ไม่ว่าจะอ่านออกเสียงพร้อมกับเพื่อน ๆ หรือนั่งอ่านในใจ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แบบเรียน” คือหนังสือที่เด็กไทยแทบทุกคน “ต้องอ่าน” นอกจากการถ่ายทอด “ข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เด็ก ๆ ต้องรู้แล้ว แบบเรียนยังทำหน้าที่ถ่ายทอดแนวคิด ทัศนคติ ค่านิยม หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ผู้ใหญ่ “ต้องการ” ให้เด็กรู้ด้วย เด็ก ๆ จะมองโลกอย่างไร จะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ได้แตกฉานเพียงไหน แบบเรียนที่เด็ก ๆ ท่องและอ่านจนขึ้นใจนั้นมีบทบาทอย่างมาก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยสพฐ. ก็พยายามปรับปรุงหลักสูตรและบทเรียนเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แก้ว กล้า ตามารถไฟ (แบบเรียนภาษาไทยในหลักสูตรฯ ปี พ.ศ. 2533) จนมาถึงยุคของแบบเรียนชุด ‘ภาษาเพื่อชีวิต’ ตามแนวทางหลักสูตรฯ ปี พ.ศ. 2544 การพัฒนาหลักสูตรเหมือนจะเป็นไปได้ดี จนกระทั่งเราได้เห็นโฉมหน้าของแบบเรียนภาษาไทย หลักสูตรฯ พ.ศ.2551 ที่ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกกังวลใจ พร้อม ๆ เริ่มตั้งคำถามขึ้นมาว่า
“การพัฒนาหลักสูตรอันยาวนานนี้ช่วยให้เกิดการสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาได้จริงหรือไม่?
แบบเรียนที่อยู่ในมือเด็กไทยนั้นปลูกฝังแนวคิดที่เข้ากับยุคสมัยจริงหรือเปล่า?”
อาจเป็นเพราะผู้เขียนเองก็เป็นนักเรียนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากแบบเรียนชุด ‘ภาษาเพื่อชีวิต’ ในหลักสูตรฯ ปี พ.ศ.2544 มาก่อน จึงสัมผัสถึงความแตกต่างนี้ได้ในระดับหนึ่ง แบบเรียนในชื่อเดียวกัน แต่เมื่อเปลี่ยนหลักสูตรไป ‘สาระสำคัญ’ ที่บทเรียนสื่อสารออกมาก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน ยอมรับว่าในวัยเด็ก ผู้เขียนเองก็ไม่เอะใจอะไร แต่เมื่อผู้เขียนในวัย 23 ปีได้กลับมาย้อนทวนอ่านหนังสือเรียนเล่มเก่าของตัวเองอีกครั้ง ก็ได้เห็นสิ่งที่หนังสือเรียนต้องการจะสื่อสารกับเรามากขึ้น เห็นความตั้งใจของคณะผู้จัดทำที่พยายามสอดแทรกประเด็นการเรียนรู้ต่าง ๆ เข้ามาอย่างชัดเจนขึ้น และพบว่าแม้เวลาจะผ่านไปร่วมยี่สิบปี หนังสือภาษาพาทีเล่มนี้ก็ยังเผย ‘ความเปิดกว้าง’ ให้เราได้เห็นอยู่ เริ่มตั้งแต่หน้าแรกอย่างเช่น ‘แผ่นรองปก’
— เธอคือใคร: ปรีดา ปัญญาจันทร์
“เธอคือใคร” เป็นคำถามแรกที่เราเห็นหลังจากพลิก “ภาษาพาที” หน้าแรกขึ้นมาอ่าน คำถามนี้ได้นำไปสู่คำถามต่อมาว่า “ฉันคือใคร” ซึ่งเป็นชื่อของบทเรียนบทแรกของหนังสือภาษาพาที ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เห็นได้ชัดว่า บทเรียนนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อให้คำตอบที่ตายตัวกับผู้เรียนว่า “เธอต้องเป็นใคร” เด็ก ๆ สามารถนิยามตัวเองให้เป็นอะไรก็ได้ ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด
อีกหนึ่งความน่าสนใจของแบบเรียนชุดนี้คือวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ ด้วยสถานที่ใหม่อย่างโรงเรียนต้นไม้ ผ่านตัวละครใหม่ อย่าง ขวัญ หล้า ฝน ดิน ครูต้น ครูนก ครูข้าว และลุงไท รวมไปถึงตัวละครที่เป็นนามธรรมอย่าง ‘ตะวัน’ ที่มักแทนตัวว่าฉัน ตะวันถือเป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญของหนังสือเรียนเล่มนี้ ตะวันจะพาผู้เรียนไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนต้นไม้ ตะวันอยู่ในทุก ๆ ที่ คอยอยู่ข้าง ๆ และให้คำแนะนำแก่เด็ก ๆ เสมอ แต่ก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด หรือให้คำตอบที่ชี้นำเด็ก ๆ แต่อย่างใด
