อยากรู้ว่าถ้าหน้าสวย ๆ ของแก โดนสาดด้วยน้ำกรดขึ้นมาแล้วจะเป็นยังไงกันนะ...StartDee เชื่อว่าเพื่อน ๆ น่าจะเคยได้ยินประโยคทำนองนี้มานับครั้งไม่ถ้วนจากการชมละครหลังข่าว แล้วเพื่อน ๆ เคยสงสัยบ้างมั้ยว่า น้ำกรดที่ว่านั้นคือกรดอะไร และนอกจากกรดแล้ว ยังมีสารที่เป็น “เบส” อีกด้วยนะ วันนี้ เราจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนเรื่องประเภทของกรดและเบสกัน
แต่ก่อนอื่น เพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับสมบัติของกรดและเบสกันดีกว่า ซึ่งนอกจากเนื้อหาในบทความนี้แล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมในรูปแบบวิดีโอพร้อมแอนิเมชันสุดสวยได้ที่แอปพลิเคชัน StartDee ด้วยนะ โหลดติดคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต หรือมือถือ ไว้ รับรอง อุ่นใจแน่นอนจ้า
สมบัติของสารที่เป็นกรด
- มีรสเปรี้ยว
- มีฤทธิ์กัดกร่อน
- ทำปฏิกิริยากับโลหะบางชนิด ได้แก๊สไฮโดรเจน
- ค่า pH < 7 ที่ 25 องศาเซลเซียส
- เมื่อนำไปละลายน้ำ จะนำไฟฟ้าได้ และเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากสีน้ำเงินเป็นแดง
สมบัติของสารที่เป็นเบส
- มีรสฝาด
- มีฤทธิ์กัดกร่อน
- รู้สึกลื่นมือเมื่อสัมผัส
- มี pH > 7 ที่ 25 องศาเซลเซียส
- เมื่อนำไปละลายน้ำ จะนำไฟฟ้าได้ และเปลี่ยนสีกระดาษลิตมัสจากสีแดงเป็นน้ำเงิน
หากเพื่อน ๆ อยากเรียนเรื่องกรดและเบสแบบจัดเต็ม สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee แล้วไปเรียนกับคุณครูฝนได้เลยนะ
ประเภทของกรดและเบส
1. ประเภทของกรด
1.1 เมื่อแบ่งตามองค์ประกอบของธาตุ จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- กรดทวิภาค (Binary acids) เป็นกรดที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) และธาตุอโลหะ ตัวอย่างของกรดในกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดไฮโดรฟลูออริก (HF) และกรดไฮโดรคลอริก (HCl)
- กรดออกซี (Oxyacids) เป็นกรดที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) และธาตุอโลหะ ตัวอย่างกรดในกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดแอซิติกหรือที่เรียกกันว่ากรดน้ำส้ม (CH3COOH) และกรดคาร์บอนิก (H2CO3)
1.2 เมื่อแบ่งตามแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่พบ จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- กรดอินทรีย์ (Organic acid) เป็นกรดที่พบในสิ่งมีชีวิต และมีแหล่งกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิต มักมีคาร์บอน (C) เป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างของกรดในกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดแอซิติก กรดฟอร์มิกหรือกรดมด (HCOOH) และกรดทาร์ทาริก (C4H6O6) ที่พบในองุ่น
- กรดอนินทรีย์ (Inorganic acid) เป็นกรดที่พบในแร่ธาตุ ตัวอย่างของกรดกลุ่มนี้ ได้แก่ กรดซัลฟิวริก (H2SO4) และกรดไนตริก (HNO3)
