เรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19 อย่างไรไม่ให้ใจพัง

เรียนออนไลน์

ลำพังแค่เรียนในห้องเรียน ยังมีช่วงที่เครียดหรือเหนื่อยบ้างเป็นบางเวลา ยิ่งตอนนี้ต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน ยิ่งต้องเจอทั้งปัญหาสัญญาณไม่ดี สภาพแวดล้อมไม่พร้อม หรือถ้าสงสัยก็ไม่รู้จะถามใคร กลายเป็นปัญหาทางใจที่ไม่สามารถมูฟออนจากความรู้สึกท้อ เหนื่อย เครียด จนอยากเปิดเรียนไว ๆ แล้ว

แม้จะเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เปลี่ยนวิธีการคิด แต่ก็เป็นสิ่งที่พูดง่ายทำยาก เพราะอยู่ ๆ จะให้เปลี่ยนไปคิดอีกแบบเลย ก็คงทำไม่ได้ วันนี้เราเลยมีเทคนิคที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ ได้ลองเปลี่ยนมุมคิด อย่างเป็นขั้นตอน แถมลองทำได้ที่บ้าน และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ก็ช่วยให้เรามูฟออนจากความรู้สึกไม่ดีได้แล้ว โดยเทคนิคนี้มีชื่อว่า “Reframing” นั่นเอง

พอฟังชื่อแล้ว บางคนอาจจะพอเดาได้ว่า Reframing เกี่ยวกับการเปลี่ยนกรอบความคิดหรือมองสถานการณ์เดิมในมุมใหม่ ภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่ ซึ่ง Reframimg ไม่ได้เป็นการชวนมองเฉพาะด้านดี แต่เป็นการมองอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง 

ถ้าเพื่อน ๆ พร้อมแล้ว หยิบกระดาษกับปากกาขึ้นมา แล้วเริ่มขั้นตอนแรกของ Reframing กันได้เลย แต่อย่าลืมดาวน์โหลดแอป StartDee มาใช้กันด้วยนะ รับรองช่วยทบทวนบทเรียนได้เยอะเลย

 

1.นึกถึงปัญหาหรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีพร้อมทั้งวิธีการแก้ไข

โดยสามารถเขียนยาวหรือสั้นแค่ไหนก็ได้ เพียงแต่ต้องมีประเด็นที่ชัดเจน

ตัวอย่าง :

  • “เรียนเรื่องนี้ไม่เข้าใจ เพราะฟังและจดไม่ทัน แต่ก็ไม่รู้จะถามใครดี 

          พอกลับไปเรียนย้อนหลัง ก็ต้องเสียเวลาเยอะกว่าเดิม”

 

2. สังเกตความคิดหรือความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาเมื่อนึกถึงสถานการณ์นี้

โดยไม่มีผิดหรือถูก แต่ต้องจริงใจกับตัวเองว่าคิดและรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ

ตัวอย่าง :

  • “เครียด กลัวว่าพอเปิดเทอมมาแล้วจะตามเนื้อหาไม่ทัน”
  • “เหนื่อยจัง ท้อใจ หมดพลังงานที่จะกลับไปเรียนย้อนหลังหลาย ๆ วิชาแล้ว”
  • “อยู่ม.6 แล้ว จะเรียนทันไหม ต้องสอบไม่ติดแน่เลย”

Banner-Green-Noey

3. ลองมองปัญหาดังกล่าวในมุมอื่น ๆ

แล้วเขียนออกมาประมาณ 3-4 ข้อ โดยไม่ซ้ำกับความคิดเดิมของตนเอง หรือถ้าใครมีพ่อ แม่ พี่ น้อง อยู่ข้าง ๆ ก็สามารถระดมไอเดียมาจดไว้เป็นอีกชอยส์หนึ่งได้

ตัวอย่าง : 

  • ไม่ใช่เราคนเดียวที่เจอปัญหานี้ และเชื่อว่าคงมีทางออกอื่น ๆ นอกจากการเรียนย้อนหลัง 
  • เครียดมากแค่ไหนก็เปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้อยู่ดี ตอนนี้ทำเท่าที่ทำได้ไปก่อนดีกว่า
  • ไม่มีอะไรดีหรือแย่ 100% เพราะฉะนั้น ต้องมีข้อดีของการเรียนออนไลน์ที่เราหยิบยกมาใช้ประโยชน์ได้ในช่วงนี้

