ระหว่างคำว่า ‘เพื่อน’ และ ‘เพื่อน ๆ’
ทุกคนรู้สึกไหมว่าแค่ใส่ไม้ยมก (ๆ) สองคำก็นี้ให้ความรู้สึกที่ต่างกันแล้ว นี่คือ ‘คำซ้ำ’ หลักภาษาที่จะทำให้การใช้ภาษาของเพื่อน ๆ สนุกและมีสีสันมากขึ้น คำซ้ำคืออะไร และคำซ้ำจะทำให้การใช้ภาษาไทยของเราสนุกขึ้นได้ยังไง วันนี้ StartDee จะพาไปดู !
หรือเพื่อน ๆ จะไปเรียนกันในรูปแบบวิดีโอกับแอปฯ StartDee ก็ได้นะ คลิกที่แบนเนอร์หรือสแกน QR Code ด้านล่างเลย
คำซ้ำผู้มาพร้อมไม้ยมก
คำซ้ำคืออะไรกันนะ ? คำซ้ำก็คือการนำคำมูลที่มีรูปเสียงและความหมายเหมือนกันมา ‘กล่าวซ้ำโดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) เติมข้างหลัง’ นั่นเอง โดยคำที่ซ้ำจะต้องเหมือนกันทั้งหน้าตา เสียง ความหมาย และหน้าที่ของคำในประโยค ยกตัวอย่างคำซ้ำชนิดเรียง ๒ คำ เช่น หนุ่ม ๆ / ช้า ๆ / ลูก ๆ คำซ้ำชนิดเรียง ๔ คำ เช่น งู ๆ ปลา ๆ / สุก ๆ ดิบ ๆ / สด ๆ ร้อน ๆ
คำซ้ำทำให้คำในภาษาไทยมีลักษณะและหน้าที่ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งบอกความเป็นพหูพจน์ บอกความหมายแยกเป็นส่วน ๆ บอกความหมายเน้น ออกคำสั่ง หรือเพิ่มน้ำหนักให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นและอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น
- คำซ้ำที่บอกถึงความเป็นพหูพจน์
น้อง ๆ ออกไปข้างนอกกับแม่ แสดงว่ามีน้องหลายคน
เพื่อน ๆ กำลังจะตามมา แสดงว่ามีเพื่อนมากกว่าหนึ่งคน - คำซ้ำที่บอกความหมายแยกเป็นส่วน ๆ
แม่หั่นหมูเป็น ชิ้น ๆ
น้องปั้นดินน้ำมันเป็น ก้อน ๆ - คำซ้ำที่บอกอาการออกคำสั่ง เน้นความหมาย หรือเพิ่มน้ำหนักคำให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
เธอไปเดิน ห่าง ๆ ฉันเลยนะ
หัดเดินให้มัน เร็ว ๆ หน่อยได้ไหม
อยู่ นิ่ง ๆ สัก 5 นาทีมันจะตายไหม !!!
นั่งตัว ตรง ๆ หน่อย หลังค่อมหมดแล้ว
น้ำหอมที่เธอใช้มีแต่ แพง ๆ ทั้งนั้น - คำซ้ำที่บอกความหมายอ่อนลงหรือเบาลง เช่น
ลิปสติกแท่งนั้นสีออก แดง ๆ (แดง ๆ หมายถึง สีค่อนข้างแดง ไม่แดงเข้ม)
เขาหน้าตา คล้าย ๆ พ่อ (คล้าย ๆ หมายถึง ค่อนข้างเหมือน)
เขาใส่เสื้อสี ดำ ๆ (ดำ ๆ หมายถึง สีค่อนข้างดำ ไม่ดำสนิท) - คำซ้ำที่บอกความหมายไม่เจาะจง เช่น
ไม่ว่า อะไร ๆ ฉันก็ทานได้หมด (อะไร ๆ หมายถึง ทุกอย่าง)
เธอสวยกว่า ใคร ๆ ในโรงเรียน (ใคร ๆ หมายถึง คนในโรงเรียน)
จะมีพัสดุมาส่งช่วง บ่าย ๆ (บอกแค่ช่วงบ่าย ๆ แต่ไม่เจาะจงเวลาชัดเจน) - คำที่ซ้ำแล้วความหมายเปลี่ยนไปจากคำเดิม บอกความหมายที่เป็นสำนวนเฉพาะ เช่น
ข้อสอบโอเน็ตก็แค่ หมู ๆ ป้ะ (หมู ๆ หมายถึง ง่ายมาก)
เธอชอบทำงานแบบ ลวก ๆ ก่อนกำหนดส่งตลอด (ลวก ๆ หมายถึง มักง่าย ไม่เรียบร้อย ไม่ประณีต)
ไป ๆ มา ๆ เขาก็ลืมฉัน (ไป ๆ มา ๆ แปลว่า นาน ๆ เข้า ในที่สุด)
ฉันแค่อยากเตือนเธอ เฉย ๆ (เฉย ๆ หมายถึง เท่านั้น)
ฉันฝึกทำโจทย์ GAT - PAT มามาก ข้อสอบวันนี้ก็แค่ของ กล้วย ๆ (กล้วย ๆ หมายถึง ง่าย ๆ)
อยู่ดี ๆ เธอก็ลุกหนีไป ดื้อ ๆ (ดื้อ ๆ หมายถึง ไม่สนใจหรือไม่บอกกล่าว)
ไหน ๆ ก็มาแล้ว แวะกินข้าวก่อนสิ (ไหน ๆ หมายถึง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว)
เธอนี่ความจำสั้นจริง ครูเพิ่งสอนไป หยก ๆ ก็ลืมเสียแล้ว (หยก ๆ หมายถึง เมื่อตะกี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้)
ช่วงโควิดแบบนี้ธุรกิจของฉันก็ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ขายไม่ค่อยดีเลย (ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หมายถึง ไม่ค่อยราบรื่น)
คำซ้ำที่ไม่มีไม้ยมกก็มีนะ !
