ร้อนเหมือนเตาอบ แต่ทำไมพยากรณ์บอก 36 องศา!

ร้อนเหมือนเตาอบ

ถ้าบอกฤดูกาลตามความรู้สึกได้ ประเทศไทยคงมีแต่ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนมาก ๆ

เพราะออกจากบ้านที ก็โดนแดดเผาอย่างกับอยู่ในเตาอบเลยทีเดียว แต่พอเพื่อน ๆ ลองเช็กว่าร้อนกี่องศา ก็จะพบว่าอุณหภูมิอยู่ที่ 30 กว่า ๆ ทั้งที่รู้สึกร้อนมากกว่านั้นซะอีก 

สาเหตุที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะพยากรณ์อากาศผิดพลาด หรือร่างกายเราผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งตัวการที่แท้จริงนั้นมาจากไหน เรามาไขปริศนาไปพร้อมกันเลยดีกว่า

 

เมื่อร้อนเราไม่เท่ากัน

เคยสังเกตไหมว่า ทั้งที่อุณหภูมิเท่ากัน แต่พอเปลี่ยนเวลากับสถานที่แล้ว ทำไมรู้สึกร้อนหรือหนาวไม่เท่ากัน นั่นเป็นเพราะ อุณหภูมิของอากาศ (Actual Temperature)ไม่ได้เท่ากับอุณหภูมิที่ร่างกายเรารู้สึก (Apparent Temperature)เสมอไป ซึ่งอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึก นอกจากจะวัดจากเทอร์โมมิเตอร์แล้ว ยังวัดจากความชื้น ความเร็วลมและปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งปกติเรามักจะพิจารณาจาก ค่าความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) กับอุณหภูมิของอากาศในขณะนั้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่าความชื้นในอากาศนี่แหละ ที่เป็นตัวการทำให้เราร้อนกว่าอุณหภูมิจริง ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ว่าอุณหภูมิที่เรารู้สึกมีค่าเท่าไร ก็สามารถเข้าไปคำนวณได้ในเว็บไซต์ หรือสังเกตตรงคำว่า Feels Like Temperture ในแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศได้เช่นเดียวกัน

Banner-Green-Standard

 

รู้จักความชื้นสัมพัทธ์

อย่างที่ได้บอกไปว่า ความชื้นเป็นตัวการที่ทำให้เราร้อนกว่าอุณหภูมิจริง ซึ่งความชื้นที่ว่านี้ คือ ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) โดยสามารถคำนวณได้จาก

 

ความชื้นสัมพัทธ์   = (ปริมาณไอน้ำที่อยู่ในอากาศ / ปริมาณไอน้ำที่ทำให้อากาศอิ่มตัว ) x 100% 

 

แหม เห็นสูตรแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจไป เราขออธิบายแบบละเอียดขึ้นมาอีกนิดว่า ณ อุณหภูมิหนึ่ง ๆ อากาศจะสามารถกักเก็บไอน้ำได้อย่างจำกัด ถ้าไอน้ำมีปริมาณมากขึ้น อากาศก็เริ่มจะอิ่มตัว (เหมือนเวลาเรากินเยอะ ๆ แล้วเริ่มอิ่ม) ยิ่งปริมาณไอน้ำที่ใกล้เคียงกับจุดอิ่มตัวเท่าไร ความชื้นสัมพันธ์ก็จะสูงขึ้นเท่านั้น

 

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูง

คำตอบคือ ยิ่งความชื้นสัมพัทธ์สูงมากเท่าไร เรายิ่งระบายความร้อนได้ยากขึ้นเท่านั้น เพราะปกติร่างกายเราจะขับเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อน แต่เมื่ออากาศร้อนด้วย ชื้นด้วย ยิ่งทำให้เราไม่สามารถขับเหงื่อเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเย็นลงได้ เราจึงรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริงนั่นเอง 

อากาศร้อนขอบคุณภาพจาก https://isaacscienceblog.com/2017/11/18/the-heat-index/

 

ถ้าดูจากตารางนี้ เมื่ออุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส และค่าความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ  80% เราจะรู้สึกร้อนเท่ากับ 30 องศาเซลเซียส หรือถ้าวันนั้นอุณหภูมิ 36 องศาเซลเซียส และมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ 50% ร่างกายเราจะรู้สึกว่าอากาศร้อนถึง 43 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

หลักการนี้สามารถใช้อธิบายช่วงก่อนฝนตกได้เช่นกัน เนื่องจากช่วงก่อนฝนตกนั้น ก้อนเมฆจะคายความร้อนออกมามาก ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ขณะเดียวกันความชื้นในอากาศที่สูงขึ้นนั้น ก็ยิ่งทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยออกไปได้ จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมอากาศร้อนอบอ้าวก่อนฝนตกนั่นเอง

ดังนั้น ก่อนจะออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ออกกำลังกาย หรือแพลนว่าจะไปไหนดี นอกจากจะเช็กว่าอุณหภูมิวันนี้กี่องศาแล้ว อาจจะต้องเช็กด้วยว่า ค่าความชื้นและอุณหภูมิที่ร่างกายเรารู้สึกได้นั้นเป็นอย่างไร เพราะถ้าร้อนเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หรือถ้าวันไหนเพื่อน ๆ เช็กแล้วรู้สึกว่าร้อนจนไม่อยากออกจากบ้าน ก็นั่งอ่านบทความใน Blog StartDee เพลิน ๆ หรือเข้าไปเติมความรู้คู่ความสนุกรอเปิดเทอมกับแอปพลิเคชัน StartDee ก็ได้นะ

Reference :

ความชื้นสัมพัทธ์ - LESA: ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. (n.d.). Retrieved from http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/humidity

พายุฝนฟ้าคะนอง - LESA: ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์. (n.d.). Retrieved from http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/phenomenon/thunderstorm

อะไรคือ? Feels like อุณหภูมิตามความรู้สึก. (2019, April 25). Retrieved from https://timeout.siamsport.co.th/health/view/127496

Chandler, N. (2020, January 27). What Is Relative Humidity and How Does it Affect How I Feel Outside? Retrieved from https://science.howstuffworks.com/nature/climate-weather/atmospheric/question651.htm

Krupa, M. (2019, July 20). Why the heat index matters more than the temperature in this heat wave. Retrieved from https://edition.cnn.com/2019/07/19/us/heat-index-wxc-trnd/index.html

Wongkaew, P. (2009, March 10). ความชื้นสัมบูรณ์และความชื้นสัมพัทธ์. Retrieved from https://workingoutloud.com/blog//the-simplest-easiest-form-of-prototyping-is-a-conversation

แสดงความคิดเห็น