“ในบางครั้ง แค่เสียงพูดอาจดังไม่พอ”
จากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนและกลุ่มนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นภาพผู้คน “ชูสามนิ้ว” ผ่านไทม์ไลน์กันอยู่บ่อยครั้ง หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นแค่ท่าโพสเท่ ๆ แต่เราขอบอกเลยว่าการชูสามนิ้วไม่ใช่แค่เทรนด์ ทว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น !
กิริยาท่าทางก็สื่อสารได้: เมื่อร่างกายมีวิธีสื่อสารที่มากกว่าการพูด
นอกจากการเปล่งเสียงออกมาเป็นภาษาพูด มนุษย์อย่างเรายังมี “อวัจนภาษา” (Non-verbal communication) ซึ่งเป็นการสื่อสารด้วยอากัปกิริยา ไม่มีการใช้ถ้อยคำทั้งภาษาพูดหรือภาษาเขียนมาเกี่ยวข้อง นอกจากจะช่วยเสริมให้คำพูดมีพลังมากขึ้น อวัจนภาษายังเป็นทางเลือกในการสื่อสารและการแสดงออกสำหรับหลาย ๆ กรณีที่ "แค่การพูดอาจไม่เพียงพอ" ซึ่งการสื่อสารโดยใช้อวัจนภาษานี้สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงที่เราใช้ในการพูดหรือการเขียน การใช้สิ่งของ วัตถุ หรือสภาพแวดล้อมมาช่วยในการสื่อสาร การใช้สัมผัส สายตา รวมไปถึงกิริยาท่าทาง การเคลื่อนไหวมือและร่างกายเพื่อแสดงออกเป็นสัญลักษณ์แทนคำพูด ถ้าเพื่อน ๆ ยังนึกภาพไม่ออกลองนึกถึงการวาดแขนและการทำท่าทางประกอบการนำเสนองานหน้าชั้นเรียนของเพื่อนร่วมห้อง การใช้น้ำเสียงในการอ่านข่าวของผู้ประกาศข่าวในทีวี การใช้สายตาสื่ออารมณ์ของนักแสดงในซีรีส์ หรือแม้กระทั่งการชูสามนิ้วในการชุมนุมครั้งที่ผ่าน ๆ มาก็นับเป็นอวัจนภาษารูปแบบหนึ่งเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก Twitter
“ชูสามนิ้ว” เกิดจากอะไร และทำไมต้องสามนิ้ว ?
มาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ หลายคนคงเริ่มสงสัยขึ้นมาว่า “แล้วการชูสามนิ้วนี่มีที่มาจากอะไรกันนะ” แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีผู้เสนอสมมติฐานต่าง ๆ มากมาย เช่น การชูสามนิ้วอาจเริ่มมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 โดยนิ้วทั้งสามสื่อความหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส แต่ในภายหลังได้มีผู้ออกมาโต้แย้งว่าไม่มีหลักฐานการชูสามนิ้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสซะหน่อย ! ดังนั้นจุดกำเนิดที่แท้จริงของการสดุดีด้วยสามนิ้วจึงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
ถึงที่มาและจุดกำเนิดจะยังคลุมเครือ แต่ภาพการชูสามนิ้ว หรือ Three fingers salute ที่คนไทยจำได้อย่างติดตานั้นมีที่มาจาก The Hunger Games ภาพยนตร์ที่สร้างมาจากชุดวรรณกรรมเยาวชนไตรภาคของคุณซูซาน คอลลินส์ (Suzanne Collins) ในชื่อเดียวกัน
ขอบคุณภาพจาก isriya.com
“ชูสามนิ้ว” ใน The Hunger Games: สัญลักษณ์ของการสดุดีหรือการต่อต้าน
The Hunger Games เป็นเรื่องราวของโลกในยุค Post-apocalyptic[1] ที่พาเน็ม (Panem) ถูกแบ่งออกเป็น 13 เขต โดยมีแคปปิตอล (Capital) เป็นศูนย์กลางการปกครอง ซึ่งแต่ละเขตจะต้องส่งผลผลิตเป็นบรรณาการให้แก่แคปปิตอลทุกปี ชีวิตของชาวพาเน็มภายใต้การปกครองของแคปปิตอลนั้นยากจนแล้งไร้ จนกระทั่งเขต 13 ทนไม่ไหวและลุกขึ้นมาปฏิวัติ แต่ก็ถูกแคปปิตอลทำลายจนเหลือเพียงซากปรักหักพัง แถมยังถูกลบออกจากแผนที่ไปตลอดกาล
