วอลนัท-สายทิพย์ วิวัฒนปฐพี กับชีวิตฟรีแลนซ์และอาชีพนักลงเสียงโฆษณา

นักพากย์เสียงโฆษณา

“ขอเสียงหน่อย”

ถ้าได้ยินครั้งแรกคงนึกถึงตอนนักร้องบอกผู้ชมหน้าเวทีให้ส่งเสียงกรี๊ดให้กำลังใจ

 

“ขอเสียงหน่อย”

เรารู้สึกต่อคำนี้เปลี่ยนไปเมื่อได้พูดคุยกับพี่วอลนัท-สายทิพย์ วิวัฒนปฐพี ผู้ทำหน้าที่ขายเสียงประกอบโฆษณาชิ้นต่าง ๆ  กับอาชีพที่มีชื่อว่า ‘นักลงเสียงโฆษณา’

ถ้ายังนึกภาพไม่ออกลองนึกถึงเสียงบรรยายในโฆษณาทีวีที่เราไม่เห็นตัวคน หรือเสียงในโฆษณาที่ขึ้นมาก่อนเราจะฟังเพลงหรือดูคลิปใน Youtube ซึ่งหนึ่งในเจ้าของเสียงที่หลายคนคุ้นหู (แต่อาจจะไม่รู้ว่าเป็นใคร) คือ พี่วอลนัท-สายทิพย์ วิวัฒนปฐพี ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการนักลงเสียงโฆษณามากว่าสิบปี แม้หลายคนจะรู้จักพี่วอลนัทจากรายการ The Voice Thailand Season 2 หรือวง Apple Girls Band แต่จริง ๆ แล้วพี่วอลนัทอยู่ในวงการขายเสียง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง พิธีกรรายการฉายเดี่ยว และรายการเที่ยวรอบโลก checklist รวมทั้งอาชีพนักลงเสียงโฆษณา ซึ่งวันนี้เราอยากชวนมาฟังเรื่องราวชีวิตฟรีแลนซ์ และประสบการณ์ของพี่วอลนัท ในฐานะผู้ที่อยู่เบื้องหลังเสียงในโฆษณา สารคดี การ์ตูนหลายเรื่องที่เราเคยดู เอาล่ะ ถ้าพร้อมอ่านแล้วขอเสียงหน่อยเร๊วว ! 

 

จากเด็กมัธยมสายวิทย์ สู่คณะสายศิลป์ และนักร้องชมรม CU Band

 

Q : ย้อนกลับไปวัยมัธยม ทำไมตัดสินใจเลือกคณะนิเทศศาสตร์ 

A : จริง ๆ ตอนแรกเราคิดว่าเรียนสถาปัตย์ดีกว่า เพราะเห็นคนในวงการทำทีวี ทำงานสร้างสรรค์จบสถาปัตย์กันเยอะ เลยเลือกเรียนสายวิทย์ พอเราลงสายวิทย์ปุ๊บ เลขมันยาก ฟิสิกส์ก็ไม่เข้าใจ ชีวะก็พอโอเค ผ่ากบสนุกดี (หัวเราะ) แต่เราก็ชอบทำกิจกรรม เราอยู่แต่กับเพลง ประกวด Hotwave Music Awards หรือเวทีต่าง ๆ แถมตอนไปเรียนพื้นฐานสถาปัตย์ เราก็พบว่า เราชอบวาดสนุก ๆ ไม่ได้ชอบวาดเป็นงานจริงจังขนาดนั้น เลยคิดว่าอันที่ตรงที่สุดคงเป็นนิเทศศาสตร์ เลยยื่นแอดมิดชันคณะนี้

Q : ชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นยังไงบ้าง 

A : พอเข้ามาคณะนิเทศศาสตร์ เราอยากเป็นดีเจ แล้วนิเทศฯ ตอนนั้นสาขาวิทยุโทรทัศน์ดัง แต่เราอยากมีเวลาเข้า C.U. Band บ่อยๆ ไปร้องงานแบนด์เยอะๆ ภาคฟิล์มมันเรียนดูชิวกว่าภาควิทยุโทรทัศน์ เราเลยคิดว่าภาคฟิล์มก็ได้ บวกกับตอนปี 1 เราหาอะไรที่เกี่ยวกับดนตรี เลยออดิชันเข้าชมรม C.U. Band (ชมรมดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งเราได้ทักษะการร้องเพลงกับคอนเนกชันมาจากชมรมนี้แหละ แล้วก็ได้ทักษะการตัดต่อ การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ จากภาคฟิล์มมาทำรายการท่องเที่ยว แต่เอาจริง ๆ ก็เหมือนต้องเรียนรู้ใหม่หมดอีกที

