Critical thinking คืออะไร พร้อม 5 เทคนิคสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

Critical-thinking-คืออะไร

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราคงได้ยินคำว่า Critical thinking กันจนชินหู เพราะทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นี้ คือหนึ่งในทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21 แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ “จริง ๆ แล้ว Critical Thinking นั้นมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรีก” และถึงจะมีความเป็นนามธรรมจนดูฝึกฝนได้ยาก และนิยามไม่ได้ง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้ว Critical thinking เป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ และคล้ายคลึงกับธรรมชาติของการเรียนรู้มากกว่าที่เราคิด

 

เรียนรู้จากการตั้งคำถามแบบโสเครติส: จุดเริ่มต้นของการคิดเชิงวิพากษ์

ย้อนไปเมื่อ 2,500 ปีก่อน โสเครตีส (Socrates) นักปรัชญาคนสำคัญแห่งยุคกรีกโบราณได้วางรากฐานของการแสวงหาความจริงด้วยการตั้งคำถามหรือวิภาษวิธี (dialectic) โดยใช้การตั้งคำถามแบบโสเครตีส (Socratic Questioning) เป็นเครื่องมือ หลักการพื้นฐานคือ “ตั้งคำถามให้ลึก” เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริงก่อนจะปักใจเชื่อข้อมูลเหล่านั้น ถึงแม้การตั้งคำถามของโสเครตีสจะดูเป็นการท้าทายอำนาจ และความเชื่อที่มีอยู่เดิมของชาวกรีก (จนทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในท้ายที่สุด) แต่กระบวนการวิภาษวิธียังคงเป็นวิธีการที่ทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ แนวคิดของโสเครตีสจึงถูกถ่ายทอดเรื่อยมาโดยลูกศิษย์ของเขา

The_Death_of_Socratesภาพโสเครตีสกำลังจะดื่มยาพิษ ท่ามกลางความโศกเศร้าของบรรดาลูกศิษย์ใน The Death of Socrates โดย Jacques-Louis David ขอบคุณรูปภาพจาก commons.wikimedia.org

จากนั้นกระบวนการคิดและการตั้งคำถามก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยนักคิดและนักวิชาการแขนงต่าง ๆ จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 การศึกษาอิทธิพลของการคิดเชิงวิพากษ์กับการเรียนรู้ก็แพร่หลายมากขึ้น โดยงานวิจัยหลายฉบับยืนยันว่าเด็ก ๆ ที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านอาชีพ ความมั่นคงทางการเงิน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ค่อยพบปัญหาขั้นเลวร้ายในชีวิตมากนัก ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรการศึกษาใหม่ในศตวรรษที่ 21 จึงเน้นส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อให้เด็ก ๆ ฝึกคิดอย่างรอบคอบและมีวิจารณญาณมากขึ้น

 

Critical thinking คืออะไร ?

เพราะเป็นทักษะที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม การนิยามความหมายของ Critical thinking อย่างตรงไปตรงมาจึงเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่หากพูดถึงในทางปฏิบัติ การคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical thinking คือการคิดและตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ เน้นพิจารณาองค์ประกอบของข้อมูลนั้น ๆ อย่างรอบคอบ คิดเชื่อมโยงกับประเด็นต่าง ๆ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง หรือผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ และมองลึกลงไปจนเห็นอคติหรือจุดมุ่งหมายที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลชุดนั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้เราตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น รอบคอบมากขึ้น 

สร้าง-critical-thinkingขอบคุณรูปภาพจาก unsplash.com

โดยคุณปีเตอร์ เอลเลอร์ตัน (Peter Ellerton) ผู้สอนวิชา Critical thinking ในมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ได้เสนอปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ไว้ 4 ประการ ได้แก่

  1. หลักการโต้แย้ง (argumentation) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามและการหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนแนวคิดต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปหรือทางเลือกที่ดีที่สุด
  2. หลักการใช้เหตุผลและตรรกะ (logic) หลักการใช้เหตุผล และตรรกะมีบทบาทอย่างมากต่อการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาสนับสนุนสมมติฐานหรือแสดงจุดยืนของตน นอกจากนี้การให้เหตุผลแบบผิด ๆ หรือเหตุผลวิบัติ (fallacies) ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก ๆ เพราะอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
  3. หลักจิตวิทยา (psychology) ในบางครั้งข้อมูลที่เราได้รับก็ไม่ได้มีเพียงข้อเท็จจริง แต่ยังมีอคติ อารมณ์ ความเห็นส่วนตัว หรือจุดมุ่งหมายอื่นแอบแฝงอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้รับข้อมูลที่เอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ การเข้าใจหลักจิตวิทยาพื้นฐานจึงช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดและการตัดสินใจที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น
  4. หลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (the nature of science) กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ การทดลองเพื่อหาข้อสรุป รวมถึงสถิติและข้อมูลต่าง ๆ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การคิดอย่างรอบคอบและมีวิจารณญาณในท้ายที่สุด



