จากเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิของชาวผิวสี สู่ #BlackLiveMatter สุดร้อนระอุที่กระตุ้นให้ผู้คนทั่วทุกมุมโลกตั้งคำถามขึ้นมาว่า จริง ๆ แล้วการเหยียดสีผิวนั้นเกิดจากอะไร การต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของชาวผิวสีนั้นมีมายาวนานแค่ไหน ความเจ็บปวดและความไม่เป็นธรรมในรูปแบบไหนบ้างที่พวกเขาต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้ฟังเผิน ๆ แล้วอาจจะดูเป็นสิ่งไกลตัวสำหรับคนไทย แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้กลับใกล้ตัวกว่าที่เราคิด และเนื่องในโอกาสเดือนแห่งภาษาไทยแอปพลิเคชัน StartDee เลยอยากพาเพื่อน ๆ ไปดูแนวคิดเรื่องสีผิวผ่าน “วรรณคดีไทย” ที่เราคุ้นเคยในหนังสือเรียน
ไม่ว่าจะเป็นร่างสูงโปร่ง มือเรียวยาว หรือริมฝีปากบาง เพื่อน ๆ หลายคนต้องเคยเจอบทพรรณนารูปลักษณ์ของตัวละครเหล่านี้จากนิยายกันมาบ้าง และนอกจากรูปร่างหน้าตา “สีผิว” ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของรูปลักษณ์ภายนอกที่เราสังเกตได้ง่ายกว่าส่วนอื่น ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กวีในสมัยก่อนจะใช้โวหารต่าง ๆ บรรยายรูปลักษณ์ของตัวละครทั้งตัวพระ - นาง รวมไปถึงตัวร้ายในวรรณคดีออกมาให้ผู้อ่านเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นจมูก คิ้ว คาง ตาและปาก รวมถึงสีผิวที่งามและไม่งาม (ตามค่านิยมและความเห็นของกวีในสมัยนั้น) ด้วย
แล้ว “สีผิว” แบบไหนที่คนไทยถือว่างาม?
ทรงสุคนธ์ปนทองชมพูนุท นวลละอองผ่องผุดดังหล่อเหลา
— อิเหนา
ลางน้ำอาบน้ำท่า ทาขมิ้นเหลืองพึงชม
— กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เจ้าฟ้ากุ้ง
ทาขมิ้นผัดแป้งแต่งตัว เอามุหน่ายป้ายหัวจนท้ายทอย
— ขุนช้างขุนแผน
จากบทพรรณนาของวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะเห็นว่าในสมัยก่อนคนไทยไม่ได้นิยมผิวขาวอย่างปัจจุบัน แต่สีผิวที่ถือว่างามสำหรับผู้คนในสมัยนั้นคือผิวสองสี หรือผิวที่มีสีเหลืองราวกับทอง แถมผิวต้องเนียนละเอียด สะอาด มีกลิ่นหอมจากเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ซึ่งถ้าเป็นบทบรรยายวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนและกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ก็จะพบการประทินผิวให้เหลืองด้วยการทาขมิ้น แต่ถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์อย่างในเรื่องอิเหนา ก็จะมีการประทินผิวให้เหลืองทองจากเครื่องหอมที่มีส่วนผสมของทองคำบริสุทธิ์
ส่วนการนิยมสีผิวขาวของคนไทยนั้น รองศาสตราจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิชได้ให้เหตุผลไว้ในบทความ “ผ่องผิวผุดผาดเพี้ยงพราวพรรณ: อุดมคติความงามของผิวในวรรณคดีไทย” ในวารสารภาษาและวรรณคดีไทยว่า คนไทยเพิ่งมานิยม “ผิวขาว” เมื่อมีการติดต่อและได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ ๕ - ๖ นี้เอง ซึ่งในยุคนั้นประเทศไทยมีการติดต่อค้าขาย นำเข้าเทคโนโลยีต่าง ๆ (และครื่องสำอาง) จากชาวตะวันตกเข้ามาในไทยค่อนข้างมาก ทำให้ผิวขาวกลายเป็นสัญลักษณ์ของความงาม ความสะอาด และความทันสมัยไปโดยปริยาย แม้ว่าความนิยมเกี่ยวกับสีผิวที่งามของคนไทยจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปก็คือ “สีผิวอันไม่งาม” ที่มักเชื่อมโยงกับ “ตัวร้าย” ในวรรณคดีเสมอมา