Banner-Orange-Standard

 

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักลงเสียง

 

Q : เริ่มลงเสียงครั้งแรกเมื่อไร

A : เราเรียนสาขาภาพยนตร์เลยต้องฝึกงานที่เกี่ยวกับหนัง แล้วเราก็อยากทำเกี่ยวกับเพลงด้วย ตอนปี 3 ก็เลยไปฝึกที่บริษัท Cinedigital Sound Studio คุณครูคนแรกที่นำเข้าสู่วงการนี้ เป็นเหมือนพ่อเลย ก็คือพี่ต๋อย เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน คนที่ทำเพลงประกอบเลือดข้นคนจาง หนังโฆษณาของพี่ต่อฟีโน และก็อีกมากมายก่ายกอง เราก็เริ่มลงเสียงจากตอนนั้นแหละ คือตอนแรกร้องเพลงโฆษณาก่อน แล้วก็เริ่มมีอัดไกด์โฆษกบ้าง เป็นจุดกำเนิดของวง Apple girls band ด้วย ตอนนั้นพี่ต๋อยบอกว่า “วอลนัทมีเพลงนี้ไกด์ให้หน่อย” พอไกด์เสร็จเขาก็ถามว่า มีเพื่อนไหมมาจิ้ม ๆ ไอแพดทำคลิปกัน (พี่ต๋อยทำค่ายเพลง Banana Records) เลยชวนเพื่อนจาก C.U. Band มา 5 คน พออัดคลิปเสร็จดันไวรอล เลยมีงานเข้าให้ไปเล่นเปิดตัวไอแพด 2 ตอนนั้นก็คิดว่างานเข้าแล้ว ซึ่งตอนนั้นเล่นได้เพลงเดียว คือจักรวาลวิทยา ที่อัดลงคลิปไปนั่นแหละ ก็เลยต้องซ้อมเพลงอื่นกันใหญ่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของวง Apple Girls Band ไล่ ๆ มา กับการเริ่มลงเสียงโฆษณาของเรา

Q : งานแรกของการลงเสียงเป็นแบบไหน

A : น่าจะเป็นร้องเพลงโฆษณาเลย เพราะเราเป็นนักร้องก่อน พอร้องเพลงปุ๊บมันมีท้ายพูดนิดนึง ทีนี้ลูกค้าเอา เราเลยได้เป็นพอร์ตแล้วอันนึง ตอนนั้นก็เพิ่งรู้ว่ามันมีอาชีพนี้ด้วย เพราะมันไม่มีในหนังสือแนะแนวหรือในห้องแนะแนว ซึ่งจริง ๆ แล้วมีนักร้องที่ไปทำนักลงเสียงเยอะเหมือนกัน อย่างพี่ลูกหว้า พิจิกา พี่หนู Kidnappers ตอนนั้นเราเลยถามพี่ที่ฝึกงานว่าถ้าหนูอยากทำงานนี้ต้องทำยังไง เขาก็บอกว่าให้ลองทำ Demo (ตัวอย่างเสียง) อัดเสียงไว้ให้ห้องเสียงนั้น พอมันมีอันแรกแล้วมันก็ค่อยมีอันต่อไปเรื่อย ๆ เรียกว่าเป็นคอนเนกชันก็ได้นะ 

แต่สมัยนี้ง่ายขึ้นแล้ว น้องอาจจะสงสัยว่าถ้าไม่รู้จักใครจะเข้าไปยังไงคะ จริง ๆ ไม่ต้องรู้จักใครเลยค่ะ เสิร์ชกูเกิลเลยว่าห้องเสียงประเทศไทย หรือไม่ไปเดินแถวทาวน์อินทาวน์ (Town in Town) ลองอัดเสียง Demo ของตัวเองมา หรือส่งอีเมลมาก็ได้ว่าชื่อนี้ ๆ นะคะ มีตัวอย่างเสียงสั้น ๆ ประมาณ 15-30 วินาที ถ้าเราไม่มีสคริปต์ ก็จดจากทีวีหรือฟังวิทยุก็ได้

นักลงเสียงโฆษณา

 

รีวิวอาชีพนักลงเสียงโฆษณา

 

