การคิดค่าไฟฟ้า ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิชาวิทยาศาสตร์

ฟิสิกส์-ม3-การคิดค่าไฟ

เพื่อน ๆ หลายคนอาจตกใจเมื่อเห็นบิลค่าไฟเดือนที่ผ่านมา (สารภาพว่าทางเราเองก็แอบหน้าสั่น) อาจเป็นเพราะอากาศที่ร้อนจนต้องเปิดแอร์และพัดลมทั้งวันทั้งคืน แถมออกจากบ้านไปไหนไม่ได้ และอีกสารพัดปัจจัยส่งผลให้ค่าไฟบ้านเราพุ่งขึ้นสูงปรี๊ด อย่างไรก็ตามถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ค่าไฟในเดือนนี้แบบไม่ต้องรอบิลมาแจ้ง วันนี้เราก็มีการคิดค่าไฟฟ้าแบบง่าย ๆ มาฝากเพื่อน ๆ ด้วยล่ะ เตรียมเครื่องคิดเลขแล้วมาคิดค่าไฟไปพร้อม ๆ กับเราได้เลย!

หรือจะคิดค่าไฟไปพร้อมกันในแอปพลิเคชัน StartDee ก็ได้เหมือนกันนะ ดาวน์โหลดที่ลิงก์นี้เลย

Banner-Green-Noey

1. หาค่าพลังงานที่เราใช้ไป

ก่อนที่เราจะคิดค่าไฟออกมา ก็ต้องหาค่าพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ไปก่อน โดยพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ไปนั้นหาได้จาก “กําลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า” คูณด้วย “เวลาที่เราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า” หรือสามารถเขียนเป็นสมการได้ว่า

การคิดค่าไฟ-1

จะเห็นว่าหน่วยของพลังงานไฟฟ้านั้นเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง เรียกได้อีกอย่างว่า “หน่วย” หรือ

“ยูนิต” นั่นเอง

 

2. เริ่มคํานวณค่าไฟฟ้า

เมื่อคํานวณว่าเราใช้พลังงานไฟฟ้าไปกี่ยูนิตเรียบร้อยแล้วก็คํานวณค่าไฟฟ้าได้เลย โดยสามารถคํานวนค่าไฟฟ้าได้จากสมการนี้

การคิดค่าไฟฟ้า

ซึ่งราคาไฟฟ้าต่อหน่วยอ้างอิงจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ราคาจะอยู่ที่ประมาณนี้

35 หน่วยแรก เหมารวมในราคา 85.21 บาท

115 หน่วยต่อไป หน่วยละ 1.1236 บาท

250 หน่วยต่อไป หน่วยละ 2.1329 บาท

ส่วนที่เกินกว่า 400 หน่วย หน่วยละ 2.4226บาท

จะเห็นว่าเมื่อปริมาณยูนิตไฟฟ้าที่ใช้เพิ่มขึ้นราคาก็จะแพงขึ้นด้วย ซึ่งการคิดค่าไฟฟ้าแบบนี้เรียกว่าการคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive rate) เป็นวิธีการคิดค่าไฟสำหรับที่อยู่อาศัยหรือกิจการขนาดเล็ก นอกจากนี้วิธีการคิดค่าไฟฟ้ายังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น การคิดค่าไฟฟ้าอัตรา TOU ซึ่งย่อมาจาก Time off tariff การคิดค่าไฟฟ้าอีกรูปแบบที่จะมีเรื่องช่วงเวลาที่ใช้ไฟฟ้ามากน้อยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

 

แต่ในระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 โจทย์จะยังไม่ซับซ้อนขนาดนั้น งั้นมาลองคำนวณค่าไฟกันในโจทย์นี้

การคิดค่าไฟ-3
บ้านของน้องสตาร์ตและน้องดีมีเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 ชนิด คือหลอดไฟขนาด 50 วัตต์ 3 ดวง เปิดใช้งานวันละ 10 ชั่วโมง ตู้เย็นขนาด 125 วัตต์ 1 ตู้ เปิดใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ไมโครเวฟขนาด 600 วัตต์ 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 30 นาที ถ้าราคาไฟฟ้าต่อหน่วยคือ 1.5 บาท ค่าไฟที่ควรจะเป็นของบ้านน้องสตาร์ทและน้องดีในเดือนเมษายนนี้ควรจะเป็นเท่าไหร่

 

วิธีทำ

ขั้นตอนที่ 1 หาค่าพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ไป

หลอดไฟขนาด 50 วัตต์ 3 ดวง เปิดใช้งานวันละ 10 ชั่วโมง

W = P x t

W = 0.05 x 3 x 10 = 1.5 kW·hr หรือ Unit ต่อวัน

เดือนเมษายนมี 30 วัน ดังนั้น หลอดไฟใช้พลังงานไฟฟ้าไป 1.5 x 30 = 45 unit/ เดือน

 

ตู้เย็นขนาด 125 วัตต์ 1 ตู้ เปิดใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง

W = P x t

W = 0.125 x 24 = 3 kW·hr หรือ Unit ต่อวัน

เดือนเมษายนมี 30 วัน ดังนั้น ตู้เย็นใช้พลังงานไฟฟ้าไป 3 x 30 = 90 unit/ เดือน

 

ไมโครเวฟขนาด 600 วัตต์ 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 30 นาที

W = P x t

W = 0.6 x 0.5 = 0.3 kW·hr หรือ Unit ต่อวัน

เดือนเมษายนมี 30 วัน ดังนั้น ไมโครเวฟใช้พลังงานไฟฟ้าไป 0.3 x 30 = 9 unit/ เดือน

ดังนั้นในเดือนเมษายน บ้านของน้องสตาร์ตและน้องดีใช้ไฟไปรวม 45 + 90 + 9 = 144 unit

Note: อย่าลืมเปลี่ยนวัตต์ให้เป็นหน่วยกิโลวัตต์ด้วยการนำจำนวนวัตต์หารด้วย 1000

หน่วยของเวลาเป็นชั่วโมง ถ้าใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านานครึ่งชั่วโมง (30 นาที) เวลาที่ต้องนำไปคำนวณก็คือ 0.5

ขั้นตอนที่ 2 คํานวณค่าไฟฟ้า

ค่าไฟฟ้า = จํานวนยูนิต x ราคาต่อหน่วย

ค่าไฟฟ้า = 144 x 1.5

ค่าไฟฟ้า = 216 บาท

สรุปได้ว่า ในเดือนเมษายนนี้น้องสตาร์ตและน้องดีจะต้องจ่ายค่าไฟประมาณ 216 บาทนั่นเอง

 

เป็นยังไงบ้างเพื่อน ๆ วิธีคำนวณค่าไฟนี่ไม่ยากอย่างที่คิดเลยใช่ไหมล่ะ วิธีนี้นอกจากจะเอาไว้ใช้ทำข้อสอบแล้วยังเอามาคำนวณค่าไฟบ้านได้ด้วยนะ และถ้าไม่อยากเป็นลมเพราะค่าไฟก็อย่าลืมใช้ไฟกันอย่างประหยัดด้วยนะเพื่อน ๆ ส่วนวันนี้ทางเราต้องขอตัวไปจ่ายบิลค่าไฟก่อน แล้วพบกันใหม่บทเรียนหน้า! ส่วนใครที่อยากอ่านบทความสนุก ๆ คลิก อ่านบทความออนไลน์ โครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์ หรือ เส้นขนานและมุมภายใน หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของเราก็ได้นะ รับรองว่าเรียนสนุกได้จุใจเลยล่ะ

 

แสดงความคิดเห็น