ธรณีพิบัติภัย ตอน แผ่นดินไหว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วิชาสังคมศึกษา

ธรณีพิบัติภัย-แผ่นดินไหว

โอ้ย...ทำไมต้องมาเรียนเรื่องธรณีพิบัติภัย ตอน แผ่นดินไหวด้วยเนี่ย ในประเทศไทยไม่เคยมีแผ่นดินไหวสักหน่อย ! อ๊ะ อ๊ะ แม้ประเทศของเราจะไม่ค่อยมีข่าวแผ่นดินไหวใหญ่โตเหมือนประเทศอื่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วเคยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในประเทศไทยถึง 40 ครั้งในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา แถมการคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าก็ค่อนข้างทำได้ยาก StartDee จึงอยากชวนเพื่อน ๆ มาเรียนรู้เรื่องนี้กันสักหน่อย ยิ่งเพื่อน ๆ ที่มีแผนบินลัดฟ้าไปเรียนต่อต่างประเทศ ยิ่งต้องเตรียมตัว ใครจะรู้ว่าประเทศที่เพื่อน ๆ เลือก อาจจะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็ได้

นอกจากบทความนี้ เพื่อน ๆ ยังสามารถเรียนเกี่ยวกับธรณีพิบัติภัยเรื่องอื่น ๆ ได้ในแอปพลิเคชัน StartDee คลิกดาวน์โหลดได้เลย

Banner-Green-Standard

 

แผ่นดินไหว คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร

แผ่นดินไหว เกิดจากการเคลื่อนที่ของ “แผ่นเปลือกโลก” หรือ “แผ่นธรณีภาค” ที่มีอยู่หลายแผ่นด้วยกัน โดยมีลักษณะลอยอยู่ติด ๆ กัน แต่ไม่ได้รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเนื้อโลก เมื่อมีพลังความร้อนจากใต้เปลือกโลกขึ้นมากระทบ แผ่นธรณีภาคเหล่านี้จะเคลื่อนตัว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้นั่นเอง

นอกจากนั้น หากรอยเลื่อนต่าง ๆ ได้รับพลังงานความร้อนจากใต้ผิวโลก ก็อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน

ธรณีพิบัติภัย-แผ่นเปลือกโลก-แผ่นธรณีภาค

 

คลื่นไหวสะเทือน (Seismic wave)

คลื่นไหวสะเทือน คือ พลังงานที่ปล่อยออกมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีภาค โดยความแรงของคลื่นไหวสะเทือนจะขึ้นอยู่กับพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา ถ้ามีการสะสมพลังงานจากความร้อนใต้ผิวโลกมาก ความรุนแรงของคลื่นก็จะมากตามไปด้วย 

สำหรับบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวนั้นจะมีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกันออกไป โดยบริเวณจุดศูนย์กลางบนแผ่นดินจะถูกเรียกว่า “จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (epicenter)” แต่สำหรับจุดกำเนิดที่แท้จริงที่อยู่ลึกลงไปในแผ่นดิน ซึ่งเป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกหรือรอยเลื่อนเคลื่อนตัว จะถูกเรียกว่า “ศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (hypocenter, focus)”

ธรณีพิบัติภัย-แผ่นดินไหว

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นแล้ว มักจะมีการเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายครั้ง การเกิดการสั่นไหวหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก เรียกว่า “แผ่นดินไหวตาม (aftershock)”

 

ขนาดของแผ่นดินไหว (magnitude)

ขนาดของแผ่นดินไหวที่เพื่อน ๆ ได้ยินกันบ่อย ๆ ตามข่าว คงหนีไม่พ้นมาตราริกเตอร์ (Richter scale) โดยมีการแบ่งขนาดและอธิบายความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณ กับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลางดังตารางด้านล่าง

มาตราริกเตอร์ (Richter scale)

ขนาด

ความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง

1-2.9

เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนเริ่มมีความรู้สึกถึงการสั่นไหวบางครั้ง รู้สึกเวียนศีรษะ

3-3.9

เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน

4-4.9

เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้คนที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกอาคารรู้สึกถึงการสั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว

5-5.9

เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่

6-6.9

เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย

7.0 ขึ้นไป

เกิดการสั่นไหวร้ายแรง อาคาร สิ่งก่อสร้าง มีความเสียหายอย่างมาก แผ่นดินแยก วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น

 

นอกจากนั้น ยังมีมาตราเมร์กัลลี (Modified Mercalli scale) ที่แบ่งขนาดออกเป็น 12 ระดับ ดังตารางด้านล่างนี้

มาตราเมร์กัลลี (Modified Mercalli scale)

ขนาด

ความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง

I

เป็นอันดับที่อ่อนมาก ตรวจวัดโดยเครื่องมือ

II

พอรู้สึกได้สำหรับผู้ที่อยู่นิ่ง ๆ ในอาคารสูง ๆ

III

พอรู้สึกได้สำหรับผู้อยู่ในบ้าน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึก

IV

ผู้อยู่ในบ้านรู้สึกว่าของในบ้านสั่นไหว

V

รู้สึกเกือบทุกคน ของในบ้านเริ่มแกว่งไกว

VI

รู้สึกได้กับทุกคน ของหนักในบ้านเริ่มเคลื่อนไหว

VII

ทุกคนต่างตกใจ สิ่งก่อสร้างเริ่มปรากฏความเสียหาย

VIII

เสียหายค่อนข้างมากในอาคารธรรมดา

IX

สิ่งก่อสร้างที่ออกแบบไว้อย่างดีเสียหายมาก

X

อาคารพัง รางรถไฟบิดงอ

XI

อาคารสิ่งก่อสร้างพังทลายเกือบทั้งหมด ผิวโลกปูดนูนและเลื่อนเป็นคลื่นบนพื้นดินอ่อน

XIII

ทำลายหมดทุกอย่าง มองเห็นเป็นคลื่นบนแผ่นดิน

 