Q : เป็นนักลงเสียงโฆษณามีกระบวนการทำงานยังไงบ้าง 

A : ถ้ามีพอร์ตตามห้องเสียงแล้ว ทำมาแล้วในระยะหนึ่ง เราก็จะเริ่มจากการเช็กคิวก่อนว่าวันนี้ว่างไหม โฆษณาตัวนี้กี่วินาที คิดเรตเท่าไร แล้วเราก็ไปตามเวลานัด เข้าห้องเสียง บางทีก็ได้สคริปต์ก่อนบางทีก็ไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ แล้วก็ดูหนังว่าเป็นยังไง mood & tone ไหน พออ่านเสร็จแล้วส่งขายให้ลูกค้าคอมเมนต์  ถ้าเป็นงานสารคดี หรืองานพากย์เสียง ก็คล้ายกัน คือเช็กคิวก่อน อันไหนคอนเฟิร์ม อันไหนแคนเซิลมันจะเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งเราก็ต้องจัดการชีวิตตัวเอง จะลืมคิวไม่ได้ ส่วนพากย์เสียงก็ไม่มีอ่านบทก่อนเหมือนกัน อาจจะรันหนังก่อนรอบหนึ่ง ให้ดูเป็นพาร์ทสั้น ๆ แล้วก็ลุยเลย แต่อันที่พากย์กันเป็นทีมอาจจะมีการอ่านก่อน เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันเพราะว่าเราเคยพากย์เดี่ยว ยังไม่เคยพากย์เป็นทีม ซึ่งมันน่าจะยากกว่า

Q : นักพากย์เสียงกับนักลงเสียงต่างกันยังไง

A : ความต่างของนักพากย์เสียงกับนักลงเสียงโฆษณา คือ นักพากย์เสียง จะหมายถึงนักพากย์หนัง หรือการ์ตูน ต้องขยับปากให้ตรงทั้งคำ อารมณ์ mood & tone มันต้องตาดู หูฟังไปด้วย เสียงเขามาปุ๊บเสียงเราต้องไป  ส่วนนักลงเสียงจะเป็นเหมือนโฆษก (Announcer) ของโฆษณาหรือสารคดีมากกว่า

Q : ความยากของอาชีพนักลงเสียงคืออะไร

A : ด้วยความที่เราใช้เสียง ใช้ร่างกาย เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาเสียงยิ่งชีพ การเป็นหวัดหรือเริ่มเจ็บคอนี่คือหายนะ เรากินวิตามินซีทุกวัน ใครเป็นหวัดอย่ามากินข้าวด้วย มันอาจจะฟังดูเรื่องมากหน่อยนะ แต่เราเสียเสียงไปไม่ได้จริง ๆ เราก็ต้องรักษา ซึ่งเราไม่ได้กินเหล้าสูบบุหรี่อยู่แล้ว แล้วก็ต้องนอนด้วยพักผ่อนให้เพียงพอด้วย ที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาที่ร่างกาย ดูแลร่างกายให้ดี 

แต่ถ้าพูดถึงระหว่างการทำงาน เราว่าการลงเสียงมันต้องอดทนและยืดหยุ่นนะ บางทีประโยคเดียวยาวแค่ 10 วินาทีอัดเป็นวันเลยก็มี แล้วก็งานลงเสียงช่วยฝึกเราให้รับการปฏิเสธ เพราะช่วงแรก ๆ มันต้องมีการแคสเสียงส่งไปให้เลือก อาจจะถูกปฏิเสธเกิน 70 เปอร์เซ็นได้ หรือบางทีลูกค้าจะชอบลองอะไรใหม่ ๆ บอกลองเสียงนี้ ๆ ได้ไหม บางทีในใจคิดแล้วแหละว่าไม่ได้หรอก แต่ห้ามพูดคำว่าไม่ได้นะ ลองก่อน ถ้าไม่ได้เดี๋ยวมันรู้เอง ‘just do it’ ไปก่อน ไม่ใช่เขาก็จะบอกเองว่าไม่ใช่ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการทำมานาน 

 

นักลงเสียงโฆษณา

 

Q : เรื่องบรีฟลูกค้านี่เรียกว่ายากไหม

A : เรียกว่าเป็นวาไรตี้ของชีวิตดีกว่าค่ะ (หัวเราะ) เราเคยเจอบรีฟ ‘ขอเสียงที่มันดูข้าราชการหน่อย’ ก็ต้องถามว่า ข้าราชการแบบเข้ม ๆ หรือชิค ๆ ดีคะ (หัวเราะ) หรือบรีฟให้ร้องเพลงให้เหมือนร้องไห้ หรือร้องภาษาต่างดาวที่ฟังเหมือนภาษาจีนแต่ไม่ใช่ภาษาจีน อะไรแบบนี้ แต่ทุกอย่างเราก็คุยกับลูกค้าได้นะถ้ามองมันเป็นเรื่องท้าทายก็สนุกดี สนุกมากเลย (ยิ้มอ่อน)

