พอขึ้นม.ปลาย หรือใกล้ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย โจทย์ยากที่เพื่อน ๆ หลายคนน่าจะต้องเจอ นอกจาก “เรียนคณะอะไรดี” ยังมีเรื่อง “อยากเรียนคณะนี้ แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยต้องทำยังไง” จนกลายเป็นปัญหาค้างคาใจของใครหลายคน
ประเด็นร้อน (ใจ) แบบนี้ StartDee เลยต้องนัดหมายพูดคุยกับพี่สมิต-อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์จาก Life Education Thailand ที่กำลังจัดโครงการ FamSkool โครงการที่พัฒนาการศึกษาไทยผ่านการเชื่อมโยงโรงเรียนกับครอบครัวเข้าด้วยกัน ซึ่งเราได้นำประเด็นที่น่าสนใจจากการพูดคุยกับพี่สมิตมาฝากเพื่อน ๆ ที่กำลังเจอปัญหานี้ โดยจะพาไปทำความเข้าใจ ตั้งแต่มุมมองผู้ใหญ่ มุมมองของวัยรุ่น ไปจนถึงวิธีการพูดคุยกับคนในครอบครัวกัน
เข้าใจผู้ใหญ่...ทำไมไม่อยากให้ลูกเรียน
เรียนจบไปแล้วจะทำอะไร ?
ไม่เรียนคณะนี้ได้ไหม ?
ไปเรียนคณะอื่นแทนไม่ดีกว่าเหรอ ?
คำถามเหล่านี้บางทีก็ชวนให้วัยรุ่นอย่างเราปวดใจได้เหมือนกัน เพราะคิดว่าพ่อแม่กำลังตำหนิ ไม่เชื่อมั่น หรือไม่สนับสนุนเราเลย ซึ่งพี่สมิตพูดถึงประเด็นนี้ว่า “ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานความปรารถนาดีต่อลูก แต่ด้วยความเข้าใจที่ไม่ครบ โดยเฉพาะเรื่องสายอาชีพต่าง ๆ ทำให้พ่อแม่พยายามพาลูกไปอยู่ในเส้นทางที่คิดว่าปลอดภัยมากที่สุด”
คำถามของพ่อแม่ข้างต้น จึงไม่ได้มาจากเจตนาที่อยากจะตำหนิ แต่มาจากความกลัวว่าจะไม่มั่นคง หรือเป็นทางเลือกที่ไม่ปลอดภัยสำหรับลูก ซึ่งความกลัวที่ว่านี้มาจาก ‘ความไม่รู้’ เช่น ไม่เคยได้ยินชื่ออาชีพนี้มาก่อนหรือเคยได้ยินข่าวว่าอาชีพนี้ตกงานเยอะ เลยอยากให้ลูกเรียนในสิ่งที่พ่อแม่รู้จักและคิดว่ามั่นคงมากกว่า หรือบางครอบครัวที่เคยมีประสบการณ์ว่า ผู้ใหญ่ตัดสินใจเรื่องเรียนให้แล้วประสบความสำเร็จ เลยเชื่อว่าลูก ๆ ก็ควรเลือกตามความเห็นของผู้ใหญ่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะจัดการกับความไม่รู้ หรือความไม่แน่นอนด้วยประสบการณ์เดิมของตัวเอง
ดังนั้น ทั้งวัยรุ่นและพ่อแม่ จึงต้องร่วมมือกันจัดการกับความไม่รู้นี้ โดยลูก ๆ อาจพูดคุยให้พ่อแม่เข้าใจมากขึ้น ว่ามีทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้นอกจากประสบการณ์หรือข่าวสารที่เคยรับรู้มาก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องเปิดใจรับฟัง และถ้าเป็นไปได้ ลองหาข้อมูลเรื่องอาชีพนั้น ๆ ไปด้วยกันก็จะดีมาก ๆ เลย เพราะจะได้ทั้งมุมมองของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ประกอบการตัดสินใจ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นพูดคุย แน่นอนว่าเราต้องสำรวจตัวเองและเตรียมข้อมูลให้แน่นก่อน ไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นเป้าหมายลอย ๆ ที่พ่อแม่ฟังแล้วยังไม่เห็นภาพก็ได้นะ
เข้าใจวัยรุ่น...เส้นทางไหนที่ใช่เรา
