Hakuna Matata, What a wonderful phrase ! Hakuna Matata, Ain’t no passing craze ! ได้ยินเพลงนี้ทีไร เพื่อน ๆ คงนึกถึงภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Lion King กันแน่นอน ซึ่งมีทั้งฉากสัตว์ผู้ล่าอย่างสิงโตยืนสง่าท่ามกลางสัตว์น้อยใหญ่บนแผ่นดินแอฟริกาอันแห้งแล้งและร้อนระอุ แต่ตัดมาอีกฉากดันมีหมูป่าน่ารักกับบรรยากาศร่มรื่นริมน้ำตก พร้อมต้นไม้เขียวชอุ่ม เพื่อน ๆ นึกสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมลักษณะภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติในทวีปแอฟริกาถึงดูต่างกันมากมายขนาดนี้
เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันกับแอปพลิเคชัน StartDee ดาวน์โหลดแล้วเรียนกับครูรพีกันได้เลยจ้า ส่วนใครที่ดาวน์โหลดแล้ว ดูวิดีโอไปพร้อมกับอ่านบทความได้เลยนะ
ลักษณะภูมิอากาศแบบต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา
กลุ่มภูมิอากาศเขตร้อน
เนื่องจากทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีเส้นศูนย์สูตรพาดผ่านบริเวณกึ่งกลางของทวีป จึงทำให้อากาศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน โดยมีทั้งหมด 3 เขตย่อย ๆ ได้แก่ เขตป่าดิบชื้น เขตมรสุมเขตร้อน และเขตทุ่งหญ้าเขตร้อน
1.1 ป่าดิบชื้น
ร้อนและมีฝนตกชุกตลอดปี พบในบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตร เช่น ลุ่มแม่น้ำคองโก และฝั่งตะวันออกของมาดากัสการ์ พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้นที่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ไม่มีการผลัดใบ เพราะได้รับน้ำฝนในปริมาณที่มากนั่นเอง
1.2 มรสุมเขตร้อน
ร้อนและมีฝนตกชุกจากลมประจำ นอกจากนั้นยังมีการสลับช่วงกับฤดูแล้งเล็กน้อย ไม่ได้มีฝนตกตลอดทั้งปีเหมือนเขตป่าดิบชื้น พบได้ในบริเวณตอนเหนือของอ่าวกินี และตะวันออกของมาดากัสการ์ พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้นที่จะผลัดใบในฤดูแล้ง
1.3 ทุ่งหญ้าเขตร้อน
แม้จะมีอากาศร้อน แต่จะมีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้งชัดเจน ต่างจากเขตมรสุมเขตร้อนที่มีฤดูแล้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รวมไปถึงต่างจากเขตป่าดิบชื้นที่ฝนตกตลอดทั้งปีอีกด้วย เขตนี้ถือเป็นเขตที่กินพื้นที่มากที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยอยู่บริเวณขอบของเขตป่าดิบชื้นและมรสุมเขตร้อน รวมถึงตะวันตกของมาดากัสการ์ด้วย นอกจากทวีปแอฟริกาแล้ว เรายังพบลักษณะอากาศแบบนี้ในส่วนใหญ่ของประเทศไทยของเราด้วยเช่นกัน
ส่วนพืชพรรณธรรมชาติในเขตนี้ มีลักษณะเป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้า ซึ่งทุ่งหญ้าในเขตร้อนมีชื่อเพราะ ๆ สวย ๆ ว่า ทุ่งหญ้าสะวันนา นอกจากนั้นยังมีพืชบวมน้ำ “Baobab” ที่กระจายพันธุ์อยู่ในเขตนี้ ซึ่งบางต้นสามารถเก็บน้ำไว้ในลำต้นไว้ได้ถึง 120,000 ลิตร ลักษณะของเนื้อไม้คล้ายฟองน้ำ ทำให้ลำต้นขยายออกได้ในฤดูฝนและหดตัวลงในฤดูแล้ง ในยามที่แห้งแล้งจนหาน้ำไม่ได้ ชนพื้นเมืองจะเจาะลำต้นเข้าไปเพื่อหาน้ำ ส่วนสัตว์ใหญ่อย่างช้างจะใช้งาแทงลำต้น แล้วเอาเนื้อไม้ที่ชุ่มน้ำออกมาเคี้ยวกิน หรือดื่มน้ำที่ขังอยู่ในลำต้น ซึ่งการถูกเจาะบ่อย ๆ หลายๆ ครั้ง สามารถทำให้ต้น Baobab ตายได้เช่นกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://aduna.com/blogs/aduna-world/long-live-the-baobabs
