มรดกของอารยธรรมกรีกโบราณ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 วิชาประวัติศาสตร์สากล

Graphic-03 (1)

‘ประชาธิปไตย

 ปรัชญา

 กีฬาโอลิมปิก’

เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ คงคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้กันดี แต่รู้ไหมว่าจุดร่วมของ 3 คำนี้คืออะไร? ติ๊กตอก ๆ คำตอบก็คือสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกจากอารยธรรมกรีกทั้งนั้นเลย อารยธรรมกรีกเป็นหนึ่งในอารยธรรมโบราณที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และวัฒนธรรมไว้ให้เรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านปรัชญา ศาสนาและความเชื่อ สถาปัตยกรรม และวรรณกรรม ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้เป็นรากฐานให้แก่อารยธรรมตะวันตกมาอย่างยาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่าอารยธรรมกรีกโบราณเป็นจุดตั้งต้นที่แท้จริงของอารยธรรมตะวันตกเลยทีเดียว แต่มรดกอารยธรรมกรีกยังมีรายละเอียดสนุก ๆ อีกมากมาย ในวันนี้เราเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับมรดกอารยธรรมกรีกให้มากขึ้น ส่วนใครอยากเรียนแบบวิดีโอ คลิกดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ได้เลยที่แบนเนอร์ด้านล่าง

Banner-Orange-Noey

 

'การศึกษา ปรัชญา ประชาธิปไตย' มรดกอันยิ่งใหญ่จากเอเธนส์

ปรัชญาคือหัวใจของอารยธรรมกรีก โดยศูนย์กลางความเจริญด้านปรัชญาในยุคกรีกโบราณนั้นคือนครรัฐเอเธนส์ วัฒนธรรมกรีกให้ความสำคัญกับการศึกษามาก เด็กผู้ชายอายุ 7-18 ปี จะต้องศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ จริยศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ศิลปะการพูด พลศึกษา ดนตรี และอื่น ๆ 

นอกจากให้เด็กชายได้รับการศึกษาในด้านต่าง  ๆ แล้ว ความเจริญด้านการศึกษาของอารยธรรมกรีกยังรวมถึงการก่อตั้งสถาบันการศึกษาของเพลโตที่เรียกว่า Academy (ซึ่งในภายหลังได้พัฒนามาเป็นคำว่า Academic และ Academia หรือโลกวิชาการที่เรารู้จักในปัจจุบัน) อะคาเดมีได้สอนแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาด้านอื่น ๆ เช่น ธรรมชาติ วิธีคิดของมนุษย์ สร้างรากฐานของการเรียนรู้อย่างเป็นระบบในสังคมตะวันตก และเป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน วัฒนธรรมกรีกยังสอนให้ทุกคนเริ่มรู้จักการตั้งคำถาม การยกข้อเสนอ (Argument) การใช้ตรรกะและเหตุผล ซึ่งยังคงเป็นกระบวนการสำคัญของการศึกษาในปัจจุบัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีนักปรัชญากรีกเกิดขึ้นมากมายในยุคนั้น เช่น ‘ธาเลส แห่งไมเลตุส’ นักปรัชญาคนแรกในประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นสามนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอารยธรรมกรีกโบราณ ได้แก่ โสเครติส เพลโต และอริสโตเติล

Graphic-04 (1)

นอกจากด้านปรัชญา อารยธรรมกรีกยังสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ไว้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านคณิตศาสตร์อย่าง ทฤษฎีบทพิธาโกรัส (Pythagorean theorem) เรขาคณิต (Geometry) ตรรกศาสตร์ (Logic) และการใช้เหตุผล (Reasoning) อีกทั้งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การทหาร การแบ่งบทบาทและหน้าที่ของพลเมืองที่เน้นให้ผู้ชายเป็นนักคิด สิ่งเหล่านี้ก็มีมานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว

และอีกหนึ่งมรดกที่สำคัญของอารยธรรมกรีกก็คือ ‘ประชาธิปไตย’ แห่งเอเธนส์นั่นเอง ในขณะที่เมืองอื่น ๆ อย่างสปาร์ตามีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร เอเธนส์ก็มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราชแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามหน้าตาของประชาธิปไตยของเอเธนส์ก็ไม่เหมือนปัจจุบันสักเท่าไหร่ เนื่องจากประชาธิปไตยในเอเธนส์เป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง พลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารปกครองบ้านเมืองโดยไม่ต้องผ่านผู้แทน และทุกคนต้องมาร่วมประชุมในทุก ๆ 10 วัน แต่ ‘พลเมือง’ ของชาวเอเธนส์ในที่นี้หมายถึงพลเมืองชายที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงประชาชนทุกคนแบบในปัจจุบัน นอกจากนี้ในสภาประชาชนยังมีการลงมติโดยเคารพเสียงส่วนมาก มีคณะบริหารที่มาจากการจับฉลาก ซึ่งจะมีวาระในตำแหน่ง 1 ปี