อย่างที่บอกว่าเราต้องเข้าใจตัวเองและเตรียมข้อมูลให้แน่นก่อนจะไปคุยกับพ่อแม่ ซึ่งการค้นหาคณะที่ใช่หรืออาชีพที่ใฝ่ฝัน ไม่จำเป็นต้องมีเพียงทางเลือกเดียว เพราะในอนาคต ถ้าทางเลือกแรกไม่เป็นอย่างที่คิด เราก็สามารถลองไปทางอื่น ๆ ได้ โดยอาจจะจินตนาการว่า ถ้าไม่มีอาชีพที่ใฝ่ฝัน จะมีทางเลือกไหนได้อีกบ้าง ซึ่งแต่ละทางเลือกสามารถมีมากกว่าหนึ่งอาชีพ เช่น เป็นช่างภาพที่เปิดร้านอาหารไปด้วย การวางแผนอย่างมีทางเลือกนี้จะช่วยให้พ่อแม่อุ่นใจได้ด้วยว่า เรามีแผนสำรองไว้สำหรับอนาคต เมื่อวางแผนแล้ว พี่สมิตบอกกับเราว่า
“ขั้นตอนต่อมา คือการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าเดินไปทางนี้ จะต้องเตรียมตัวยังไง แล้วการเตรียมตัวเหล่านั้นเราไหวไหม เพราะทุกอาชีพมีการเตรียมตัวที่ไม่เหมือนกัน ถ้ายังไม่ได้หาข้อมูล เราก็จะเห็นแค่เป้าหมาย แต่ยังไม่เห็นวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมาย เวลาไปอธิบายกับคนอื่น ก็จะเห็นแค่เป้าหมายลอย ๆ อยู่ตรงนั้น ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลงไป”
การหาข้อมูลที่ว่านี้ มีตั้งแต่การเตรียมตัวสอบ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน เส้นทางอาชีพ ข้อดีข้อเสียของอาชีพนี้ ไปจนถึงทักษะสำคัญที่ต้องมี โดยเพื่อน ๆ สามารถหาข้อมูลได้ั้งในอินเทอร์เน็ต รุ่นพี่ คนที่ทำอาชีพนั้นหรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ
เข้าใจวิธีสื่อสาร...อธิบายยังไงให้ไม่ดูเหมือนเถียง
พอเรามีข้อมูลเตรียมพร้อมที่จะคุยกับพ่อแม่แล้ว บางคนอาจจะเจอปัญหาเรื่อง “อธิบายแล้วพ่อแม่เข้าใจว่าเราเถียง” จนเกิดความขัดแย้งแทนที่จะเป็นความเข้าใจ ซึ่งเกิดจากการสื่อสารที่ต่างฝ่ายต่างตีความกันไปคนละแบบ วันนี้เราเลยมี 3 ไอเดียดี ๆ จากพี่สมิตที่เราคิดว่าเพื่อน ๆ หรือแม้แต่ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้ในการรับมือกับปัญหานี้ได้ นั่นก็คือ
1. ฝึกคิดแบบ Scenario thinkingถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เตรียมใจไปคุยกับพ่อแม่ แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เราอยากให้เพื่อน ๆ ลองใช้วิธี Scenario thinking หรือการคิดเผื่อ ว่าถ้าเราพูดแบบนี้ พ่อแม่มีโอกาสตอบสนองแบบไหนได้บ้าง อาจจะหันหน้าหนี ถามคำถามนี้ต่อ หรือรับฟังเราอย่างตั้งใจ จากนั้นให้ลองคิดต่อว่าเราจะแก้ปัญหาแต่ละสถานการณ์ได้ยังไงบ้าง เพื่อให้เราไม่ตั้งความหวังไว้ทางเดียวแล้วผิดหวังรวมทั้งสามารถคิดหาทางแก้ไขได้ทัน
เช่น พ่อแม่ยิงคำถามมาว่า “เคยเห็นคนเรียนคณะนี้ ทุกวันนี้ยังตกงานอยู่เลย” เราก็หาตัวอย่างคนที่เรียนคณะนี้แล้วประสบความสำเร็จไว้เผื่อเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ อย่างน้อย ๆ บทสนทนาก็ไม่ต้องจบลงที่ “นั่นไง สุดท้ายพ่อแม่ก็ไม่ฟังอยู่ดี” ซึ่งจริง ๆ แล้ววิธีการนี้ พ่อแม่เองก็สามารถนำไปปรับใช้กับลูก ๆ ได้ โดยเฉพาะการคาดหวังในตัวลูก ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากเราคิดเผื่อไว้ว่า ลูกอาจจะไม่ชอบทางนี้ หรือมีทางที่ถนัดมากกว่า ก็อาจจะช่วยให้ไม่กดดันทั้งลูกและตัวพ่อแม่เอง
