สอบตก อกหัก รับมือเมื่อสูญเสียสิ่งที่รักกับทฤษฎี The 5 Stages of Grief

ทฤษฎี-5-stages-of-grief

เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด...แม้ว่าวัยแบบเรา ๆ จะดูเป็นวัยที่สดใส ไม่ต้องกังวลกับอะไรมากนะ อย่างน้อย ๆ ก็ดูจะน้อยกว่าผู้ปกครองของเราแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้ว วัยรุ่นก็อาจพบเจอความเจ็บปวดได้ไม่ต่างจากวัยอื่น ๆ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย วัยรุ่นอาจไม่รู้ว่าจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไงดี วันนี้ StartDee จึงอยากชวนเพื่อน ๆ มารู้จักกับ The 5 Stages of Grief หรือ 5 ภาวะการรับมือกับการสูญเสีย หากเพื่อน ๆ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นแล้ว ก็อาจทำให้รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม 5 ภาวะนี้อาจไม่ได้เรียงตามลำดับเป๊ะ ๆ และสำหรับบางคนอาจเกิดขึ้นไม่ครบทุกภาวะก็ได้ นอกจากนั้น พฤติกรรมของคนในแต่ละภาวะก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิต และลักษณะนิสัยด้วยเช่นกัน

Banner-Green-Standard

The 5 Stages of Grief คืออะไร

แนวคิด The 5 Stages of Grief หรือภาวะอารมณ์ความรู้สึกเมื่อต้องรับมือกับการสูญเสีย ปรากฏครั้งแรกในหนังสือชื่อ On Death and Dying โดยจิตแพทย์ชาวสวิสชื่อ Elizabeth Kübler-Ross ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่มีกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับความสูญเสียในแบบอื่น ๆ เช่น คนสำคัญเสียชีวิต การเลิกรากับคนรัก การป่วยหนัก การตกงาน ซึ่ง StartDee มองว่าการสอบตก ได้คะแนนไม่เท่ากับที่หวังไว้ หรือไม่ผ่านการคัดเลือกในสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็รวมอยู่ในความสูญเสียที่ยากต่อการรับมือเช่นกัน

 
มันไม่จริง ฉันไม่เชื่อ กับภาวะปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น (Denial)

ทฤษฎี-5-stages-of-grief-denial

โดยส่วนใหญ่ภาวะปฎิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นหรือ Denial นี้จะอยู่ในขั้นแรก ๆ หลังจากที่เราได้ทราบข่าวร้าย หลาย ๆ คนอาจรู้สึกคิดไม่ตกว่าจะชีวิตต่อไปดี หรือบางคนอาจรู้สึกช็อก เพราะชีวิตในแบบเดิม ๆ ที่เราเคยคุ้นชินนั้นไม่มีอีกแล้ว ส่งผลให้หลาย ๆ คนเริ่มปฏิเสธความจริง เช่น หากถูกแฟนบอกเลิก เพื่อน ๆ อาจเริ่มคิดว่าแฟนคงแค่โกรธ เขาคงไม่ได้อยากเลิกกับเราจริง ๆ หรือถ้าเพื่อน ๆ ได้คะแนนน้อยกว่าที่คาดไว้ อาจเริ่มคิดว่าคุณครูตรวจผิด หรือสลับข้อสอบของเรากับคนอื่น เป็นต้น

ในช่วงนี้ เพื่อน ๆ อาจไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง (Actual Reality) มากนัก แต่เลือกอยู่กับความเป็นจริงที่เราพอใจ (Preferable Reality) มากกว่า ทำให้หลาย ๆ คนมีพฤติกรรมเฉยชา อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธสิ่งที่เกิดนั้นมีส่วนช่วยให้เรารับมือกับปัญหาได้ โดยที่ไม่จ่อมจมกับความเศร้าเสียใจมากมายนัก

 
เกลียดแค้นเคืองโกรธ จะโทษอะไรดี กับภาวะโมโหขุ่นเคือง (Anger)

ทฤษฎี-5-stages-of-grief-anger

จริง ๆ แล้วพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในภาวะนี้ไม่ได้มีแค่ความโกรธเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการร้องห่มร้องไห้ ความกระวนกระวาย การแยกตัว การหมดเรี่ยวแรง หรือแม้กระทั่งการทำกิจกรรมอะไรสักอย่างแบบไม่หยุดหย่อนและไม่มีเป้าหมาย ก็ได้เช่นกัน