จากเหตุการณ์นี้แคปปิตอลจึงจัดการแข่งขันเกมล่าชีวิตขึ้น เพื่อย้ำเตือนชาวพาเน็มถึงอำนาจของแคปปิตอลที่อยู่เหนือชีวิตของทุก ๆ คน โดยในวันเก็บเกี่ยว ทั้ง 12 เขตจะต้องส่งเครื่องบรรณาการชายหนึ่งหญิงหนึ่งเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้ในเกมล่าชีวิต เกมที่ผู้แข่งขันต้องฆ่ากันเองจนกว่าจะเหลือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว
นอกจากจะเป็นการข่มขู่ให้ชาวพาเน็มสยบยอมต่ออำนาจ เกมล่าชีวิตยังถูกถ่ายทอดสดให้ผู้คนทั้งพาเน็มได้รับชม และกลายมาเป็นหนึ่งในความบันเทิงของชนชั้นสูงในแคปปิตอล มีการพนันขันต่อด้วยความเป็นความตายของผู้เข้าแข่งขัน แถมยังมีการส่งยาและสิ่งของให้ผู้เข้าแข่งขันในฐานะ ”สปอนเซอร์” ด้วย ถึงจะดูโหดร้ายป่าเถื่อน แต่เกมล่าชีวิตก็ถูกจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จนกระทั่งการแข่งขันปีที่ 74 แคตนิส เอเวอร์ดีน ได้อาสาเป็นเครื่องบรรณาการแทนน้องสาวของเธอ ในตอนนั้นเอง ผู้คนที่มาในวันเก็บเกี่ยวต่างสดุดีความกล้าหาญของแคตนิสด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว และนั่นคือการปรากฎตัวครั้งแรกของ 3 Fingers Salute ใน The Hunger Games
[1]โลกอนาคตในยุคหลังภัยพิบัติหรือสงคราม มีความเชื่อมาจากศาสนาคริสต์เกี่ยวกับวันสิ้นโลก (Apocalyptic) ที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่
“At first one, then another, then almost every member of the crowd touches the three middle fingers of their left hand to their lips and holds it out to me.
จากนั้นก็อีกคน แล้วก็เกือบทุกคนในฝูงชน พากันยกนิ้วสามนิ้วของมือซ้าย นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางขึ้นแตะริมฝีปากแล้วยื่นมาทางฉัน”
— Katniss Everdeen, The Hunger Games
ด้วยพรสวรรค์ในการใช้ธนู แคตนิสจึงเป็นผู้แข่งขันที่น่าจับตามองมากคนหนึ่ง ระหว่างการแข่งขันแคตนิสได้รับบาดเจ็บจากตัวต่อมรณะ แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากริว (Rue) เด็กสาวอายุ 12 จากเขต 11 ทั้งสองตัดสินใจรวมกลุ่มเดินทางไปด้วยกัน แต่แล้วริวก็ถูกฆ่าตายในขณะที่พลัดหลงกับเธอ นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แคตนิสเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่แคปปิตอลมอบให้ผู้คนภายใต้ปกครอง และจึงตัดสินใจว่าจะไม่อยู่ภายใต้อำนาจนั้นอีกต่อไป เธอจัดแต่งหลุมศพของริวอย่างสวยงาม ก่อนจะยกนิ้วชี้ กลาง และนิ้วนางข้างซ้ายขึ้นแตะริมฝีปาก จากนั้นจึงชูสามนิ้วนั้นแก่ชาวพาเน็มที่รับชมการแข่งขันนั้นอยู่เพื่อไว้อาลัยแก่การเสียชีวิตของริว
"It is an old and rarely used gesture of our district, occasionally seen at funerals. It means thanks, it means admiration, it means goodbye to someone you love.