Baobab ได้รับฉายาว่าเป็นต้นไม้กลับหัว (The Upside Down Tree) จากตำนานที่เล่ากันว่า พระเจ้าได้มอบต้นไม้แก่สัตว์ต่าง ๆ เพื่อนำไปปลูกบนโลก แต่เจ้าไฮยีนาที่ได้รับมอบต้น Baobab มากลับนำมาปลูกแบบกลับหัว โดยเอารากขึ้นชี้ฟ้าแทนฝังลงดิน นอกจากนั้น ยังได้รับฉายาว่าเป็นต้นไม้แห่งชีวิต (The Tree of Life) เพราะมีประโยชน์มากมายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์นั่นเอง
กลุ่มภูมิอากาศเขตแห้งแล้ง
ถือเป็นอีกกลุ่มภูมิอากาศที่กินพื้นที่กว้างขวางในทวีปแอฟริกา แบ่งออกเป็น 2 เขตย่อย ได้แก่ เขตทะเลทราย และเขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย
2.1 ทะเลทราย
เป็นเขตที่แห้งแล้งมาก อาจมีปริมาณฝนน้อยมากหรือไม่มีเลย เพราะอยู่บริเวณเส้นรุ้งม้าหรือเส้นละติจูดที่ 30 องศา จึงมี “ลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือ” พัดออกจากตัวแผ่นดินและนำพาเอาความชื้นออกไป รวมไปถึงอิทธิพลของกระแสน้ำเย็นคะแนรีและเบงเกวลาที่นำพาความแล้งเข้ามา ส่งผลให้เกิดทะเลทรายขนาดใหญ่เป็นวงกว้างในบริเวณทวีปแอฟริกาด้วย ซึ่งทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ ทะเลทรายสะฮารา ก็อยู่ในเขตทะเลทรายของทวีปแอฟริกาเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีทะเลทรายที่สำคัญในเขตนี้อีกหลายแห่ง เช่น ทะเลทรายนูเบีย อยู่บริเวณตอนบนของทวีปใกล้กับทะเลทรายสะฮารา ทะเลทรายคาลาฮารี อยู่บริเวณตอนล่างของทวีปแอฟริกา และทะเลทรายนามิบ อยู่บริเวณชายฝั่งที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำเย็นเบงเกวลา
สำหรับพืชพรรณธรรมชาติในเขตทะเลทราย คือ พืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง เช่น กระบองเพชร ทุ่งหญ้าเตี้ย ๆ และอาจมีพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นกว่าบริเวณอื่น ๆ ซึ่งเราจะเรียกว่า Oasis
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.departures.com/travel/perus-hidden-desert-oasis-huacachina
2.2 ทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย
อยู่บริเวณขอบของเขตทะเลทราย ที่แม้ว่าจะแห้งแล้งมาก แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าเขตทะเลทราย โดยเขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายที่สำคัญมีชื่อว่า ซาเฮล อยู่บริเวณตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราหรือก็คือขอบทางทิศใต้ของทะเลทรายสะฮารานั่นเอง และนอกจากนั้น ยังมีเขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของมาดากัสการ์ และยังกระจายอยู่บริเวณขอบของทะเลทรายต่าง ๆ ด้วย
แน่นอนว่าพืชพรรณธรรมชาติในเขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย ย่อมต้องเป็นทุ่งหญ้าอยู่แล้ว แต่เป็นทุ่งหญ้าสั้น ๆ ชื่อว่า สเตปป์
กลุ่มภูมิอากาศเขตอบอุ่น
อยู่บริเวณตอนเหนือและตอนใต้ของทวีปเป็นเขตอบอุ่น ก็เพราะทวีปแอฟริกามีเส้นศูนย์สูตรลากผ่านกึ่งกลางทวีป ทำให้อุณหภูมิค่อย ๆ ลดลงตามระยะห่างจากเส้นศูนย์สูตร หรือพูดง่าย ๆ ก็คือยิ่งใกล้เส้นศูนย์สูตรก็จะยิ่งร้อนนั่นเอง โดยเขตอบอุ่นแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตเมดิเตอร์เรเนียน เขตอบอุ่นชื้น (หรือเรียกว่าเขตชื้นกึ่งร้อน) และเขตชื้นภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก
3.1 เขตเมดิเตอร์เรเนียน
ในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่ฤดูหนาวจะมีฝนตก เพราะอิทธิพลของลมประจำตะวันตกที่พัดขึ้นมา ซึ่งเราจะพบเขตเมดิเตอร์เรเนียนในทวีปแอฟริกาได้บริเวณชายฝั่งบาร์บารี อยู่บริเวณริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ส่วนทางตอนใต้ก็สามารถพบเขตเมดิเตอร์เรเนียนได้บริเวณเมืองเคปทาวน์ ชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
