'ใกล้สอบแล้วแต่อ่านหนังสือไม่ทัน ทำยังไงดี?' 'อ่านหนังสือ 5 นาทีแต่เล่นมือถือ 2 ชั่วโมง เผลอแป๊บเดียวก็หมดวันซะแล้ว!' เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนต้องเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ระหว่างเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบแน่นอน สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเหล่านี้มักเกิดจากการบริหารจัดการเวลาที่ไม่มีประสิทธิภาพและการไม่มีสมาธิจดจ่อกับการอ่านหนังสือที่มากพอ แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักตัวช่วยในการบริหารเวลาที่สนุกและได้ผลดีมาก ๆ ซึ่งก็คือเทคนิคการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศ (Pomodoro technique) นั่นเอง
Pomodoro technique คืออะไร? ทำไมต้องเป็นมะเขือเทศ?
Pomodoro technique คือเทคนิคการบริหารจัดการเวลาที่พัฒนาโดยคุณฟรานเซสโก ซิริลโล (Francesco Cirillo) นักให้คำปรึกษาอิสระชาวอิตาลี เทคนิคนี้ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ช่วงปลาย ค.ศ. 1980 โดย Pomodoro เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า ‘มะเขือเทศ’ ซึ่งมีที่มาจากนาฬิกาจับเวลารูปทรงมะเขือเทศของคุณฟรานเซสโกนั่นเอง หลักการสำคัญของการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศคือเราจะแบ่งเวลาออกเป็นช่วงหลัก ๆ คือช่วงที่ต้องทำงานอย่างตั้งใจสลับกับช่วงของการพักสั้นๆ การทำแบบนี้จะทำให้เรามีสมาธิจดจ่อกับการทำงานอย่างเต็มที่และไม่อ่อนล้ากับการทำงานหรืออ่านหนังสือนานจนเกินไป ฟังแล้วดูน่าสนใจมาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะ!
เตรียมพร้อมไอเท็มสำหรับการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศ
- กระดาษแผ่นเล็ก ๆ สำหรับจดรายการสิ่งที่ต้องทำ
- แอปพลิเคชันสำหรับจับเวลา โดยเพื่อน ๆ สามารถค้นหาคำว่า Pomodoro หรือ Tomato timer ใน App store แล้วเลือกแอปพลิเคชันสำหรับจับเวลาที่ชอบได้เลย หรือถ้าใครกลัวตัวเองจะเผลอเล่นโทรศัพท์จนไม่ได้อ่านหนังสือตามที่ตั้งใจไว้ นาฬิกาจับเวลาแบบพกพาก็เป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
เทคนิคการอ่านหนังสือแบบมืออาชีพ เริ่มบริหารเวลาแบบมะเขือเทศด้วย 3 ขั้นตอนหลักง่าย ๆ
- เลือกจดสิ่งที่ต้องทำ
เริ่มเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำหรือ To do list ลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ การเรียงลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนจะทำให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องทำมากยิ่งขึ้น - เริ่มทำงานและพักแบบจับเวลากันเลย!
ตั้งเวลาให้นับถอยหลังแล้วเริ่มทำงานตามที่วางแผนไว้ สัดส่วนเวลาที่เหมาะสมของเทคนิคการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศก็คือ 25 นาทีสำหรับการอ่านหนังสือหรือทำงานอย่างตั้งใจ ห้ามมีอะไรมารบกวน และอีก 5 นาทีสำหรับการพักช่วงสั้น ๆ เราเรียก 30 นาทีนี้ว่า 1 Pomodoro
*หมายเหตุ: ช่วงเวลาสำหรับการทำงานของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ถ้ารู้สึกว่า 25 นาทีสั้นเกินไปก็สามารถปรับให้นานขึ้นตามความชอบของเราได้นะ - ทำซ้ำจนครบก็จะได้พักยาว ๆ
ทำข้อสองซ้ำจนครบสี่ครั้งก็จะเป็นเวลาสองชั่วโมงพอดี จากนั้นเราจะให้รางวัลตัวเองเป็นการพักให้เต็มที่สัก 15-30 นาทีแล้วค่อยเริ่มทำงานใหม่อีกครั้งก็ยังได้
หลายคนที่ลองใช้เทคนิคนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหลังจากลองบริหารเวลาแบบมะเขือเทศแล้วรู้สึกว่าเวลาสองชั่วโมงทำอะไรได้มากกว่าที่คิด นับเป็นอีกเทคนิคง่าย ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและอ่านหนังสืออย่างได้ผลจริง ๆ นอกจากการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ลองอ่านบทความ จำได้แม่นเวอร์ ! 5 เคล็ดลับดีๆ กับวิธีอ่านหนังสือสอบให้เข้าสมอง
นอกจากนั้น การมีตัวช่วยในการเรียนดี ๆ อย่าง StartDee ก็ช่วยให้เราประหยัดเวลาในการอ่านหนังสือไปได้เยอะเหมือนกัน ใครลองทำเทคนิคไหนแล้วได้ผลอย่างไรอย่าลืมกลับมาแชร์กันบ้างนะ!