น้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 วิชาภาษาไทย


Blog_Cover_840x410_Draft01

 

สวัสดีเพื่อน ๆ ชั้นป.๔ ทุกคน ที่กำลังเรียนเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุ ในวิชาภาษาไทย แม้ว่าเรื่องนี้จะอ่านสนุก แต่ก็ยังมีบางคำหรือบางประโยคที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ดังนั้น StartDee เลยอาสาขอเป็นผู้ถอดคำประพันธ์ และแปลนิทานเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้อ่านกันในภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ พร้อมรูปประกอบ และนอกจากเพื่อน ๆ จะอ่านที่บทความนี้ได้แล้ว ยังสามารถเรียนในรูปแบบแอนิเมชันสนุก ๆ กับคุณครูใหม่ได้ที่แอปพลิเคชัน StartDee คลิกเลย

 

จุดเริ่มต้นของนิทานเรื่อง “น้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุ”

นิทานเรื่องนี้อยู่ในหนังสือชุดนิทานเทียบสุภาษิต และเริ่มต้นด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท ดังนี้

น้ำผึ้งถึงแม้สัก

หยดเดียว

อาจเป็นเหตุเกรียว

ไต่เต้า

ฟังไม่ศัพท์ฉุกเฉียว

ไม่ตรึก ตรองนา

ต่างก็หาญก็เห้า

ต่อสู้บ่รู้ความ

คำศัพท์ที่สำคัญในโคลงบทนี้ ได้แก่

  • เหตุเกรียว หมายถึง เหตุที่เกิดจากคนจำนวนมากส่งเสียงดัง เสียงดังในที่นี้ หมายถึง เสียงที่เกิดจากการต่อสู้กันนั่นเอง
  • ฉุกเฉียว หมายถึง โกรธทันทีทันควัน
  • เห้า คือ ห้าว หมายถึง กล้าอย่างมุทะลุ
  • ต่อสู้บ่รู้ความ หมายถึง ต่อสู้กันโดยไม่รู้ว่าสู้กันด้วยสาเหตุอะไร
  •  

ผู้แต่ง

พระยาสีหราชฤทธิไกร ผู้รับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 

เรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่จบแค่เด็ก ๆ

เรื่องราวเริ่มที่ มีเด็กคนหนึ่งเดินถือขวดน้ำผึ้งมาตามถนน แต่กลับแหงนมองดูว่าวจนเกินไปหน่อย ทำให้สะดุดล้ม และน้ำผึ้งหกบริเวณริมถนน ต่อมามดและแมลงวันจึงได้กลิ่นเลยมากินน้ำผึ้งที่หกอยู่ จากนั้นก็มีจิ้งจกมากินแมลงวัน เจ้าแมวที่อยู่แถวนั้นเห็นเข้าก็จัดการตะครุบจิ้งจก แต่ก็โชคร้ายเพราะดันมีเจ้าหมามาเห็นและวิ่งมากัดเจ้าแมว

พอเด็กชายที่เป็นเจ้าของแมวเห็นว่าหมามากัดแมวของตน จึงใช้ไม้ตีหมาจนหมาขาหักและวิ่งหนีกลับไป ขณะเดียวกันเด็กเจ้าของหมาเห็นสภาพหมาของตัวเองที่บาดเจ็บกลับมา ก็เลยใช้ไม้ไล่ตีเด็กเจ้าของแมว

น้ำผึ้งหยดเดียว

เหตุการณ์บานปลาย เมื่อผู้ใหญ่เข้ามาเอี่ยว

หลังจากที่เด็กเจ้าของแมวถูกตี ก็ร้องให้พ่อมาช่วย พ่อของเด็กเจ้าของแมว จึงเอาไม้ไปตีเด็กเจ้าของหมาจนหัวแตก ฝ่ายพ่อของเด็กเจ้าของหมาเห็นว่าลูกของตนหัวแตกวิ่งมาหา ก็เลยเอาไม้พลองวิ่งไปตีพ่อของเด็กเจ้าของแมวจนล้มลง จนเกิดความชุลมุนเมื่อทั้งสองฝ่ายยกพวกมาทะเลาะวิวาทตีฟันกัน

นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านมาครบ เพื่อจบเรื่อง

น้ำผึ้งหยดเดียว-2

ในที่สุด การทะเลาะวิวาทครั้งนี้ก็จบลง เพราะนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านมาห้ามไว้ ซึ่งนายอำเภอก็ได้ถามความจากทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งก็ได้ความว่าเป็นเพราะเรื่องแมวกับหมา นายอำเภอจึงบอกกลุ่มคนที่ทะเลาะวิวาทว่า คนที่เป็นเพื่อนบ้านกัน เมื่อมีเรื่องใดเกิดขึ้น ก็ควรจะไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ไม่ควรหุนหันพลันแล่นให้ได้รับความเดือดร้อนเช่นนี้ เพราะถ้าเราหุนหันพลันแล่นอาจทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต เกิดเป็นศึกขึ้นกลางเมือง หรือเกิดการต่อสู้กันจนเป็นศึกใหญ่ในบ้านเมืองได้ ทั้ง ๆ ที่เกิดจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง ใครรู้เข้าก็จะเป็นเรื่องอับอายขายหน้า

คุณค่าของนิทานเรื่อง “น้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุ”

๑. มีการดำเนินเรื่องที่เป็นจุดเด่น คือ ทุกเหตุการณ์ในเรื่องจะเกี่ยวร้อยกันเหมือนเป็นลูกโซ่

๒. มีสำนวนภาษาที่ควรค่าแก่การศึกษา เช่น “น้องชายกับบุตรคนใหญ่ถือดาบถือพลองวิ่งสวนมา” คำว่า บุตรคนใหญ่ หมายถึง ลูกชายคนโต นั่นเอง

๓. มีลีลาการเล่าที่เป็นธรรมชาติ ทำให้เหมือนได้ฟังนิทาน

ข้อคิดของนิทานเรื่อง “น้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุ”

อย่าเป็นคนหุนหันพลันแล่นและมีทิฐิจนไม่ยอมฟังเหตุผลกันและกัน และอย่าทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่

น้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุ ถือเป็นนิทานที่สนุกและให้ข้อคิดดี ๆ เรื่องหนึ่งเลยนะเนี่ย StartDee หวังว่าบทเรียนออนไลน์นี้จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจเนื้อหามากขึ้น แต่ถ้ายังรู้สึกว่าไม่ครบ ไม่ละเอียดพอ ก็ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนกันต่อได้เลยนะ ในแอปฯ ยังมีแบบฝึกหัดให้ลองทำอีกด้วย

สำหรับเพื่อน ๆ ที่เรียนภาษาไทยจบแล้ว อยากเปลี่ยนไปเรียนสังคมบ้าง StartDee ขอแนะนำเรื่องการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย คลิกตรงนี้เลยจ้า

แสดงความคิดเห็น