“สีผิว” และตัวร้ายในวรรณคดี
สำหรับตัวร้ายในวรรณคดีไทย สำนวน “รูปชั่วตัวดำ” ไม่ใช่คำบรรยายที่เกินจริงนัก สีผิวดำคล้ำ และหน้าตาที่ไม่หล่อไม่สวยจึงกลายเป็นภาพจำของตัวละครเหล่านี้ไปซะแล้ว ถึงสังคมไทยจะปลูกฝังค่านิยมที่ยึดมั่นในคุณงามความดี แต่สิ่งที่เรามองเห็นจากวรรณคดีไทยก็คือการนำรูปลักษณ์ภายนอกมาตัดสินว่าใครคือฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายอธรรม ตัวละครในวรรณคดีไทยที่ทั้ง “รูปชั่ว” และ “ตัวดำ” จึงได้รับบทตัวร้ายเสมอมา ตัวอย่างเช่นวรรณคดีเรื่องอิเหนาที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ (สามารถอ่านเรื่องย่ออิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิงได้ที่นี่) ก็มีการกล่าวถึงรูปลักษณ์ของจรกาในหลายแง่มุม เช่น
ครั้นเห็นจรกาเข้ามาเฝ้า | บรรดาเหล่าชะแม่แซ่เสียง |
บ้างตำหนิติว่าหน้าเพรียง | ดูดำดังเหนี่ยงน่าชังนัก |
ไม่มีซวดทรงองค์เอวอ้วน | พิศไหนเลวล้วนอัปลักษณ์ |
ใส่ชฎาก็ไม่รับกับพักตร์ | งามบาดตานักขี้คร้านดู |
บ้างว่าเสียงเพราะเสนาะเหลือ | แหบเครือเบื่อฟังรำคาญหู |
รูปร่างอย่างไพร่ใช่ระตู | ไม่ควรเคียงคู่พระบุตรี |
บทนี้บรรยายเหตุการณ์ที่นางกำนัลได้เห็นจรกามาเข้าเฝ้าท้าวดาหาครั้งแรก จึงพากับวิจารณ์รูปลักษณ์และสีผิวของจรกาสารพัด บ้างตำหนิจรกาว่าผิวหน้าไม่เรียบเนียนเหมือนมีเพรียงทะเลเกาะ บ้างก็ว่าจรกานั้นผิวดำเหมือนด้วงเหนี่ยง (แมลงปีกแข็งที่มีผิวดำเป็นมันทั้งตัว)
รูปที่ 1: แมลงเหนี่ยง (ขอบคุณรูปภาพจาก www.biolib.cz)
ไม่ใช่แค่นางกำนัลเท่านั้นที่ชิงชังรูปลักษณ์ของจรกา อิเหนาเองก็ได้บรรยายถึงรูปร่างหน้าตาของจรกาในเชิงลบ โดยใช้เล็บจิกกลีบดอกปาหนันเป็นคำกลอน ส่งลอยน้ำไปถึงนางบุษบาด้วยว่า
ในลักษณ์นั้นว่าจรกา | รูปชั่วต่ำช้าทั้งศักดิ์ศรี |
ทรลักษณ์พิกลอินทรีย์ | ดูไหนไม่มีจำเริญใจ |
เกศานาสิกขนงเนตร | สมเพชพิปริตผิดวิสัย |
เสียงแหบแสบสั่นเป็นพ้นไป | รูปร่างช่างกระไรเหมือนยักษ์มาร |
เมื่อยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่ | ไม่ควรคู่เคียงพักตร์สมัครสมาน |
ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์ | มาประมาณหมายหงส์พงศ์พระยา |
อิเหนาบรรยายว่าจรกาหน้าตาไม่ดี แถมยังมียศเป็นแค่ระตูซึ่งต่ำต้อยกว่าวงศ์เทวัญของตน รูปร่างใหญ่โตดูเหมือนยักษ์มาร ตา คิ้ว จมูก ปากก็ดูแล้วไม่งาม แถมหน้าตาก็ดูดุร้าย จะยิ้มหรือล้อเล่นก็ดูเหมือนขู่ให้กลัว และปิดท้ายว่าจรกาไม่คู่ควรกับนางบุษบาด้วยประการทั้งปวง ซึ่งจรกาเองก็รู้ซึ้งถึงคำวิจารณ์เหล่านี้ และเคยรำพึงรำพันกับตัวเองว่า
ระตูรำพึงถึงองค์ | ด้วยรูปทรงอัปลักษณ์นักหนา |
ดูไหนมิได้งามทั้งกายา | ลักขณาผมหยักพักพักตร์เพรียง |
จมูกใหญ่ไม่สง่าราศี | จะพาทีแห้งแหบแสบเสียง |
คิดจะหากัลยาเป็นคู่เคียง | ที่งามเพียงสาวสวรรค์ให้เกื้อองค์ |
จะเห็นว่ากวีมักสร้างตัวละครฝ่ายอธรรมให้มีรูปลักษณ์ที่ไม่งามจนหาดีแทบไม่ได้ ทุกครั้งที่ตัวละครลักษณะนี้ปรากฎตัวขึ้นมา ผู้อ่านก็พอเดาได้ทันทีว่านี่คือตัวร้าย นอกจากนี้ตัวละครอัปลักษณ์ในวรรณคดีไทยก็ไม่ได้มีเพียงจรกา แต่ยังรวมถึงตัวละครที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างชูชก ขุนช้าง นางผีเสื้อสมุทร (อ่านเรื่องของนางผีเสื้อสมุทรได้ที่ พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร) ชีเปลือย และตัวร้ายจากเรื่องอื่น ๆ อีกนับสิบ ซึ่งจุดร่วมของตัวละครเหล่านี้ก็คือมีรูปลักษณ์ที่ไม่งาม และอยู่ฝ่ายอธรรมเสมอ