“แม้ฉันจะล่วงรู้ ฉันก็จะไม่ตอบ ฉันจะรอให้เธอหาคำตอบเอง”
— ภาษาพาที ระดับประถมศึกษาปีที่ 5, หน้า 44
และเด็ก ๆ ทั้งในและนอกโลกหนังสือก็รับรู้ได้ว่าตะวันอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในแสงแดดยามเช้าที่ส่องประกาย “ยิบ ๆ” หรือ “กรุ่น ๆ” ในสายลม
หนังสือภาษาพาที ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 วรรณคดีลำนำ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และวรรณกรรมปฏิสัมพันธ์ สำหรับช่วงชั้นที่ 1 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3) ขอบคุณรูปภาพจาก ร้านศึกษาภัณฑ์กาฬสินธุ์ และเฟสบุ๊ก หนังสือนิทานไทย-อังกฤษ
แม้จะสวยงามสร้างสรรค์เพียงใด แต่แบบเรียนชุดนี้ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะในเวลาต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรอีก แบบเรียนภาษาพาทีเล่มเก่าของผู้เขียน ก็กลายมาเป็นแบบเรียนภาษาพาทีและวรรณคดีลำนำหลักสูตรฯ ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ ถึงความเหมาะสมของเนื้อหา กรอบความคิด และอุดมการณ์ด้านต่าง ๆ ที่สอดแทรกมาในบทเรียน
จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราจึงอยากชวนทุกคนมาพูดคุยกับศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา ถึงจุดเริ่มต้นของแบบเรียนชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต' ชุดแรกที่เราได้เห็นกันเมื่อราว 20 ปีก่อน ในฐานะที่อาจารย์เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้จัดทำ บรรณาธิการ และเป็นหนึ่งในคณะผู้เรียบเรียงหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต' ด้วย
ภาษาจะพาทีกับเด็ก ๆ ในแง่มุมไหน
เจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำแบบเรียนชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต' แต่เดิมนั้นเป็นอย่างไร
กว่าจะกลายมาเป็น ‘ภาษาพาที’ หลักสูตรฯ พ.ศ. 2544
แบบเรียนที่เคยเขียนอ่าน: แบบเรียน (ในความทรงจำ) ของอาจารย์ชลธิราคือเล่มไหน ?
อาจารย์ชลธิรา เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากประสบการณ์ด้านการสอนและการวิจัยภาษาและวรรณคดีไทย อาจารย์ชลธิรายังเป็นนักมานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านไทย | ไทศึกษา ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาไทศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีผลงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทย” (สำนักพิมพ์ทางอีศาน 2561) ปัจจุบันอาจารย์ชลธิราเป็นนักเขียนนักวิจัยอิสระ และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารทางอีศานด้วย
เมื่อพูดถึง “แบบเรียน” เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า แบบเรียนภาษาไทยที่อาจารย์ชลธิราเคยใช้เป็นอย่างไร อาจารย์บอกกับเราว่า
“การหวนรำลึกถึงแบบเรียนภาษาไทยสมัยเด็ก ๆ คือความสุขอย่างหนึ่ง”
