อ๊ะ ๆๆๆ สารภาพมาซะดี ๆ ว่าเพื่อน ๆ อ่านชื่อบทเรียนนี้ว่าอะ ไร (เราเชื่อว่าต้องมีคนอ่านผิดกันบ้างแหละ) วันนี้บทเรียนออนไลน์จาก StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักบทเสภาสามัคคีเสวก พร้อม ๆ กับหาคำตอบว่า ระหว่าง ‘สะ - เหวก’ กับ ‘เส - วก’ ชื่อบทเรียนนี้อ่านว่าอะไรกันแน่นะ ?
ความเป็นมาของบทเสภาสามัคคีเสวก และ ‘เสวก’ ที่ไม่ได้อ่านว่า ‘สะ - เหวก’
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระราชนิพนธ์บทเสภาสามัคคีเสวกเป็นในขึ้น ณ พระราชวังสนามจันทร์ เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๕๗ เพื่อใช้ขับเสภาคั่นระหว่างการแสดงระบำสามัคคีเสวก
(จริง ๆ แล้วรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองไว้มากมาย เช่น โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน และหัวใจชายหนุ่ม เป็นต้น แม้จะเป็นของระดับชั้นม.ปลาย แต่เพื่อน ๆ ลองไปอ่านดูกันเล่น ๆ ได้นะ)
ในสมัยก่อนข้าราชการในราชสำนักจะผลัดเปลี่ยนกันจัดงานเลี้ยงที่พระราชวังสนามจันทร์ทุก ๆ วันเสาร์ นอกจากอาหารในงานเลี้ยง ยังมีการแสดงหรือการละเล่นเพื่อความบันเทิงด้วย ซึ่งในครั้งที่มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) ต้องเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยง ก็ได้ทูลขอให้รัชกาลที่ ๖ ช่วยหาการละเล่นขึ้นหนึ่งอย่าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงผูกระบำสามัคคีเสวกขึ้น
ระบำสามัคคีเสวกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงคิดค้นขึ้นใหม่นี้เป็นระบำรูปแบบใหม่ที่ไม่มีบทร้อง มีแต่ดนตรีบรรเลงจากพิณพาทย์ประกอบกับการระบำ พระองค์จึงแต่งบทเสภาเพื่อขับในระหว่างที่พิณพาทย์กำลังพักให้หายเหนื่อย โดยบทเสภาสามัคคีเสวกนั้นมีถึง ๔ ตอนด้วยกัน ได้แก่
๑. กิจการแห่งพระนนที กล่าวถึงพระนนทีผู้เป็นเทพเสวก คอยรับใช้พระอิศวรอย่างขยันขันแข็ง ถือเป็นตัวอย่างของเสวกที่ดี
๒. กรีนิรมิต (กะ - รี - นิ - ระ - มิด) สรรเสริญพระพิฆเณศซึ่งเป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการ
๓. วิศวกรรมา (วิด - สะ - วะ - กัน - มา) กล่าวสรรเสริญพระวิศวกรรมงานช่างและการก่อสร้าง รวมถึงชี้ใ้เห็นความสำคัญของงานศิลปะไทย
๔. สามัคคีเสวก (สา - มัก - คี - เส - วก) กล่าวถึงความสามัคคีในหมู่ข้าราชการ
ซึ่งบทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมาและสามัคคีเสวก เป็นบทที่ถูกยกมาเราได้เรียนกันในระดับมัธยมนี้
**เสวก (เส - วก) มาจากภาษาบาลี ในภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายถึง ‘คนใช้’ สำหรับในภาษาไทย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายของคำว่าเสวกไว้ว่า “ข้าราชการในราชสำนัก”
ลักษณะคำประพันธ์ของบทเสภาสามัคคีเสวก