ไม่ใช่แค่เรื่องสีผิว แต่ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาด้วย
นอกจากให้ความบันเทิงและแฝงปรัชญาสอนใจ วรรณคดีไทยยังทำหน้าที่ส่งต่อแนวคิดและค่านิยมเกี่ยวกับสีผิวและรูปลักษณ์ผ่าน “บทกวี” ที่งดงามจนเรามองข้ามแนวคิดที่ซ่อนอยู่ไปได้ง่าย ๆ มองเผิน ๆ อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่แนวคิดจากสื่อเหล่านี้ได้หยั่งรากฐานความคิดให้ผู้คนในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน หลายครั้งที่เราพบปัญหาการเหมารวมผู้อื่นจากลักษณะภายนอก (Stereotype) ว่ารูปชั่วตัวดำอย่างนี้จะเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า ยังไม่รวมปัญหาการดูถูกหรือล้อเลียนรูปลักษณ์ (Body shaming) ของผู้อื่นที่ดูเป็นเรื่องปกติสามัญมาก ๆ ในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลจากค่านิยมเกี่ยวกับมาตรฐานความงาม (Beauty standard) ที่หล่อหลอมกันมาอย่างยาวนานทั้งสิ้น และกระบวนการนั้นอาจเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยเสียด้วยซ้ำ
นอกจากคุณค่าและความงามด้านวรรณศิลป์ วรรณคดีไทยยังเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เราเห็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงแนวคิดของผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปก็ทำให้ค่านิยมต่าง ๆ เปลี่ยนไปด้วย เดิมทีการศึกษาวรรณคดีไทยนั้นมุ่งให้ผู้เรียนซึมซับศิลปะการใช้ภาษา ฝึกฝนการอ่านเอารส เพื่อต่อยอดการใช้ภาษาอย่างมีศิลปะด้วยตนเอง แต่ในแง่ของการอ่านเอาเรื่อง เราก็ควรยอมรับว่าวรรณคดีไทยมีบทบาทในการถ่ายทอดแนวคิดที่ไม่เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ในปัจจุบันให้กับผู้เรียนเช่นเดียวกัน ถึงแม้ปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวจะไม่ได้ปรากฎชัดเจนในสังคมไทย รวมถึงมีจุดเริ่มต้นและบริบทที่ต่างจากสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือแนวคิดเหล่านี้ส่งเสริมการแบ่งแยกเรื่องสีผิวในสังคม และนำไปสู่การปฎิบัติที่ไม่เท่าเทียมเช่นเดียวกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราควรศึกษาประเด็นเหล่านี้ให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น
คงไม่น่าสนุกเท่าไหร่ถ้าการล้อเลียนสีผิวและรูปลักษณ์ภายนอกกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมของไทย โดยที่เด็ก ๆ อย่างเราไม่มีโอกาสได้คิดหรือตั้งคำถามกับหนังสือเรียนวรรณคดีไทยหรือบทเรียนไหน ๆ ในมือเราเลย
อิงอร สุพันธุ์วณิช. “ผ่องผิวผุดผาดเพี้ยงพราวพรรณ: อุดมคติความงามของผิวในวรรณคดีไทย.” วารสารภาษาและวรรณคดีไทย, vol. 21, Dec. 2004, pp. 153–163.
อาภากร หนักไหล่. “ ตัวละครอัปลักษณ์ในวรรณคดีไทย.” มหาวิทยาลัยศิลปากร, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2016, pp. 18–40.
สุมาลี วีระวงศ์. “ปัญหาของวรรณคดีไทยศึกษา: ข้อสังเกตที่ได้จากการวิจัยกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย.” วารสารศิลปศาสตร์, vol. 2, Dec. 2001, pp. 148–168.