5 เทคนิคง่าย ๆ เสริมสร้าง Critical thinking ได้ในชีวิตประจำวัน

ถึงจะเป็นทักษะที่ดูซับซ้อน แต่เราสามารถฝึกฝนทักษะ Critical thinking ได้ง่าย ๆ ด้วยเทคนิคทั้ง 5 ที่คุณซาแมนธา อะกูส (Samantha Agoos) เสนอไว้ใน TED - ed ตอน 5 tips to improve your critical thinking 

 

  1. ฝึกตั้งคำถาม
    ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวแล้วเริ่มหาข้อมูล หรือถ้ามีผลลัพธ์ที่ต้องการในใจอยู่แล้วก็ลองคิดหาวิธีการที่จะทำให้ผลลัพธ์นั้นเกิดขึ้นได้โดยเปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย และปัจจัยต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ จากนั้นจึงเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด

  2. รวบรวมข้อมูล
    เมื่อมีคำถามคาใจ การหาคำตอบในยุคดิจิตอลไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในที่นี้อาจเป็นเปเปอร์ งานิจัยที่แหล่งที่มาชัดเจน หรือคำแนะนำโดยตรงของผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่าลืมรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง และนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อพิจารณาอย่างละเอียดอีกทีด้วยนะ

  3. ลองนำข้อมูลไปใช้
    การนำข้อมูลไปใช้ในที่นี้รวมถึงการตั้งคำถามกับข้อมูลนั้นด้วย นอกจากการตรวจสอบว่าข้อมูลนี้ตอบคำถามที่เราสงสัยได้ตรงประเด็นหรือไม่ การตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับข้อมูลที่ได้มาก็เป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน ลองใช้คำถามพื้นฐาน เช่น “แนวคิดหลัก ๆ ของข้อมูลชุดนี้คืออะไร” “มีสมมติฐานอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกบ้าง” “เราตีความข้อมูลนี้ได้ถูกต้องและสมเหตุสมผลแล้วใช่ไหม” หรือจะลองตั้งคำถามด้วยวิธีการตั้งคำถามแบบโสเครตีสก็ได้เช่นกัน

  4. คิดถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
    ไม่ว่าเราจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรก็จะมีผลจากการตัดสินใจนั้น ๆ ตามมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้นและในระยะยาว ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม การได้ลองคิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้เกิดผลอะไรตามมาบ้าง จะช่วยให้เราตัดสินใจได้รอบคอบกว่าเดิม

  5. สำรวจมุมมองอื่น ๆ
    ลองมองประเด็นเดียวกันจากขั้วความคิดตรงข้ามหรือสำรวจมุมมองอื่น ๆ อาจช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ช่วยอธิบายประเด็นที่เราสงสัย และช่วยให้การตัดสินใจของเรามีน้ำหนักมากขึ้น

ในยุคที่เข้าถึงข่าวสารได้ง่าย แถมข้อมูลมากมายก็ลอยอยู่ทั่วโลกอินเทอร์เน็ต การคิดเชิงวิพากษ์เป็นทักษะที่จะช่วยให้เราแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือออกมาได้ รวมถึงช่วยให้เราตัดสินใจ และแสดงจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อน ๆ สามารถนำเทคนิคการคิดเชิงวิพากษ์ที่เรานำมาฝากไปประยุกต์ใช้กับการรับข่าวสารในชีวิตประจำวัน  หรือจะไปพัฒนาตนเองกันต่อในบทความ 5 ฮาวทูเสริมทักษะนอกห้องเรียน แล้วไปต่อที่ห้องเรียนศตวรรษที่ 21 กับ StartDee ก็ได้เช่นกัน

 

 References:

https://www.criticalthinking.org/pages/a-brief-history-of-the-idea-of-critical-thinking/408

https://thepotential.org/knowledge/how-to-critical-thinking/

https://www.weforum.org/agenda/2014/12/how-to-teach-students-to-think-critically/

แสดงความคิดเห็น