บทเสภาสามัคคีเสวกแต่งด้วยกลอนเสภาที่มีฉันทลักษณ์อย่างกลอนสุภาพ กลอนเสภานี้ใช้เป็นบทเสภาเพื่อขับเสภาระหว่างที่พิณพาทย์พักเหนื่อย สันนิษฐานว่าการขับเสภานั้นพัฒนามาจากการเล่านิทานในสมัยก่อน จากเดิมที่มีแต่การเล่านิทานแบบร้อยแก้ว ต่อมาก็เริ่มมีผู้แต่งนิทานแบบร้อยกรอง แล้วจึงมีการใส่ทำนอง ขับเสภา และใช้กรับเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพื่อเพิ่มอรรถรส
โดยกลอนเสภาหนึ่งบทจะมีทั้งหมด ๔ วรรค ได้แก่ วรรคสดับ (วรรคที่ ๑) วรรครับ (วรรคที่ ๒) วรรครอง (วรรคที่ ๓) และวรรคส่ง (วรรคที่ ๔) แต่ละวรรคจะมี ๗-๙ คำ ฉันทลักษณ์ของเสภาเป็นที่นิยมทั่วไป แต่ถ้าจะแต่งให้ไพเราะก็มีข้อบังคับอยู่นิดหน่อย คือ
๑. บังคับสัมผัสนอก สัมผัสใน และสัมผัสระหว่างบท
สัมผัสนอก (สัมผัสระหว่างวรรค) เป็นสัมผัสบังคับที่ต้องมีในการแต่งกลอนแปด มีอยู่ด้วยกัน ๒ จุด คือ
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ จะสัมผัสกับคำที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ของวรรคที่ ๒
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ จะสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ และคำที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๔
สัมผัสใน เป็นสัมผัสที่ไม่ได้บังคับว่าต้องมี แต่ถ้ามีก็จะทำให้กลอนไพเราะมากขึ้นไปอีก โดยในแต่ละวรรคของกลอนจะแบ่งเป็น ๓ จังหวะคือ
ooo oo ooo
ซึ่งพยางค์ที่ ๓ จะสัมผัสกับพยางค์ที่ ๔ และพยางค์ที่ ๕ จะสัมผัสกับพยางค์ที่ ๖ การสัมผัสสามารถเป็นได้ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะ ตัวอย่างเช่น
ศิลปกรรม นำใจ ให้สร่างโศก ช่วยบรรเทา ทุกข์ในโลก ให้เหือดหาย
สัมผัสระหว่างบท เป็นการส่งสัมผัสไปยังบทต่อไป ทำให้กลอนเสภาแต่ละบทร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราวที่มีความต่อเนื่องกันมากขึ้น
โดยคำสุดท้ายของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) ในบทต้น จะไปสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
๒. บังคับเสียงคำท้ายวรรค
กลอนแปดจะไพเราะยิ่งขึ้นถ้าพยางค์สุดท้ายของแต่ละวรรคมีเสียงวรรณยุกต์ดังนี้
คำท้ายของวรรคที่ ๑ ใช้ได้ทุกเสียงวรรณยุกต์
คำท้ายของวรรคที่ ๒ ใช้เสียงจัตวา เอก โท (โบราณว่า เสียงจัตวาจะไพเราะที่สุด)
คำท้ายของวรรคที่ ๓ ใช้เสียงสามัญและเสียงตรี
คำท้ายของวรรคที่ ๔ ใช้เสียงสามัญและเสียงตรี
คำศัพท์ที่ควรรู้ในบทเสภาสามัคคีเสวก
นอกจากคำว่าเสวก บทเสภาสามัคคีเสวกยังมีคำศัพท์ที่น่าสนใจอีกมาก เพื่อให้เข้าใจบทกลอนเหล่านี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เรามาดูคำศัพท์น่ารู้เหล่านี้กันดีกว่า (ถ้าสังเกตดี ๆ เพื่อน ๆ จะพบว่ามีคำที่ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษอยู่ด้วย ลองหาให้เจอนะ !)