 

นักพากย์เสียงโฆษณา1

 

Q :  เตรียมตัวยังไง ถ้าอยากเป็นนักลงเสียงโฆษณา

A : ทักษะสำคัญมาก ๆ คือการอ่านให้คล่อง พูดให้ชัด ถ้าอยากจะฝึกจริง ๆ ดูทีวีพากย์ไทย ดู Youtube Netflix แล้วพูดตามก็ได้ เพราะเราเองก็เริ่มจากการเลียนแบบ อย่างขึ้นรถไฟฟ้าตอนเด็ก ๆ next station… อะไรอย่างนี้ เราก็พูดตามเขาไป ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเคยพูดตามมันจะนำมาสู่การทำเป็นอาชีพได้ เราคิดว่าทั้งการลงเสียงหรือการร้องเพลงมันมาจากการทำตามหรือการเลียนแบบ คนเรามันยูนีคอยู่แล้ว พอเราทำตามเขา สุดท้ายมันก็จะผสมผสานจนมีความเป็นเราขึ้นมาเอง

 

‘พ่อแม่ไม่เข้าใจ’ ปัญหาสุดคลาสสิกของเด็กไทย

 

Q : เคยเจอปัญหาพ่อแม่ไม่เข้าใจไหม

A : เราว่ามันเป็นปัญหาคลาสสิกของหลาย ๆ บ้าน พ่อแม่เราเป็นครูหมดเลย ญาติพี่น้องทุกคนเป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นเอกชนแบบมั่นคง ทำงานธนาคาร ไม่มีใครมาทางนี้เลย เพราะฉะนั้นเราจะแปลกแหวกเหล่ามาก ตอนแรกพ่อแม่ไม่เข้าใจเลยว่าทำอะไร จะมั่นคงได้ยังไง แต่เราก็พยายามไม่รบกวนเขาตั้งแต่ปี 3 ที่เริ่มลงเสียงเองได้ ตอนปี 4 ก็เริ่มไม่ขอค่าขนมแล้ว เราพยายามพิสูจน์มาให้เห็นตลอดว่าเราอยู่รอดนะ เราเลยลองศึกษาเรื่องการวางแผนการเงินเบื้องต้น การทำบัญชีรายรับรายจ่าย หรือการลงทุนเบื้องต้นอะไรอย่างนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่าทำไมสิ่งนี้ไม่สอนตั้งแต่อยู่มัธยม เพราะมันเป็นสิ่งที่คนต้องใช้และต้องรู้ เราเลยต้องหาความรู้เรื่องนั้น แล้วเอาเงินที่ได้มาบริหารให้มันมีความมั่นคง

นักพากย์เสียงโฆษณา6

 

อีกอย่างคือ เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองชอบทำ มันคือกฎของแรงดึงดูด เรารู้สึกว่ามันจะดึงดูดเราไปสู่สิ่งที่เราต้องการเอง เราไม่เคยคิดเหมือนกันว่าการร้องเพลงจะนำเรามาเจออาชีพลงเสียงโฆษณา นำไปสู่การร้องเพลงการ์ตูน แล้วก็ได้ไปพากย์การ์ตูน พากย์หนังต่อ แล้วการไปห้องพากย์ ก็ดันนำเราให้ได้ไปทำรายการท่องเที่ยว เพราะวันที่ไปแคสรายการคือพากย์การ์ตูนเสร็จพอดีแล้วบริษัทอยู่ซอยติดกัน แล้วเราก็วนความชอบใส่ไปในงานต่อ เพราะตอนทำรายการท่องเที่ยว เราก็แต่งเพลงประกอบรายการและเพลงในแต่ละตอนต่อ ทุกอย่างเพราะชอบ อย่างเดียวเลย เราเชื่อว่าทุกอย่างมันดึงดูดกันจริงๆ แต่ดวงอย่างเดียวก็ไม่ได้ นะ เราต้องลงมือทำด้วย และถ้าเกิดมันมีปัจจัยอย่างเราต้องมีเงินเพื่อดำรงชีวิต เราก็ทำสิ่งหนึ่งเพื่อเลี้ยงชีพ แล้วเอาเวลาที่เหลือมาทำสิ่งที่เราชอบก็ได้ อย่างเราทำลงเสียงเลี้ยงชีพแล้วก็เอาเงินของเรามาทำเพลงที่เราชอบ จริง ๆ สมัยนี้เราทำได้หลายอย่าง ไม่ต้องเป็นอย่างเดียวก็ได้