 

4. ลองนึกถึงหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนไอเดียจากข้อที่แล้ว

เพื่อให้สิ่งที่เราคิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

ตัวอย่าง :

1. ไม่ใช่เราคนเดียวที่เจอปัญหานี้และเชื่อว่าคงมีทางออกอื่น ๆ นอกจากการเรียนย้อนหลัง 

หลักฐานหรือเหตุผลของไอเดียนี้ :

  • เปิดแฮชแท็ก #เรียนออนไลน์ ในทวิตเตอร์แล้วมีคนเจอปัญหาแบบเราเยอะเลย บางคนก็ทำสรุปมาลงในทวิตเตอร์ ลองใช้เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบทเรียนที่เราตามไม่ทันดีกว่า
  • ต่อยอดจากการดูสรุปของเพื่อน ๆ ในทวิตเตอร์นี้ โดยการแบ่งหน้าที่กับเพื่อนในกลุ่มหรือในชั้นเรียนให้ทำสรุป แล้วส่งมาแลกกันอ่านในไลน์กลุ่ม เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องไปเรียนย้อนหลังด้วยตนเองทั้งหมด 

2. เครียดมากแค่ไหนก็เปลี่ยนสถานการณ์ไม่ได้อยู่ดี ตอนนี้ทำเท่าที่ทำได้ไปก่อนดีกว่า

หลักฐานหรือเหตุผลของไอเดียนี้ :

  • ความเครียดทำให้เรากระวนกระวาย ไม่สบายใจ แต่ก็เปลี่ยนให้โรงเรียนเปิดเทอมตอนนี้ไม่ได้อยู่ดี เลยพักจากการโฟกัสอารมณ์ไปคิดหาวิธีแก้ไขสิ่งที่ทำได้ดีกว่า 

3. ไม่มีอะไรดีหรือแย่ 100% เพราะฉะนั้น ต้องมีข้อดีของการเรียนออนไลน์ที่เราหยิบยกมาใช้ประโยชน์ได้ในช่วงนี้

หลักฐานหรือเหตุผลของไอเดียนี้ :

  • ถ้าเรียนย้อนหลังได้ แสดงว่าจัดเวลาเรียนเองได้ งั้นลองจัดตารางใหม่ให้เหมาะกับช่วงที่พร้อมตอนอยู่บ้าน จะได้มีสมาธิเรียนวิชานั้น แถมเลือกเรียนวิชาที่ชอบก่อนได้
  • ถือโอกาสหาความรู้จากแหล่งอื่นไปด้วย เช่น ยูทูบ หนังสือ หรือช่องทางการเรียนออนไลน์อื่น ๆ 

 

5. เขียนความรู้สึกและสิ่งที่ค้นพบจากการทบทวนครั้งนี้

ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหาสุดล้ำ หรือไอเดียเจ๋ง ๆ เสมอไป แต่เน้นไปที่การสำรวจใจตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร ได้เห็นทางเลือกแบบไหนบ้าง และเราเลือกที่จะคิดหรือมองในมุมไหนเพื่อให้เราอยู่กับสถานการณ์นี้ได้โดยที่ใจไม่พังไปซะก่อน 

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคนิคหนึ่ง ที่ช่วยปรับมุมมองของเราในสถานการณ์ที่ทำอะไรได้ไม่มากนัก ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้เพื่อน ๆ มีไอเดียที่จะดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรงต้อนรับเปิดเทอมที่จะถึงนี้ และถ้าเพื่อน ๆ อยากเรียนรู้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้กับใจเพิ่มเติม ก็สามารถอ่านบทความ Self-esteem คืออะไร? เพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วยการเห็นคุณค่าในตนเอง หรือติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ Blog StartDee นี้เลย

 

Reference :

McNamara, C. (2012, February 2). Basic Guidelines to Reframing — to Seeing Things Differently. Retrieved from https://managementhelp.org/blogs/personal-and-professional coaching/2012/02/02/basic-guidelines-to-reframing-to-seeing-things-differently/ 

Six Step Reframing. (n.d.). Retrieved from

https://trans4mind.com/personal_development/FeelingGood/SixStepReframing.html

แสดงความคิดเห็น