ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษามา เพื่อน ๆ น่าจะได้เรียนเกี่ยวกับการแต่งคำประพันธ์มากมายทั้งในรูปแบบโคลง กาพย์ กลอน และร่าย แต่ในวันนี้ StartDee จะขอพาเพื่อน ๆ มารู้จักคำประพันธ์ในรูปแบบฉันท์ ซึ่งมีมากมายหลายประเภทย่อย หนึ่งในนั้นคือ “อินทรวิเชียรฉันท์” ซึ่งเป็นรูปแบบที่พระยาศรีสุนทรโวหารใช้ในการแต่งเรื่องบทนมัสการมาตาปิตุคุณและอาจริยคุณ ไปดูกันดีกว่าว่าอินทรวิเชียร์ฉันท์ในเรื่องนี้จะมีลักษณะแตกต่างกับเรื่องอื่นอย่างไร
นอกจากนั้น เพื่อน ๆ ยังสามารถเรียนกันได้ในรูปแบบวิดีโอ ที่แอปพลิเคชัน StartDee ดาวน์โหลดเลย มีสรุปให้ปรินต์ไปอ่านก่อนสอบได้ด้วยนะ
ผู้แต่ง
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นกวีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านได้รับสมญานามว่าเป็น ศาลฎีกาภาษาไทย เพราะเป็นผู้แต่งตำราชุดแรกของไทย เรียกว่า “แบบเรียนหลวง”
ที่มาของบทนมัสการมาตาปิตุคุณและอาจาริยคุณ
เป็นบทประพันธ์รวมพิมพ์ในภาคเบ็ดเตล็ด หนังสือชุดภาษาไทยเล่มที่ ๒ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ลักษณะคำประพันธ์
พระยาศรีสุนทรโวหารเรียกฉันท์ที่ใช้ในการแต่งบทนมัสการมาตาปิตุคุณและอาจารยคุณว่า “อินทะวะชิระฉันท์” แต่โดยทั่วไปเรียกว่า “อินทรวิเชียรฉันท์” ซึ่งมีการบังคับครุและลหุ แต่ผู้แต่งคือพระยาศรีสุนทรโวหารเลือกให้ความสำคัญกับเนื้อหา โดยเลือกสรรคำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึก และใช้สำหรับเป็นบทบูชาสรรเสริญมากกว่าการแต่งให้ถูกฉันทลักษณ์ อย่างไรก็ตาม เพื่อน ๆ ก็สามารถอ่านให้ถูกฉันทลักษณ์ได้ เช่น คำว่า ชนนี สามารถอ่านว่า ชะ-นะ-นี เป็นต้น
อินทรวิเชียร์ฉันท์ ๑๑ หมายถึง ฉันท์ที่มีลีลาอันรุ่งเรืองงดงามประดุจสายฟ้า ซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ นิยมใช้ในการแต่งข้อความซึ่งเป็นบทชม บทคร่ำครวญ และใช้แต่งเป็นบทพากย์โขน เพื่อน ๆ สามารถดูแผนผังการแต่งอินทรวิเชียร์ฉันท์ได้ที่นี่
และหากเพื่อน ๆ อยากแต่งอินทรวิเชียรฉันท์เองบ้าง แต่ไม่รู้จะเลือกใช้คำแบบไหน สามารถดูได้ที่ตารางด้านล่างนี้เลย
คำครุ (เสียงหนัก) |
คำลหุ (เสียงเบา) |
- คำที่ประสมกับสระเสียงยาว ในแม่ ก กา - คำที่มีตัวสะกด - คำที่ประสมกับสระ -ำ, ไ-, ใ-, เ-า |
- คำที่ประสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก กา - คำที่เป็นพยัญชนะตัวเดียว ไม่มีรูปสระ เช่น ธ ณ บ บ่ เป็นต้น |
ถอดคำประพันธ์บทนมัสการมาตาปิตุคุณ
ข้าขอนบชนกคุณ |
ชนนีเป็นเค้ามูล |
ผู้กอบนุกูลพูน |
ผดุงจวบเจริญวัย |
ฟูมฟักทะนุถนอม |
บ่บำราศนิราไกล |
แสนยากเท่าไร ๆ |
บ่คิดยากลำบากกาย |
ตรากทนระคนทุกข์ |
ถนอมเลี้ยงฤรู้วาย |
ปกป้องซึ่งอันตราย |
จนได้รอดเป็นกายา |
เปรียบหนักชนกคุณ |
ชนนีคือภูผา |
ใหญ่พื้นพสุนธรา |
ก็บ่เทียบบ่เทียมทัน |
เหลือที่จะแทนทด |
จะสนองคุณานันต์ |
แท้บูชไนยอัน |
อุดมเลิศประเสริฐคุณ |