Q : ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าพ่อแม่จะเข้าใจ

A : ตอนที่เรียนจบมาแรก ๆ เขาก็ไม่โอเคหรอกว่าทำอะไรอยู่ แต่หลัง ๆ เรารู้สึกว่าเขาโอเคขึ้นนะ เพราะเริ่มเห็นงาน กลับบ้านทีเจอโฆษณา เปิดละคร ก็บอกว่าอันนี้เสียงหนูนะ ได้ตังค์จากอันนี้นะ พยายามอธิบายหน่อยว่าทำอะไร หลัง ๆ เขาก็เข้าใจแล้วแหละ แต่ถามว่าหายเป็นห่วงไหม เราว่ายังหรอก ยังไงก็เป็นห่วง แต่เขาก็รู้ว่าเราเก็บเงิน ดูแลตัวเองได้นะ อะไรแบบนี้ เราว่าต้องใช้เวลาหน่อย วันหนึ่งเขาจะยอมรับเอง ซึ่งแต่ละบ้านก็อาจจะใช้เวลาไม่เท่ากัน

 

ชีวิตฟรีแลนซ์ที่มาพร้อม ‘กับดักความอิสระ’

 

Q : ถ้าให้นิยามอาชีพในตอนนี้ คิดว่าเป็นอาชีพอะไร 

A : รายการท่องเที่ยวนี่หยุดพักไปแล้ว ตอนนี้ก็เป็น นักร้อง นักแต่งเพลง และนักลงเสียงอิสระค่ะ นิยามว่าอย่างนั้น เรายังทำเพลงอยู่ มีแต่งเพลงให้คนนู้นคนนี้ เป็นเบื้องหลังซะส่วนใหญ่ จะมีไกด์ให้ BNK บ้าง เพลงประกอบซีรีส์รักฉุดใจนายฉุกเฉิน เพลงซีรีส์นู่นนี่ ซึ่งเราก็จะอยู่กับการทำเพลงหรือเสียงนี่แหละ แต่ที่ดำรงชีวิตได้ก็การลงเสียง พากย์เสียง เพราะเราทำมาตั้งแต่ปีสามแล้ว ตอนนี้ก็สิบปี คือเราเป็นฟรีแลนซ์ที่โชคดี บุญยังไม่หมด (หัวเราะ) เลยยังมีงานต่อเนื่องเรื่อย ๆ อยู่ได้ในระดับหนึ่งจากอาชีพลงเสียง แต่ตอนที่ทำฟรีแลนซ์มันมีอันหนึ่งที่เราคิดขึ้นมากับตัวเองว่า เราติดกับดักของความอิสระ จะทำงานเมื่อไรก็ได้ มันมีไทม์ไลน์แหละ แต่ไม่ต้องตื่นมาแปดโมงเช้าทุกวัน ไม่มีใครมาบังคับ เหมือนอยู่ในเขาวงกตที่จะล้มตัวลงนอนเมื่อไรก็ได้ไม่มีใครมาฉุด แต่ถ้าจะทำต่อต้องลุกขึ้นมาเอง ไม่มีใครฉุดด้วยเหมือนกัน ถ้าไม่มีอะไรมากำกับ มันก็จะโหวงเหวง ล่องลอยมาก ๆ เลย 

Q : จัดการกับ ‘กับดักความอิสระ’ นี้ยังไง

A : เราเรียนรู้ผ่านการฟังพอดแคสต์ อ่านหนังสือ เรามีช่วงที่เฉื่อยมากเหมือนกัน ตอนนั้นอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง จำชื่อไม่ได้แต่เราชอบมาก น่าจะใน a day เขาบอกว่า ถ้าเราไม่ลงมือทำความฝันของตัวเอง จะมีคนมาจ้างเราให้ไปทำฝันของเขา คือฝันของคุณ คุณรู้อยู่คนเดียว ถ้าคุณไม่ทำก็จะมีคนมาจ้างคุณให้ไปทำฝันของเขา อ่านแล้วเราก็รู้สึกว่า อื้ม ทำก็ได้ค่ะ (หัวเราะ) 

 

แด่ความฝันที่ยังมีไฟ

 

