การแต่งคําประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วิชาภาษาไทย

การแต่ง-โคลงสี่สุภาพ-ภาษาไทย-ม4

บรรพบุรุษชาวไทยของเราได้สร้างสรรค์มรดกทางภาษา ด้วยการเรียงร้อยถ้อยคำออกมาเป็นบทร้อยกรองที่มีสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นกาพย์ โคลง กลอน เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ เองก็คงพอคุ้นเคยกับคำประพันธ์หน้าตาหลากหลายในวรรณคดีหรือวรรณกรรมไทยกันมาบ้าง แต่รู้ไหมว่านอกจากกวีเอกอย่างท่านสุนทรภู่หรือศรีปราชญ์แล้ว เพื่อน ๆ เองก็สามารถที่จะทดลองแต่งโคลงหรือกลอนได้จากบทเรียนเรื่อง ‘โคลงสี่สุภาพ’ ที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้ ไปดูกันเลย !

หรือถ้าอยากเรียนให้แม่น ได้ความรู้มากกว่านี้อีก รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ได้เลย

 

โคลงสี่สุภาพ: ‘สุภาพ’ อย่างไร ทำไมต้อง ‘สี่’

เพื่อน ๆ หลายคนอาจสงสัยว่าชื่อของโคลงสี่สุภาพนั้นมีที่มาอย่างไร เป็นเพราะห้ามมีคำหยาบคายในโคลงหรือเปล่า บอกเลยว่าไม่ใช่ ! เพราะคำว่าสุภาพ หรือ เสาวภาพ ในที่นี้หมายถึงคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ  หรือคำที่ มิได้กำหนดรูปวรรณยุกต์ ทั้ง เอก โท ตรี และจัตวา (ส่วนคำที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับเรียกว่า 'พิภาษ')

 

โคลงสี่สุภาพจึง หมายถึง โคลงที่มีการบังคับคำสุภาพไว้สี่จุดและมีบังคับเอกโทตามฉันทลักษณ์นั่นเอง

 

อย่าสับสนกับ ‘บท’ และ ‘บาท’

ก่อนจะเริ่มแต่งโคลงสักบท มาดูกันก่อนว่า ‘บท’ และ ‘บาท’ คืออะไร บท และ บาท ก็เหมือนหน่วยที่เราใช้เรียกจำนวนวรรคในโคลง โดยโคลงสี่สุภาพ หนึ่งบทจะมีสี่บาท หนึ่งบาทมีสองวรรค ดังนั้นโคลงสี่สุภาพหนึ่งบทจึงมีแปดวรรค

โคลงสี่สุภาพ-บท-บาท-วรรค

และหน่วยที่เล็กที่สุดในการแต่งโคลงนั้นคือพยางค์ ซึ่งโคลงสี่สุภาพหนึ่งบทประกอบด้วยคำทั้งหมด 30-34 พยางค์ วรรคหน้าจะมีห้าคำ ส่วนวรรคหลังมีสองคำ (ยกเว้นบรรทัดที่สี่ซึ่งมีสี่คำ) ยังไม่รวมคำสร้อยที่อาจเพิ่มเข้ามาในบรรทัดที่หนึ่งและสามอีกบรรทัดละสองพยางค์ด้วย

 

ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ

‘เอกเจ็ด โทสี่’ เป็นบังคับคำเอกและคำโทของโคลงสี่สุภาพ ซึ่งเรานิยามความหมายของคำเอก คำโท (และคำประเภทอื่น ๆ ที่เพื่อน ๆ ควรรู้จักก่อนเริ่มแต่งโคลงสี่สุภาพ) ไว้ดังนี้

