ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด และมีมาตรการเคอร์ฟิว (Curfew) ทำให้หลายคนต้องกะเวลาเดินทางดี ๆ เพราะต้องรีบกลับบ้านกันก่อน 23.00 น. (เร็วยิ่งกว่าซินเดอเรลล่าซะอีก) ซึ่งมาตรการเคอร์ฟิวที่ว่านี้ มีขึ้นเพื่อควบคุมโรคระบาดในประเทศไทย โดยห้ามไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้าน หรือที่พักอาศัยในช่วงเวลาที่กำหนด และหากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษตามกฎหมาย
โห ฟังดูเป็นเรื่องซีเรียสขนาดนี้ เพื่อน ๆ อาจจะคิดว่าเคอร์ฟิวเริ่มมาจากเรื่องใหญ่ ๆ อย่างสงคราม โรคระบาด หรือ ความขัดแย้งภายในประเทศ แต่เชื่อไหมว่า จุดเริ่มต้นของเคอร์ฟิวจริง ๆ แล้ว มาจากเรื่องเล็ก ๆ อย่าง ‘ความขี้ลืมของมนุษย์’ นี่เอง
เหตุเกิดจากเพลิงไหม้
ความขี้ลืมที่ว่านี้ มาจาก ‘การลืมดับไฟ’ จนเกิดเพลิงไหม้อยู่บ่อย ๆ เพราะในยุโรปสมัยกลาง (medieval Europe) ประมาณช่วงศตวรรษที่ 14 มนุษย์เรายังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้ต้องมีอุปกรณ์สำหรับจุดไฟเพื่อให้ความสว่างแทน เช่น เทียนไข ตะเกียง คบเพลิง เตา ฯลฯ แถมบ้านเรือนส่วนใหญ่ในช่วงนั้นยังทำด้วยวัสดุติดไฟง่าย โดยเฉพาะไม้ ซึ่งถ้าเผลอลืมดับไฟเมื่อไหร่ล่ะก็ บ้านทั้งหลัง มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดเพลิงไหม้ แถมเหตุการณ์ที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ และมักจะลุกลามไปยังบ้านเรือนอื่น ๆ ด้วย จนกลายเป็นที่มาของธรรมเนียมหนึ่ง นั่นก็คือ การใช้เสียงระฆังเป็นสัญญาณให้ชาวเมืองดับไฟ ก่อนจะไปพักผ่อน
ต่อมาได้มีการใช้สัญญาณระฆังนี้ เป็นมาตรการควบคุมเพลิงไหม้อย่างจริงจัง แถมมีการเดินตรวจตราในยามค่ำคืน เพื่อตรวจสอบว่า ชาวเมืองดับไฟเข้านอนกันเรียบร้อยแล้วหรือยัง ซึ่งคล้ายกับบรรยากาศเมืองไทยช่วงเคอร์ฟิวเมื่อไม่นานมานี้ เพราะตั้งแต่ 23.00 น. จนถึง 03.00 น. เมืองทั้งเมืองก็เงียบสงัด ไม่มีแม้แต่ร้านอาหาร คนทำงาน หรือรถสัญจรไปมาในยามวิกาลเหมือนอย่างเก่า
ที่มาของคำว่า ‘เคอร์ฟิว’
แน่นอนว่า ความหมายของเคอร์ฟิว คงไม่ใกล้ไม่ไกลจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สักเท่าไหร่ เพราะ ‘เคอร์ฟิว’ มาจากภาษาฝรั่งเศส คือ ‘cuevrefu’ ซึ่งหากแปลตรงตัวจะหมายถึง การคลุมไฟ (cover fire) หรือ การดับไฟ โดยในศตวรรษที่ 17 คำนี้ ยังหมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการ ‘คลุมไฟ’ จริง ๆ อย่างในภาพเป็นอุปกรณ์สำหรับการดับไฟในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำมาจากทองเหลือง และช่วยให้ไฟไม่ลุกไหม้ แต่ยังคงเก็บความร้อนของถ่านให้คุกรุ่นในตอนกลางคืน พร้อมสำหรับการจุดไฟอีกครั้งในวันถัดไป โดยไม่ต้องเสียเวลาก่อไฟใหม่อีกรอบ
ภาพเคอร์ฟิว (Curfew) อุปกรณ์สำหรับการดับไฟของชาวเนเธอร์แลนด์ ในช่วงศตวรรษที่ 17 (ขอบคุณภาพจาก collections.vam)
‘เคอร์ฟิว’ ในประเทศไทย
แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้มีเสียงระฆังเตือนให้เราดับไฟ หรือใช้เคอร์ฟิวในความหมายที่เกี่ยวข้องกับไฟแบบในอดีต แต่มาตรการที่กำหนดเวลาออกจากบ้าน ยังเป็นสิ่งที่ใช้กันในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งมักจะใช้ในเหตุการณ์ทางการเมืองซะส่วนใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดการรวมกลุ่ม หรือซ่องสุมกองกำลังในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เก็บหลักฐาน หรือติดตามตัวได้ยากกว่าช่วงกลางวัน
เคอร์ฟิวส่วนใหญ่ในประเทศไทย จึงใช้สำหรับสถานการณ์ที่ต้องการลดการรวมกลุ่มกันของผู้คน รวมทั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเคอร์ฟิวเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยเพิ่ม Social Distancing ของผู้คนในเวลากลางคืน เช่น การงดกิจกรรมการสังสรรค์ต่าง ๆ แต่ในระยะยาว เคอร์ฟิวอาจส่งผลกระทบต่อคนที่ทำงาน หรือมีความจำเป็นต้องเดินทางในเวลากลางคืนได้เช่นกัน
ภาพกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว (ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์ )
สำหรับช่วงนี้ ดูเหมือนว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ใกล้จะดีขึ้นแล้ว คงไม่ต้องสวมบทเป็นซินเดอเรลล่า รีบกลับบ้านกันให้ทันเวลาแบบเดิม แต่ยังไงก็รักษาตัวกันด้วยนะเพื่อน ๆ เพราะแม้เคอร์ฟิวจะหมดไป แต่ social distance ก็คงยังสำคัญอยู่ในช่วงนี้
ระหว่างรอให้โควิด-19 โบกมือลาประเทศไทย เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านวิธีการรับมือกับเจ้าเชื้อโควิด-19 นี้ได้ ในบทความ Fun facts: รู้จัก Herd immunity วิธีรับมือโควิด-19 กับการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ จะอ่านเรื่องราวแบบละเอียด ๆ ได้ใน Fun facts: ชื่อนี้มีที่มา จากโคโรนาไวรัสสู่ Covid-19 และมงกุฎ แล้วอย่าลืมโหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาทบทวนบทเรียนในห้องควบคู่กันไปด้วยล่ะ
Reference :
Bangkokbiznews. (2020, April 03). 'เคอร์ฟิว หมายถึง' อะไร ทำไมต้องเอามาใช้กับ 'โควิด'. Retrieved June 11, 2020, from https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874398
'Curfew': A Short History and Etymology. (n.d.). Retrieved June 11, 2020, from https://www.merriam-webster.com/words-at-play/a-short-history-of-curfew
Curfew. (n.d.). Retrieved June 11, 2020, from http://collections.vam.ac.uk/item/O102759/curfew-unknown/
Pitsuwan, F., Kaewkhunok, S., Muthitacharoen, A., & Sarakul, W. (2020, April 06). เคอร์ฟิว : จากมาตรการป้องกันไฟไหม้สู่มาตรการควบคุมโรคระบาด. Retrieved June 11, 2020, from https://www.the101.world/covid19-curfew/
Tréguer, P. (2020, April 03). The original meaning of 'curfew' was 'cover the fire'. Retrieved June 11, 2020, from https://wordhistories.net/2016/08/22/curfew/