ไม่ว่าจะเป็นคุณครู คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้หลักผู้ใหญ่คนไหน ต่างก็พยายามสอนให้เด็ก ๆ เป็นคนดี แต่เพื่อน ๆ เคยสับสนบ้างไหม ว่าคนดีต้องเป็นคนแบบไหน แล้วถ้าถูกบอกเลิกเพราะเป็นคนดีเกินไป จนเธอไม่สนใจ ต้องทำยังไงดีนะ (เรื่องความรักไม่มีในบทเรียนนะ เพื่อน ๆ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตัวเอง !) เรามาเรียนรู้เรื่อง “มงคล” ที่มีถึง ๓๘ ประการ ในบทเรียนออนไลน์เรื่อง มงคลสูตรคำฉันท์ ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ กัน
อย่าสับสน ! กับที่มาของมงคลสูตรคำฉันท์
เรื่องเริ่มต้นที่มงคล ๓๘ ประการก่อน...
หากจะเกริ่นกันไปยาว ๆ คงต้องพูดกันตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่กันเลยล่ะ โดยเรื่องเริ่มจากเหล่าเทวดาบนสวรรค์ ต่างถกเถียงกันเป็นระยะเวลายาวนานว่า “มงคล” คืออะไรกันแน่ แน่นอนว่าต่างคนก็ย่อมมีความเชื่อที่แตกต่างก่อให้เกิดลัทธิมงคลมากมาย เพื่อหาบทสรุปที่ชี้ชัดฟันธงที่สุด “พระอินทร์” จึงส่งเทวดาองค์หนึ่งมาทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ตรัสเล่าถึงมงคล ๓๘ ประการ เพื่อให้เทวดาองค์นั้นได้ทำไปเผยแผ่ต่อไป นับตั้งแต่นั้นมา เหล่าเทวดาก็เลิกทะเลาะเบาะแว้ง และทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติสุขอีกครั้ง
แล้วพระพุทธเจ้าไปเอามงคล ๓๘ ประการมาจากไหน ทรงด้นสดตอนเทวดามาถามหรือแอบคิดไว้แล้วกันแน่ งั้นเราขอแนะนำตัวมงคล ๓๘ ประการกันก่อน
มงคล ๓๘ ประการมีชื่อเต็มว่า อุดมมงคล ๓๘ ประการ เป็นส่วนหนึ่งของมงคลสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญบทหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก เรียงลำดับตามแผนภาพด้านล่างนี้เลย
สอนแค่เทวดายังไม่พอ...พระพุทธเจ้ายังได้เล่าเรื่องมงคล ๓๘ ประการให้พระอานนท์ฟังอีกครั้ง เพื่อให้พระอานนท์นำไปเผยแผ่กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ซึ่งต่างก็สืบทอดคำสอนนี้มาจวบจนปัจจุบัน
พูดเรื่องมงคล ๓๘ ประการจบแล้ว มาต่อด้วยมงคลสูตรคำฉันท์กันเลย โดยมงคลสูตรคำฉันท์ก็คือมงคล ๓๘ ประการที่พระพุทธเจ้านำมาแสดงเป็นคาถาภาษาบาลีจำนวน ๑๐ คาถา โดยแต่ละคาถาประกอบไปด้วยมงคล ๓-๕ ประการ (นึกภาพเรามีตัวต่อจำนวน ๓๘ ชิ้นที่เราใส่ไว้ในกล่องเดียวกัน จากนั้นนำมาแยกเป็น 10 กลุ่มย่อย กลุ่มละ ๓-๕ ชิ้น) แต่เพิ่มคาถาสรุปอีก 1 คาถา รวมเป็น ๑๑ คาถา
ดังนั้น มงคลสูตรคำฉันท์ ≠ มงคล ๓๘ ประการ นะ ตรงนี้เพื่อน ๆ ต้องจำให้ดี ๆ
หลังจากนั้นรัชกาลที่ ๖ ก็ได้นำมงคลสูตรคำฉันท์จากพระไตรปิฏกมาตั้ง และแปลถอดความอย่างตรงตัวเป็นบทร้อยกรองไทย
ผู้แต่ง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ลักษณะคำประพันธ์
กาพย์ฉบัง ๑๖ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ โดยเพื่อน ๆ สามารถคลิกดูรูปแบบของกาพย์ฉบัง ๑๖ ได้ที่ บทเรียนออนไลน์เรื่อง บทพากย์เอราวัณ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิชาภาษาไทย
ส่วนอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ โดยบทหนึ่งมี ๒ บาท บาทแรกเรียก บาทเอกและบาทที่สองเรียก บาทโท แต่ละบาทมี ๒ วรรค วรรคแรกมี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ รวมเป็น ๑๑ คำเช่นเดียวกับกาพย์ยานี ๑๑ (ระวังสับสนนะ !) แต่มีการบังคับครุ-ลหุ ตามแผนผังด้านล่าง
ส่วนสัมผัสบังคับมี ๓ แห่ง คือ
๑. คำสุดท้ายของวรรคแรกในบาทเอก สัมผัสกับคำที่ ๓ ในวรรคหลังของบาทเอก
๒. คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทเอก สัมผัสกับคำสุดท้ายในวรรคแรกของบาทโท
