หลักสิทธิมนุษยชน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 วิชาสังคมศึกษา

หลักสิทธิมนุษยชน

StartDee เชื่อว่า ถ้าเพื่อน ๆ เป็นสมปอง ก็คงรู้สึกแบบเดียวกันใช่มั้ยล่ะ ? แม้พวกเราจะยังเป็นเด็ก อาจจะยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่พวกเราก็มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตตาม “หลักสิทธิมนุษยชน” ได้เหมือนกับผู้ใหญ่เลยล่ะ ดังนั้น StartDee จึงอยากเพื่อน ๆ ไปรู้จักหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น สำหรับคนที่อ่านบทเรียนนี้จบแล้ว ก็สามารถไปเรียนต่อเรื่องสิทธิสตรี สิทธิของผู้ลี้ภัย และอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่แอปพลิชัน StartDee ได้เลยนะ

หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) คืออะไร

"สิทธิมนุษยชน" เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ทุกคนได้มาแต่กำเนิด ไม่มีใครพรากไปได้ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะทำงานอะไร เพศใด หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม หากมีใครก็ตามมากีดกันสิทธิ เช่น ห้ามไม่ให้ทำงาน เรียนหนังสือ หรือนับถือศาสนา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แม้ว่าคำว่า “สิทธิมนุษยชน” จะถูกคิดค้นขึ้นมาในยุคสมัยใหม่ของมนุษย์นี่เอง แต่แนวคิดสิทธิมนุษยชนนั้นมีมานานมากแล้ว โดยเริ่มต้นมาจากกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) คือกฎที่ว่าด้วยการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ (Natural Rights) อันประกอบไปด้วยการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การศึกษาเล่าเรียน การทำงาน และการมีครอบครัวของผู้คนนั่นเอง

แต่ถ้าจะพูดถึงการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้คน อาจต้องย้อนกลับไปนานถึง 1,000 ปี ในยุคสมัยของพระเจ้าไซรัสมหาราชแห่งเปอร์เซีย หลังจากยึดครองกรุงบาบิโลน และสถาปนาอาณาจักรของตัวเองขึ้นบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนได้สำเร็จ พระองค์ได้ปลดปล่อยทาสและเชลยศึกให้กลับภูมิลำเนา และให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงว่ามนุษย์เรามีการให้สิทธิเสรีภาพกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ที่พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษลงนามในมหากฎบัตร (Magna Carta) เพื่อให้สิทธิแก่ขุนนางในการเจรจาต่อรองกับพระมหากษัตริย์ได้ (เพื่อน ๆ สามารถอ่านเรื่องมหากฎบัตร (Magna Carta) กันต่อได้ที่บทเรียนเรื่อง พัฒนาการทางการเมืองในทวีปยุโรป คลิกเลย !) ส่วนในสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกบัญญัติสิทธิ (ฺBill of Rights) เกี่ยวกับสิทธิเสรีของพลเมืองสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

ในปีพ.ศ. 2491 มีการออกปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ที่ได้รับการรับรองจากสมาชิกทั่วโลก ทำให้หลักสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นหลักการสากลอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก โดยประเทศต่าง ๆ ในโลก ต่างก็ยึดถึอหลักการของปฏิญญาสากลนี้ในการออกกฎหมายและให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อหลักการของสิทธิมนุษยชนกลายเป็นปฏิญญาสากลที่ทุกคนยึดถือแล้ว การกีดกันด้านเชื้อชาติ เพศ และด้านอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ หมดไป มีการเปิดกว้างในด้านของการใช้ชีวิตตามที่แต่ละบุคคลต้องการโดยไม่ละเมิดกฎหมาย นอกจากนั้น หลักการนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนต่อสู้และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตนเองได้ถ้าเห็นถึงความไม่เป็นธรรม เช่น การเรียกร้องสิทธิของแรงงาน การเรียกร้องสิทธิการลาคลอดของสตรีทั่วโลกที่มีมานานก่อนหน้านี้แล้ว โดยผู้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ต่างก็ได้รับสิทธิที่เกิดจากการต่อสู้ของผู้คนในอดีตทั้งสิ้น และสำหรับอนาคตข้างหน้า ก็อาจมีการต่อสู้ในสิทธิมนุษยชนต่อไปอีกเรื่อย ๆ ในเรื่องต่าง ๆ เช่นกัน

ข้อจำกัดของสิทธิมนุษยชน

Magna_Carta-มหากฎบัตร

มหากฎบัตร (Magna Carta) ขอบคุณรูปภาพจาก The 101.World

ถ้าหากว่ามีผู้ละเมิดกฎหมายของประเทศหรือของรัฐ ผู้นั้นอาจถูกจำกัดสิทธิบางอย่างได้ เช่น ผู้ที่ฉกชิงวิ่งราว หรือก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ก็อาจถูกคุมขัง หรือลิดรอนสิทธิบางอย่าง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรละเมิดกฎหมาย เพราะการละเมิดกฎหมายจะทำให้เราโดนจำกัดสิทธินั่นเอง