แม้จะผ่านมาราว 60-70 ปีแล้ว อาจารย์ชลธิราในช่วงวัย 73 ปีก็ยังจำแบบเรียนแต่ละเล่มได้แม่นมั่น ไม่ว่าจะเป็น “ดอกสร้อยสุภาษิต ที่ทำให้ได้รู้จักธรรมชาติของ ‘นกกางเขน’ และรู้สึกซาบซึ้งในความรักของพ่อนกแม่นกที่มีต่อลูกนก แล้วย้อนคิดถึงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อเรา” รวมถึงการท่องบทอาขยาน ที่อาจารย์ชลธิราเล่าว่า “ยังจำได้ด้วยว่าตอนอยู่ชั้นประถมปีที่หนึ่ง ตกเย็นก่อนโรงเรียนเลิก คุณครูจะให้ท่องสูตรคูณกับอาขยาน บทที่ยังท่องจำได้ขึ้นใจ คือ ‘เด็กเอ๋ย เด็กน้อย ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา ไว้หาเลี้ยงชีพสำหรับตน…’ กับอีกบทหนึ่งที่ชอบมาก คือ ‘แมวเอ๋ย แมวเหมียว... ร้องเรียกเหมียวเหมียวประเดี๋ยวก็มา เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดูฯ’” ซึ่งอาจารย์คิดว่า การกำหนดให้ท่องบทอาขยานที่มีเนื้อหาเรียบง่ายและให้แนวคิดดี ๆ แบบนี้ มีผลอย่างยิ่งต่อเราในวัยเด็ก “เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างจิตสำนึกอันดี เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความละเอียดอ่อนต่อธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตรอบตัว”
ตัวอย่างหนังสือเรียนดรุณศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - 4 ขอบคุณรูปภาพจาก อัสสัมชัญประวัติ และมิสภาณี ภิญญะพันธ์
“พอโตขึ้นอีกหน่อย ก็ได้อ่านแบบเรียนภาษาไทยจากหนังสือ ‘ดรุณศึกษา’ (อาจารย์ชลเรียนชั้นประถมถึงมัธยมปลายในรั้วคอนแวนต์นะคะ) ก็ยังจำบทอ่านภาษาไทยบางบทได้ขึ้นใจ แม้ไม่ได้มีข้อกำหนดให้ท่องเป็นบทอาขยานตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น
เมืองไทยใหญ่อุดม |
ดินดีสมเป็นนาสวน |
เพื่อนรักเราชักชวน |
ร่วมช่วยกันมุ่งหมั่นทำ |
วิชาต้องหาไว้ |
เป็นหลักได้ใช้ช่วยนำ |
ให้รู้ลู่ทางจำ |
ค้นคว้าไปให้มากมี |
ช่วยกันอย่างขันแข็ง |
ด้วยลำแข้งและแรงกาย |
ทำไปไม่เสียดาย |
แม้อาบเหงื่อเมื่อทำงาน |
ดั่งนี้มั่งมีแท้ |
ร่มเย็นแน่หาไหนปาน |
โลกเขาคงเล่าขาน |
ถิ่นไทยนี้ดีงามเอย |
— หลวงดรุณกิจวิฑูร, แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1, กระทรวงศึกษาธิการ
บทสั้น ๆ คำง่าย ๆ เนื้อความกระชับ แต่เนื้อหากว้างขวาง ครอบคลุมความรักเมืองไทย (ชาติ) รักท้องถิ่นพื้นบ้าน รักเพื่อนและคบเพื่อนดี ๆ รักวิชาความรู้รักการค้นคว้า รักการใช้แรงงาน สิ่งเหล่านี้ฝังจิตฝังใจเราจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้เป็นคนได้ดีจนกระทั่งถึงทุกวันนี้”
จากผู้เรียนเคยเขียนอ่าน สู่คณะกรรมการผู้จัดทำแบบเรียน ชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต'
อาจารย์ชลธิราเล่าว่า ราว ๆ ยี่สิบปีก่อน ขณะเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นผู้บริหารรับผิดชอบสถาบันวิจัยฯ และศูนย์ไทยศึกษาอยู่ อาจารย์ได้รับเชิญให้ไปช่วยราชการสพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ในตำแหน่ง 'รองประธานคณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ' จากประสบการณ์ตรงส่วนนี้ อาจารย์ชลธิราเล่าว่า “คกก.ใช้เวลามากในการตัดสินเรื่องราวปัญหาหนึ่ง ๆ แม้ ‘คำ’ เพียงคำเดียว อาจจะต้องถก อภิปรายร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและนักปราชญ์ราชบัณฑิตอาวุโสด้วยความเคารพเป็นเวลาสองสามชั่วโมง”
อาจารย์ชลธิราช่วยงานในส่วนนี้อยู่หลายปีจนมีความเข้าใจกระบวนการทำงาน ‘แบบกระทรวงศึกษาฯ’ เป็นอย่างดี จากนั้นก็เกิด ‘งานเข้า’ อีกครั้ง เมื่ออาจารย์ชลธิราได้รับการทาบทามให้เป็น“ประธานคณะกรรมการจัดทำแบบเรียนภาษาไทย” เพื่อจัดทำแบบเรียนวิชาภาษาไทยตามข้อกำหนดหลักสูตรใหม่ของ สพฐ.