๓. คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทโทสัมผัสกับคำสุดท้ายในวรรคหลังของบาทเอก ของฉันท์บทต่อไป
แปลมงคลสูตรคำฉันท์กับ StartDee
คาถาบทที่ ๑
ภาษาบาลี
อเสวนา จ พาลานํ |
ปณฺ ฑิตานญฺจ เสวนา |
ปูชา จ ปูชะนียานํ |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
หนึ่งคือ บ่คบพาล เพราะจะพาประพฤติผิด |
๑. ไม่คบคนพาล |
|
หนึ่งคบกะบัณฑิต เพราะจะพาประสบผล |
๒. คบบัณฑิต |
|
หนึ่งกราบและบูชา อภิปูชนีย์ชน |
๓. บูชาผู้ที่ควรบูชา |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คำศัพท์สำคัญ
อดิเรก หมายถึง พิเศษ
ปูชนีย-, ปูชนียะ หมายถึง น่าบูชา
คาถาบทที่ ๒
ภาษาบาลี
ปฏิรูปเทสวาโส จ |
ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา |
อตฺตสมฺมาปณิธิ จ |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
ความอยู่ประเทศซึ่ง เหมาะและควรจะสุขี |
๔. อยู่ในสถานที่อันสมควร |
|
อีกบุญญะการที่ ณ อดีตะมาดล |
๕. เป็นผู้ทำบุญไว้ในกาลก่อน |
|
อีกหมั่นประพฤติควร ณ สภาวะแห่งตน |
๖. ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คาถาบทที่ ๓
ภาษาบาลี
พาหุสจฺจญฺจ สิปฺปญฺจ |
วินโย จ สุสิกฺขิโต |
สุภาสิตา จ ยา วาจา |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
ความได้สดับมาก และกำหนดสุวาที |
๗. เป็นผู้ฟังมาก |
|
อีกศิลปะศาสตร์มี จะประกอบมนุญการ |
๘. ชำนาญวิชาชีพ |
|
อีกหนึ่งวินัยอัน นรเรียนและเชี่ยวชาญ |
๙. มีระเบียบวินัย |
|
อีกคำเพราะบรรสาน ฤดิแห่งประชาชน |
๑๐. รู้จักใช้คำพูดที่ดีกับผู้อื่น |
|
ทั้งสี่ประการล้วน จะประสิทธิ์มนุญผล |
ทั้ง ๔ ข้อนี้จะทำให้เกิดผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพอใจ |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คำศัพท์สำคัญ
มนุญ หมายถึง ความพอใจ
บรรสาน หมายถึง ประสาน
คาถาบทที่ ๔
ภาษาบาลี
มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ |
ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห |
อนากุลา จ กมฺมนฺตา |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
บำรุงบิดามา - ตุระด้วยหทัยปรีย์ |
๑๑. บำรุงบิดามารดา |
|
หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน |
๑๒. สงเคราะห์บุตร |
|
การงานกระทำไป บ่ มิยุ่งและสับสน |
๑๔. ทำการงานไม่คั่งค้าง |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คำศัพท์สำคัญ
ปรีย์ หมายถึง ที่รัก
คาถาบทที่ ๕
ภาษาบาลี
ทานญฺจ ธมฺมจริยา จ |
ญาตกานญฺจ สงฺคโห |
อนวชฺชานิ กมฺมานิ |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
ให้ทาน ณ กาลควร และประพฤติ์สุธรรมศรี |
๑๕. ให้ทาน ๑๖. ประพฤติธรรม |
|
อีกสงเคราะห์ญาติที่ ปฏิบัติบำเรอตน |
๑๗. สงเคราะห์ญาติ |
|
กอบกรรมะอันไร้ ทุษะกลั้วและมัวมล |
๑๘. ประกอบการงานที่ไม่มีโทษ |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คำศัพท์สำคัญ
บำเรอ หมายถึง รับใช้
คาถาบทที่ ๖
ภาษาบาลี
อารตี วิรตี ปาปา |
มชฺชปานา จ สญฺญโม |
อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
ความงดประพฤติบาป อกุศล บ่ ให้มี |
๑๙. งดเว้นจากบาป |
|
สำรวมวรินทรีย์ และสุรา บ่ เมามล |
๒๐. งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา |
|
ความไม่ประมาทใน พหุธรรมะโกศล |
๒๑. ไม่ประมาทในธรรม |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คาถาบทที่ ๗
ภาษาบาลี
คารโว จ นิวาโต จ |
สนฺตุฏฺฐี จ กตญฺญุตา |
กาเลน ธมฺมสฺสวนํ |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
