ฉันถนัดแบบไหน: เราจะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างไรเมื่อการศึกษาไทยไม่เปิดกว้าง

cover01_Draft02-(resize)-Jan-25-2021-07-43-22-16-AM

“ฉันทำอะไรได้ดี ฉันเหมาะกับทรงผมแบบไหน เวลาว่างฉันชอบทำอะไร

กว่าจะรู้จักตัวเองดีจนตอบคำถามเหล่านี้ได้ อายุของฉันก็ปาเข้าไปเกือบ 30 แล้ว”

นี่อาจเป็นความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ในใจผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ในวัยเด็กเราอาจเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ตัวเอง’ ทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก ๆ เพราะความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองเกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ภายใต้สภาพแวดล้อมและสังคมที่แต่ละคนต้องพบเจอ โดยช่วงวัยรุ่นนับเป็นช่วงเวลาของการค้นหาบุคลิกภาพและเอกลักษณ์เกี่ยวกับตนเองที่สำคัญที่สุด และถ้าพูดถึงสังคมและสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นมากที่สุด ‘โรงเรียน’ ก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญลำดับต้น ๆ 

ทว่าสังคมและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ค้นหาตัวเองมากพออย่างที่เรา (และเด็กไทยหลาย ๆ คน) อยากให้มันเป็น เพราะการมีอยู่ของ ‘กฎระเบียบ’ นั้นเป็นเหมือนกฎเหล็กครอบโรงเรียนและตัวเด็ก ๆ ไว้อีกชั้นหนึ่ง กฎระเบียบเหล่านี้บอกไว้ชัดเจนว่าเราควรแต่งตัวอย่างไร ควรไว้ผมสั้นหรือยาวแค่ไหน กระเป๋าอะไรที่จะใช้ในโรงเรียนได้บ้าง รวมถึงกำหนด ‘เครื่องแบบ’ ของแต่ละโรงเรียนที่สะท้อนถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสถานศึกษา แต่กลับกลบฝังอัตลักษณ์ของเด็ก ๆ แต่ละคนไปด้วยในเวลาเดียวกัน ถึงจะมีงานวิจัยหลายฉบับพูดถึงชุดนักเรียนว่าส่งผลดีในแง่ของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและทำให้เด็ก ๆ มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนได้มากขึ้น แต่ในแง่ของการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self Perception) ชุดนักเรียนกลับเป็นเสมือนกรอบที่ปิดกั้นการสื่อสารด้านตัวตนของเด็ก ๆ

Wade และ Stafford ได้ศึกษาเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่ม บรรยากาศในโรงเรียน และการรับรู้เกี่ยวกับตนเองของครูและนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจนักเรียนระดับมัธยมต้นกว่า 415 คนและครู 83 คน พบว่าเครื่องแบบนักเรียนช่วยให้การแบ่งกลุ่มของนักเรียนลดลงเล็กน้อย แต่ผลสำรวจที่น่าสนใจก็คือ เด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีการบังคับให้ใส่ยูนิฟอร์มมีคะแนนการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self perception) สูงกว่านักเรียนที่ต้องสวมใส่ยูนิฟอร์ม รวมถึงมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจในตัวเอง (Self esteem) ที่สูงกว่าด้วย ซึ่งผลการศึกษานี้ก็สอดคล้องกับพฤติกรรมพื้นฐานของวัยรุ่นที่มักมีความมั่นใจลดลงเมื่อต้องสวมใส่ชุดที่ตนเองไม่ได้เลือก

billow926-fe42OkHR2xQ-unsplash

ขอบคุณรูปภาพจาก billow926 บน Unsplash

นอกจากชุดยูนิฟอร์ม อีกหนึ่งปัญหาที่เด็ก ๆ ต้องเจอในโรงเรียนคือระบบการศึกษาไทยที่ถูกออกแบบมาให้เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ในรูปแบบเดียวกัน วัดผลด้วยเกณฑ์ชี้วัดเดียวกัน (Standard - based Education) ทั้งที่เด็ก ๆ แต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่าง นอกจากนี้การแบ่งสายการเรียนเป็นสายวิทย์และสายศิลป์ ซึ่งเป็นนโยบายจากแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2476 ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ อีกต่อไป โดยจากผลสำรวจของ The Matter เกี่ยวกับการยกเลิกสายวิทย์ - ศิลป์พบว่ามีผู้เห็นด้วยถึง 55.06 เปอร์เซ็นต์* ซึ่งในปัจจุบันก็มีแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากการแบ่งสายการเรียน และให้ความสำคัญกับความถนัดของผู้เรียนมากขึ้น เช่น การจัดการเรียนรู้แบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน (Competency - based Education) ที่ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ค้นหาความถนัดและเป้าหมายในการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีการปรับรูปแบบการวัดผลให้เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละคน ให้ความสำคัญกับความถนัด (Competency) ทำให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและรู้สึกมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนมากขึ้น

 

ปัจจุบันมีหลายโรงเรียนในประเทศไทยที่มองเห็นประเด็นปัญหาเหล่านี้และเริ่มจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เช่น โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ที่ไม่มีการบังคับใส่เครื่องแบบ รวมถึงใช้ระบบบการเรียนรู้แบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน ทำให้การเรียนการสอนยืดหยุ่นได้มากกว่า นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบ Track ซึ่งเป็นการแบ่งแผนการเรียนที่มีอยู่เดิมให้หลากหลายมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาสำรวจความสนใจและความถนัดของตัวเองก่อนที่จะเลือกศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป โดยโรงเรียนที่มีการใช้ระบบ Track โรงเรียนแรก ๆ ได้แก่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

*จาก 7,265 คนที่แสดงความเห็นในเพจ The Matter 


การเรียนการสอน-โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์

บรยากาศการเรียนการสอนในโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ ขอบคุณรูปภาพจาก Matichon

ถึงจะยังไม่ครอบคลุมการศึกษาไทยทั้งหมด แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าในอนาคตการศึกษาไทยจะเปิดกว้างมากขึ้นและเด็ก ๆ จะได้เป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้นอีก StartDee เชื่อว่าหากเรามีระบบการศึกษาที่เปิดกว้างพอ ไม่ว่าเด็ก ๆ จะมีความถนัดแบบไหน พวกเขาก็จะไม่ถูกการศึกษามองข้าม และในวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถพูดกับทุก ๆ คนได้อย่างเต็มปากว่า…

“ฉันถนัดแบบนี้”

ถึงแม้เราจะไม่สามารถพูดว่า "ฉันถนัดแบบนี้" ที่โรงเรียนได้ แต่เราสามารถพูดได้เวลาเรียนกับแอปพลิเคชัน StartDee ดาวน์โหลดเลย !

Banner-Green-Noey

 

Reference:

Wade, K. K., & Stafford, M. E. (2003). Public School Uniforms: Effect on Perceptions of Gang Presence, School Climate, and Student Self-Perceptions. Education and Urban Society, 35(4), 399–420. https://doi.org/10.1177/0013124503255002 

Sibplang, P. (2020, March 15). ระบบ Tracks สำหรับม.ปลายคืออะไร เป็นไปได้ไหมที่การศึกษาอาจมีได้มากกว่าสายวิทย์-ศิลป์? Retrieved January 20, 2021, from https://thematter.co/social/tracking-model-course-in-thailand/104235

Starfish Academy. (2020, November). ชวนครูมารู้จัก Competency-based education. Retrieved January 20, 2021, from https://www.starfishlabz.com/blog/285-%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-competency-based-educatio

แสดงความคิดเห็น