พลเมืองดี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วิชาสังคมศึกษา

พลเมืองดี คือ

ไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียนหรือคุณครู เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เราต่างก็เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งมีสิทธิ หน้าที่และบทบาทในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง วันนี้เราเลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาเรียนรู้เรื่องการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศกันว่าต้องทำอย่างไร และมีความสำคัญยังไงบ้าง 

 

พลเมืองดีคืออะไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า “พลเมือง หมายถึง คนที่มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือประชาชนที่อยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน มักมีวัฒนธรรมเดียวกัน” 

ดังนั้น เพื่อน ๆ จะเห็นว่า ‘พลเมือง’ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘ประชาชน’ หรือ ‘ราษฎร’ ที่มีความหมายในเชิงสมาชิกหรือการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนั้น ๆ แต่พลเมืองจะมีเรื่องของสิทธิ บทบาทหน้าที่และการมีส่วนร่วมในสังคมมากกว่า เช่น การรักษาสิทธิของตัวเองด้วยการไปเลือกตั้ง หรือการเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ กับรัฐ ดังนั้น พลเมืองดี หมายถึง พลเมืองที่รู้หน้าที่ รักษาสิทธิ เคารพกฎกติกาของสังคม มีส่วนร่วมช่วยเหลือกันและกันเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ส่วนพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย หมายถึง พลเมืองที่ดำเนินชีวิตในสังคมโดยยึดหลักประชาธิปไตยในการอยู่ร่วมกันนั่นเอง

 

พลเมืองดีสำคัญอย่างไร ?

เนื่องจากพลเมืองเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น ดังนั้นการเป็นพลเมืองที่ดีเลยมีความสำคัญต่อประเทศเราในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึง 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ 

  1. ด้านสังคม : พลเมืองดี คือผู้ที่รู้จักใช้สิทธิและปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง ไม่ก้าวก่ายหรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น บ้านเมืองจึงเกิดความสงบเรียบร้อยและผู้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข 
  2. ด้านเศรษฐกิจ : สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองดีคือการประกอบอาชีพสุจริต ไม่มีการคอรัปชันซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาทางเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกจากนี้การเป็นพลเมืองดียังรวมถึงการดูแลรับผิดชอบวางแผนการเงินของตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนเอง และคนอื่น ๆ อีกด้วย
  3. ด้านการเมืองการปกครอง : เมื่อพลเมืองแต่ละคนจะรู้จักเคารพกฎหมาย รู้สิทธิหน้าที่ของตนเอง ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น จะทำให้การบริหารประเทศเป็นระบบและราบรื่นมากยิ่งขึ้น

พลเมืองดี

ภาพการเคารพกฎหมายโดยการข้ามถนนบนทางม้าลาย (ขอบคุณภาพจาก 13on)

 

พลเมืองดีเป็นแบบไหน ?

เพื่อน ๆ น่าจะสงสัยแล้วว่า ถ้าอยากเป็นพลเมืองดีต้องทำยังไงบ้าง เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าคุณลักษณะสำคัญของพลเมืองดีจะมีอะไรบ้าง

  1. เคารพกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
  2. เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
  3. เป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ทั้งต่อครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคมประเทศชาติ
  4. มีเหตุผล และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพราะการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจะทำให้เราเข้าใจกันได้มากขึ้น รวมทั้งได้ข้อสรุปร่วมกันที่ทุกคนยอมรับและได้ประโยชน์
  5. มีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำรงชีวิต เพราะถ้าเราคำนึงถึงแค่กฎหมายแต่ขาดคุณธรรม

จริยธรรม สังคมก็อาจจะวุ่นวายได้ 

  1. ต้องกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมเพื่อจะป้องกันและแก้ปัญหาของชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
  1. สนใจและกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง เพราะการเมืองนั้นมีผลกระทบต่อตัวเรารวมถึงคนทุกคน การมีส่วนร่วม เช่น การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น

Banner-Orange-Noey

ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะสำคัญของพลเมืองดีบางประการ ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่เราสามารถเป็นพลเมืองดีได้ แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคิดว่าพลเมืองดีเป็นแบบไหน ? ถ้ายังไม่แน่ใจลองโหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนเพิ่มเติมกับคุณครูของเรากันได้เลย หรืออ่านบทความที่เกี่ยวข้องต่ออย่างเรื่องรูปแบบการปกครอง หรือ ปัญหาการเมืองไทยและการตรวจสอบอำนาจรัฐก็ได้นะ

 

Did You Know ? 

พอพูดถึงพลเมืองแล้ว อีกเรื่องที่ชวนสงสัยคือความหมายของคำว่า รัฐ ชาติ และประเทศ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเหมือนกันซะทีเดียว ดังนี้

  • รัฐ (State) คือ ชุมชนทางการเมืองที่มีอาณาเขตของดินแดนแน่นอน มีประชากรที่อาศัยอยู่มีอำนาจอธิปไตยและมีรัฐบาลปกครอง ซึ่งความหมายของรัฐจะเน้นด้านการเมืองการปกครองเป็นหลัก
  • ชาติ (Nation) คือ ชุมชนของมนุษย์ที่อยู่รวมกันโดยมีความผูกพันกันในแง่ของวัฒนธรรม เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา ไปจนถึงประวัติศาสตร์ ซึ่งเน้นในเรื่องวิถีชีวิตเป็นหลัก
  • ประเทศ (Country) คือ ดินแดน อาณาเขต ซึ่งเน้นเรื่องของสภาพภูมิศาสตร์เป็นหลัก 

                          

ขอบคุณข้อมูลจากครูสุรรังสรรค์ ผาสุขวงษ์ (ครูกอล์ฟ)

แสดงความคิดเห็น