แม้จะเข็ดหลาบกับการประชุมของคกก.คัดสรรฯ แต่ ‘งานเข้า’ ชิ้นนี้ก็มีความท้าทายมาก เนื่องจากจะต้องจัดทำและจัดพิมพ์แบบเรียนให้ทันเวลา และที่สำคัญก็คือ "ตามข้อกำหนดของหลักสูตรใหม่ มี ‘กุญแจคำ’ (Keyword) ที่แม้จะฟังดูกว้าง ๆ แต่ ‘โดนใจ’ มาก สำหรับยุคสมัยที่เพิ่งเริ่มถ่ายถอนนักเรียนจากระบบการเรียนรู้แบบท่องจำและทำข้อสอบแบบปรนัย มาเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ของยุคนั้น ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ และส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่ง ‘ท้าทาย’ เรามาก” อาจารย์ชลธิราเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ตัดสินใจรับ ‘งานเข้า’ ชิ้นนี้
เมื่อตัดสินใจจะเริ่มทำงานดังกล่าว อาจารย์ชลธิราจึงเสนอเงื่อนไขที่จะรับทำงานชิ้นนี้ต่อท่านผู้รับผิดชอบงานส่วนนี้ของสพฐ. 3 ข้อ คือ
- ขอประกอบองค์คณะกรรมการผู้จัดทำแบบเรียนแต่ละเล่ม แต่ละชั้นเรียน ด้วยตัวเอง (แต่ยังให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความเห็น และมีการรับรู้รับรองร่วมกัน)
- กระบวนการทำงาน ต้องอนุญาตให้มีการลัดขั้นตอนเพื่อแข่งกับเวลา
- ขอให้จัดสรรงบประมาณจัดทำแบบเรียนชุดใหม่นี้ ที่ไม่ใช่ออกมาในรูปของ เบี้ยประชุมคณะกรรมการเป็นรายชั่วโมง
“ปรากฏว่าเงื่อนไขทุกข้อที่เสนอไปได้รับการสนองตอบอย่างดียิ่งจากท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ยังรู้สึกประทับใจจนถึงวันนี้เลยค่ะ” และนี่คือจุดเริ่มต้นของแบบเรียนชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต' หลักสูตรปีฯ พ.ศ.2544
คณะกรรมการชุดใหม่และแบบเรียนที่ไม่อยู่ใน “กรอบ”
อาจารย์ชลธิราเล่าถึงกระบวนการทำจัดทำแบบเรียนชุดนี้ต่อไปว่า “หลังจากร่วมกันเลือก ‘ทีมงาน’ ที่เรามั่นใจว่าเป็นนักเขียน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย วรรณคดีไทย และไทยศึกษาแนว ‘เปิดกว้าง’ มีความคิดวิเคราะห์ รับฟังความเห็น และวิพากษ์วิจารณ์กันได้เต็มที่ (โปรดพิจารณาได้จากรายชื่อคณะกรรมการ[1] ทุกชุดของทุกเล่มได้จากแบบเรียน) คณะผู้จัดทำและตัวอาจารย์ชลธิราในฐานะประธานกรรมการฯ ก็ต้องกางหลักสูตรใหม่ที่เตรียมประกาศใช้มาศึกษาอย่างจริงจัง จากนั้นจึงเริ่มออกแบบ ร่วมกันคิดค้น สร้างสรรค์แบบเรียน รวมทั้งทำบรรณาธิการกิจ (ร่าง) ‘แบบเรียนใหม่’ ชุดนี้ให้สอดคล้องกันไปกับหลักสูตรใหม่ที่กำหนดขึ้น โดยล้อกันไปกับ ‘แผนยุทธศาสตร์ชาติ’ ในขณะนั้นด้วย”
“ในเมื่อคณะทำงานมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดทำแบบเรียนภาษาไทยในแนว ‘ภาษาเพื่อชีวิต” จึงมีการสอดแทรกแนวคิดเชิง ‘อุดมคติ’ ในแนวเพื่อชีวิต เพื่อประชาสังคม เพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงไปในเนื้อหาแบบเรียนและแบบฝึกหัดของทุกชั้นเรียน ทั้งนี้ได้ร่วมกันทำ ‘บรรณาธิการกิจ’ ไปอย่างแนบเนียน ให้ดูกลมกลืน ไม่แข็งขืน ไม่สื่อออกมาแบบจงใจยัดเยียด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะทีมงานของเราต่างมีทัศนคติที่ดีมากต่อการสร้างสรรค์งานชิ้นสำคัญนี้ เราตระหนักดีว่าแบบเรียนภาษาไทยระดับพื้นฐาน (หมายถึงประถมต้น ประถมปลาย และมัธยมต้น) มีความสำคัญยวดยิ่งต่อการสร้างนักเรียนให้เป็นคนสมยุคสมัย โดยมีพื้นฐานทางความคิดอ่าน วิเคราะห์ วิจักษ์ วิจารณ์ รวมทั้งวิพากษ์ จำแนกแยกแยะปัญหาต่าง ๆ ที่เขาเผชิญรอบตัวด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุวุฒิภาวะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านพุทธิปัญญาและอารมณ์ เพื่อที่จะอยู่กับ ‘โลกอนาคต’ ได้ อย่างเป็นสุขตามอัตภาพเมื่อเขาเติบโตไปในภายภาคหน้า”