เป็นบทอาขยานที่กล่าวถึงการนอบน้อมในพระคุณของบิดามารดา ผู้ที่ได้เลี้ยงดูและเกื้อกูลเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบโต คอยเฝ้าระวังรักษาประคับประคอง ดูแลอยู่ไม่ยอมห่าง แม้ว่าจะลำบากเท่าไรก็อดทนได้ อีกทั้งยังคอยปกป้องจากอันตรายจนลูกมีชีวิตรอดมาเป็นผู้ใหญ่ได้ ดังนั้น พระคุณของพ่อแม่ จึงยิ่งใหญ่กว่าภูเขาหรือผืนแผ่นดิน แม้จะกราบไว้บูชาอย่างวิเศษล้ำเลิศแค่ไหน ก็ไม่อาจทดแทนบุญคุณอันมากล้นของพ่อแม่ได้
คำศัพท์ในบทประพันธ์
ชนก หมายถึง พ่อ
ชนนี หมายถึง แม่
บูชไนย หมายถึง พึงบูชา
พสุนธรา หมายถึง แผ่นดิน
คุณานันต์ หมายถึง บุญคุณมหาศาล
ถอดคำประพันธ์บทนมัสการอาจริยคุณ
อนึ่งข้าคำนับน้อม |
ต่อพระครูผู้การุญ |
โอบเอื้อและเจือจุน |
อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ |
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ |
ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน |
ชี้แจงและแบ่งปัน |
ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน |
จิตมากด้วยเมตตา |
และกรุณา บ เอียงเอน |
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ |
ให้ฉลาดและแหลมคม |
ขัดเขลาบรรเทาโม |
หะจิตมืดที่งุนงม |
กังขา ณ อารมณ์ |
ก็สว่างกระจ่างใจ |
คุณส่วนนี้ควรนับ |
ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร |
ควรนึกและตรึกใน |
จิตน้อมนิยมชม |
เป็นบทอาขยานที่กล่าวถึงการสรรเสริญพระคุณของครูอาจารย์ ผู้เปี่ยมไปด้วยความกรุณาและโอบอ้อมอารี คอยสั่งสอนให้รู้วิชาและศาสตร์ต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน อีกทั้งในเรื่องของบาปบุญคุณโทษด้วย คอยขยายความให้ลูกศิษย์มีความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีความเมตตากรุณาที่เที่ยงตรงเที่ยงธรรม เคี่ยวเข็ญให้ลูกศิษย์มีความฉลาดหลักแหลม ขจัดความโง่เขลาและสับสนออกไปจากจิตใจ ดังนั้น พระคุณของครูอาจารย์จึงถือว่าเป็นเลิศในสามโลก ควรระลึกและน้อมใจชื่นชมยกย่องเป็นอย่างยิ่ง
คำศัพท์ในบทประพันธ์
อนุสาสน์ หมายถึง สั่งสอน
อัตถ์ หมายถึง ขยายความ
แกล้ง หมายถึง ตั้งใจ (แปลตามความหมายเดิม)
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
การเลือกสรรคำผู้ประพันธ์ได้เลือกคำที่เหมาะสมในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก มีการใช้คำที่เป็นการยกระดับในการเดินเรื่อง เช่น ชนก ชนนี เป็นต้น และยังพยายามใช้คำเพื่อให้คนเห็นภาพ เช่น โอบเอื้อ เจือจุน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ผู้ประพันธ์ใช้คำที่เรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจได้ในทันที อาจมีคำยากบ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่ง StartDee ได้รวบรวมให้แล้วข้างต้น ลองย้อนกลับไปดูกันนะ
การใช้ภาพพจน์
มีการใช้ภาพพจน์เพื่อเปรียบเทียบระหว่างบุญคุณของพ่อแม่ กับสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของพระคุณของท่าน โดยผู้ประพันธ์ได้ใช้ “อุปลักษณ์” ในการเปรียบเทียบ เช่น
เปรียบหนักชนกคุณ |
ชนนีคือภูผา |