นอกจากคำซ้ำแบบมีไม้ยมกทั้ง ๖ กลุ่มที่เรายกตัวอย่างให้เพื่อน ๆ ดูไป ยังมีคำซ้ำที่ไม่มีไม้ยมกอยู่ด้วย ได้แก่ คำซ้ำประเภทเปลี่ยนเสียง และคำที่เป็นคำซ้ำอยู่แล้วโดยไม่ต้องใช้ไม้ยมก เช่น
- คำซ้ำประเภทเปลี่ยนเสียง เป็นการเน้นหรือเพิ่มความหมายโดยการเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ของพยางค์หน้าให้สูงขึ้น แต่คำซ้ำประเภทนี้จะไม่ใช้ไม้ยมก ยกตัวอย่างเช่น ซี้ดซีด ล้อหล่อ ซ้วยสวย มื้ดมืด ดี๊ดี
- คำที่มีรูปเป็นคำซ้ำอยู่แล้ว โดยคำซ้ำเหล่านี้มักเป็นชื่อเฉพาะ หรือคำที่สื่อความหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น ตุ๊กตุ๊ก (ชื่อรถสามล้อของไทย) จะจะ (ให้ชัดเจน, กระจ่าง) ไวไว (ชื่อการค้าของบะหมี่)
ระวังให้ดี ! คำเหล่านี้ไม่นับเป็นคำซ้ำ
จากตัวอย่างที่เรายกมาให้ดูกัน เพื่อน ๆ คงเห็นแล้วว่าคำซ้ำทำให้มิติการบอกเล่าในภาษาไทยหลากหลายมากขึ้นจริง ๆ แต่เพื่อน ๆ ต้องไม่ลืมนะว่าคำที่จะเป็นคำซ้ำและใช้ไม้ยมกได้ “ต้องเหมือนกันทั้งหน้าตา เสียง ความหมาย และหน้าที่ของคำในประโยค” ยกตัวอย่างคำที่เขียนเหมือนกัน ออกเสียงเหมือนกัน หน้าตาเหมือนกันแต่ไม่ใช่คำซ้ำเพราะ ‘หน้าที่ของคำในประโยคไม่เหมือนกัน’ เช่น
ฉันคงเป็นแค่คนคนนึง คนที่เธอไม่เคยนึกถึง
คน ทำหน้าที่เป็นคำนาม
ส่วน คน ทำหน้าที่เป็นคำลักษณนามขยาย คน ตัวแรกอีกที ทำให้ใช้ไม้ยมกแบบคำซ้ำไม่ได้
นอกจากนี้ยังมี ‘คำที่ต้องเป็นคำซ้ำเสมอ’ อยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เหนาะ ๆ / ฉอด ๆ / หลัด ๆ / หยิม ๆ / หงึก ๆ / ปาว ๆ
เขาไม่พูดอะไรเลย เอาแต่พยักหน้า หงึก ๆ ทั้งคาบเรียน
- หงึก ๆ หมายถึง อาการที่พยักหน้าเป็นการรับรู้
เทรนด์ขนมเปี๊ยะไข่เค็มลาวากำลังมาแรง ญาติของฉันที่ทำขายได้กำไร เหนาะ ๆ ก็วันละห้าพัน
- เหนาะ ๆ หมายถึง อาการที่ได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาอย่างสะดวกหรือคล่อง
พี่สาวของฉันพูดเก่งมาก ไม่ว่าสถานการณ์ไหนเธอก็พูด ฉอด ๆ ไม่เคยหยุดปาก
- ฉอด ๆ หมายถึง อาการที่พูดหรือเถียงไม่หยุดปาก
เป็นยังไงกันบ้างกับบทเรียนเรื่องคำซ้ำ ถือว่าเป็นหลักภาษาอีกข้อที่เราใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันเลยเนอะ คำไหนซ้ำได้ คำไหนซ้ำไม่ได้ เพื่อทักษะการใช้ภาษาที่ดูเป็นมืออาชีพเพื่อน ๆ อย่าลืมนำไปใช้ให้ถูกต้องนะ และนอกจากนั้น เพื่อน ๆ ยังสามารถเรียนเรื่องคำประสม เพื่อเพิ่มความแม่นด้านหลักภาษาไทย ส่วนเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากพักเรื่องหลักภาษา เราขอแนะนำให้ไปเรียนวรรณคดีเรื่อง นิราศภูเขาทอง กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา และ ราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา กันต่อ หรือถ้าเพื่อน ๆ คนไหนไม่อยากอ่านบทความแล้ว จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มานั่งเรียนจากแอนิเมชันเพลิน ๆ ก็ได้เหมือนกัน !
ขอบคุณข้อมูลจาก:
ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)