ทำไมช่วงนี้ฟ้าถึงครึ้ม ๆ แถมอากาศก็เย็นน่านอนแบบนี้น้าาาา~
ถ้าเพื่อน ๆ ติดตามรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาก็จะเห็นว่าช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับพายุฤดูร้อน ซึ่งเป็นที่มาของบรรดาฝนที่เราเห็นกันอยู่ในช่วงนี้ วันนี้เกร็ดความรู้จาก StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปดูว่าพายุเกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมทำความรู้จักพายุแต่ละประเภท
ประเภทของพายุ
โดยเราสามารถแบ่งพายุตามลักษณะได้ 3 รูปแบบ คือ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน และพายุทอร์นาโด พายุที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ ในช่วงนี้จะเป็นพายุฤดูร้อน (summer storm) ซึ่งเป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่เราพบได้ทุกปีในประเทศไทย
เริ่มที่พายุประเภทแรกอย่างพายุฝนฟ้าคะนองกันก่อน พายุฝนฟ้าคะนอง (thunderstorm) เป็นพายุที่มักเกิดในบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ทำให้เกิดฝนในช่วงเปลี่ยนฤดู เช่น จากฤดูร้อนไปสู่ฤดูฝน สาเหตุที่เรียกว่าพายุฤดูร้อนก็เพราะว่าเป็นพายุที่เกิดขึ้นในฤดูร้อน (ประมาณช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม) นั่นเอง
ส่วนที่มาของการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองนั้นเป็นเพราะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูร้อนไปสู่ฤดูฝน ประเทศของเราจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและมีผลต่อการเคลื่อนที่ของมวลอากาศ ซึ่งถ้ามวลอากาศร้อนและเย็นมาเจอกันก็จะเกิดแนวปะทะอากาศ (front) ขึ้น โดยแนวปะทะอากาศอุ่น แนวปะทะอากาศเย็น และแนวปะทะอากาศรวมจะทำให้เกิดเมฆฝน เช่น เมฆคิวมูลัส (cumulus) เมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ขึ้นได้ นอกจากนี้อากาศที่ไม่มีเสถียรภาพของช่วงเปลี่ยนฤดูยังทำให้มวลอากาศยกตัวในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เกิดการควบแน่น แล้วกลายเป็นเมฆก่อฝนในที่สุด ยิ่งอากาศร้อน ความชื้นสูง ก็จะยิ่งเกิดเมฆที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลมพัดแรง บางครั้งก็มีลูกเห็บตกลงมาเป็นของแถมด้วย เรียกว่ามาครบเลยทีเดียว
รูปที่ 1 เมฆคิวมูโลนิมบัสก่อนเกิดพายุ
ถัดจากพายุฝนฟ้าคะนองก็ยังมีพายุอีก 2 รูปแบบ ได้แก่ พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) และพายุทอร์นาโด (tornado) โดยพายุทอร์นาโดเป็นพายุที่สร้างความเสียหายรุนแรงอย่างมากต่อบ้านเรือน มักก่อตัวขึ้นจาก Supercell thunderstorms หรือพายุฝนฟ้าคะนองที่เรียงตัวกันเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เราจะพบทอร์นาโดในทวีปอเมริกา และพบได้มากในบริเวณเส้นทางทอร์นาโด (tornado alley) ซึ่งอยู่ในที่ราบตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเทือกเขาร็อกกี้และแม่น้ำมิสซิสซิปปี้
ส่วนพายุหมุนเขตร้อนนั้นเป็นพายุขนาดใหญ่ (ใหญ่ชนิดที่ว่าเส้นผ่านศูนย์กลางอาจกว้างหลายร้อยกิโลเมตรเลยทีเดียว) พายุหมุนเขตร้อนมักก่อตัวในทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อนแล้วจึงพัดขึ้นบก ถ้าสังเกตจากแผนที่อากาศจะเห็นเป็นลมหมุนชัดเจน โดยลักษณะการหมุนเข้าหาตาพายุของลมจะมี 2 แบบ คือหมุนแบบทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งพบในพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในซีกโลกเหนือ และหมุนแบบตามเข็มนาฬิกาถ้าเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในซีกโลกใต้
รูปที่ 2 ภาพถ่ายทางอากาศแสดงตาพายุและลักษณะการหมุนของลมเข้าหาตาพายุแบบทวนเข็มนาฬิกาของเฮอร์ริเคนเออร์มา
ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาความรุนแรงของพายุสำหรับบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือด้านตะวันตก (ซึ่งรวมถึงทะเลด้านตะวันออกของไทยด้วย!) ได้แบ่งพายุหมุนเขตร้อนตามความเร็วลมสูงสุดใกล้บริเวณศูนย์กลางของพายุเป็น 3 ระดับ เรียงจากความรุนแรงน้อยไปมากดังนี้
- พายุดีเปรสชัน (tropical depression) มีลักษณะเป็นกลุ่มเมฆและลมหมุนเป็นวงกลมแต่ไม่มีตาพายุที่ชัดเจน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงสุดจะไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุดีเปรสชันเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงน้อยที่สุด ความแรงของลมอาจไม่ถึงขั้นที่จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนได้ แต่จะทำให้เกิดฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและเกิดน้ำท่วม
