ถ้าเพื่อน ๆ เกิดรู้สึกปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ สิ่งที่เพื่อน ๆ จะทำคืออะไรเอ่ย...เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเลือกหายารับประทานที่บ้าน หรือถ้าเกิดอาการหนักขึ้น ก็คงเลือกไปหาคุณหมอ แต่สำหรับในสมัยก่อนที่ไม่ได้มีโรงพยาบาลหรือคลินิกมากมายแบบนี้ การมีตำราดี ๆ อย่างคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ ย่อมช่วยให้ปู่ย่าตายายของเรา สามารถรักษาตัวเองจากสมุนไพรต่าง ๆ ได้ วันนี้ StartDee เลยอยากชวนมารู้จักตำราการแพทย์โบราณ พร้อมกับถอดคำประพันธ์กัน ไปลุยกันเลย
แน่นอนว่าเนื้อเรื่องของคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ ย่อมต้องยาวเฟื้อยแน่ ๆ หากเพื่อน ๆ อยากฟังและอ่านในรูปแบบแอนิเมชันสนุก ๆ แนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee กันได้เลย
ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ คืออะไร
ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เป็นตำราแพทย์ของไทยโบราณ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวบรวมขึ้นไว้ เพื่อเป็นหลักฐานและเผยแพร่การแพทย์แผนโบราณและตำรายาพื้นบ้านของไทย ซึ่งตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ได้ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่งต่อประเทศชาติ
แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง แบ่งเป็นเรื่องราวต่าง ๆ เรียกว่า “คัมภีร์” โดยภายในเล่มประกอบไปด้วย ๑๔ คัมภีร์ รวมถึง “คัมภีร์ฉันทศาสตร์” ที่เราเรียนกันในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ นี้ด้วย
ต้นกำเนิดแห่งตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประชุมคณะแพทย์หลวง เพื่อสืบค้นและรวบรวมตำราแพทย์จากที่ต่าง ๆ มาตรวจสอบ ชำระให้ตรงกับฉบับดั้งเดิม แล้วส่งมอบให้กรมพระอาลักษณ์เขียนลงสมุดไทย ด้วยอักษรไทยที่มีชื่อเรียกว่า “เส้นหรดาล (แร่ชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุสารหนูและกํามะถัน)”
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ให้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้ง “โรงเรียนราชแพทยาลัย” ได้โปรดให้จัดพิมพ์ตำราแพทย์หลวงสำหรับโรงเรียนขึ้นใช้เป็นครั้งแรก เรียกว่า “ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์” แต่พิมพ์ได้เพียง ๓ เล่มก็ต้องยกเลิก เพราะไม่มีทุนในการจัดพิมพ์
ต่อมาพระยาพิศณุประสาทเวช (คง ถาวรเดช) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยของราชแพทยาลัย และผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ได้กราบทูลขอประทานพระอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (นายกสภาหอสมุดวชิรญาณ) ในการจัดพิมพ์ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวงจำนวน ๒ เล่มจบสมบูรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ เพราะเล็งเห็นความจำเป็น 2 ประการคือ