นอกจากการประชุมด้านการพิจารณาการเก็บภาษี การออกกฎหมาย การเข้าสู่สงคราม การก่อสร้างอาคารใหม่และการเกษตรแล้ว สภาประชาชนยังมีอำนาจในการเนรเทศบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางการเมืองออกจากนครรัฐ ที่เรียกว่าออสตราซิสม์ (Ostracism) ด้วย สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามนุษย์พยายามค้นหาวิธีการปกครองที่มีประสิทธิภาพมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยของเอเธนส์ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ ดังเช่นกรณีการประหารโสเครตีสเพราะชาวเมืองเห็นว่าโสเครติสชอบตั้งคำถามเรื่องปรัชญาและศาสนา ทำให้คนหนุ่ม ๆ ไม่เชื่อในศาสนาและกลายเป็นการคุกคามความเชื่อและความมั่นคงของเอเธนส์ สภาประชาชนจึงลงคะแนนเสียงพิพากษาลงโทษประหารชีวิตโสเครติส เหตุการณ์นี้ทำให้เพลโตวิพากษ์วิจารณ์ระบบประชาธิปไตยและเสนอว่าระบบการปกครองที่ดีที่สุดคือการมีกษัตริย์นักปราชญ์ (Philosopher king)

'รุ่มรวยภาษา ริเริ่มวรรณกรรม ร้องรำละครเวที' ภาษา วัฒนธรรม และความบันเทิงแบบชาวกรีก

ภาษากรีกเป็นภาษากลุ่มอินโด-ยูโรเปียน เคยถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุคสมัยของอาณาจักรกรีก ปัจจุบันถึงไม่มีการใช้ภาษากรีกในการสนทนาทั่วไปแล้วแต่ภาษากรีกก็ได้กลายมาเป็นรากศัพท์ของภาษาอังกฤษในปัจจุบันหลาย ๆ คำ เช่น คำว่า democracy มาจาก demos ที่แปลว่าพลเมือง และ kratos ที่แปลว่าอำนาจ คำว่า tele ที่แปลว่า ไกล, ห่างออกไป ก็ซ่อนตัวอยู่ในคำศัพท์ที่เราคุ้นเคยอย่าง telephone, television หรือแม้แต่เพื่อนในวัยเด็กของเราอย่าง teletubbies ก็ยังมีรากศัพท์กรีกอยู่ในชื่อนะ! นอกจากนี้สัญลักษณ์ที่เราใช้แทนตัวแปรต่าง ๆ ในวิชาฟิสิกส์ เช่น แอลฟา (α) เบตา (β) แกมมา (γ) ก็เป็นตัวอักษรกรีกโบราณเช่นกัน

ว่าด้วยเรื่องของวรรณกรรม มนุษย์มีวัฒนธรรมการสร้างสรรค์และเสพความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ อารยธรรมกรีกก็เช่นกัน ชาวกรีกคือผู้ให้กำเนิดละครเวทีที่เรายังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอริสโตเติล (Aristotle) ได้บันทึกไว้ว่าละครเวทีของกรีกนั้นแรกเริ่มเป็นกิจกรรมอันผูกพันกับรากเหง้าของวัฒนธรรมกรีก จุดเริ่มต้นของละครเวทีกรีกมาจากการประพันธ์มหากาพย์อีเลียด (Iliad) และโอดิสซี (Odyssey) ของกวีโฮเมอร์ (Homer) บทประพันธ์ของโฮเมอร์มีลักษณะเป็นบทละคร ตัวละครแต่ละตัวจะมีบทพูดเฉพาะเป็นของตัวเอง ซึ่งบทประพันธ์ของโฮเมอร์ได้กลายเป็นต้นแบบของการเขียนบทละครมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ‘สุขนาฏกรรม’ และ ‘โศกนาฎกรรม’ แนวการประพันธ์บทละครที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยอริสโตฟานเนส (Aristophanes) บิดาแห่งสุขนาฎกรรม ก็เกิดขึ้นในยุคกรีกโบราณนี้เอง

Greek-mask-opera

มรดกของอารยธรรมกรีกนั้นมากมายจนเราคิดไม่ถึงเลยใช่ไหมล่ะ แถมแนวคิดและวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างก็ยังคงมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบันอยู่ แต่ว่ามรดกจากวัฒนธรรมกรีกยังไม่หมดแค่นี้นะ ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ว่าจะมีอะไรอีกบ้างก็อย่าลืมติดตามต่อใน ‘มรดกอารยธรรมกรีก ตอนที่ 2’ ได้เลย! นอกจากนั้นยังมีเรื่อง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (APEC, AFTA, WTO) ด้วยนะ 

แสดงความคิดเห็น