เคารพ ณ ผู้ควร จะประณตและนอบศีร์ |
๒๒. มีความเคารพผู้อื่น |
|
อีกหนึ่งมิได้มี จะกระด้างและจองหอง |
๒๓. นอบน้อมถ่อมตน |
|
ยินดี ณ ของตน บ่ มิโลภทะยานปอง |
๒๔. รู้จักอยู่อย่างสันโดษ ไม่ละโมบทะเยอทะยาน |
|
อีกรู้คุณาของ นรผู้ประคองตน |
๒๕. มีความกตัญญู |
|
ฟังธรรมะโดยกา - ละเจริญคุณานนท์ |
๒๖. ฟังธรรมะเมื่อมีโอกาส |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คาถาบทที่ ๘
ภาษาบาลี
ขนฺตี จ โสวจสฺสตา |
สมณานญฺจ ทสฺสนํ |
กาเลน ธมฺมสากจฺฉา |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
มีจิตตะอดทน และสถิต ณ ขันตี |
๒๗. มีความอดทน |
|
อีกหนึ่งบ่พึงมี ฤดิดื้อทะนงหาญ |
๒๘. เป็นคนว่าง่าย |
|
หนึ่งเห็นคณาเลิศ สมณาวราจารย์ |
๒๙. ประพฤติตนตามอย่างครูบาอาจารย์ |
|
กล่าวธรรมะโดยกาล วรกิจจะโกศล |
๓๐. สนทนาธรรมตามกาล |
|
ทั้งสี่ประการล้วน จะประสิทธิ์มนุญผล |
ทั้ง ๔ ข้อนี้จะทำให้เกิดผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพอใจ |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คาถาบทที่ ๙
ภาษาบาลี
ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺ จ |
อริยสจฺจานทสฺสนํ |
นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
เพียรเผากิเลศล้าง มละโทษะยายี |
๓๑. บำเพ็ญตบะ |
|
อีกหนึ่งประพฤติดี ดุจะพรหมพิสุทธิ์สรรพ์ |
๓๒. ประพฤติตัวอยู่ในศีลในธรรมและละเว้นสิ่งที่ไม่ดี |
|
เห็นแจ้ง ณ สี่องค์ พระอรียสัจอัน |
๓๓. เห็นอริยสัจ |
|
อาจนำมนุษย์ผัน ติระข้ามทะเลวน |
๓๔. รู้วิธีปฎิบัติตนให้ไปถึงนิพพาน |
|
อีกทำพระนิพพา - นะประจักษ์แก่ตน |
||
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คาถาบทที่ ๑๐
ภาษาบาลี
ผฺฎฐสฺส โลกธมฺเมหิ |
จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ |
อโสกํ วิรชํ |
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ |
คำแปลภาษาไทย
มงคลสูตรคำฉันท์ |
มงคล ๓๘ ประการ |
|
จิตใครมิได้ต้อง วรโลกะธรรมศรี |
๓๕. จิตไม่หวั่นไหว |
|
แล้วย่อม บ่ พึงมี จะประหวั่นฤกังวล |
๓๖. จิตไม่เศร้าโศก |
|
ไร้โศกธุลีสูญ และสบาย บ่ มัวมล |
๓๗. มีจิตปราศจากธุลี ๓๘. มีจิตเกษม |
|
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี |
สิ่งพิเศษที่นำมาซึ่งความเจริญบริบูรณ์ |
คาถาบทที่ ๑๑
ภาษาบาลี
เอตาทิสานิ กตฺวาน |
สพฺพตฺถมปราชิตา |
สพฺพตฺถ โสตฺถิํ คจฺฉนฺติ |
ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ |
ภาษาไทย
เทวามนุษย์ทำ |
วรมงคลานี้ |
เป็นผู้ประเสริฐที่ |
บ่มิแพ้ ณ แห่งหน |
ย่อมถึงสวัสดี |
สิริทุกประการดล |
ข้อนี้แหละมงคล |
อดิเรกอุดมดี |
คำแปล
ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ทั่วไป ถ้าประพฤติตนตามมงคล ๓๘ ประการนี้ ก็จะกลายเป็นผู้ที่มีความประเสริฐ ประสบกับความสุขและความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนา
เป็นยังไงบ้างเพื่อน ๆ ตอนนี้เราก็ได้ลองเปรียบเทียบคาถาทั้งในแบบภาษาไทยและคำแปลดูแล้ว หวังว่าเพื่อน ๆ จะเข้าใจมากขึ้น และทำข้อสอบได้แบบฉลุย ส่วนใครอยากเรียนวิชาอื่นเพิ่มเติม ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาใช้ได้เลย
นอกจากบทเรียนออนไลน์เรื่องนี้แล้ว ยังมีบทเรียนวิชาภาษาไทยของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เพียบเลยนะ ทั้งการแต่งคําประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ และทุกข์ของชาวนาในบทกวี มาตะลุยอ่านกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: สันติพงศ์ เร่งประเสริฐ