มันเป็นท่าเก่าแก่ของเขตเรา ซึ่งแทบไม่เคยปรากฎให้เห็นแล้ว ยกเว้นนาน ๆ ครั้งในงานศพ มันหมายถึงการขอบคุณ ความชื่นชม และการบอกลาคนที่คุณรัก”
— Katniss Everdeen, The Hunger Games
ขอบคุณภาพจาก Giphy
หากอ้างอิงความหมายตามหนังสือ The Hunger games การชูสามนิ้วคือสัญลักษณ์อันเก่าแก่ของเขต 12 ที่หมายถึงการขอบคุณ การชื่นชม การอำลาคนที่รัก และใช้แสดงการสรรเสริญสดุดี แต่การชูสามนิ้วของแคตนิสในครั้งที่สองนี้ได้จุดประกายให้ฝูงชนมากมายเริ่มต่อต้านแคปปิตอล จึงมีการนำการชูสามนิ้วมาเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านต่ออำนาจเผด็จการ รวมถึงใช้เรียกขวัญและกำลังใจในหมู่มวลชนต่าง ๆ เช่นการชุมนุมในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
รู้ไหม ? ในไทยก็มีการ “ชูสามนิ้ว” นะ
หลังจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ก็เริ่มมีประชาชนชาวไทยที่ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่เป็นระยะ แต่เนื่องจากการประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกที่มีข้อบังคับห้ามไม่ให้ประชาชนมั่วสุมชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป การชุมนุมทุกประเภทจึงถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อประกาศของคสช. ทำให้ผู้ที่มาชุมนุมต้องหลีกเลี่ยงการแสดงออกถึงการต่อต้านโดยตรง และมีการแสดงออกทางสัญลักษณ์ในรูปแบบอื่น ๆ แทน เช่น การชูสามนิ้วพร้อมกับเอามือปิดปาก สื่อถึงการแสดงออกทางความคิดเห็นที่ถูกจำกัดไว้ และถึงจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2558 (รวมระยะเวลาบังคับใช้เป็นเวลา 10 เดือน 11 วัน) คสช. ก็ยังนำกฎหมายข้ออื่น ๆ มาใช้ในการปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เช่น มาตรา 112 มาตรา 116 โดยมีการห้ามชูสามนิ้ว หรือทำเครื่องหมายใด ๆ เพื่อแสดงออกทางการเมือง หากฝ่าฝืนจะเป็นการละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 166 หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่าข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
ขอบคุณภาพจาก thegardian.com
แต่ถึงอย่างนั้นการชูสามนิ้วก็ปรากฎในการเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง ในการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา โดยจุดมุ่งหมายในการชุมนุมครั้งนี้คือเสนอข้อเรียกร้อง 3 ประการแก่รัฐบาล คือหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และขอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งในวันนั้นมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกว่า 5,000 คน และมีการชูสามนิ้วเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านเผด็จการ
การชุมนุมครั้งนั้นได้จุดประกายให้มีการแสดงออกทางการเมืองในไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากการชูสามนิ้วจึงมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์รูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น การชูกระดาษเปล่า การสื่อสารผ่านศิลปะการแสดง การเปิดแฟลชในโทรศัพท์ การผูกโบว์ขาว หรือการประท้วงที่นำป๊อปคัลเจอร์มาเป็นธีม เช่น การ์ตูน "แฮมทาโร่" กลายเป็นกิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่ "แฮรี่ พอตเตอร์" กลายมาเป็นกิจกรรมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ไทยอย่างหอแต๋วแตกก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” ด้วย สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความตื่นตัวของประชาชนชาวไทยที่ต้องการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบอันหลากหลายและสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังทำให้สื่อต่างประเทศสนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น และท่ามกลางรูปแบบการแสดงออกที่หลากหลาย การชูสามนิ้วก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านต่อเผด็จการและอำนาจมืดที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย โดยจะเห็นได้จากสื่อและโปสเตอร์ต่าง ๆ ที่ปรากฎในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขอบคุณภาพจาก Freedomforthai