คำศัพท์ | ความหมาย |
กะลาสี | ลูกเรือ |
กัปปิตัน | กัปตัน (Captain) |
ช่างสถาปนา | ช่างก่อสร้าง |
ชาติไพรัช | ต่างชาติ |
ทรงธรรม์, พระภูธร, พระจักรี | กษัตริย์ |
นรชน | คน |
นาริน | ผู้หญิง |
นาวา | เรือ |
รัชดา | เงิน |
วิเลขา | งามยิ่ง |
ศรีวิไล | ความเจริญ, ความมีอารยะ (Civilised) |
ศานติ | สันติ, สงบ |
สาคร | ทะเล |
สุวรรณ | ทองคำ |
เสวก | ข้าราชการในราชสำนัก บางครั้งใช้คำว่าเสวี |
อริพล | ศัตรู |
ถอดคำประพันธ์บทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมาและสามัคคีเสวก
ตอนวิศวกรรมา
นอกจากการกล่าวสรรเสริญพระวิศวกรรมผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการก่อสร้างและการช่าง บทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมายังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะที่มีต่อประเทศชาติ ทั้งในแง่การให้ความเพลิดเพลินใจ และการสร้างความงดงามให้กับบ้านเมือง รวมถึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาฝีมือช่างชาวไทย เพื่อให้สร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์เนื่องด้วยศิลปะไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในแง่ของเศรษฐกิจด้วย
อันชาติใดไร้ศานติสุขสงบ |
ต้องมัวรบราญรอนหาผ่อนไม่ |
ณ ชาตินั้นนรชนไม่สนใจ |
ในศิลปะวิไลละวาดงาม |
ในบทนี้กล่าวว่า ประเทศใดที่แผ่นดินมีแต่ศึกสงคราม ไม่มีความสงบสุขในแผ่นดิน ประชาชนในประเทศนั้นย่อมไม่สนใจความงดงามของศิลปะ
แต่ชาติใดรุ่งเรืองเมืองสงบ |
ว่างการรบอริพลอันล้นหลาม |
ย่อมจำนงศิลปะสง่างาม |
เพื่ออร่ามเรืองระยับประดับประดา |
แต่หากชาติใดสงบสุขปราศจากสงคราม ประชาชนก็จะหันมาทำนุบำรุงงานด้านศิลปกรรมให้เจริญรุ่งเรือง ศิลปะจึงเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสงบสุขและความเจริญทางอารยธรรมของประเทศนั้น ๆ
อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์ |
เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า |
ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา |
เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย |
ชาติใดที่ไม่มีช่างศิลป์ก็เปรียบเสมือนผู้หญิงที่ไร้ความงาม ไม่เป็นที่ถูกใจของใคร มีแต่จะถูกเยาะเย้ยให้อับอาย
ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก |
ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย |
จำเริญตาพาใจให้สบาย |
อีกร่างกายก็จะพลอยสุขสราญ |
ศิลปะนั้นช่วยทำให้จิตใจคลายเศร้าโศก ช่วยทำให้ความทุกข์หมดไป เมื่อได้เห็นสิ่งสวยงาม จิตใจก็มีความสุข ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงไปด้วย
แม้ผู้ใดไม่นิยมชมสิ่งงาม |
เมื่อถึงยามเศร้าอุราน่าสงสาร |
เพราะขาดเครื่องระงับดับรำคาญ |
โอสถใดจะสมานซึ่งดวงใจ |
หากใครไม่เห็นคุณค่าความงามของศิลปะ เมื่อเผชิญความทุกข์ก็ไม่มีสิ่งใดมาเป็นยาช่วยรักษาบาดแผลทางใจได้ คนพวกนี้จึงเป็นคนที่น่าสงสารยิ่งนัก
เพราะการช่างนี้สำคัญอันวิเศษ |
ทุกประเทศนานาทั้งน้อยใหญ่ |
จึงยกย่องศิลปกรรม์นั้นทั่วไป |
ศรีวิไลวิลาศดีเป็นศรีเมือง |