Q : ชอบอะไรในอาชีพนักลงเสียง

A : เรารู้สึกว่าอาชีพนักลงเสียงมันเป็นงานที่เราทำได้ดี แล้วก็มีรายได้จากงานนี้ เพราะบางอย่างที่เราทำได้ดีแล้วมันไม่ได้มีรายได้ เช่น การทำเพลงนี่แหละ แต่พอเป็นนักลงเสียงเรารู้สึกว่า มาเลยจะให้ทำเสียงแบบไหน มันสนุกมากแล้วก็ได้ตังค์ด้วย เลยรู้สึกว่า นี่แหละทางของเรา นี่คือสิ่งที่เราแฮปปี้กับการลงเสียงเราตอนนี้ 

Q : แล้วร้องเพลงล่ะ อยากทำเป็นอาชีพหลักไหม

A : เรายังอยากร้องเพลงเป็นอาชีพหลักเหมือนเดิมนะ หลัง ๆ ทำเพลงให้คนอื่นเยอะ เริ่มรู้สึกว่าอยากทำเพลงของตัวเอง ร้องเพลงของตัวเองบ้าง อาจจะเป็นห้องเล็ก ๆ 50-60 คนก็ได้ แต่เขาร้องเพลงเราได้ เพราะลงเสียงจะเรียกว่าสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่งก็ได้ มันเหมือนมีคอนเนกชันมีงานอยู่ตลอดแล้ว แต่เพลงยังเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามอยู่ ถ้าเราหยุดก็คือจบ อะไรแบบนี้ เพราะก่อนลงเสียงเราก็เริ่มมาจากอยากเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง ก็เลยรู้สึกว่าเราต้องกลับไปแล้วล่ะ ต้องทำให้มันกลับมาสำหรับความหวังและความฝันตอนนี้ที่ยังมีอยู่

นักพากย์เสียงโฆษณา5

 

เราเคยไปคุยกับพี่แทนไท ประเสริฐกุล เขาพูดใน WITcast ซึ่งเป็นพอดแคสต์ของเขาว่า ‘โชคดีแค่ไหนที่อยู่มาจนป่านนี้แล้วเรายังมีความฝันที่มันยังไม่มอด’ เพราะฉะนั้นทำเถอะ ตอนแรกเราท้อไปแล้วนะ ฟังพี่แทนไทแล้วมีไฟขึ้นมาเลย เราว่ามันมีการส่งพลังกันได้จากคนทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมาก ๆ คือตอนแรกเราก็สงสัยว่าทำเพลงแล้ว เพลงเรามันจะมีประโยชน์กับใครแค่ไหนนะ แต่เวลาที่เราเศร้าหรือเราสนุก พอเราฟังเพลงแล้วเหมือนมีเพื่อน แค่นั้นก็มีประโยชน์แล้วหรือเปล่า เหมือนเราคิดมากว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์หรอก คิดว่ามันไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ไม่ได้ทำอะไรยิ่งใหญ่ แต่ก็แค่อยากทำ เลยเถียงกับตัวเองในใจ จนไปเจอพี่แทนไทพูดคำนี้เลยรู้สึกว่า เออฝันใครฝันมันว่ะ อย่าดูถูกความฝันตัวเองว่ามันเล็กจ้อยหรือว่าอะไร เราเองก็เคยหลงไปสู่จุดที่รู้สึกว่าต้องทำอะไรใหญ่ ๆ รู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ ยังตัวเล็กมาก แต่ที่สุดแล้ว ถ้าเราไม่มีความสุขก่อนใครจะมีความสุขกับเรา

 

ว่าด้วยเรื่องเป็ดเป็ด และการค้นหาตัวเอง

 

Q : อยากให้พี่วอลนัทช่วยแนะนำน้อง ๆ มัธยมที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่

A : อยากฝากไปถึงน้อง ๆ ม.ต้นขึ้นม.ปลายเลยค่ะว่าการเป็นนักเรียนมันดีที่สุดแล้ว เราคิดถึงตอนเรียน มันดีมาก ได้อยู่กับเพื่อนหรืออะไรที่เราสนใจจริง ๆ ช่วงนั้นหาว่าเราชอบอะไร ตอนเด็ก ๆ เราอ่านการ์ตูน ฟังวิทยุแล้วก็อัดเทป ความชอบของเรามันก็มาตั้งแต่ตอนนั้น จนที่สุดแล้วเราก็อยู่กับงานหนังสือ งานเสียง งานเพลงพอมาคิดอีกทีแล้วก็ เออว่ะมันก็มาเป็นตอนนี้หมดเลย หมายถึงตอนเด็ก ๆ เราชอบอะไรเราก็ยังชอบอย่างนั้นแหละ เพียงแต่มันขยายมาเป็นอาชีพ 

