ส่วนใครที่อยากเรียนในรูปแบบวิดีโอ ดูสนุก จำง่าย ทำข้อสอบได้ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ได้เลย
ผู้พระราชนิพนธ์เรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ความเป็นมาของเรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี
ทุกข์ของชาวนาในบทกวีเป็นบทความจากหนังสือมณีพลอยร้อยแสง พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดพิมพ์โดยนิสิตอักษรจุฬาฯ รุ่นที่ 41 เมื่อปี พ.ศ. 2533 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ
หนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์เรื่องมณีพลอยร้อยแสง ประกอบด้วยเนื้อหา 11 หมวดด้วยกัน ได้แก่ (1) กลั่นแสงกรองกานท์ (2) เสียงพิณเสียงเลื่อน เสียงเอื้อนเสียงขับ (3) เรียงร้อยถ้อยดนตรี (4) ชวนคิดพิจิตรภาษา (5) นานาโวหาร (6) คำขานไพรัช (7) สมบัติภูมิปัญญา (8) ธาราความคิด (9) นิทิศบรรณา (10) สาราจากใจ และ (11) มาลัยปกิณกะ ซึ่งในหมวด “ชวนคิดพิจิตรภาษา” เป็นพระราชนิพนธ์บทความและบทอภิปรายรวม 4 เรื่อง คือ ภาษากับคนไทย การใช้สรรพนาม วิจารณ์คำอธิบายในไวยากรณ์บาลี และทุกข์ของชาวนาในบทกวี ซึ่งนำมาเป็นบทเรียนรายวิชาภาษาไทยสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
โดย “ทุกข์ของชาวนาในบทกวี” เป็นบทความแสดงแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีน ที่กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนาไทยและจีนซึ่งมีสภาพชีวิตไม่แตกต่างกันนัก
(เพื่อให้บทความอ่านง่ายและกระชับ ในส่วนต่อจากนี้ขออนุญาตใช้สรรพนามแทน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่า “ผู้เขียน”)
ลักษณะคำประพันธ์ และจุดมุ่งหมายในการแต่งเรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี
ทุกข์ของชาวนาในบทกวีเป็น “ร้อยแก้ว” ประเภทบทความ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงใช้บรรยายโวหารและสาธกโวหารเพื่อแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
เนื้อหาและแปลความบทประพันธ์เรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี
เนื่องจากผู้เขียนต้องการแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึง “ทุกข์ของชาวนา” ในบทกวี ในบทความจึงมีการกล่าวถึงบทกวี 2 บทหลัก ๆ ได้แก่บทกวีของไทย และบทกวีของจีน โดยบทกวีของไทย ผู้เขียนได้ยกตัวอย่าง “เปิบข้าว” ของจิตร ภูมิศักดิ์ กวีไทยในยุคปี พ.ศ.2500 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
เปิบข้าวทุกคราวคำ |
จงสูจำเป็นอาจิณ |
เหงื่อกูที่สูกิน |
จึงก่อเกิดมาเป็นคน |
ข้าวนี้น่ะมีรส |
ให้ชนชิมทุกชั้นชน |
เบื้องหลังสิทุกข์ทน |
และขมขื่นจนเขียวคาว |
จากแรงมาเป็นรวง |
ระยะทางนั้นเหยียดยาว |
จากรวงเป็นเม็ดพราว |
ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ |
เหงื่อหยดสักกี่หยาด |
ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น |
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น |
จึงแปรรวงมาเป็นกิน |
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง |
และน้ำแรงอันหลั่งริน |
สายเลือดกูทั้งสิ้น |
ที่สูซดกำซาบฟัน |
“เปิบข้าว” เป็นกาพย์ยานี 11 จากบทแรก จะเห็นว่าบทกวีมีการใช้คำโบราณ เช่น เปิบ ที่หมายถึงการใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง รวมถึงการใช้คำว่า สู ซึ่งเป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 2 แปลว่า ท่าน ใช้สำหรับ และใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนตัวผู้พูดว่า กู ทำให้เรารู้ได้ว่าผู้พูดคือ “ชาวนา”
เปิบข้าวทุกคราวคำ |
จงสูจำเป็นอาจิณ |
เหงื่อกูที่สูกิน |
จึงก่อเกิดมาเป็นคน |
ในบทนี้กวีได้เปิดประเด็นให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของ “ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย พร้อมชวนให้ผู้อ่านคิดตามว่าข้าวแต่ละคำที่เรา “เปิบ” เข้าปากนั้น มีความเหนื่อยยากของชาวนาที่ต้องแลกมาอยู่ นอกจากนี้ บทกวี “เปิบข้าว” ยังใช้คำบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพอย่างชัดเจน เช่น
ข้าวนี้น่ะมีรส |
ให้ชนชิมทุกชั้นชน |
เบื้องหลังสิทุกข์ทน |
และขมขื่นจนเขียวคาว |
กวีบทนี้สื่อว่ากว่าจะกลายมาเป็นข้าวให้เราได้ทาน เบื้องหลังของข้าวแต่ละจานคือความขมขื่นอย่างแสนสาหัส ราวกับว่าเมล็ดข้าวสีขาวนั้นมีกลิ่นคาวจากหยาดเหงื่อของชาวนาเจืออยู่
จากแรงมาเป็นรวง |
ระยะทางนั้นเหยียดยาว |
จากรวงเป็นเม็ดพราว |
ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ |
กว่าจะทำให้น้ำพักน้ำแรงที่ชาวนาทุ่มเทไปกลายเป็นผลผลิตอย่างรวงข้าวได้นั้นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน และกว่าจะทำให้รวงข้าวในนากลายเป็นข้าวที่เรารับประทานก็ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมาย
เหงื่อหยดสักกี่หยาด |
ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น |
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น |
จึงแปรรวงมาเป็นกิน |
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง |
และน้ำแรงอันหลั่งริน |
สายเลือดกูทั้งสิ้น |
ที่สูซดกำซาบฟัน |