ใหญ่พื้นพสุนธรา |
ก็บ่เทียบบ่เทียมทัน |
จากบทประพันธ์ข้างต้น จะเห็นว่ามีการเปรียบเทียบบุญคุณของพ่อแม่ว่าหนักแน่นเท่าภูผา หรือภูเขา และยิ่งใหญ่เท่าพสุนธรา หรือแผ่นดินนั่นเอง
การเล่นเสียง
แบ่งออกเป็นการเล่นเสียงพยัญชนะ การเล่นเสียงสระ และการเล่นเสียงเบา - หนัก (ครุ - ลหุ)
- การเล่นเสียงพยัญชนะ หากเล่นเสียงพยัญชนะเดียวกับหรือใกล้เคียงกัน จะทำให้เกิดการกระทบกันของเสียง ช่วยให้เกิดความไพเราะ เช่น ข้าขอนบชนกคุณ มีการใช้คำว่า ข้าและขอ เป็นเสียง ข เหมือนกัน และใช้คำว่า (ช) นกและนบ ซึ่งเป็นเสียง น เหมือนกัน เป็นต้น
- การเล่นเสียงสระ มีการเล่นเสียงสระที่เป็นเสียงเดียวกัน ทำให้เวลาอ่านเกิดการส่งสัมผัสที่น่าฟัง เช่น ตรากทนระคนทุกข์ มีการเล่นเสียงสระโอะ โดยใช้คำว่า ทน และ (ระ) คน
การซ้ำคำ
มีการใช้คำที่ออกเสียงเหมือนกันมาวางไว้ในตำแหน่งใกล้กัน แต่มีการใช้คำอื่นแทรกลงไป ทำให้การออกเสียงมีความคมคาย ไพเราะ และยังเพิ่มความหมายที่น่าสนใจ เช่น ก็ บ่ เทียบ บ่ เทียมทัน มีการใช้คำว่า “บ่” แทรกกลางระหว่างคำว่า “เทียบ” และ “เทียม” ที่ออกเสียงคล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ยังมีการเล่นคำที่มีความหมายคู่ตรงข้าม เช่น บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน เป็นต้น
คุณค่าด้านเนื้อ สังคมและข้อคิด
คุณค่าด้านเนื้อหา
- การลำดับความได้ชัดเจน คำนมัสการมาตาปิตุคุณและอาจริยคุณมีการลำดับเนื้อหาอย่างเหมาะสม ชัดเจน โดยในคำนมัสการมาตาปิตุคุณ มีการกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ที่คอยเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ ตลอดจนความยิ่งใหญ่ของบุญคุณของพ่อแม่ และปิดท้ายด้วยการการสอนให้เด็ก ๆ รู้จักกตัญญูรู้คุณต่อผู้ให้กำเนิด เช่นเดียวกับคำนมัสการอาจาริยคุณ ที่กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของครูอาจารย์ที่คอยสั่งสอนและให้ความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก ตามด้วยการกล่าวถึงบุญคุณของคุณครู ซึ่งเด็ก ๆ ควรเคารพและขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
- มีการสอนจริยธรรม จะเห็นได้ว่า บทเรียนเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่เพื่อน ๆ นำไปใช้ได้จริง ด้วยการรู้จักสำนึกในพระคุณของบิดามารดาและครูอาจารย์ นับเป็นการใช้บทประพันธ์เพื่อปลูกฝังจริบธรรมได้เป็นอย่างดี
คุณค่าด้านสังคม
วรรณคดีเรื่องนี้มีจุดเด่นในการสะท้อนให้เห็นภาพสังคมในอดีตและยังจรรโลงสังคมอีกด้วย
- การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ในคุณค่าของชีวิต ได้นำแง่คิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่าน ไปใช้ในการดำเนินชีวิต หรือเป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหา
แม้ว่าจะเป็นฉันท์ที่ไม่ยาวมากนัก แต่เพื่อน ๆ ก็ได้เรียนรู้ทั้งลักษณะคำประพันธ์ และคุณค่าด้านต่าง ๆ ไปแบบจัดเต็ม ใครที่อยากตะลุยเรียนภาษาไทยในระดับชั้น ม.๔ กันต่อ ดูที่ลิสต์ด้านล่างนี้ได้เลย