1.3 เมื่อแบ่งตามจำนวนไฮโดรเจนไอออน ที่ได้จากการแตกตัวของกรด 1 โมเลกุล จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- กรดโมโนโปรติก (Monoprotic acid) คือ กรดที่แตกตัวให้ 1 ไฮโดรเจนไอออนต่อกรด 1 โมเลกุล เช่น กรดไฮโดรฟลูออริก กรดฟอร์มิก และกรดแอซิติก เป็นต้น
- กรดไดโปรติก (Diprotic acid) คือ กรดที่แตกตัวให้ 2 ไฮโดรเจนไอออนต่อกรด 1 โมเลกุล เช่น กรดซัลฟิวริก กรดคาร์บอนิก และกรดโครมิก (H2CrO4)
- กรดโพลิโปรติก (Polyprotic acid) คือ กรดที่แตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออนมากกว่า 1 ไอออนต่อกรด 1 โมเลกุล เช่น กรดฟอสฟอริก (H3PO4) และกรดซิตริก (C₆H₈O₇)
1.4 เมื่อแบ่งตามความสามารถในการแตกตัว จะสามารถแบ่งกรดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- กรดแก่ (Strong acid) คือ กรดที่เมื่อละลายน้ำแล้วสามารถแตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออนได้ 100 % โดยตัวอย่างที่พบเห็นบ่อย ๆ ได้แก่ กรดไฮโดรคลอริก กรดไฮโดรโบรมิก (HBr) กรดไฮโดรไอโอดิก (HI) กรดซัลฟิวริก กรดคลอลิก (HClO3) กรดเปอร์คลอริก (HClO4) และกรดไนตริก
- กรดอ่อน (Weak acid) คือ กรดที่เมื่อละลายน้ำแล้วแตกตัวให้ไฮโดรเจนไอออนได้เพียงบางส่วน ตัวอย่างคือ กรดไฮโดรฟลูออริก กรดไฮโดรไซยานิก (HCN) กรดฟอร์มิก และกรดแอซิติก
2. ประเภทของเบส
เมื่อแบ่งตามความสามารถในการแตกตัว จะสามารถแบ่งเบสออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1 เบสแก่ (Strong base) คือ เบสที่เมื่อละลายน้ำแล้วสามารถแตกตัวให้ไฮดรอกไซด์ไอออนได้ 100% โดยตัวอย่างที่เพื่อน ๆ จะพบเจอบ่อย ๆ คือ เบสที่เกิดจากโลหะหมู่ 1 และหมู่ 2 เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) และแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)2)
2.2 เบสอ่อน (Weak base) คือ เบสที่เมื่อละลายน้ำแล้วแตกตัวให้ไฮดรอกไซด์ไอออนได้เพียงบางส่วนซึ่งน้อยกว่า 100% เช่น แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ (NH4OH) และพีริดีน (C5H5N)
โอ้โห กรดและเบสมากมายหลายประเภทอย่างงี้ จะจำยังไงไหว ไหนจะตัวอย่างของแต่ละประเภทอีก เอาเป็นว่า StartDee เชื่อเต็มเปี่ยมหัวใจเลยว่าเพื่อน ๆ ทุกคนจะต้องจำได้ เพียงแค่อ่านบทความนี้เรื่อย ๆ และเข้าไปเติมความรู้ในแอปพลิเคชัน StartDee บ่อย ๆ แค่นี้เพื่อน ๆ ก็จะสามารถจดจำเนื้อหารวมไปถึงมีความเข้าใจในเรื่องกรดและเบสได้อย่างแน่นอน
อยากเรียนเคมีของชั้น ม.5 เพิ่มเติม เลือกอ่านบทความด้านล่างได้เลย
Did you know ? นอกจากองุ่นแล้ว เรายังพบกรดทาร์ทาริกในผลไม้ชนิดอื่นด้วยนะ
โดยเราจะพบกรดทาร์ทาริกได้ในแอปเปิล มะกอก และมะขาม (ทำให้โดยทั่ว ๆ ไปคนมักเรียกกรดทาร์ทาริกว่า “กรดมะขาม”) โดยเฉพาะมะขามเปรี้ยวยักษ์ของไทยเรา มีปริมาณกรดทาร์ทาริกสูงถึง 18.102 ±0.134 กรัม / 100 กรัมเลยนะ ! นอกจากนั้นเรายังพบกรดทาร์ทาริกในไวน์ อาหารและเครื่องดื่มหมักดองอีกด้วย
ที่มา :
ปฏิภาณี ขันธโภค . (2550). ลายพิมพ์ดีเอ็นเอและการประเมินทางเคมีของมะขามบางสายพันธุ์ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายที่ดี.
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.