ขอบคุณภาพจาก thestandard.co

ขอบคุณภาพจาก thestandard.co
ขอบคุณภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์
นอกจากประเทศไทย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะนี้ยังปรากฎในประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น ในประเทศอียิปต์ก็มีสัญลักษณ์ Rabbi’ah (รอบีอะห์) ซึ่งเป็นการชูสี่นิ้วเพื่อต่อต้านรัฐประหารในอียิปต์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมของปี ค.ศ.2013 ซึ่งรอบีอะห์ก็สื่อถึงการรวมพลัง การต่อสู้ และการต่อต้านการคุกความของทหารเช่นเดียวกัน
ถึงการชูสามนิ้วจะถูกนำมาใช้ในความหมายที่แตกต่างจากความหมายดั้งเดิมใน The Hunger Games แต่ในสภาวะที่สิทธิเสรีภาพในการพูด การวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงออกถูกจำกัด การชูสามนิ้วก็ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เหมาะกับสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ใช่น้อย ส่วนใครที่อยากศึกษารูปแบบการเมืองการปกครองของไทยก็สามารถคลิกไปอ่าน ปัญหาการเมืองไทยและการตรวจสอบอำนาจรัฐ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วิชาสังคมศึกษา กันต่อได้เลย หรือถ้าอยากเรียนออนไลน์ที่ แอปพลิเคชัน StartDee ก็คลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างได้เลย !
Reference:
Pimpilai, Juntima. “2.3 อวัจนภาษา ( Non-Verbal Language) - pimpilai5481136561.” Google Sites, 2012, sites.google.com/site/pimpilai548113/bth-thi2-phasa-thi-chi-ni-kar-suxsar/2-3-xwac-npha-sa-non-verbal-language.
BBC, Thai. “เยาวชนปลดแอก: กลุ่ม FreeYOUTH ลั่น ‘มันจะไม่จบแค่นี้’ แกนนำพร้อมถูกดำเนินคดีหากมีหมายเรียก.” BBC News ไทย, BBC, 19 Aug. 2020, www.bbc.com/thai/thailand-53459200.
เขา "ชู 3 นิ้ว" กันไปทำไม ?!, 0AD, peachful-thaland.blogspot.com/2014/06/3_12.html.
iLaw, admin. “มาตรา 116: เมื่อข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออก.” Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ, 30 Aug. 2017, 21:57, https://freedom.ilaw.or.th/blog/มาตรา-116-เมื่อข้อหา-“ยุยงปลุกปั่น”-ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออก.
Bangkok, Associated Press in. “Hunger Games Salute Banned by Thai Military.” The Guardian, Guardian News and Media, 3 June 2014, 11:40, www.theguardian.com/world/2014/jun/03/hunger-games-salute-banned-thailand.
Nuwer, Rachel. “Katniss Everdeen's Three-Fingered Salute Has Become a Real-Life Symbol of Resistance in Thailand.” Smithsonian.com, Smithsonian Institution, 4 June 2014, www.smithsonianmag.com/smart-news/hunger-games-three-fingered-salute-has-become-real-symbol-resistance-thailand-180951648/.
Lefevre, Amy Sawitta. “The Three Fingers in Thailand - Anti-Coup, pro-Coup or Hunger Games?” Reuters, Thomson Reuters, 4 June 2014, www.reuters.com/article/us-thailand-politics/the-three-fingers-in-thailand-anti-coup-pro-coup-or-hunger-games-idUSKBN0EF0KG20140604.