บทเรียนกับ StartDee วันนี้กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในมาดนักการทูต เพราะบทเรียนของเราวันนี้เป็นเรื่อง ‘ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ’ นั่นเอง! เพื่อน ๆ ที่งุนงงสับสนเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น APEC, AFTA, WTO วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจให้เพื่อน ๆ ว่าแต่ละองค์กรข้อตกลงนั้นมีที่มาอย่างไร มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ไปดูกันเลย นอกจากนั้น เพื่อน ๆ ยังสามารถเรียนเรื่องนี้กันได้แบบเต็ม ๆ ที่แอปพลิเคชัน StartDee ด้วยนะ รีบโหลดเร็ว !
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบต่าง ๆ
AFTA
เปิดตัวด้วยตัว A แรกอย่างอาฟตา อาฟตาหรือเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA: ASEAN Free Trade Area) เป็นข้อตกลงทางการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยข้อเสนอของ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เนื่องจากเป็นข้อตกลงทางการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน สมาชิกของอาฟตาจึงประกอบไปด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมา บรูไน ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
วัตถุประสงค์ของ AFTA
- เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก
- ส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน
- ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรและลดข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น มาตรการ กฎหรือข้อบังคับทางการค้าต่าง ๆ
- กำหนดให้สิทธิประโยชน์ระหว่างประเทศสมาชิกแบบต่างตอบแทน
ผลจากการเป็นสมาชิก AFTA
- การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
- ไทยได้ดุลการค้ากับอาเซียนในภาพรวม
- นำเข้าวัตถุดิบได้ถูกลง ลดต้นทุนการผลิต
APEC
APEC คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation เอเปกเป็นข้อเสนอของนายบ๊อบ ฮอว์ก (Bob Hawke) อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เอเปกก่อตั้งในปี พ.ศ. 2532 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกันประมาณ 2,500 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก
วัตถุประสงค์ของ APEC
- ปรึกษาหารือหรือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
- ส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างเสรีและขจัดอุปสรรคทางด้านการค้า
ผลจากการเป็นสมาชิก APEC
- ประเทศไทยมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยมีตลาดใหญ่ขึ้น (การค้าระหว่างประเทศของไทยกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ค้าขายกับกลุ่มเอเปก)
WTO
WTO คือองค์การการค้าโลก ย่อมาจาก World Trade Organization จัดตั้งขึ้นตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือแกตต์ (GATT: General Agreement on Tariffs and Trade) จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 ปัจจุบัน WTO มีสมาชิกรวมกว่า 164 ประเทศ
วัตถุประสงค์ของ WTO
- บริหารข้อตกลงที่เป็นผลจากการเจรจาและดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ๆ
- เป็นเวทีเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าและแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิก
- ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปในแนวการค้าเสรี
- ให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลแก่ประเทศกำลังพัฒนา
- ประสานงานกับ IMF (International Monetary Fund หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) และธนาคารโลก
ผลจากการเป็นสมาชิก WTO
- สินค้าสำคัญของไทยถูกกีดกันทางการค้าน้อยลง โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร อาหารแปรรูป สิ่งทอ และเสื้อผ้า
- การคิดอัตราภาษีนำเข้าแต่ละประเทศเป็นระบบเดียวกัน
- ประเทศไทยเปิดเสรีทางการค้าให้กับประเทศอื่น
- ไทยต้องปรับปรุงมาตรฐานการผลิตสินค้าให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น เช่น ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมีเจือปน ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
จะเห็นว่าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแต่ละส่วนนั้นมีความแตกต่างกันในแง่ของประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งประเทศสมาชิกเหล่านี้ก็มักจะเป็นคู่ค้ากับประเทศของเราด้วย AFTA จะเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ APEC ก็จะใหญ่ขึ้นมาเป็นระดับเอเชีย-แปซิฟิก และ WTO ที่เป็นความร่วมมือระดับโลก แต่อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือเหล่านี้ก็ช่วยให้การค้าและการส่งออกของแต่ละประเทศสะดวกและเป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยเราได้สรุปความแตกต่างของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้ง 3 มาให้เพื่อน ๆ ดูตามตารางด้านล่างนี้เลย
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ | AFTA | APEC | WTO |
ตราสัญลักษณ์ | ![]() |
![]() |
![]() |
ชื่อเต็ม | ASEAN Free Trade Area | Asia Pacific Economic Cooperation | World Trade Organization |
ชื่อไทย | เขตการค้าเสรีอาเซียน | ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก | องค์การการค้าโลก |
ปีที่ก่อตั้ง | พ.ศ. 2535 | พ.ศ. 2532 | พ.ศ. 2538 |
สมาชิก | 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน | 21 เขตเศรษฐกิจ | 164 ประเทศ |
หวังว่าบทเรียนจาก StartDee ในวันนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ หายสับสนเกี่ยวกับความแตกต่างของ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น APEC, AFTA หรือ WTO ส่วนเพื่อน ๆ คนไหนที่สนใจเรื่ององค์กรระหว่างประเทศด้วยก็สามารถตามไปอ่านบทความ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วิชาสังคมศึกษา เรื่อง องค์การระหว่างประเทศ (UN, ASEAN) ได้เลย! ส่วนใครอยากเรียนสังคมศึกษากันต่อ คลิก บทความออนไลน์มรดกของอารยธรรมกรีกโบราณ 1