๑. ราษฎรที่ป่วยจะต้องมีตำราด้านการแพทย์ เพื่อเป็นคู่มือไว้รักษาตนเอง
๒. อนุรักษ์ตำราแพทย์แผนไทยไว้ให้คนรุ่นหลัง
ลักษณะคำประพันธ์
ลักษณะคำประพันธ์ของคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์นั้นมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน โดยส่วนใหญ่เป็นกาพย์ยานี ๑๑ สำหรับตอนที่กล่าวถึงลักษณะทับ (ลักษณะโรคแทรกซ้อน) ๘ ประการ ใช้คำประพันธ์ประเภทร่าย
ตัวอย่างกาพย์ยานี ๑๑
ว่าด้วย...คัมภีร์ฉันทศาสตร์
เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมความรู้หลากหลายจากตำราเรื่องอื่น ๆ ในชุด โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ตอน ดังนี้
๑. บทไหว้ครู ซึ่งเป็นการไหว้พระรัตนตรัย ไหว้เทพเจ้าของ พราหมณ์ ไหว้หมอชีวกโกมารภัจจ์
๒. กล่าวถึงความสําคัญของแพทย์
๓. กล่าวถึงคุณสมบัติของแพทย์ที่พึงมี
๔. กล่าวถึงโรคและการรักษา เช่น ลักษณะของหญิงที่มีน้ำนมดีหรือน้ำนมชั่ว ธาตุทั้ง ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค อาการไข้ป่วงและการรักษา อาการท้องร่วงลักษณะต่าง ๆ วิธีสังเกตนิมิตของผู้ใกล้ตาย อาการโรคลมทราง เป็นต้น
๕. เป็นคําเตือนแพทย์ให้ศึกษาคัมภีร์ฉันทศาสตร์
๖. ลักษณะของแพทย์ที่ดี
๗. คําขอพรของผู้ประพันธ์
ถอดคำประพันธ์ คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์
ตอนที่ ๑ บทไหว้ครู
ข้าขอประนมหัตถ์ | พระไตรรัตนาถา |
ตรีโลกอมรามา | อภิวาทนาการ |
อนึ่งข้าอัญชลี | พระฤๅษีผู้ทรงญาณ |
แปดองค์เธอมีฌาน | โดยรอบรู้ในโรคา |
ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยและฤาษีครูแพทย์ทั้ง ๘ องค์ ซึ่งเป็นปฐมครูผู้สอน เป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการแพทย์และเภสัชกรรมแผนโบราณ และเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับโรคภัยต่าง ๆ
ไหว้คุณพระอิศวเรศ | ทั้งพรหมเมศทุกชั้นฟ้า |
สาปสวรรค์ซึ่งหว้านยา | ประทานทั่วโลกธาตรี |
ไหว้ครูกุมารภัจ | ผู้เจนจัดในคัมภีร์ |
เวชศาสตรบรรดามี | ให้ทานทั่วแก่นรชน |
ไหว้ครูผู้สั่งสอน | แต่ปางก่อนเจริญผล |
ล่วงลุนิพพานดล | สำเร็จกิจประสิทธิ์พร |
ขอการกราบไหว้พระอิศวรและพระพรหม ซึ่งเป็นผู้ที่ประทานสมุนไพรให้แก้มวลมนุษย์ชาติทั่วโลก รวมไปถึงการกราบไหว้หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสาร นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการไหว้บรรดาครูอาจารย์ที่สั่งสอนในวิชาแพทย์ด้านต่าง ๆ
ตอนที่ ๒ ความสำคัญของคัมภีร์ฉันทศาสตร์
จะกล่าวคำภีร์ฉัน | ทศาสตร์บรรพ์ที่ครูสอน |
เสมอดวงทินกร | แลดวงจันทร์กระจ่างตา |
ส่องสัตว์ให้สว่าง | กระจ่างแจ้งในมรรคา |
หมอนวดแลหมอยา | ผู้เรียนรู้คัมภีร์ไสย์ |
เรียนรู้ให้ครบหมด | จนจบบทคัมภีร์ใน |
ฉันทศาสตร์ท่านกล่าวไข | สิบสี่ข้อจงควรจำ |
คัมภีร์ฉันทศาสตร์เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ที่คอยส่องแสงสว่างชี้ทางชีวิตให้แก่ผู้คน รวมถึงหมอนวด และหมอยาที่ต้องเรียนรู้คัมภีร์แพทย์ (คัมภีร์ไสย์) โดยมีทั้งสิ้น ๑๔ ข้อ