“โดยภาพรวมแล้ว แบบเรียนภาษาไทยชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต' มุ่งเน้นไปที่การวางรากฐาน ‘ชีวิตและอนาคต’ ของผู้เรียน รายละเอียดเนื้อหาที่สอดแทรกลงไปในแบบเรียน จึงไม่ลอยตัวเหินห่างจากอดีตในส่วนที่งดงามและสร้างสรรค์ และไม่ใช่แนวอนุรักษ์นิยมโดด ๆ ซึ่งนักเขียน หรือผู้แต่งตำราที่ได้รับเชิญให้มาร่วมทีมในครั้งนั้นก็มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะสร้างแบบเรียนที่ริเริ่มสร้างสรรค์ มีลักษณะฉีกจากกรอบเดิม เห็นได้จากแนวคิดที่สะท้อนออกมาในงาน อันมีลักษณะไม่กอด ‘โครงสร้าง’ อย่างตายตัว” ความตั้งใจเหล่านี้ของคณะผู้จัดทำแบบเรียนได้มีการออกแบบอย่างพิถีพิถัน แล้วถ่ายทอดผ่านแบบเรียนชุด ‘ภาษาเพื่อชีวิต’ อย่างชัดเจนตรงเป้าหมาย
[1] สามารถดูรายชื่อคณะกรรมการผู้จัดทำแบบเรียนชุด ‘ภาษาเพื่อชีวิต’ได้ ที่นี่
แบบเรียนใหม่ 2 (+1) เล่ม
ในการจัดทำแบบเรียนภาษาไทย ชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต' ตาม หลักสูตรใหม่ (พ.ศ.2544) นี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากหลักสูตรเดิมในหลายส่วน ประการแรกที่ทำให้แบบเรียนชุดนี้แตกต่างจากแบบเรียนชุดก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัดคือ ในแง่รูปแบบการนำเสนอ มีการแยกส่วนของการใช้ภาษาออกมาจากวรรณคดีอย่างชัดเจน ผ่านแบบเรียน 2 (+1) เล่ม ได้แก่ ภาษาพาที วรรณคดีลำนำ และวรรณกรรมปฏิสัมพันธ์ พร้อมด้วยแบบฝึกหัดอีก 2 เล่ม ได้แก่ ทักษะภาษา และทักษะปฏิสัมพันธ์
ที่ต้องบอกว่าเป็นแบบเรียน 2 (+1) เล่มก็เพราะว่า "แบบเรียนที่บรรจุในหลักสูตรบังคับจะมีแค่ ‘ภาษาพาที’ ‘วรรณคดีลำนำ’ และแบบฝึกหัดควบคู่เล่ม ‘ทักษะภาษา’ เท่านั้น ส่วนแบบเรียน ‘วรรณกรรมปฏิสัมพันธ์’ และแบบฝึกหัดคู่ขนาน คือ ‘ทักษะปฏิสัมพันธ์’ นั้น จะมุ่งส่งเสริมความถนัดด้านปฏิสัมพันธ์สำหรับผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านภาษาเชิงสร้างสรรค์เป็นพิเศษ จึงไม่ได้กำหนดให้เป็นแบบเรียนบังคับสำหรับผู้เรียนทั่วไป"
อาจารย์ชลธิราได้กล่าวถึงจุดประสงค์ในการ “รื้อ-สร้าง” แบบเรียนชุดใหม่นี้ไว้ว่า… “แม้ภาษากับวรรณคดีจะเป็นสิ่งคู่เคียงกันจริง และครูก็ย่อมสอนไปพร้อม ๆ กันได้ (ซึ่งก็เป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร) แต่เจตนาของการออกแบบแยกเล่มก็เพราะต้องการให้แยกเรียน เพื่อลงลึกได้ทั้งในแง่ศาสตร์ของภาษา ในแง่ศิลปะของวรรณคดี และในแง่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน แบบเรียนภาษา และโลกรอบตัว โดยการค้นหา ‘ตัวตน’ จากภายในของตัวนักเรียนเอง ซึ่งแบบเรียนเดิม ๆ ไม่เคยมีสิ่งนี้”
"‘ภาษาพาที’ เพื่อให้ใช้เป็น อ่าน พูด เขียน สื่อสารได้
‘วรรณคดีลำนำ’ เพื่อให้วิจักษ์ วิจารณ์ ซาบซึ้งกับทั้ง คติชน วรรณคดี และวรรณกรรมปัจจุบัน (รู้รักคุณค่าของบทกวีสร้างสรรค์ในอดีต)
ส่วน ‘วรรณกรรมปฏิสัมพันธ์’ เน้นภาคปฏิบัติ (ด้วยตนเอง) นักเรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นตัวของตัวเองในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมความคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และการคิดการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ครูเป็นเพียงพี่เลี้ยง ไม่เข้าไปครอบงำ หรือนำพาทิศทางพัฒนาการของเด็กนักเรียน”
“แต่การใช้งานแบบเรียนก็ขึ้นอยู่กับความสันทัดของครูผู้สอน รูปแบบของตารางสอน และการเอื้อเวลานอกชั้นเรียนเพื่อทำแบบฝึกหัดวรรณกรรมปฏิสัมพันธ์ที่ได้ออกแบบขึ้นใหม่”
แบบเรียนภาษาไทย ชุด 'ภาษาเพื่อชีวิต' จึงประกอบไปด้วยแบบเรียน 2 (+1) ที่ทำไปทำมากลายเป็น 3 (+2) เล่ม โดยมีจุดประสงค์แตกต่างกันไปอย่างที่เราได้เห็นกัน
แบบเรียนที่ดี และภาษาพาทีในลักษณะ “รื้อ - สร้าง”
เมื่อเราสอบถามถึง ‘แบบเรียนที่ดี’ ในความเห็นของอาจารย์ชลธิราว่าเป็นอย่างไร อาจารย์ก็ยกคุณลักษณะของแบบเรียนที่ดีในความเห็น (และในฝัน) ว่าควรเป็นแบบเรียนที่...
- ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เรียนผ่านปฏิสัมพันธ์ทางภาษา วรรณกรรม และสภาพแวดล้อมรอบตัว
- ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความละเอียดอ่อน เห็นงดงามของธรรมชาติ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
- เพื่อให้ผู้เรียนเห็นแง่มุมชีวิตที่งดงามและสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล
- เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในพหุสังคม โดยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง
- สร้างความรับรู้และใส่ใจในเพื่อนมนุษย์ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน รวมถึงการเรียนรู้ที่จะ ‘ไม่ละเมิด’ สิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น
- ยกระดับการใช้ภาษาและวรรณคดีของผู้เรียน นำร่องไปสู่การวิจักษ์ วิเคราะห์ วิจารณ์ และวิพากษ์ตามระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ในมุมของผู้ใช้หนังสือจริง ผู้เขียนเองก็สัมผัสได้ถึงความตั้งใจส่วนนี้ของคณะผู้จัดทำ ส่วนในมุมมองของผู้ร่วมออกแบบ จัดทำ และสร้างแบบเรียนชุดนี้ขึ้นมา อาจารย์ชลธิรากล่าวว่า “คณะผู้จัดทำมีความภาคภูมิใจร่วมกันเป็นอย่างมาก ระหว่างการจัดทำ ในเชิงกระบวนการ ไม่มีปัญหาใด ๆ เลย ทั้งในหมู่คณะกรรมการผู้ร่วมกันจัดทำ (หมายความว่า ไม่มีปัญหาถกเถียงโต้แย้งจนวงแตก หรือมีท่านใดขอปลีกตัวลาออกกลางคัน หรือประธานฯ ท้อใจ กลัดกลุ้ม) ยอมรับว่าเป็นงานหนักหน่วงแสนสาหัส เพราะมีลักษณะ ‘รื้อ - สร้าง’ จากแบบแผนของแบบเรียนเดิมค่อนข้างมาก เรียกได้ว่า ‘แหกคอก’ พอสมควร แต่ก็ร่วมจิตร่วมใจกันทำจนบรรลุได้แม้มีระยะเวลาอันจำกัด”
นอกจากนี้ ลักษณะ ‘รื้อ - สร้าง’ ที่อาจารย์ชลธิรากล่าวถึง ยังปรากฏในแบบเรียน ‘ภาษาพาที’ ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น การศึกษาวรรณคดีไทยเชิงวิพากษ์ ที่ปรากฎในบทที่ 10 “ปริศนาโพธิ์สามต้น”ตัวบทเรียนมีการนำเรื่องราวจากวรรณคดีไทยเรื่อง ‘ขุนช้าง ขุนแผน’ มาให้เด็ก ๆ ขบคิด ตั้งคำถาม ตีความ รวมถึงพิจารณาเรื่องเดียวกันผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งมีลักษณะ ‘รื้อ - สร้าง’ แตกต่างจากแบบเรียนในยุคก่อนหน้าค่อนข้างมาก ทั้งยังชวนเด็ก ๆ ให้คิดต่อยอดไปถึงประเด็นอื่น ๆ นำไปสู่การอภิปรายเรื่องความเชื่อในสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของคณะผู้จัดทำ ที่อยากเห็นอนาคตของชาติ “มีความเป็นตัวของตัวเอง ช่างคิด ช่างสงสัย ช่างค้นคว้า รู้จักสืบค้นหาสัจธรรมด้วยตนเอง โดยใช้เหตุใช้ผล สามารถสลัดตัวเองให้พ้นจากกรอบความคิดอนุรักษ์นิยมที่คับแคบ ก้าวข้ามจารีตประเพณีและความเชื่อที่งมงายล้าหลังได้โดยยังคงรู้จัก รัก ชื่นชม วัฒนธรรมไทยและความเป็นไทยในส่วนที่งดงาม ที่สำคัญคือ รักความเป็นธรรม รักเพื่อนมนุษย์ รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”กว่าแบบเรียนเล่มนี้จะสำเร็จลุล่วงได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย “ทั้งนี้ ต้องขอแสดงความชื่นชมต่อทีมงานกรรมการในส่วนของเลขานุการ ซึ่งเป็นตัวแทนของสพฐ. (สถาบันภาษาไทย) ในสมัยนั้นด้วย เราไม่ทราบว่าท่านต้อง ‘ทำการบ้านกับผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ’ มากน้อยเพียงใด เพราะท่านมีวินัยข้าราชการดีมาก ไม่มีเสียงปริปากบ่นจากท่านเลย” อาจารย์ชลธิรากล่าว
