แชร์เทคนิค ท่องศัพท์ให้จำแม่น!

ท่องศัพท์

ทวนซ้ำ - ร้องเพลง - เข้าใจ ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษด้วยวิธีไหนได้ผลที่สุด ?

เราเชื่อว่า เพื่อน ๆ หลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจ แถมมีวิธีอื่น ๆ ที่เคยใช้อีกเยอะแยะเลย แต่ก็ใช่ว่าทุกวิธีจะได้ผลกับทุกคนเสมอไป แถมเทคนิคก็มีหลากหลายซะจนไม่รู้ว่า วิธีไหนจะเหมาะกับเรากันแน่ วันนี้เราเลยมีคำอธิบายทางจิตวิทยา เกี่ยวกับการจดจำคำศัพท์มาฝากเพื่อน ๆ กัน เผื่อจะมีไอเดียไปปรับใช้เพื่อหาวิธีจำที่ใช่สำหรับเรา 

 

แต่ทำไม ๆ ถึงจำ…

เมื่อเธอ ไม่คิดจริงใจ...เย้ย ไม่ใช่! เราไม่ได้มาร้องเพลงของ Tattoo Colour แต่เราจะมาเล่าเรื่องกระบวนการจดจำของสมองให้ฟังต่างหาก ซึ่งสาเหตุที่เราจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้นั้น มาจาก 3 ขั้นตอน คือ

  1. การเข้ารหัส (Encoding) : แบ่งเป็น การจำด้วยภาพ (Visual Encoding) การจำด้วยเสียง (Acoustic Encoding) และการจำด้วยความหมาย (Semantic Encoding)
  2. การจัดเก็บข้อมูล (Storge) : มีทั้งการเก็บไว้ในความจำระยะสั้น (Short-term Memory) ที่จะเก็บได้แค่ชั่วคราว และความจำระยะยาว (Long-term Memory) ที่เก็บได้ยาว ๆ ตลอดชีพ
  3. การค้นคืน (Retrieval) : คล้ายกับเวลาเราหาชุดในตู้เสื้อผ้า ถ้าพอจำได้ว่าแขวนไว้ฝั่งซ้ายหรือขวาก็คงจะหาง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการค้นความทรงจำ ถ้ามีชอยส์หรือคำใบ้ก็จะทำให้เรานึกถึงคำศัพท์ที่ท่องไปได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ส่งผลต่อความแม่นยำในการจดจำของเรา โดยเฉพาะขั้นตอนการเข้ารหัส (Encoding) ซึ่งก็คือเวลาที่เราพยายามท่องหนังสือ หรือหาเทคนิคการจำด้วยวิธีการต่าง ๆ นั่นเอง

 

แต่ทำไง ๆ ให้จำ…

ย้อนกลับไปในปี 1975 คุณ Craik และคุณ Tulving นักวิจัยจากประเทศแคนาดา ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการจดจำคำศัพท์ โดยให้ลิสต์คำศัพท์ 60 คำมา แล้วให้ผู้เข้าร่วมเลือกที่จะตอบคำถามใดคำถามหนึ่ง ต่อไปนี้

  1. ถามเกี่ยวกับรูปร่างหรือสิ่งที่เห็น เช่น คำนี้เป็นตัวหนา หรือตัวเอียง ? ซึ่งสะท้อนการจดจำด้วยภาพ  (visual processing) เป็นหลัก
  2. ถามเกี่ยวกับเสียงของคำ ๆ นั้น เช่น คำนี้คล้องจองของกับคำว่า...หรือไม่ ? ซึ่งสะท้อนการจดจำด้วยเสียง (auditory processing) เป็นหลัก
  3. ถามเกี่ยวกับความหมาย เช่น คำนี้อยู่ในหมวดผักผลไม้หรือไม่ ? ซึ่งสะท้อนการจดจำด้วยความหมาย (semantic processing) เป็นหลัก

หลังจากนั้น จะมีคำศัพท์ 180 คำปรากฏขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตอบว่า มีคำไหนบ้างที่อยู่ในลิสต์ 60 คำก่อนหน้านี้ ผลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมที่เลือกตอบคำถามข้อที่ 3 ซึ่งเป็นการจำด้วยความหมาย (semantic processing) สามารถจดจำคำศัพท์ได้มากกว่าคนที่เลือกตอบ 2 ข้อแรก เนื่องจากการจำด้วยความหมาย จะถูกจัดเก็บไว้ในความจำระยะยาว (Long-term Memory) ดังนั้น หากเป็นเรื่องของความแม่นยำ การจำด้วยความเข้าใจหรือเชื่อมโยงกับประสบการณ์ต่าง ๆ จะได้ผลในระยะยาวมากกว่า