2. เปลี่ยน You Message เป็น I Message
“บางทีมนุษย์เราสื่อสารไม่ได้ ก็เลยต้องใช้อารมณ์ อย่างทารกร้องไห้เพราะต้องการสื่อสารว่าฉันหิว คนก็เป็นอย่างนี้แหละ ภาษาเลยช่วยลดทอนความรุนแรงให้คนได้เสมอ เพราะฉะนั้นถ้ามีภาษาในการสื่อสารดี อารมณ์มันเริ่มจะลดลง”พี่สมิตบอกกับเราเมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า อธิบาย กับคำว่า เถียง โดยใช้หลักการ I Message และ U Message มาอธิบายเรื่องนี้ โดยการเถียงนั้นจัดอยู่ในหมวด You Message คือการพูดที่เน้นการหาคนผิด หรือตำหนิใครสักคน ส่วนการอธิบายจัดอยู่ในหมวด I Message คือการสื่อสารความต้องการของเราออกไป เช่น
You Message : “ทำไมลูกเอาแต่ใจอย่างนี้ ไม่ดีเลยนะ”
I Message : “แม่อยากให้ลูกลองคิดหลาย ๆ มุม จะได้ไม่ตัดสินใจผิดพลาด”
You Message : “แม่ก็มองแต่มุมตัวเอง ไม่เคยเข้าใจผม/หนูเลย”
I Message : “ในมุมของผม/หนูคิดว่า...เลยอยากให้แม่ลองมองในมุมนี้ดูอีกที”
จะได้เห็นได้ว่า หัวใจสำคัญของการใช้ I Message ก็คือ การพยายามสื่อสารความต้องการและความตั้งใจที่จะหาทางออกร่วมกัน มากกว่าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเข้าใจผิดที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูก ๆ ได้
3. กิจกรรม Day of Dream
นอกจากวิธีการคิดและวิธีการพูด สิ่งหนึ่งที่พี่สมิตเน้นย้ำว่าสำคัญ คือความร่วมมือกันระหว่างครอบครัว วัยรุ่น และโรงเรียน โดยพี่สมิตได้เสนอกิจกรรมที่เรียกว่า ‘Day of Dream’ ขึ้นมา
“ถ้าเราถามเด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เขาอาจจะตอบแบบจอห์น เลนนอนเลยก็ได้ว่าโตขึ้นอยากเป็นคนมีความสุข เราก็สามารถช่วยกันออกแบบได้ว่า จะมีความสุขยังไงได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องระบุออกมาเป็นอาชีพ หรือไม่ก็ถามเขาว่าโตขึ้นอยากทำอะไรในอนาคตบ้าง ซึ่งการจัดกิจกรรมแบบ Day of Dream ขึ้นมา จะทำให้เด็กแต่ละห้องเรียนได้ออกมาพูดแบบนี้หน้าชั้นให้เพื่อน ครู และผู้ปกครองฟังเลยว่า โตขึ้นเขาอยากมีชีวิตแบบไหน”
พี่สมิตอธิบายถึงกิจกรรม Day of Dream ที่จะช่วยให้ผู้ปกครองและวัยรุ่นได้มาออกแบบอนาคตร่วมกัน มากกว่าเป็นการสื่อสารทางเดียว รวมทั้งการมีส่วนร่วมของครูที่ช่วยสนับสนุนความฝันของเด็ก ๆ อาจจะทำให้ลูก ๆ สามารถคุยกับพ่อแม่ได้ง่ายขึ้น เพราะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือมากกว่าการให้ลูกสื่อสารกับพ่อแม่โดยตรงเพียงอย่างเดียว
มาเข้าใจกันมากขึ้น ไปกับ ‘FamSkool’
โครงการที่เชื่อว่าครอบครัวไม่ได้หยุดอยู่ที่รั้วโรงเรียน
จะเห็นได้ว่า การเลือกคณะหรือตัดสินใจวางแผนอนาคตไม่ใช่เรื่องของเด็กหรือวัยรุ่นคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของครอบครัว โรงเรียน และสังคม