เพราะความรู้ทางช่างศิลป์ (ศิลปกรรม) สำคัญเช่นนี้ นานาอารยประเทศจึงนิยมยกย่องคุณค่าของศิลปะและทักษะของช่างศิลป์ว่าเป็นเกียรติยศ เป็นความรุ่งเรืองของแผ่นดิน
ใครดูถูกผู้ชำนาญในการช่าง |
ความคิดขวางเฉไฉไม่เข้าเรื่อง |
เหมือนคนป่าคนไพรไม่รุ่งเรือง |
จะพูดด้วยนั้นก็เปลืองซึ่งวาจา |
คนที่ไม่เห็นคุณค่าหรือความงามของศิลปะก็เหมือนคนป่า ป่วยการอธิบาย พูดด้วยก็เปลืองน้ำลายเปล่า
แต่กรุงไทยศรีวิไลทันเพื่อนบ้าน |
จึงมีช่างชำนาญวิเลขา |
ทั้งช่างปั้นช่างเขียนเพียรวิชา |
อีกช่างสถาปนาถูกทำนอง |
ทั้งช่างรูปพรรณสุวรรณกิจ |
ช่างประดิษฐ์รัชดาสง่าผ่อง |
อีกช่างถมลายลักษณะจำลอง |
อีกช่ำชองเชิงรัตนะประกร |
ควรไทยเราช่วยบำรุงวิชาช่าง |
เครื่องสำอางแบบไทยสโมสร |
ช่วยบำรุงช่างไทยให้ถาวร |
อย่าให้หย่อนกว่าเขาเราจะอาย |
แต่ประเทศไทยของเรานั้นเห็นคุณค่าของงานศิลป์ จึงมีช่างศิลป์หลากหลาย ทั้งช่างปั้น ช่างเขียน ช่างก่อสร้าง ช่างทองรูปพรรณ ช่างเงิน ช่างถม และช่างอัญมณี (นอกจากนี้ยังมีช่างในแขนงอื่น ๆ อีก เรียกว่าช่างสิบหมู่) ชาวไทยควรช่วยส่งเสริมงานช่างศิลป์เหล่านี้ให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง อย่าให้น้อยหน้ากว่านานาประเทศ
อันของชาติไพรัชช่างจัดสรร |
เป็นหลายอย่างต่างพรรณเข้ามาขาย |
เราต้องซื้อหลากหลากและมากมาย |
ต้องใช้ทรัพย์สุรุ่ยสุร่ายเป็นก่ายกอง |
ชาวต่างชาติมักนำสินค้าต่าง ๆ (ที่มักมีราคาแพง) เข้ามาขายในไทย การที่เราซื้อของนำเข้าเหล่านั้นก็ทำให้สิ้นเปลืองเงินมาก
แม้พวกเราชาวไทยตั้งใจช่วย |
เอออำนวยช่างไทยให้ทำของ |
ช่างคงใฝ่ใจผูกถูกทำนอง |
และทำของงามงามขึ้นตามกาล |
เราช่วยช่างเหมือนอย่างช่วยบ้านเมือง |
ให้ประเทืองเทศไทยอันไพศาล |
สมเป็นเมืองใหญ่โตมโหฬาร |
พอไม่อายเพื่อนบ้านจึ่งจะดี |
แต่ถ้าชาวไทยหันมาอุดหนุนผลงานของช่างไทย ฝีมือของช่างชาวไทยก็จะยิ่งพัฒนายิ่งขึ้น การเห็นคุณค่า และการช่วยสนับสนุนงานศิลปกรรมก็เหมือนกับการช่วยพัฒนาชาติ ให้เจริญรุ่งเรือง สมกับเป็นเมืองที่เจริญแล้ว ไม่น้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้าน
ตอนสามัคคีเสวก
แนวคิดหลักของบทเสภาสามัคคีเสวก ตอนสามัคคีเสวกคือมุ่งเน้นสั่งสอนข้าราชการว่าควรเคร่งครัดในวินัย จงรักภักดี เคารพ และให้ความร่วมมือต่อพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ โดยเปรียบเทียบประเทศเป็นเรือใหญ่ที่แล่นไปในทะเล มีพระมหากษัตริย์เป็นกัปตัน และเหล่าข้าราชการเป็นกะลาสีเรือ ปัญหาและอุปสรรคน้อยใหญ่ก็เปรียบเหมือนคลื่นทะเลที่อาจซัดเรือให้ล่มลงได้หากเหล่ากะลาสีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และไม่เชื่อฟังกัปตันเรืออย่างพระมหากษัตริย์
ประการหนึ่งพึงคิดในจิตมั่น |
ว่าทรงธรรม์เหมือนบิดาบังเกิดหัว |
ควรเคารพยำเยงและเกรงกลัว |
ประโยชน์ตัวนึกน้อยหน่อยจะดี |
ควรนึกว่าบรรดาข้าพระบาท |
ล้วนเป็นราชบริพารพระทรงศรี |
เหมือนลูกเรืออยู่ในกลางหว่างวารี |
จำต้องมีมิตรจิตรสนิทกัน |
ในบทแรกจึงสั่งสอนเหล่าข้าราชการ (เสวก) อย่างตรงไปตรงมาว่าให้นึกอยู่เสมอว่าตนเป็นข้ารับใช้ของพระเจ้าแผ่นดิน เปรียบเหมือนลูกเรือที่อยู่ในเรือใหญ่กลางทะเล จึงต้องมีความสามัคคีต่อกัน
แม้ลูกเรือเชื่อถือผู้เป็นนาย |