- พายุโซนร้อน (tropical storm) เป็นพายุหมุนกำลังปานกลาง ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงสุดจะอยู่ที่ 63-118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อน ๆ บางคนอาจเคยได้ยินชื่อ “พายุโซนร้อนแฮเรียต” ที่พัดเข้าไทยเมื่อปี พ.ศ.2505 มาบ้าง สาเหตุที่พายุนี้เป็นที่จดจำของคนไทยนั่นก็เพราะนอกจากฝนตกหนักและความเร็วลม 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่พัดบ้านเรือนจนเสียหายแล้ว สิ่งที่มาพร้อมกับพายุโซนร้อนแฮเรียตยังมีปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) ซึ่งเป็นคลื่นสูงกว่า 4 เมตรพัดกวาดทำลายบ้านเรือกว่าร้อยหลังในบริเวณแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 911 คน สูญหาย 142 คน ชาวบ้านบาดเจ็บสาหัสและกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก และปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าสะเทือนใจนี้ยังถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพยนตร์ “ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน” ซึ่งเข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2545 อีกด้วย
รูปที่ 3 ภาพถ่ายแสดงความเสียหายของแหลมตะลุมพุกหลังเกิดพายุโซนร้อนแฮเรียตและปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge)
รูปที่ 4 ภาพยนตร์ "ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน" ซึ่งได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์และความเสียหายที่เกิดจากพายุโซนร้อนแฮเรียต
- พายุไต้ฝุ่น (typhoon) เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงสูงสุดเมื่อเทียบกับพายุดีเปรสชันและพายุโซนร้อน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงสุดของพายุไต้ฝุ่นจะอยู่ที่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ตัวอย่างพายุไต้ฝุ่นที่เคยพัดเข้าประเทศไทย เช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์หรือพายุไซโคลนกาวาลีที่พัดขึ้นจังหวัดชุมพรด้วยความเร็วลม 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยในบริเวณหลายจังหวัดตั้งแต่ชุมพรจนถึงระยอง ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นระยะเวลานาน ลมกระโชกแรง สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคอย่างมาก
ซึ่งหากสภาวะต่าง ๆ เหมาะสม พายุดีเปรสชันก็อาจพัฒนาจนมีกำลังแรงขึ้น กลายเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นได้ และเช่นเดียวกัน หากสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสมหรือเมื่อพัดขึ้นแผ่นดิน พายุส่วนใหญ่ก็จะมีกำลังอ่อนลงและสลายตัวไปในที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ อาจสงสัยขึ้นมาว่าทำไมพายุไต้ฝุ่นเกย์ถึงมีอีกชื่อว่าพายุไซโคลนกาวาลีด้วย ไซโคลนกับไต้ฝุ่นเป็นพายุคนละประเภทกันหรือเปล่า คำตอบก็คือเป็นพายุชนิดเดียวกัน แต่สำหรับพายุโซนร้อน ชื่อท้องถิ่นอาจแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด เช่น ฟิลิปปินส์เรียกพายุโซนร้อนว่า บาเกียว บาเกียว (Baguio หรือ Baruio) ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เรียกว่า วิลลี วิลลี (Willy Willy) อ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า ไซโคลน (Cyclone) บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเรียกว่า เฮอร์ริเคน (Herricane) ส่วนไต้ฝุ่น (Typhoon) นั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในบริเวณแปซิฟิกและทะเลจีนใต้
Did you know?
- ถึงจะฟังดูไม่น่าเชื่อแต่ท่ามกลางพายุที่ดูรุนแรงมากกลับมีตาพายุซึ่งเป็นโซนที่ลมสงบและอากาศแจ่มใสอยู่ด้านใน ตัวอย่างเช่นคลิปเกี่ยวกับเฮอร์ริเคนเออร์มาคลิปนี้ที่พาเราไปดูความแตกต่างของสภาพอากาศตั้งแต่กลางตาพายุและกำแพงพายุแบบชัด ๆ
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวของพายุและลมฟ้าอากาศรอบตัวเราจะมีอะไรให้ศึกษาเยอะขนาดนี้ แต่นอกจากเรื่องราวของพายุที่ StartDee นำมาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้ ธรรมชาติของเราก็ยังมีปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจรอให้เราไปเรียนรู้อยู่อีกมาก ฝนตกครั้งต่อไปเพื่อน ๆ ลองสังเกตรอบตัวดี ๆ อาจจะเจอเรื่องสนุก ๆ ให้ไปศึกษาเพิ่มเติม หรืออาจจะอยากดูแอนิเมชันญี่ปุ่นเกี่ยวกับฤดูฝนก็ได้นะ
Reference:
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ . “4.” โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ, 1st ed., vol. 2, สกสค. ลาดพร้าว, 2554, pp. 55–66.
อักษร สงกรานต์. “พายุฤดูร้อน.” saranukromthai, saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=34.
“ย้อนรอยพลังทำลาย'เกย์-แฮเรียต' จนมาถึงพายุ'ปาบึก'.” Dailynews, 4 Jan. 2019, www.dailynews.co.th/regional/685910.