“มีสำนวนของต่างประเทศว่า บางครั้งเราก็ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อพัฒนาเด็กคนหนึ่ง เพราะทุกอย่างมีผลต่อการพัฒนาเด็กไม่ว่าจะเป็นจอทีวี หนังสือ ชุมชนข้าง ๆ โรงเรียน เพื่อน ทุกคนเกี่ยวข้องกับวิธีคิดของเขาทั้งหมด เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้จากพ่อแม่อย่างเดียว นี่คือเหตุผลที่เราต้องทำให้พื้นที่เหล่านั้นเชื่อมโยงกัน”
ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้พี่สมิธจัดโครงการที่เรียกว่า FamSkool หรือ โครงการเสริมพลังการมีส่วนร่วมของครอบครัวในระบบการศึกษาบนฐานจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเป็นโครงการที่เชื่อมโยงครอบครัวกับโรงเรียนเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากการช่วยให้พ่อแม่เข้าใจเด็ก ๆ แล้ว ยังทำให้โรงเรียนและครอบครัว กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและวัยรุ่น ซึ่งพี่สมิธเล่าถึงจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ว่า
“เราอยากให้โรงเรียนมีวิธีคิดและมีเครื่องมือในการทำงานกับครอบครัวในเชิงบวกมากขึ้น ตั้งแต่วินาทีก่อนที่เด็กจะมีปัญหา รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการมองเด็กใหม่ แทนที่จะมองเป็นเปอร์เซ็นต์หรือตัวเลข ก็มองว่าเด็กแต่ละคนมีคุณค่า มีความหมายยังไง แม้ว่าเขาอาจจะเป็นลิตเติ้ลสตาร์ที่โรงเรียน แต่เขาคือ ซูเปอร์สตาร์ของครอบครัว ถ้าครูมีวิธีการมองเด็กแบบนี้ ครูก็จะมีวิธีการมองเด็กแบบเท่าเทียมกัน โดยไม่มองว่าฉันจะเทคแคร์เฉพาะเด็กที่เป็นซูเปอร์สตาร์หรือไปดูแลแค่เด็กที่มีปัญหา ส่วนเด็กที่อยู่ในระดับกลาง ๆ ก็ถูกละเลยไป ซึ่งจริง ๆ เด็กกลุ่มนั้นอาจจะมีภาวะที่ตัวเองคุยกับที่บ้านไม่ได้ หรือไม่ได้มีความฝัน ไม่ได้มีแรงจูงใจในชีวิต ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะว่าเราน่าจะสามารถช่วยกันหาทางเลือกอื่น ๆ ให้กับเขาได้”
ปัจจุบัน FamSkool จัดขึ้นเป็นระยะที่ 2 โดยรับสมัครคุณครูที่สนใจจากทั่วประเทศ โดยโครงการนี้จะเน้นไปที่การปรับมุมมองและวิธีการสื่อสารกับเด็ก ๆ ส่วนกิจกรรมคุณครูและโรงเรียนสามารถต่อยอดออกแบบได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากจะบอกต่อกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ให้กับคุณครูที่โรงเรียน ก็สามารถติดตามได้ในเพจเฟซบุ๊ก Life Education Thaland หรือเว็บไซต์ https://www.lifeeducation.in.th/ กันได้เลย
ภาพตัวอย่างเอกสารและ canvas สำหรับโครงการ Famskool
ก่อนจากกันเราหวังว่าเพื่อน ๆ จะได้แง่คิดดี ๆ กลับไปปรับใช้ในการสื่อสารกับคนในครอบครัว ส่วนคุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองก็จะได้อีกมุมมองที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการพูดคุยกับลูก ๆ มากขึ้น โดยสามารถติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับครอบครัวได้ในมุมผู้ปกครอง หรือพักไปอ่านเกร็ดความรู้ อื่น ๆ เพิ่มเติมที่ Blog StartDee ของเราได้เลย