สำหรับการบอกขนาดของแผ่นดินไหวนั้น เพื่อน ๆ ไม่จำเป็นต้องใส่หน่วยนะ แค่บอกขนาดหรือระดับเท่านั้น เช่น แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น คือ แผ่นดินไหวในประเทศชิลี ที่เมืองวัลดิเวีย พ.ศ. 2503 ซึ่งสามารถวัดขนาดได้ 9.5 ตามมาตราริกเตอร์ (หรือจะเขียนวัดระดับได้ 9.5 ตามมาตราริกเตอร์ก็ได้เช่นกัน) เราจะไม่เขียนว่าวัดขนาดได้ 9.5 ริกเตอร์เด็ดขาด ส่วนมาตราเมร์กัลลีจะเรียนเป็นอันดับความรุนแรงที่...โดยไม่ต้องมีหน่วยเช่นกัน จำให้ดีนะ เผื่อออกข้อสอบ !

ผลกระทบของการเกิดแผ่นดินไหว

  • ก่อให้เกิดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
  • อาจเกิดเพลิงไหม้ เพราะแผ่นดินไหวทำให้ท่อส่งแก๊สระเบิด
  • อาจทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม
  • กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์หยุดชะงัก ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟู

 

ตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหว

  • ประเทศเนปาล พ.ศ. 2558

เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงถึงระดับ 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกูรข่า ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลไป 80 กิโลเมตร  โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 8,000 คน

  • ประเทศเฮติ พ.ศ. 2553

เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงถึงระดับ 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศราว 25 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกอย่างน้อย 52 ครั้ง ประกอบกับบ้านเรือนของผู้คนในประเทศเฮติไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300,000 คน อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้

 

บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว

บริเวณที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดคือบริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of fire) ซี่งเป็นแนวภูเขาไฟบนแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ทำให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

Pacific_Ring_of_Fire-1

นอกจากนั้นยังมีแนวรอยเลื่อนชื่อว่า แซนแอนเดรอัส (San Andreas Fault) ทางฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา บริเวณเมืองลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีภาคแปซิฟิกและแผ่นธรณีภาคอเมริกาเหนือที่มีความยาวราว 1,200 กิโลเมตร มีความลึกราว 16 กิโลเมตร ซึ่งเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 2 ครั้ง เป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ตามมาตราริกเตอร์ในปีค.ศ. 1857 และขนาด 7.1 ตามมาตราริกเตอร์ในปีค.ศ. 1812

 

แผนรับมือแผ่นดินไหวของประเทศไทย

เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ ประเทศไทยของเรามีรอยเลื่อนที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 15 แห่งเลยนะ ! โดยมีจำนวน 14 แห่งที่เป็นแนวรอยเลื่อนอย่างเป็นทางการ ส่วนอีก 1 แห่งเป็นแนวรอยเลื่อนที่ถูกคาดการณ์ว่าอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ตัวอย่างรอยเลื่อนที่เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหว เช่น รอยเลื่อนพะเยา ที่พาดผ่านตั้งแต่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ลงมาถึงอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ขนาด 4.9 ตามมาตราริกเตอร์รวม 18 ครั้ง และต่อเนื่องมาถึงเช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์อีก 26 ครั้ง ถือเป็นการขยับตัวของรอบเลื่อนพะเยาที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี

สำหรับหน่วยงานที่จัดทำแผนป้องกันและรับมือเหตุแผ่นดินไหวไว้อยู่เสมอ คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ทำการจัดตั้งเครื่องตรวจจับการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน รวมไปถึงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับแผ่นดินไหวได้ เช่น ให้มีการจัดเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ถ่านไฟฉาย และสมาร์ทโฟนสำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อระบุตำแหน่งของตัวเอง เป็นต้น

สำหรับการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว อันดับแรก เพื่อน ๆ ก็ตั้งสติก่อน ถ้าเพื่อน ๆ อยู่ภายในอาคาร ก็ควรหลบอยู่บริเวณใต้โต๊ะที่มีความแข็งแรง หรืออยู่ติดกับกำแพงหรือเสาที่ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของอาคาร หลีกเลี่ยงระเบียงและหน้าต่าง เพราะอาจถล่มและทำให้พลัดตกลงไปได้ จากนั้นก้มตัวลง เก็บมือเก็บเท้า ปกป้องศีรษะและคอ

ในกรณีที่อยู่กลางแจ้ง ให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเสาไฟฟ้า รวมถึงพยายามอยู่ให้ห่างจาก ตึก อาคาร และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้มากที่สุด สำหรับคนที่อยู่บนสะพานลอย ให้รีบตั้งสติ และเดินลงมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากแผ่นดินไหวแล้ว เราแนะนำให้เพื่อน ๆ อ่านบทความเรื่องแผ่นดินถล่มและแผ่นดินทรุดกันต่อได้เลย และที่สำคัญ อย่าลืมดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ไว้ อุ่นใจแน่นอน !

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สุรรังสรรค์ ผาสุขวงษ์ (ครูกอล์ฟ)

Reference:

http://www.dmr.go.th/n_more_news.php?filename=severity
https://earthquake.tmd.go.th/mi.htm
https://ngthai.com/science/30670/ring-of-fire/
https://www.usgs.gov/natural-hazards/earthquake-hazards/science/back-future-san-andreas-fault?qt-science_center_objects=0#qt-science_center_objects
https://www.komchadluek.net/news/scoop/363297
https://news.thaipbs.or.th/content/7005
https://hilight.kapook.com/view/101708
https://thestandard.co/onthisday12012010-2/

 

 

แสดงความคิดเห็น