Q : บางคนถนัดหลายอย่าง จะเรียกว่าเป็นเป็ดเลยก็ได้ คิดยังไงกับการเป็นเป็ดในยุคนี้

A : เราว่าทุกคนมีความเป็นเป็ดอยู่ในตัว เราจำได้เลยว่าเคยมีคนมาสัมภาษณ์เรา แล้วเราพูดว่าเราเป็นเป็ดแล้วรู้สึกผิด ทำนู่นทำนี่เยอะไปหมดเลย ตอนนี้มันแบบคนละอย่างแล้ว กลายเป็นว่ายิ่งทำได้หลายอย่างยิ่งดีเพราะโลกมันเป็นแบบ multifunction บางทีต้องมีอาชีพสำรอง เรารู้สึกว่าสมัยก่อนความเป็นเป็ดมันผิด แต่ตอนนี้เราว่าความเป็นเป็ดเท่ การทำได้หลายอย่างยิ่งมีโอกาสมาก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่หน่อยเขาก็จะแนะนำให้เราทำทีละอย่าง ซึ่งเราว่ามันก็จริงนะ เพราะเราก็ยังประสบปัญหานี้อยู่ แต่ก็ค่อย ๆ ทำไป อย่าบังคับตัวเองมากจนไม่มีความสุข 

*เป็ด (น.) เป็นคำที่ใช้เปรียบเทียบกับคนที่ถนัดหลายอย่างแต่ไม่เชี่ยวชาญสักอย่าง เหมือนเป็ดที่ว่ายน้ำได้แต่ไม่เก่งเท่าปลา หรือมีปีกแต่บินไม่เก่งเท่านก 

 

นักพากย์เสียงโฆษณา4

 

Q : มีประเด็นหนึ่งที่เด็กรุ่นนี้มักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ ‘สิ่งที่เรียนอยู่มันไม่ใช่ตัวเราจริง ๆ หรือ เราแค่ไม่อดทน’ พี่วอลนัทคิดยังไงกับประโยคนี้ 

A : เราว่าถ้าตื่นมาทุกวันแล้วรู้สึกว่า เฮ้อ ไม่อยากไปเลย นั่นคือไม่ใช่แล้ว มันไม่ควรจะรู้สึกอย่างนั้น ทำงานหรือเรียนก็เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าเรียนคณะนี้ เราจะชอบหรืออยากเรียนไปหมดทุกวิชา เพราะการเรียนก็เหมือนความรัก มันมีสิ่งที่เราชอบและสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสิ่งที่เราชอบมันมีค่ากับเรามากกว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ ก็อาจจะมองข้ามอะไรที่ไม่ชอบไปได้ แต่ถ้ามันมีพาร์ทที่รู้สึกว่า โห นรกทั้งนั้นเลย ไม่ชอบเลย มันมีอย่างอื่นในโลกนี้อีกเยอะแยะที่เราจะชอบมันได้นะเราว่า เปลี่ยนไหมละ (หัวเราะ) ยิ่งเราว่าเด็ก ๆ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ไม่เป็นไร ลองไปเรื่อย ๆ แต่หลายคนเรียนตามที่ที่บ้านบอกแล้วได้ดีก็มีนะ มันแล้วแต่ บางคนที่รู้ชัดไปเลย แล้วเขาโฟกัสไปตรงนั้นจริง ๆ ก็มี ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรยืนยันนะว่าคุณจะทำอะไรสำเร็จหรือไม่สำเร็จ มันคือตัวคุณที่ต้องทำ คงเหมือนที่เราทำเพลง วันนี้ถ้าเราหยุดทำก็คือทุกอย่างหยุด แต่ถ้าทำไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยมันก็มีโอกาสมากกว่าหยุด เลยคิดว่าทำต่อไปเรื่อย ๆ เถอะ 

Q : บางคณะเป็นสายอาชีพเรารู้ว่าเรียนแล้วจบไปทำอะไร แต่สำหรับบางคณะทำงานได้กว้างมาก จะแนะนำน้อง ๆ ยังไงดี