โดยส่วนใหญ่ ภาวะโมโหขุ่นเคืองมักเป็นขั้นที่ 2 ของ The 5 Stages of Grief ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ความสูญเสียจะเริ่มได้รับการเยียวยา หลังจากเพื่อน ๆ เริ่มกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงแล้ว จะเริ่มเกิดคำถาม เช่น ทำไมถึงเป็นฉันนะที่ถูกทิ้ง ทำไมฉันถึงโชคร้ายสอบไม่ติด โลกนี้ฉันไม่ยุติธรรม ทำไมยายจุ๊บจิ๊บอ่านหนังสือน้อยกว่าแต่ได้คะแนนมากกว่า เป็นต้น ซึ่งหลาย ๆ คนอาจคิดเรื่องนี้วนไปวนมาทั้งวัน หรืออาจต่อเนื่องเป็น สัปดาห์ เดือน หรือมากกว่านั้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม ความโกรธนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากการสูญเสีย ยิ่งเรารับรู้ความรู้สึกของตัวเองได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเยียวยาตัวเองได้มากเท่านั้น เพื่อน ๆ ไม่ควรเก็บกดความรู้สึกเอาไว้มากเกินไป เพราะเมื่อประสบพบเจอกับการสูญเสีย เพื่อน ๆ อาจรู้สึกว่าชีวิตของเราแตกเป็นเสี่ยง ๆ ชนิดที่ไม่มีหลักยึดให้อุ่นใจเลยสักนิดเดียว การโกรธต่อบางสิ่งบางอย่าง อาจเป็นสะพานเชื่อมเพื่อน ๆ กลับสู่ความเป็นจริงอีกครั้งก็ได้

 
ถ้าฉันทำแบบนี้ มันจะดีกว่าไหม กับภาวะต่อรอง (ฺBargaining)

ทฤษฎี-5-stages-of-grief-bargaining

ภาวะนี้ส่วนใหญ่จะมีระยะค่อนข้างสั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะสร้างความหวังบางอย่างให้กับตัวเอง เช่น อาจพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนิสัยบางอย่าง โดยหวังว่าแฟนเก่าจะกลับมา รำพึงรำพันว่าหากตัวเองอ่านหนังสือมากกว่านี้ ก็อาจจะได้คะแนนดีอย่างที่หวังไว้ หรือสอบติดคณะที่ใฝ่ฝัน เป็นต้น

การสร้างความหวังปลอม ๆ ให้กับตัวเองแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร แต่เกิดจากการที่เพื่อน ๆ พยายามไขว่คว้าหาโอกาสสุดท้ายที่จะกลับไปมีชีวิตในแบบที่เคยเป็นมานั่นเอง

 

ทุกอย่างแย่เกินไป จะรับมือยังไงไหว กับภาวะซึมเศร้า (Depression)

ทฤษฎี-5-stages-of-grief-depression

เพื่อน ๆ สามารถรับรู้ความรู้สึกนี้ได้แทบจะทันทีหลังจากได้รับข่าวร้าย หรืออาจเกิดเป็นระลอก ๆ ก็ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะรู้สึก “ว่างเปล่า” (Emptiness) เฉยชา เหมือนชีวิตถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน หรือต้องการตัดขาดตัวเองออกจากโลกภายนอก หลาย ๆ คนแทบไม่อยากลุกออกจากเตียงนอน หรือออกจากบ้านไปเจอผู้คนกันเลยทีเดียว

 

ยอมรับ เข้าใจ Move on กันไป กับภาวะยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น (Acceptance)

ทฤษฎี-5-stages-of-grief-acceptance

ในระยะนี้ เพื่อน ๆ จะรู้สึกว่าอารมณ์คงที่ขึ้น เข้าสู่การยอมรับความเป็นจริงอย่างแท้จริง โดยเกิดการตระหนักรู้ว่าวิถีชีวิตเดิม ๆ ได้จบไปแล้ว และจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นหลังจากนี้ เช่น เพื่อน ๆ ยอมรับได้แล้วว่าแฟนเก่าจะไม่หวนกลับมา ยอมรับว่าตัวเองได้คะแนนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจริง ๆ และพร้อมจะเรียนหนังสือต่อไป หรือยอมรับได้กับการที่สอบไม่ติด และหาหนทางสมัครมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ยังเปิดอยู่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อน ๆ อาจกลับมารู้สึกเศร้าหรือโกรธ หรืออยากแยกตัวได้บ้างเป็นบางวัน เรียกว่ามีวันที่ร้ายสลับกับวันที่ดีไปเป็นช่วง ๆ แต่ในที่สุดวันที่ร้ายก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด เพื่อน ๆ จะสามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตในรูปแบบใหม่ได้นั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่ StartDee อยากบอกให้เพื่อน ๆ รู้ไว้ก็คือ หากเพื่อน ๆ รู้สึกเศร้า เครียด หรือมีความรู้สึกในด้านลบ ไม่ต้องอายที่จะบอกกล่าวกับคนอื่น และเพื่อน ๆ สามารถเข้าพบนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นได้เสมอ นอกจากนั้น StartDee ยังมีบทความสนุก ๆ ไว้ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านคลายเครียดกันอีกด้วย เช่น Self-esteem คืออะไร? เพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วยการเห็นคุณค่าในตนเอง, เรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่ไปกับ Howl's moving castle, จัดการกับปัญหา “หมด passion” ด้วยวิธีการตั้งเป้าหมายสุดเจ๋ง

 

ที่มา :

https://www.psycom.net/depression.central.grief.html
https://www.medicalnewstoday.com/articles/stages-of-grief#stages-of-grief

แสดงความคิดเห็น