ตอนที่ ๓ เนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับความสำคัญของอวัยวะ
อนึ่งจะกล่าวสอน | กายนครมีมากหลาย |
ประเทียบเปรียบในกาย | ทุกหญิงชายในโลกา |
ดวงจิตคือกระษัตริย์ | ผ่านสมบัติอันโอฬาร์ |
ข้าศึกคือโรคา | เกิดเข่าฆ่าในกายเรา |
เปรียบแพทย์คือทหาร | อันชำนานรู้ลำเนา |
ข้าศึกมาอย่างใจเบา | ห้อมล้อมรอบทุกทิศา |
ร่างกายของคนเราทั้งชาย และหญิงเสมือนเมืองแห่งหนึ่ง โดยมีพระราชาเป็นหัวใจ และเปรียบแพทย์เป็นทหาร ที่ทำหน้าที่ปกป้องดูแลบ้านเมืองและต่อสู้กับข้าศึก ซึ่งก็คือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มาทำให้ร่างกายของเราอ่อนแอ หรือเสียชีวิตได้
ให้ดำรงกระษัตริย์ไว้ | คือดวงใจให้เร่งยา |
อนึ่งห้ามอย่าโกรธา | ข้าศึกมาจะอันตราย |
ปิตตํ คือ วังหน้า | เร่งรักษาเขม่นหมาย |
อาหารอยู่ในกาย | คือเสบียงเลี้ยงโยธา |
หนทางทั้งสามแห่ง | เร่งจัดแจงอยู่รักษา |
ห้ามอย่าให้ข้าศึกมา | ปิดทางได้จะเสียที |
สามสิ่งสำคัญที่ต้องหมั่นดูแลไม่ให้ข้าศึก ซึ่งก็คือเชื้อโรคต่าง ๆ เข้ามาทำลายได้ คือ หนึ่ง หัวใจ (เปรียบเทียบได้กับพระราชาผู้ครองเมือง) ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกาย โดยต้องดูแลสภาพจิตใจไม่ให้เกิดความโกรธ สอง ถุงน้ำดี (ปิตตํ) เปรียบเสมือนวังหน้า และ สาม อาหาร เปรียบเสมือนเสบียงเลี้ยงบ้านเมืองซึ่งก็คือร่างกายของเรานั่นเอง
อนึ่งเล่ามีคำโจทก์ | กล่าวยกโทษแพทย์อันมี |
ปรีชารู้คัมภีร์ | เหตุฉันใดแก้มีฟัง |
คำเฉลยแก้ปุจฉา | รู้รักษาก็จริงจัง |
ด้วยโรคเหลือกำลัง | จึ่งมิฟังในการยา |
เมื่ออ่อนรักษาได้ | แก่แล้วไซร้ยากนักหนา |
ไข้นั้นอุปมา | เหมือนเพลิงป่าไหม้ลุกลาม |
กล่าวกันว่าแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคและความรู้มากมาย ไม่สามารถรักษาคนให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ นั่นเป็นเพราะโรคบางชนิดนั้นร้ายแรงเกินไปราวกับเพลิงป่า ประกอบกับการดื้อยายังทำให้รักษาโรคยากขึ้นด้วย แต่ถ้ามีอาการไม่หนัก ไม่รุนแรง ย่อมรักษาได้ง่ายกว่า
เป็นแพทย์มีสำคัญ | โอกาสนั้นมีอยู่สาม |
เคราะห์ร้ายขัดโชคนาม | บางทีรู้เกินรู้ไป |
บางทีรู้ไม่ทัน | ด้วยโรคนั้นใช่วิสัย |
ตน บ รู้ทิฏฐิใจ | ถือว่ารู้ขืนกระทำ |
จบเรื่องที่ตนรู้ | โรคนั้นสู้ว่าแรงกรรม |
ไม่สิ้นสงสัยทำ | สุดมือม้วยน่าเสียดาย |
บางทีก็มีชัย | แต่ยาให้โรคนั้นหาย |
ท่านกล่าวอภิปราย | ว่าชอบโรคนั้นเป็นดี |
แพทย์มีโอกาสจะรักษาโรค ไม่ สำเร็จมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง วินิจฉัยโรคเกินจริง สอง ไม่รู้จักโรคนั้นมาก่อน แล้วโทษว่าเป็นเวรกรรมของผู้ป่วย และสาม แม้ว่าแพทย์อาจสามารถรักษาโรคให้หายได้ แต่เป็นเพราะได้ยารักษาโรคที่ดี ไม่ได้มาจากความสามารถของแพทย์แต่อย่างใด
ตอนที่ ๓ ลักษณะของแพทย์ที่ควรจะเป็น
- เลือกครูอาจารย์ที่มีความรู้เป็นอย่างดี
ผู้ใดจะเรียนรู้ | พิเคราะห์ดูผู้อาจารย์ |
เที่ยงแท้ว่าพิศดาร | ทั้งพุทธไสยจึ่งควรเรียน |