Banner-Orange-Standard

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการจำด้วยเสียงและการมองเห็นนั้นจะไม่ได้ผลเลย เพราะข้อดีของวิธีนี้ คือความรวดเร็วทันใจ เหมาะกับช่วงไฟลุกอย่างช่วงใกล้สอบที่ไม่มีเวลาคิดเชื่อมโยง ซึ่งการจำเป็นเพลง หรืออ่านทวนซ้ำ ๆ ก็นับว่าช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ Nicola Chung Yee-lan นักจิตวิทยาชาวฮ่องกง กล่าวว่า การอ่านออกเสียงช่วยให้เราเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยความจำระยะสั้น (Short-term Memory) แต่หากทบทวนอยู่เป็นประจำ อาจทำให้เปลี่ยนเป็นความจำระยะยาว (long-term memory) ได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าเพื่อน ๆ ถนัดจำเป็นเพลง คัดศัพท์ หรืออ่านทวนซ้ำ เราแนะนำให้ฝึกท่องจำอย่าง “สม่ำเสมอ” เพื่อไม่ให้เกิดอาการ “ไม่ได้ใช้นานแล้ว...ลืม” ทำให้ต้องมานั่งท่องใหม่หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเรื่องเสียเวลาได้เช่นกัน 

เพราะฉะนั้น หากไม่ฉุกเฉินจริง ๆ เราอยากให้เพื่อน ๆ ลองเชื่อมโยงหรือสร้างความหมายให้กับแต่ละคำ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น 

  • การจำเป็นเรื่องราว โดยฝึกแต่งเป็นประโยคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น คำว่า Climate (N.) ที่แปลว่า สภาพอากาศ หรือภูมิอากาศ อาจแต่งประโยค “The climate of Thailand is tropical.” หมายถึง ภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นแบบเขตร้อน
  • เชื่อมโยงกับประสบการณ์ในอดีต เช่น จำคำว่า naughty (adj.) แปลว่า ซุกซน โดยเชื่อมโยงกับภาพน้องหมาที่บ้านตอนกัดรองเท้าคู่โปรดเราอยู่ เวลาเห็นคำนี้อีกครั้ง เราก็จะนึกถึงภาพน้องหมา พร้อมกับคำว่า naughty นั่นเอง
  • การเชื่อมโยงกับหมวดหมู่หรือประเภทบางอย่าง เช่น การจำจากรากศัพท์ อย่างคำในหมวด dis- ที่หมายถึง การแยกจากกัน ตรงกันข้าม หรือการปฏิเสธ เช่น disagree, disappear, dislike เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เราเชื่อว่ายังมีวิธีการท่องศัพท์ด้วยความเข้าใจ หรือการเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ อีกหลายวิธี ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถนำหลักการข้างต้นนี้ ไปปรับใช้ตามความถนัดของตัวเองได้ และนอกจากเทคนิคการท่องศัพท์แล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถเตรียมสอบวิชาอื่น ๆ ไปกับ  5 เคล็ดลับดี ๆ กับวิธีอ่านหนังสือสอบให้เข้าสมอง หรือจะอ่านเทคนิคการเรียนภาษาอังกฤษกันต่อได้ในบทความ สอนโดยไม่สอน! ห้องเรียนภาษาอังกฤษที่ไม่ใช้ (ตำรา) ภาษาอังกฤษในการสอน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบและการเปิดเทอมที่ใกล้จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนั้นเพื่อน ๆ ยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาทบทวนบทเรียนได้ด้วยนะ

 

Reference : 

McLeod, S. A. (2007, December 14). Levels of processing. Simply Psychology. https://www.simplypsychology.org/levelsofprocessing.html

Memory Process. (n.d.). Retrieved May 28, 2020, from https://thepeakperformancecenter.com/educational-learning/learning/memory/classification-of-memory/memory-process/

Chan, N. (n.d.). A psychologist's tips to remembering things quickly, accurately, and more easily. Retrieved May 28, 2020, from https://www.scmp.com/yp/learn/learning-resources/experts/article/3066593/psychologists-tips-remembering-things-quickly


5 เทคนิคท่องศัพท์ ให้จำไปจนวันตาย!!. (n.d.). Retrieved from https://tutorme.in.th/article/VEaAvQOD6E/5%20เทคนิคท่องศัพท์%20ให้จำไปจ

แสดงความคิดเห็น