และในสองบทสุดท้ายนี้ กวีได้บรรยายความทุกข์ยากของชาวนาออกมาอย่างเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็น “เหงื่อ” ของชาวนาที่หยดหยาดและ “เรื่อแดง” เส้นเอ็นตามร่างกายที่ “ปูดโปน” จากการออกแรงทำงานหนัก สิ่งเหล่านี้สร้างความสะเทือนใจและชวนให้ผู้อ่านคิดว่า หากไม่มีคนที่เหนื่อยยากตรากตรำอย่างชาวนา คนอื่น ๆ ก็คงไม่มีข้าวกินอย่างทุกวันนี้
ส่วนบทกวีของจีน ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างบทกวีของหลี่เชิน กวีชาวเมืองอู๋ซีซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ถัง บทกวีของหลี่เชินมีเนื้อหาดังนี้
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ
ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน
ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ด
คือความยากแค้นแสนสาหัส
หลี่เชินได้บรรยายความในใจออกมาผ่านบทกวีจีนซึ่งไม่มีฉันทลักษณ์อย่างบทกวีไทย ผู้เขียนจึงพยายามแปลด้วยความเข้าใจของตนเอง จะสังเกตได้ว่าบทกวีของหลี่เชินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย บรรยายให้เห็นภาพชีวิตของชาวนาจีน พร้อมแสดงความขัดแย้งชัดเจนว่า แม้ชาวนาจะปลูกข้าวมากมายและทำงานอย่างหนักตลอดทั้งวัน แต่ชาวนาก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เพราะผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตอย่างชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร และในตอนท้ายผู้เขียนยังให้ข้อสังเกตต่อบทกวีของหลี่เชินว่า เป็นการบรรยายภาพความลำบากตรากตรำของชาวนาในการทำนาปลูกข้าว เหมือนจิตรกรที่วาดภาพให้คนชม
สรุปสาระสำคัญเรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี
บทกวีของหลี่เชินและจิตรมีส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน จุดที่เหมือนกันก็คือการชี้ให้เห็นความทุกข์ยากและความลำบากตรากตรำของชาวนา ส่วนที่แตกต่างกันก็คือวิธีการนำเสนอ โดยบทกวีของหลี่เชินได้ถ่ายทอดความทุกข์ของชาวนาออกมาในรูปแบบบทกวีที่เห็นภาพและเรียบง่าย เปรียบเหมือนจิตรกรที่วาดภาพให้ผู้ชมได้ดูแล้วคิดตาม แต่บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ใช้วิธีเสมือนว่านำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านได้ฟังด้วยตนเอง
บทวิเคราะห์เรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวี
คุณค่าด้านภาษา
ด้านกลวิธีการแต่ง ทุกข์ของชาวนาในบทกวีนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการเขียนบทความ เนื่องจากมีการแสดงลำดับความคิดที่ชัดเจน ลำดับเรื่องราวได้เข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความ ได้แก่ ส่วนนำ เนื้อเรื่องและส่วนสรุปครบถ้วน สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้
สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้น ผู้แต่งได้ให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยเปรียบเทียบวิธีการนำเสนอของกวีไทยและจีน และแนวคิดของกวีทั้งสองที่ต้องการสื่อถึงผู้อ่าน
คุณค่าด้านสังคม
ทุกข์ของชาวนาในบทกวีชี้ให้ผู้อ่านเห็นความยากลำบากของชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนทุกชนชั้น นอกจากนี้ตัวยังแสดงให้เห็นความสอดคล้องของเนื้อหาในบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ และหลี่เชิน ที่แม้จะแต่งไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังแต่เนื้อหาก็ยังมีความเป็นปัจจุบันอยู่ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นในไทย จีน หรือที่ใดแห่งใดในโลก สภาพชีวิตของชาวนาก็ล้วนแล้วแต่ลำบากยากแค้นลำเค็ญเช่นเดียวกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ตาม ดังนั้นแนวคิดสำคัญของเรื่องทุกข์ของชาวนาในบทกวีจึงอยู่ที่ความทุกข์ยากของชาวนา และสภาพชีวิตของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ แม้ว่าในบทความนี้จะไม่เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่การชี้ให้เห็นถึงปัญหาก็มีผลให้สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของชาวนา และปัญหาที่ชาวนาต้องประสบ ซึ่งอาจนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาได้ในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ พระราชนิพนธ์เรื่องทุกข์ของชาวในบทกวี ยังแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เข้าพระทัย และเอาพระทัยใส่ปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตาอันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลักอีกด้วย
พระราชนิพนธ์เรื่องทุกข์ของชาวในบทกวีจึงเป็นอีกหนึ่งบทความเชิงวรรณคดีเปรียบเทียบที่เหมาะแก่การศึกษาในระดับมัธยม นอกจากจะได้รู้ถึงความยากลำบากของชาวนา บทเรียนนี้ยังทำให้เราเห็นตัวอย่างการใช้บรรยายโวหารและสาธกโวหารที่ดีมาก ๆ ด้วย ส่วนเพื่อน ๆ คนไหนที่ยังอินกับวรรณคดี อยากอ่านบทกลอนเพราะ ๆ แบบนี้ต่ออีกก็คลิกไปอ่านบทความเรื่อง อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง และบทความเรื่องหัวใจชายหนุ่ม ต่อได้เลย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก
- สิริพัชร์ ชัยกิตติภรณ์ (ครูดรีม)
- ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)