แต่สักเป็นแพทย์ได้ | คัมภีร์ไสยไม่จำเนียร |
ครูนั้นไม่ควรเรียน | จำนำตนให้หลงทาง |
เราแจ้งคัมภีร์ฉัน | ทศาสตร์อันบุราณปาง |
ก่อนกล่าวไว้เป็นทาง | นิพพานสุศิวาไลย |
ใครอยากจะเป็นแพทย์ต้องเลือกอาจารย์ให้ดี ๆ โดยอาจารย์ที่ดีต้องรู้ทั้งการแพทย์แผนไทย (พุทธ) และแผนอินเดีย (ไสย) ถ้าอาจารย์คนไหนไม่เชี่ยวชาญครบทั้งสองด้าน ไม่ควรเสียเวลาไปเรียนเพราะจะเกิดความเข้าใจผิดได้ ดังนั้น ผู้ที่อยากเรียนแพทย์ ควรศึกษาคัมภีร์ฉันทศาสตร์ เพราะมีเนื้อหาที่ถูกต้อง
- อย่าดูหมิ่นตำรา อย่าอวดรู้
อย่าหมิ่นว่ารู้ง่าย | ตำรับรายอยู่ถมไป |
รีบด่วนประมาทใจ | ดังนั้นแท้มิเป็นการ |
ลอกได้แต่ตำรา | เที่ยวรักษาโดยโวหาร |
อวดรู้ว่าชำนาญ | จะแก้ไขให้พลันหาย |
อย่าดูหมิ่นและดูถูกว่าการเป็นหมอนั้นง่าย ถึงแม้จะมีตำรับตำราให้เรียนรู้มากมายแต่ก็อย่าได้ประมาทใจ แพทย์บางคนอาจทำได้แค่รักษาตามตำรา แต่เที่ยวอวดรู้ว่าตัวเองมีความชำนาญ
- อย่ารักษาโรคโดยการคาดเดา โทษว่าเป็นแรงกรรม
โรคคือครุกรรม | บรรจบจำอย่าพึงทาย |
กล่าวเล่ห์อุบายหมาย | ด้วยโลกหลงในลาภา |
บ้างจำแต่เพศไข้ | สิ่งเดียวได้สังเกตมา |
กองเลือดว่าเสมหา | กองวาตาว่ากำเดา |
คัมภีร์กล่าวไว้หมด | ไยมิจดมิจำเอา |
ทายโรคแต่โดยเดา | ให้เชื่อถือในอาตมา |
รู้น้อยอย่าบังอาจ | หมิ่นประมาทในโรคา |
แรงโรคว่าแรงยา | มิควรถือว่าแรงกรรม |
โรคภัยคือกรรมหนักหรือบาปหนัก แพทย์ที่ดีไม่ควรรักษาโรคเพราะหวังในทรัพย์สินเงินทอง และไม่ควรใช้เฉพาะการสังเกตอย่างเดียวแล้วอ้างว่ารู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้จักโรคนั้นจริง ๆ ไม่ควรเดาสุ่มแต่ควรเชื่อถือในตำรามากกว่า นอกจากนี้หากรู้น้อยก็ไม่ควรอวดตัว แล้วเที่ยวโทษว่ารักษาไม่ได้เพราะเวรกรรม แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพราะให้ยาไม่ดี
- อย่าวินิจฉัยโรคแค่ว่าตนเคยรักษาโรคมาก่อน
อนึ่งท่านได้กล่าวถาม | อย่ากล่าวความบังอาจอำ |
เภอใจว่าตัวจำ | เพศไข้นี้อันเคยยา |
ใช่โรคสิ่งเดียวดาย | จะพลันหายในโรคา |
ต่างเนื้อก็ต่างยา | จะชอบโรคอันแปรปรวน |
บางทีก็ยาชอบ | แต่เคราะห์ครอบจึ่งหันหวน |
หายคลายแล้วทบทวน | จะโทษยาก็ผิดที |
อย่าบังอาจกล่าวตามอำเภอใจว่าการรักษาโรคนั้นง่าย เพราะเคยรักษามาแล้ว โรคภัยนั้นไม่ได้มีชนิดเดียว แต่มีมากมายหลายชนิด อีกทั้งคนไข้แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ใช้ว่าเป็นโรคเดียวกันแล้วจะต้องใช้ยาชนิดเดียวกันเสมอไป
- อย่าประมาทในการรักษาโรค โรคยิ่งหนักเพราะให้ยามากเกินไป
อวดยาครั้นให้ยา | เห็นโรคาไม่ถอยหนี |
กลับกล่าวว่าแรงผี | ที่แท้ทำไม่รู้ทำ |
เห็นลาภจะใคร่ได้ | นิยมใจไม่เกรงกรรม |
รู้น้อยบังอาจทำ | โรคระยำเพราะแรงยา |
โรคนั้นคือโทโส | จะภิยโยเร่งวัฒนา |
แพทย์เร่งกระหน่ำยา | ก็ยิ่งยับระยำเยิน |