เพดานการเรียนรู้ใหม่ และแบบเรียนที่ยากเกินไปสำหรับผู้ใช้จริง

สิ่งที่เราไม่เคยได้เห็นในแบบเรียนของหลักสูตรก่อน ๆ ก็ได้เห็นในแบบเรียนภาษาไทย ชุด “ภาษาเพื่อชีวิต” หลักสูตรฯ ปี พ.ศ.2544 ไม่ว่าจะเป็นคำถามปลายเปิดต่าง ๆ แนวคิดอันเปิดกว้างและไม่จำกัดกรอบความคิดของผู้เรียน หรือจะเป็นการยกตัวอย่างภาพสะท้อนสังคมเมืองในไทยผ่านบทกวีมากสัญญะอย่าง ‘กล่อมตุ๊กตา’ (จาก ‘นครคับแคบ’ ของศิวกานท์ ปทุมสูติ) เพื่อให้ผู้เรียนฝึกแปลความหมายจากสัญญะในภาษา พร้อม ๆ ไปกับการตระหนักรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ ในสังคม หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยในไทย ในบทอ่านเสริมเรื่อง ‘ไร่หมุนเวียนของชาวปกากะญอ’ ประเด็นที่แทบไม่มีใครเคยพูดถึงในยุคนั้น ก็ยังปรากฎให้เห็นในแบบเรียนเล่มนี้
ดูแล้วเนื้อหาเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ ‘หนัก’ และบางเรื่องก็ยังเป็นปัญหาที่ยังเกิดขึ้นอยู่จริงในสังคมไทย ซึ่งอาจารย์ชลธิราได้กล่าวถึงการสอดแทรกประเด็นเหล่านี้ลงไปในหนังสือเรียนว่า “ขณะสร้างงาน ออกแบบ จัดทำและจัดพิมพ์ คิดว่าแม้จะเป็นประเด็นใหม่ เปิดขอบฟ้าใหม่ และขยายเพดานการเรียนรู้และความรับรู้ให้สูงขึ้น ซึ่งอาจจะหนักหากเทียบกับที่เคยมีอยู่เดิม แต่คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกอบสร้างพื้นฐานชีวิตสำหรับ “ตัวตน” เด็กรุ่นใหม่ คือ รักอดีต แต่ไม่หวนไห้โหยหาอดีต มุ่งสู่อนาคต โลกข้างหน้า สารสนเทศ (IT) และถนนไซเบอร์ เราคิดว่า เด็กเรียนรู้ได้ไว รับได้แน่นอน”
“แต่สิ่งที่เราคาดไม่ถึง… หมายถึงตัวประธานฯ เอง มารับทราบจากทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยสพฐ. ว่าให้ยกเลิกการใช้แบบเรียนชุดนี้ เพราะมีเสียงสะท้อนจากครูผู้สอน ผู้ใช้แบบเรียนชุดนี้ว่า ‘ยากเกินไป’”
แบบเรียนที่เปลี่ยนไป และการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ (อีกครั้ง)

จากหลักสูตรฯ พ.ศ.2533 พัฒนามาเป็นหลักสูตรฯ พ.ศ.2544 และด้วยปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ ทำให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรใหม่อีกครั้งจนกลายมาเป็นหลักสูตรฯ ปี พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรปัจจุบันที่โรงเรียนใช้อยู่ เห็นได้ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงด้านหลักสูตรในวงการการศึกษานั้นเกิดขึ้นตลอดจนเป็นเรื่องปกติ แบบเรียนหลายกลุ่มสาระต้องปรับปรุงให้มีเนื้อหาที่ตรงตามหลักสูตรใหม่นี้อยู่เสมอ รวมถึงแบบเรียนภาษาไทยด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงสะท้อนเหล่านี้เกิดขึ้น ทำให้แบบเรียนในหลักสูตรใหม่นี้มีความแตกต่างจากหลักสูตรเดิมในหลาย ๆ ด้าน
