ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเมืองจะเป็นเรื่องของ "เด็ก"
ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้ง 19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมากับการยื่นข้อเรียกร้องหาแนวทางการแก้ปัญหาประเทศให้เป็นรูปธรรม ภายใต้ชื่อ "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร"โดยไม่ใช้ความรุนแรง เชื่อมั่นในกลไกกติกาและสิทธิ์ของพลเมืองที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการให้เด็กออกหน้า แต่หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์การชุมนุมทางการเมืองของไทยแล้วนั้น เด็กกับการเมืองมีความผูกพันแน่นแฟ้นและมีเนื้อหาอยู่ในห้องเรียนมากกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจ
หากพูดถึงเรื่องการชุมนุมหรือการรวมกลุ่มทางการเมืองของเด็กไทยนั้น มีมาตั้งแต่ปี 2483 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั้งในปี 2500 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันรวมตัวเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน กระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สามารถล้มเผด็จการทำให้ "จอมพลถนอม-ประภาส" ต้องออกนอกประเทศ จากนั้นการเมืองไทยได้เข้าสู่การพัฒนาประชาธิปไตย เกิดการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงมีรัฐธรรมนูญในปี 2517 จนกระทั่งมีการก่อตั้ง "สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" หรือ สนนท. ขึ้นในปี 2527
ภาพการชุมนุมประท้วงการเลือกตั้ง 2 มีนาคม 2500 (ภาพจากหนังสือแผนชิงชาติไทย)
ขอบคุณรูปภาพจาด https://www.silpa-mag.com/history/article_45999
เด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา = ประชาชน
ในช่วงตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา เป็นยุคที่การเมืองไทยเป็นของพลเมืองหรือประชาชนมากยิ่งขึ้น บทบาททางการเมืองของเด็กและ สนนท. ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในประเด็นปัญหาภาคประชาชนต่างๆต่อรัฐบาลหรือบทบาทระดับชาติในประเด็นปัญหาของประชาธิปไตย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า การเป็นตัวแทนในภาคประชาชนโดยไม่คำนึงถึงอายุหรือเด็ก ๆ นั้นถือเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิ์มีเสียง สามารถมีส่วนร่วมและแสดงออกในเรื่องทางการเมืองและประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าในอดีต
ภาพนักเรียนถือป้ายประท้วง จาก มติชนสุดสัปดาห์
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_285404
บทเรียนการเมืองในโรงเรียน อาจไม่ใช่บทเรียนการเมืองในประเทศ
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมล้วนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความผูกพัน และบทบาท รวมถึงการจัดการศึกษาของเด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษาในประเทศ แม้ว่าบทเรียนในตำราจากอดีตถึงปัจจุบันจะให้ความรู้ในเชิงหลักการและรูปแบบ แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการสร้างความเข้าใจในการดำรงชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยในลักษณะที่นำไปใช้ได้จริงในวิถีชีวิตประจำวัน แม้จะมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลานาน
ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหาในหนังสือเรียนที่ยังคงให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของรัฐในฐานะที่เป็นตัวกำหนดหรือเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการสร้างและปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เหมาะสมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว หน้าที่ในการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในสังคมควรเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนและหน่วยงานหรือองค์กรทุกฝ่าย และสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในประชาสังคม เป็นต้น ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของการเมืองและการปกครองที่อยู่ในเนื้อหาบทเรียนถูกสอดแทรกและหล่อหลอมทำให้เด็กและการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ขาด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันช่วงวัยของเด็กที่มีส่วนร่วมทางการเมืองกว้างขึ้น มีการแสดงออกชัดเจนขึ้น เพราะเด็กรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของตัวเอง เด็กสามารถคิดและมีพื้นที่ของความแตกต่างในเรื่องการเมือง ที่สำคัญตัวเด็กเองรู้ว่าจะทำอะไรได้บ้างแม้ในตำราเรียนไม่ได้สอนก็ตาม
#เด็กกับการเมือง #เด็กกับประชาธิปไตย #เด็ก #การเมือง #ประชาธิปไตย #บทเรียน #บทเรียนการเมือง
Reference:
ลอตระกูล, ส. (1986). การวิเคราะห์พัฒนาการขบวนนิสิตนักศึกษา. Retrieved October 01, 2020, from https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b1026865
กีรติวรนันท์, ว. (n.d.). การเคลื่อนไหวของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.). Retrieved October 01, 2020, from http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเคลื่อนไหวของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
นิ่มนวล, น. (2016). การเมืองในแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2503-2551. Retrieved October 01, 2020, from http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5303030125_5966_4378.pdf