ก่อนจะจบบทเรียนนี้กันไป StartDee ขอทดสอบเพื่อน ๆ สักนิด อยากรู้จังว่า จากตัวเลือก 5 ข้อด้านล่าง ข้อไหนกันนะที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

  1. เกริกเป็นจำเลยคดีค้ายาต้องใส่กำไลข้อเท้า (EM) เพื่อคุมความประพฤติ
  2. แก้วตาไม่อนุญาตให้ลูกเรียนหนังสือ เพราะความพิการทางด้านร่างกายแต่กำเนิด
  3. กฤษฎาออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่มไม่ได้เพราะรัฐประกาศเคอร์ฟิว
  4. มงคลเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงการทำงานของรัฐบาลโดยสงบ
  5. ฤดีไม่อนุญาตให้บริษัทนำข้อมูลส่วนตัวไปเปิดเผยต่อสาธารณะ

ถ้าอยากรู้เฉลย โหลดแอป StartDee ได้เลย หรือจะไปเรียนกันต่อที่ ปัญหาการเมืองไทยและการตรวจสอบอำนาจรัฐ และพลเมืองดี ก็ได้เช่นกัน

 

Did you know...สรุปย่อ ๆ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 16 ข้อแรก

จริง ๆ แล้วมีถึง 30 ข้อด้วยกัน แต่ StartDee กลัวเพื่อน ๆ จะเหนื่อยเสียก่อน เลยเอามาให้ดูกันแค่ 16 ข้อเท่านั้น 

ข้อที่ 1 เราทุกคนเกิดมามีอิสระ มีความคิดเป็นของตนเอง และควรได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน

ข้อที่ 2 สิทธิในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นของทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มาจากไหน และมีความเชื่อแบบใด

ข้อที่ 3 เราทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต และใช้ชีวิตอย่างอิสระและปลอดภัย

ข้อที่ 4 ไม่ควรมีใครเป็นทาส และไม่มีใครมีสิทธิที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างทาสของตนได้

ข้อที่ 5 ไม่มีใครมีสิทธิที่จะทรมาน หรือปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม

ข้อที่ 6 เราทุกคนควรมีกฎหมายคุ้มครองในระดับเดียวกัน ไม่ว่าเราจะเป็นใครหรืออยู่ที่ใดในโลกก็ตาม

ข้อที่ 7 กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ต่อเราทุกคนเหมือนกัน และปฏิบัติต่อเราทุกคนอย่างเท่าเทียม

ข้อที่ 8 เราทุกคนควรมีสิทธิได้รับการสนับสนุนทางกฎหมาย หากได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ข้อที่ 9 ไม่ควรมีใครถูกจับ จำคุก หรือส่งตัวออกนอกประเทศ เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรที่จะทำเช่นนั้น

ข้อที่ 10 ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมและเปิดเผย และผู้พิจารณาคดีควรเป็นอิสระและไม่ได้รับอิทธิพลจากผู้อื่น

ข้อที่ 11 ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมมมีสิทธิในการได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์อย่างเป็นธรรมว่ามีความผิด

ข้อที่ 12 ไม่มีใครมีสิทธิ์ล่วงล้ำเข้ามาในเคหะสถาน เปิดจดหมาย หรือล่วงละเมิดครอบครัวของเราโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้เรายังมีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองหากมีคนพยายามทำลายชื่อเสียงอย่างไม่เป็นธรรม

ข้อที่ 13 เราทุกคนมีสิทธิที่จะโยกย้ายอย่างอิสระภายในประเทศของเรา นอกจากนั้นยังสามารถเยี่ยมชมและเดินทางออกจากประเทศอื่น ๆ เมื่อเราต้องการ

ข้อที่ 14 หากเราตกอยู่ในอันตราย เรามีสิทธิที่จะไปประเทศอื่นเพื่อขอความคุ้มครอง

ข้อที่ 15 เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่มีผู้ใดขัดขวางเราจากการเป็นพลเมืองของประเทศอื่นได้นอกจากจะมีเหตุผลอันสมควร

ข้อที่ 16 เราทุกคนควรมีสิทธิในการแต่งงานและมีครอบครัวเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว เชื้อชาติ สัญชาติ และศาสนาไม่ควรเป็นสิ่งที่ขัดขวางสิทธิของเราได้ ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งในคราวที่แต่งงานและแยกทาง และเราไม่ควรถูกบังคับให้แต่งงาน โดยรัฐมีหน้าที่ปกป้องเราและครอบครัว

 

ที่มา : https://www.amnesty.org.uk/universal-declaration-human-rights-UDHR

ขอบคุณข้อมูลจาก : สุรรังสรรค์ ผาสุขวงษ์ (ครูกอล์ฟ)

 

แสดงความคิดเห็น