A : การเรียนเป็นคณะนอกจากวิชาการ มันอาจจะได้ประโยชน์เรื่องคอนเนกชัน ซึ่งประโยชน์ของการมีคอนเนกชัน คือมันมีคนมาเห็นสิ่งที่เราทำได้ง่ายกว่า ตอนเราเลือกคณะเราก็ยังงง ๆ นะ แต่เรารู้สึกว่า ไม่ต้องรู้ทั้งหมดหรอก ถ้าไปผิดก็แก้ได้ ชีวิตมันไม่ได้ผิดแล้วจบขนาดนั้น เราว่ามันมีสิ่งที่ดีสำหรับทางที่เราเลือกเสมอ แต่สุดท้ายถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยน ก็ต้องหาทางไปต่อ แต่ถ้าชอบทำอะไร keep doing นะ มีคนเคยบอกว่าให้เราสมมุติแสร้ง (pretend) เหมือนเราเป็นสิ่งนั้น ก่อนเราจะได้เป็นสิ่งนั้นจริง ๆ อย่างเราอยากจะเป็นนักพากย์ พากย์เลย ทำไปจนมันเชี่ยวชาญ วันหนึ่งเราอาจจะโชคดีขึ้นมา หรือถ้าไม่โชคดีเราเอาไปเสนอเองก็ได้ ก็คือลองทำจนกว่าจะได้เป็นจริง ๆ 

 

บาลานซ์ชีวิตในยุคที่ความสุขสวนทางกับการแข่งขัน 

 

Q : ทุกวันนี้พอมีโซเชียลมีเดีย เราอาจจะเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เลยรู้สึกว่าเป็นโลกที่มีการแข่งขันสูงเหมือนกัน ทำยังไงถ้าอยากสำเร็จ แต่ก็ต้องมีความสุขไปด้วย

A : เราเพิ่งอ่านหนังสือไป เขาบอกว่า ทุกอย่างถ้าทำให้มันแออัดกันไปหมดก็ทำให้ไม่มีอะไรโดดเด่น มันก็เหมือนกันหมด แต่ถ้ามันมีช่องว่าง มีการจัดเรียงที่ถูกต้อง มันก็เหมือนเวลาว่างของเรา เพราะฉะนั้นเวลาว่างของเรามันไม่ได้ไร้ค่า มันทำให้สิ่งที่มี มีค่าขึ้นมา เพราะว่าบางทีเรารู้สึกผิดกับความว่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้สึกแบบนั้น  

 

นักพากย์เสียงโฆษณา3-1

 

โลกปัจจุบันพอแข่งขันสูงแล้วเราเปรียบเทียบ เราต้องการจะพิสูจน์ตัวเอง อันนี้เราเคยพูดกับตัวเองนะว่า ถ้าเราไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุขจนกว่าจะสำเร็จ แล้วจุดสำเร็จนั้นมันอยู่ตรงไหน แล้วทุกวันที่ใช้ไปมันไม่มีความสุขเลย เราก็กำลังบอกตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะบางวันก็ยังกดดันตัวเองอยู่ บางทีเราไปเรียนรู้สกิลนู้น สกิลนี้ เราก็เก่งขึ้นนะ แต่จริง ๆ แล้ว เราควรเรียนรู้เข้าไปในจิตใจตัวเองบ้าง เราเลยลองไปอยู่ในที่สงบ ๆ สำรวจภายในจิตใจตัวเอง พอเราไปแล้วก็รู้สึกว่า เออว่ะ ไม่ต้องรีบขนาดนั้นก็ได้ เหนื่อย เรานึกขึ้นมาได้ว่า เราไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุขเลยถ้าเราไม่ไปถึงจุดนั้นน่ะ แล้วถ้าเราไม่ไปถึง เราก็จะทุกข์ไปจนตายเลยเหรอ เลยคิดว่าต้องหาบาลานซ์แล้ว เราว่ามันก็ไม่ได้ชิวไป เพราะถ้าหมดความกะตือรือร้นไปก่อนมันก็ไปไม่ถึง แต่เราก็ต้องเมตตาต่อตัวเองบ้าง บางทีเราบอกว่าอยากมี empathy กับคนอื่น แต่อย่าลืมมี empathy กับตัวเองด้วย


บทสนทนากับพี่วอลนัทวันนี้ นอกจากเราจะได้รู้จักอาชีพนักลงเสียงมากขึ้นแล้วยังได้แรงบันดาลใจใส่กระเป๋ากลับบ้านไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความฝัน การค้นหาอาชีพที่ใช่ และการดูแลใจตัวเอง ถ้าเพื่อน ๆ อยากจะเติมแรงบันดาลใจหรือค้นหาอาชีพที่ใช่สำหรับตัวเอง ก็สามารถติดตามกันต่อได้ในบทความ Interview with Timelie พูดคุยเรื่องเกมกับพี่เจมส์จาก Urnique Studio หรือบทความอื่น ๆ ใน Blog StartDee ของเราได้เลย

แสดงความคิดเห็น