ผู้เขียนคิดว่าการใช้ Citation Machine น่าจะเหมาะกว่า โดย Citation Machine เป็นเว็บไซต์ที่ช่วยจัดทำรายการอ้างอิง สามารถเลือกรูปแบบของแหล่งข้อมูลได้ทั้งหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร บทความจากวารสารวิชาการและอื่น ๆ แถมยังเลือกรูปแบบการอ้างอิงได้หลากหลายมาก ทั้ง APA, MLA, IEEE, Chicago Style และอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถเลือกเสิร์ชชื่อหนังสือจากชื่อเรื่องหรือเลข ISBN ก็ได้ หากตัวเว็บหาแหล่งข้อมูลของเราเจอก็จะกรอกข้อมูลชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ ชื่อเรื่องและอื่น ๆ ให้แบบอัตโนมัติ หรือเพื่อน ๆ จะเลือก manaul เพื่อกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่ตัวเว็บมีก็ได้เหมือนกัน นอกจากนี้ Citation Machine ยังมีบริการตรวจเช็ก Plagiarism ด้วย ปังสุด
StartDee หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่กำลังหัวหมุนกับบรรดาบรรณานุกรมกันอยู่ จริง ๆ แล้วการเขียนบรรณานุกรมนั้นไม่ยาก เพียงยึดหลักการ ‘ใช้แบบเดียวกันทั้งเล่ม’ จุดอยู่ตรงไหน ตรงไหนตัวเอียงตัวตรงก็ใช้รูปแบบเดียวกันให้หมด รับรองฝึกทำบ่อย ๆ ก็จะเป๊ะขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอน StartDee เป็นกำลังใจให้ ส่วนเพื่อน ๆ คนไหนที่มัวแต่ทำรายงานจนเรียนไม่ค่อยทัน เราขอแนะนำ เทคนิคการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศ ให้เพื่อน ๆ จัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาทบทวนบทเรียนแบบเร็ว ๆ ก็ช่วยประหยัดเวลาได้มาก แถมยังสนุก ไม่น่าเบื่อด้วย อย่าลืมดาวน์โหลดมาใช้กันนะ !
Reference:
https://apastyle.apa.org/style-grammar-guidelines/references/examples