พืชพรรณธรรมชาติในเขตเมดิเตอร์เรเนียน คือ ป่าแคระ ซึ่งมักมีไม้พุ่มเตี้ย หรือไม้พุ่มมีหนาม อีกทั้งยังสามารถปลูกผลไม้ตระกูลส้ม มะกอก และมะนาวได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนเลยทีเดียว
3.1 เขตอบอุ่นชื้น หรือชื้นกึ่งร้อน
เป็นเขตอบอุ่นที่กินพื้นที่มากที่สุดในทวีปแอฟริกาเลยก็ว่าได้ โดยภูมิอากาศมีความอบอุ่นและมีฝนตกตลอดทั้งปี สามารถพบได้ทางตอนใต้ของทวีปเป็นหลัก เพราะมีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่าน เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน เช่น ประเทศแองโกลา ประเทศซิมบับเว ตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้ และบางส่วนของมาร์ดากัสการ์
พืชพรรณธรรมชาติที่ขึ้นได้ดีในบริเวณนี้ได้แก่ ป่าผลัดใบและทุ่งหญ้า เช่น ต้นโอ๊ก ต้นบีช เป็นต้น ซึ่งพรรณไม้เหล่านี้จะผลัดใบในฤดูหนาวเพื่อการปรับตัวสู้กับอากาศที่แห้งแล้ง
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://speakzeasy.wordpress.com/2015/08/02/dry-deciduous-forests-of-madagascar/
3.2 เขตชื้นภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก
เป็นเขตภูมิอากาศที่ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันตก ซึ่งจะพัดตั้งแต่ละติจูดที่ 30 องศาขึ้นไป โดยส่งผลให้เกิดทั้งเขตเมดิเตอร์เรเนียน และเขตชื้นภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก
ลักษณะเด่นของเขตนี้คือฤดูร้อนจะอบอุ่น ส่วนฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็น แต่จะมีฝนตกตลอดทั้งปี โดยเราจะพบเขตนี้ได้ค่อนข้างน้อยเฉพาะบริเวณชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาใต้เท่านั้น สำหรับพืชพรรณธรรมชาติจะเป็นป่าผลัดใบเช่นเดียวกับในเขตอบอุ่นชื้น ผสมปนเปกับป่าสน ทำให้เราเรียกป่าไม้ในบริเวณนี้ว่า “ป่าผสม” นั่นเอง
เขตภูมิอากาศแบบที่สูง
เป็นเขตภูมิอากาศที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับที่ตั้งตามละติจูด ทำให้สามารถพบได้ทั้งในเขตร้อน เขตอบอุ่น และเขตหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลงเรื่อย ๆ ตามความสูง เช่นเดียวกับพืชพรรณธรรมชาติ ที่จะแตกต่างไปตามความสูงเช่นกัน เช่นบริเวณเขาคิลิมันจาโร ที่แม้จะอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร แต่ก็มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี เพราะมีความสูงที่มากนั่นเอง
สำหรับในทวีปแอฟริกานั้น เราสามารถพบเขตภูมิอากาศแบบที่สูงได้บริเวณที่สูงเอธิโอเปีย ที่สูงเคนยา บริเวณภาคตะวันออกของทวีป
หวังว่าเพื่อน ๆ จะเข้าใจเรื่องภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติของทวีปแอฟริกามากขึ้น อย่างก็ตาม ทวีปแอฟริกายังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ รวมไปถึงเศรษฐกิจของทวีปด้วย ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถสนุกกับบทเรียนเกี่ยวกับทวีปนี้ ได้ที่แอปพลิเคชัน StartDee โหลดเลย ยังไงก็คุ้ม !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านบทความต่อ เราขอแนะนำ บทเสภาสามัคคีเสวก วิชาภาษาไทย บทเรียนเรื่องพีทาโกรัส ที่มี 3 ตอนให้เรียนกันแบบต่อเนื่อง (คลิก ตอน 1, 2 หรือ 3 ได้ที่นี่) วิชาคณิตศาสตร์ หรือสนามไฟฟ้าและไฟฟ้าสถิต วิชาวิทยาศาสตร์
ขอบคุณข้อมูลจาก :
- พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (รพี)
- สุรรังสรรค์ ผาสุขวงษ์ (ครูกอล์ฟ)
Reference : https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/abroad/1715031