“ที่ถามว่าแบบเรียนสมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไรนั้น คงจะให้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ เพราะแต่ละวิชาและแต่ละสาระการเรียนรู้มีจุดประสงค์ที่ต่างกัน และในช่วงหลัง ๆ มานี้ก็มีแบบเรียนทั้งของรัฐและเอกชน แต่มีข้อสังเกตว่า เมื่อมีข้อกำหนดจากหลักสูตรของทางการ ซึ่งมักจะมีการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างความคิดและวิธีการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยผ่านแบบเรียน จำเป็นต้อง “ติดกรอบ” เมื่อมีการครอบลงมาของกลไกของโครงสร้างรัฐชาตินิยมที่คับแคบ ความเป็นธรรมดาและความเป็นธรรมชาติก็ดูเหมือนว่าจะจางหายไป อ่านแล้วรู้สึกอึดอัดแทนเด็ก ๆ เหมือนถูกยัดเยียดแทนการค่อย ๆ ซึมซับ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง การปรับตัวของแบบเรียนจึงจำเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจารย์ชลธิราได้ให้ความเห็นไว้ว่า “โลกทัศน์และชีวทัศน์ของนักเรียนใน พ.ศ.ปัจจุบัน (2563) นั้นไปไกลกว่าตัวอย่างที่เห็นในบทเรียนมาก ในภาพรวมแล้ว แบบเรียนจึงควรมีลักษณะเปิดกว้าง ให้แนวทางนักเรียนในการเรียนรู้จากสื่อสารสนเทศ อย่างจำแนกแยกแยะได้ ว่าส่วนไหนเป็นขุมทรัพย์ของวิทยาการ กองไหนเป็นขยะไซเบอร์ หนังสือเรียน อาจย่อส่วนลงเพียงเป็น ‘คู่มือนักเรียน’ ในกระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนออกแบบ สร้างโจทย์ ขบโจทย์ได้ ทั้งโดยปัจเจก และกระบวนการมีส่วนร่วมกับสังคม” เพราะโลกแห่งการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในยุคปัจจุบันอาจไม่ได้อยู่แค่ในแบบเรียนอีกต่อไปแล้ว ดังบทกวีในหนังสือ ‘ภาษาพาที’ ที่ว่า...
“อยู่นอกหนังสือ หรือในหนังสือ แค่อ่านหนังสือ ไม่พอใช่ไหม
ประสบการณ์ตรง ประสบพบจริง จะเผยความจริง ยิ่งกว่าความเข้าใจ”
— ภาษาพาที ระดับประถมศึกษาปีที่ 5, หน้า 76
หลังจากร่วมรับฟังเรื่องราวการร่วมสร้างแบบเรียนภาษาไทยของอาจารย์ชลธิรา ก็มีหลากหลายความรู้สึกเกิดขึ้นในใจของเรา แต่อย่างน้อย ๆ จากร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงอันยาวนานนี้ก็ทำให้เราอุ่นใจขึ้นได้ว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมีแบบเรียนที่เปิดกว้างทางความคิด มีคณะกรรมการและคณะผู้จัดทำที่พยายามผลักดันเพดานการเรียนรู้ของเด็กไทยให้สูงขึ้นด้วยเจตนาและความมุ่งมั่นอันดี แม้แบบเรียนชุดนี้จะถูกยกเลิกใช้ไป และการโหยหาอดีตก็ไม่ใช่หนทางที่ดีนัก ดังที่อาจารย์ชลธิรากล่าวกับเราว่า
“โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่ว่าใครจะทำอะไรในยุคสมัยปัจจุบัน ก็ไม่ควร ‘ผลิตซ้ำ’ ของเก่า ต้อง ‘รื้อสร้าง’ และ ‘ผลิตสร้างใหม่’ เพราะอย่างน้อยที่สุด ‘สิ่งที่เคยพูดไม่ได้ ก็ต้องพูดกันได้ ถกกันได้’ ในแบบเรียนยุคใหม่”
กระนั้นเรายังมีความหวังว่าในการปรับปรุงหลักสูตรฯ ครั้งหน้า เราจะได้เห็นแบบเรียนใหม่ ๆ ที่ ‘เปิดกว้าง’ สมยุคสมัย พร้อมโอบรับความหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงจากระลอกคลื่นแห่งอนาคตในทุกรูปแบบ
ขอขอบพระคุณศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา ในการเอื้อเฟื้อข้อมูล
และผลงานภาพประกอบหนังสือเรียนภาษาพาที ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยคุณปรีดา ปัญญาจันทร์
Reference:
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, 2550