  1. คำสุภาพ คือคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ หรือคำที่ไม่กำหนดบังคับรูปวรรณยุกต์ เช่น ใคร จร หงส์  
  2. คำเอก คือพยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น เล่า ย่อม ทั่ว พี่ ตื่น อย่า สังเกตง่าย ๆ ก็คือคำที่มีไม้เอกนั่นเอง นอกจากนี้คำเอกยังรวมถึงคำตาย[1] ด้วย
  3. คำโท คือพยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โทบังคับ เช่น ข้า[2] อ้าง หล้า ได้ คำสร้อย เป็นคำที่เพิ่มเข้ามาเพื่อให้โคลงมีความหมายที่สมบูรณ์ การเพิ่มคำสร้อยต้องเพิ่มท้ายบาทแห่งละสองคำเสมอ ซึ่งเพิ่มได้ในวรรคที่ 2 ของบาทที่ 1 และวรรคที่ 2 ของบาทที่ 3 ที่สามเท่านั้น โดยคำสร้อยทั้งสองคำ คำแรกจะเป็นคำสุภาพที่เติมความหมายให้สมบูรณ์ ส่วนคำที่สองจะนิยมใช้คำว่า พ่อ แม่ พี่ แล นา รา เลย เอย นอ เนอ ฤา ฮา แฮ เฮย 

 

[1] คำตาย คือคำที่ประสมด้วย 1. สระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น สุ ปะ เตะ และ 2. คำที่มีตัวสะกดเป็นแม่กก กด กบ (กบด) เช่น มาก ลบ ภาพ คช

[2] อย่าสับสนเรื่องรูปวรรณยุกต์กับเสียง เพราะคำว่า "ข้า" รูปโท เสียงโท แต่คำว่า "ค่า" รูปเอก เสียงโท

 

เนื่องจากโคลงสี่สุภาพมีฉันทลักษณ์เฉพาะตัวและไพเราะทำให้โคลงชนิดนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในหมู่กวี เพื่อน ๆ ก็สามารถประพันธ์โคลงสี่สุภาพให้สวยงามและไพเราะได้ถ้าลองใช้ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพตามนี้

แผนผัง-ฉันทลักษณ์-โคลงสี่สุภาพ

ดูแค่จุดกลม ๆ จากผังของฉันทลักษณ์อาจจะยังงง ๆ เราจึงขอแนะนำ ‘โคลงแม่บท’ โคลงสี่สุภาพตัวอย่างสุดคลาสสิกจากเรื่องลิลิตพระลอที่มีตำแหน่งเอกโทถูกต้องตรงตามฉันทลักษณ์เป๊ะ ๆ มาให้เพื่อน ๆ ลองดูกัน เพื่อน ๆ สามารถจำฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพด้วยการท่องโคลงบทนี้ได้เลย

      เสียงลือเสียงเล่าอ้าง

อันใด พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร

ทั่วหล้า

สองเขือพี่หลับใหล

ลืมตื่น ฤาพี่

สองพี่คิดเองอ้า

อย่าได้ ถามเผือ

Banner-Green-Standard

 

สัมผัสระหว่างบท

แน่นอนว่าวรรณคดีส่วนใหญ่ไม่สามารถจบสมบูรณ์ได้ด้วยโคลงเพียงบทเดียว เมื่อมีการแต่งโคลงสี่สุภาพสองบทขึ้นไป เพื่อให้กวีสามารถเรียงร้อยเรื่องราวต่อกันไปได้จึงต้องอาศัย ‘การร้อยบท’ หรือใช้สัมผัสระหว่างบทเชื่อมโคลงแต่ละบทให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน โดยการเพิ่มสัมผัสบทนั้นก็ไม่ยากเลย เพียงแค่คำสุดท้ายของโคลงบทแรกนั้นสัมผัสกับคำที่หนึ่ง สอง หรือสามในวรรคแรกของโคลงบทถัดไป ตามแผนผังนี้

โคลงสี่สุภาพ-สัมผัส-ระหว่างบท

จริง ๆ แล้วโคลงสี่สุภาพเป็นโคลงที่แต่งไม่ยากเลย แต่หากจะแต่งให้ไพเราะก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนกันสักหน่อย (และจะยิ่งเพราะมากยิ่งขึ้นถ้าลองใช้กวีโวหารแบบต่าง ๆ ในการแต่งโคลงสี่สุภาพนะเพื่อน ๆ) หวังว่าบทเรียนเรื่องการแต่งคําประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจและทำข้อสอบได้มากขึ้น ส่วนในครั้งหน้าเราจะมีบทเรียนเรื่องไหนมากฝากเพื่อน ๆ กันอีกก็ต้องรอติดตามกัน แต่ถ้าไม่อยากรอแล้วก็คลิกไปอ่านบทเรียนเรื่องอื่น ๆ ได้ ที่นี่ เลย !



ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
นายธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)

แสดงความคิดเห็น