ต้องมุ่งหมายช่วยแรงโดยแข็งขัน |
คอยตั้งใจฟังบังคับกัปปิตัน |
นาวานั้นจึ่งจะรอดตลอดทะเล |
ลูกเรือต้องตั้งใจฟังคำสั่ง เชื่อฟัง และช่วยเหลือกัปตันอย่างแข็งขัน เรือจึงจะรอดไปถึงจุดหมายได้
แม้ลูกเรืออวดดีมีทิฐิ |
และเริ่มริเฉโกยุ่งโยเส |
เมื่อคลื่นลมแรงจัดซัดโซเซ |
เรือจะเหล่มระยำคว่ำไป |
แต่ถ้าลูกเรือไม่เชื่อฟังกัปตันและเริ่มแตกแยกกัน เวลาคลื่นลมแรงเรือก็จะอับปางลง
แม้ต่างคนต่างเถียงเกี่ยงแก่งแย่ง |
นายเรือจะเอาแรงมาแต่ไหน |
แม้ไม่ถือเคร่งคงตรงวินัย |
เมื่อถึงคราวพายุใหญ่จะครวญคราง |
หากลูกเรือมัวแต่ทะเลาะกัน กัปตันก็จะไม่มีกำลังแรงกายแรงใจมาต่อสู้ ถ้าไม่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบเวลาที่เกิดภัยอะไรขึ้นจะเดือดร้อน
นายจะสั่งสิ่งใดไม่เข้าจิต |
จะต้องติดตันใจให้ขัดขวาง |
จะยุ่งแล้วยุ่งเล่าไม่เข้าทาง |
เรือก็คงอับปางกลางสาคร |
กัปตันสั่งอะไรก็ไม่ฟัง พอถึงเวลาก็มีข้อขัดแย้งต่อมาก็จะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ในที่สุดเรือก็จะล่มกลางทะเล
ถึงเสวีที่เป็นข้าฝ่าพระบาท |
ไม่ควรขาดความสมัครสโมสร |
ในพระราชสำนักพระภูธร |
เหมือนเรือแล่นสาครสมุทรไทย |
เหล่าเสวกตกที่กะลาสี |
ควรคิดถึงหน้าที่นั้นเป็นใหญ่ |
รักษาตนเคร่งคงตรงวินัย |
สมานใจจงรักพระจักรี |
ไม่ควรเลือกที่รักมักที่ชัง |
สามัคคีเป็นกำลังพลังศรี |
ควรปรองดองในหมู่ราชเสวี |
ให้สมที่ร่วมพระเจ้าเราองค์เดียว |
ถึงจะเป็นข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ควรขาดความสามัคคี เหตุการณ์ในพระราชสำนักก็เปรียบเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทร เหล่าข้าราชการในราชสำนักก็เหมือนเป็นกะลาสีควรให้ความสำคัญกับหน้าที่ต้องรับผิดชอบเป็นหลัก ปฏิบัติตนตามกฏตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดและสามัคคีจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ควรแยกฝ่ายเลือกที่จะเคารพเชื่อฟังใคร ควรที่จะสามัคคีปรองดองกันในหมู่ข้าราชการเพื่อเป็นพลังในการทำความดี ให้สมกับที่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวกัน
คุณค่าด้านวรรณศิลป์ของบทเสภาเสวก ตอนวิศวกรรมาและสามัคคีเสวก
กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่นของบทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมาและสามัคคีเสวกคือการใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบ ทั้งภาพพจน์อุปมา เช่น การเปรียบเทียบเสวก (ข้าราชการ) เหมือน ลูกเรือ และภาพพจน์อุปลักษณ์ เช่น การเปรียบเทียบเสวก เป็น กะลาสีเรือ ซึ่งปรากฎให้เห็นเด่นชัดเป็นพิเศษในตอนสามัคคีเสวก
ข้อคิดจากบทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมาและสามัคคีเสวก
๑. อธิบาย และชี้ให้เห็นความสำคัญของศิลปะในฐานะการพัฒนาคนและบ้านเมือง
๒. สะท้อนค่านิยมการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
๓. ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาจิตใจคนในบ้านเมืองด้วยงานศิลปะ และความสามัคคีของหมู่ข้าราชการเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
รู้หรือไม่ ?: ช่างสิบหมู่คืออะไรกันนะ ?
จากบทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมา เพื่อน ๆ จะเห็นว่ามีการพูดถึงงานช่างศิลป์ของไทยหลากหลายแขนงมาก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีการรวบรวมช่างศิลป์ที่มีฝีมือและจัดตั้ง ‘กรมช่างสิบหมู่’ ขึ้น คำว่าสิบนั้นลดรูปมาจากคำว่า ‘สิปปะ’ จากภาษาบาลี ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า ‘ศิลปะ’ ช่างสิบหมู่จึงหมายถึงกลุ่มช่างผู้ทำงานด้านศิลปะไทย ซึ่งในสมัยนั้นได้จำแนกกระบวนช่างศิลป์ที่สำคัญของไทยไว้ ๑๐ แขนง ได้แก่ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างรัก (ลงรักปิดทอง) ช่างบุ และช่างปูน
ขอบคุณรูปภาพจาก: finesrts.go.th
งานศิลป์ไทยเหล่านี้ถูกสืบทอดผ่านหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันกรมช่างสิบหมู่คือ ‘สำนักช่างสิบหมู่’ ในสังกัดกรมศิลปากร จำแนกออกเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประติมากรรม กลุ่มจิตรกรรม กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลืบดินเผา กลุ่มประณีตศิลป์ และอีก ๑ ศูนย์ คือศูนย์ศิลปะและการช่างไทย นอกจากสืบสานมรดกทางศิลปะไทย สำนักช่างสิบหมู่ยังคงมีบทบาทในการสร้างสรรค์งานเพื่อบริการประชาชนทั่วไป งานด้านศาสนา งานของราชการและพระราชพิธีที่สำคัญของหลวง ยกตัวอย่างเช่นพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีการรวบรวมช่างสิบหมู่ผู้มีฝีมือจากทั้งประเทศมาร่วมกันสร้างพระเมรุมาศให้งดงามสมพระเกียรติ รวมถึงการสร้างสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่สะท้อนความงดงามของงานศิลป์ไทยได้เป็นอย่างดี
นอกจากบทเรียนออนไลน์เรื่องเสภาสามัคคีเสวกแล้ว เพื่อน ๆ ชั้น ม.๒ ยังสามารถเข้าไปอ่านบทเรียนเรื่องศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้ด้วยนะ คลิกตรงนี้เลย
หลังจากติดตามอ่านบทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมา และสามัคคีเสวกตั้งแต่ต้นจนจบหลายคนอาจจะรู้สึกว่าอ่านแค่ตัวหนังสือนี่ไม่ได้อรรถรสเอาเสียเลย ! ก่อนจะจากกันไป StartDee เลยอยากชวนทุกคนไปเปลี่ยนบรรยากาศ พักการอ่านวรรณคดีในหนังสือแล้วไปฟังการขับเสภาในแอปพลิเคชัน StartDee กันดีกว่า ถ้าอยากรู้ว่าการขับเสภาต้องทำยังไง โหลดแอปฯ StartDee ให้พร้อม เตรียมกรับไม้ให้พร้อม แล้วไปดูพร้อม ๆ กันเลย !
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)