เมื่อเห็นว่าคนไข้ไม่หายเสียที แพทย์กลับให้ยาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจแรงเกินไป และทำให้คนไข้อาการหนักขึ้น เปรียบโรคภัยได้กับความโกรธ ที่ยิ่งเมื่อเติมเชื้อไฟ จะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- อย่าอวดรู้ ควรพิจารณาปริมาณยาให้เหมาะสม
รู้แล้วอย่าอวดรู้ | พินิจดูอย่าหมิ่นเมิน |
ควรยาหรือยาเกิน | กว่าโรคนั้นจึ่งกลับกลาย |
ถนอมทำแต่พอควร | อย่าโดยด่วนเอาพลันหาย |
ผิโรคนั้นกลับกลาย | จะเสียท่าด้วยผิดที |
ไม่ควรอวดรู้ ต้องพิจารณาเรื่องปริมาณยาที่จะให้กับคนไข้อย่างถี่ถ้วน เพราะหากคนไข้เกิดแพ้ยา อาจทำให้อาการหนักมากขึ้น
- หมอบางคนรู้เพียงยาแขนงหนึ่งแต่อวดรู้ ทำให้โรคหนักขึ้นได้
บ้างได้แต่ยาผาย | บรรจุถ่ายจนถึงดี |
เห็นโทษเข้าเป็นตรี | จึ่งออกตัวด้วยตกใจ |
บ้างรู้แต่ยากวาด | เที่ยวอวดอาจไม่เกรงภัย |
โรคน้อยให้หนักไป | ดังก่อกรรมให้ติดกาย |
แพทย์บางคนรู้จักแค่ยาระบาย (ยาผาย มีคุณสมบัติในการขับลม) พออาการหนักขึ้น รุนแรงขึ้นก็ตกใจทำอะไรไม่ถูก ส่วนยากวาด (ยาที่ต้องนำมาบดให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำ แล้วนำมาป้ายหรือล้วงกวาดที่ลำคอ) แต่เที่ยวอวดรู้ว่าตัวเองรู้จักยามากมายหลายชนิด ทำให้โรคที่ตัวเองรักษาอยู่ จากเบากลายเป็นหนัก ซึ่งถือเป็นการก่อกรรมกับผู้อื่น
ถอดคำประพันธ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เห็นไหมว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยนะ แต่สำหรัญการวิเคราะห์คุณค่าในด้านต่าง ๆ เราแนะนำให้เพื่อน ๆ เข้าไปดูและจดโน้ตกันในแอปพลิเคชัน StartDee คุณครูของเราวิเคราะห์ไว้ละเอียดยิบ ดูเพลิน ดูง่าย จำได้แน่นอน !
สำหรับเพื่อน ๆ ชั้น ม.5 ที่อยากเรียนวิชาภาษาไทยเพิ่มเติม คลิกอ่านบทเรียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี, ถอดคำประพันธ์ เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย หรืออ่านบทเรียนเรื่องโคลนติดล้อ ตอนความนิยมเป็นเสมียนกันแบบเต็ม ๆ ได้เลย
Did you know ? :
รู้หรือไม่ นอกจากประเทศไทยของเรา ประเทศอื่น ๆ ก็มีตำราแพทย์โบราณเหมือนกันนะ อย่างประเทศอินเดียนั้นมีตำราอายุรเวทอายุกว่า ๒,๔๐๐ ปี ซึ่งเปรียบเสมือนตำราแพทย์เล่มใหญ่ ที่มีทั้งตำรายาและตำราศัลยกรรม
สำหรับประเทศจีนนั้น มีตำราแพทย์ชื่อว่า หวงตี้เน่ยจิง ซึ่งถือกันว่าเป็นตำราแพทย์เล่มแรก ๆ ของโลก เพราะเขียนขึ้นตั้งแต่ ๒,๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยจักรพรรดิหวงตี้ (หรือจักรพรรดิเหลือง) เป็นผู้ริเริ่มตำราแพทย์นี้ขึ้นมา มีการกล่าวถึงโรคต่าง ๆ สรรพคุณยาจีนโบราณ รวมไปถึงการฝังเข็มอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)
Lin's International Medical Consultant. "ประวัติศาสตร์การแพทย์ยุคโบราณ." iemgthailand, 18 เมษายน 2563, https://liemgthailand.com/th/ประวัติศาสตร์-การแพทย์.
ลลิตา ธีระสิริ. "ปรัชญาการรักษาโรคแบบตะวันออก- อัตลักษณ์ของอาเซียน." สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 16 เมษายน 2563, https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1275