ชวนทำชวนใช้: เทคนิคจดเร็วโน้ตไวด้วยการใช้สัญลักษณ์และตัวย่อ

เทคนิคจดเร็ว

เรียนในห้องก็จดไม่ทัน เรียนออนไลน์ก็จดไม่ทัน เรียนที่ไหนก็จดไม่เคยทันมันเป็นเพราะอะไรกันนะ ! อ๊ะ ๆๆ อย่าเพิ่งโวยวายเพราะวันนี้เคล็ดลับเรียนดีจาก StartDee มีทริกดี ๆ มาฝากเพื่อน ๆ นั่นก็คือ “เทคนิคจดโน้ตไวสายฟ้าแลบด้วยสัญลักษณ์และตัวย่อ” นั่นเอง แถมเรายังมีทริกการสร้างสัญลักษณ์และตัวย่อไว้ใช้เองเก๋ ๆ แบบไม่ซ้ำใครมาให้เพื่อน ๆ ลองใช้ดูกันด้วยนะ

 

ทำไมต้องใช้สัญลักษณ์และตัวย่อ ?

อีกหนึ่งปัญหาที่เราพบบ่อย ๆ ระหว่างการจดก็คือคุณครูมักจะพูดเร็ว (กว่าความเร็วในการจดของเรา) เสมอจนเราไม่สามารถจดตามที่คุณครูทุกคำได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ จดไม่ทันแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจดช้าแต่อย่างใด แต่วิธีที่จะทำให้เราจดโน้ตได้มีประสิทธิภาพมากและรวดเร็วมากขึ้นก็คือการจดเฉพาะไอเดียที่สำคัญ รวมถึงใช้ตัวย่อและสัญลักษณ์เข้ามาช่วยในการจด ซึ่งจะทำให้เราประหยัดเวลาในการเขียนประโยคยาว ๆ และเหลือเวลามาโฟกัสกับสิ่งที่คุณครูพูดได้มากขึ้น

 

ชวนทำ: ทำความรู้จักสัญลักษณ์และตัวย่อ

ตัวย่อ (Abbreviation) และสัญลักษณ์ (Symbol) มีความแตกต่างกันแบบเห็นได้ชัด ๆ ก็คือตัวย่อมักเป็นการย่อคำยาว ๆ ให้สั้นลง ส่วนสัญลักษณ์อาจเป็นการใช้รูป เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ หรือไอคอน (Icon) ที่เห็นบ่อย ๆ มาใช้แทนการเขียนคำยาว ๆ ไปเลย

สำหรับตัวย่อ เราสามารถพบตัวย่อได้บ่อยในชื่อองค์กรต่าง ๆ เช่น Association of Southeast Asian Nations ที่ย่อแล้วเหลือแค่ ASEAN เท่านั้น ตัวย่อที่ใช้กันเป็นประจำและรู้กันโดยทั่วไปนั้นมีอยู่เยอะมาก แถมมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ (แน่นอน ภาษาที่สามอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่นก็มีเช่นกัน) โดยเราสามารถหยิบตัวย่อเหล่านี้มาใช้ในการจดโน้ตได้ทันที

ตัวย่อภาษาไทยที่ใช้บ่อย

ก.

= การ

ค.

= ความ

ตย.

= ตัวอย่าง
ปย. = ประโยชน์

 

ตัวย่อภาษาอังกฤษที่ใช้บ่อย 

Ex. = example
b/w = between
btw = by the way
w/ = with
w/o = with out
w/i = with in
Etc.  = อื่น ๆ 
TH = Thailand (เมืองหรือชื่อประเทศอื่น ๆ ก็ใช้ตัวย่อของประเทศนั้น ๆ ได้เช่นกัน)
BKK = Bangkok

Banner-Green-Standard

นอกจากตัวย่อสำเร็จรูปที่เรานำมาฝาก เพื่อน ๆ ยังสามารถย่อคำศัพท์ยาว ๆ ที่เราใช้บ่อยให้เป็น “ตัวย่อพิเศษ” ที่มีแค่เราที่รู้ความหมายได้เหมือนกัน วิธีการก็ไม่ยาก เช่น

  1. ย่อให้เหลือแค่พยางค์แรก: สำหรับคำที่เราพอจะเดารูปคำเต็ม ๆ ได้อย่างพวกชื่อวิชา เราแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองจดแค่พยางค์แรกหรือเลือกใช้คำที่สั้นกว่า เช่น 

    วิทยาศาสตร์ ย่อเป็น วิทย์
    Introduction ย่อเป็น intro
  2. เก็บพยางค์แรกและตัวอักษรตัวสุดท้ายไว้: แต่ถ้ากลัวว่ามาอ่านที่หลังแล้วจะเดาคำเต็ม ๆ ไม่ออก จะใส่ตัวอักษรตัวสุดท้ายเข้ามาด้วยก็ได้ เช่น Government ย่อเป็น govt หรือ gov’t Development ย่อเป็น devt หรือ dev’t 

    Government ย่อเป็น govt หรือ gov’t 
    Development ย่อเป็น devt หรือ dev’t 
  3. ตัดสระและตัวสะกดออกไป: การตัดสระและตัวสะกดออกไปเหลือไว้แค่พยัญชนะต้นก็ทำให้คำต่าง ๆ สั้นลงได้มาก เทคนิคนี้พบได้บ่อยมาก ๆ ในการคิดตัวย่อต่าง ๆ เช่น

    สิ่งแวดล้อม ย่อเป็น สวล
    เศรษฐกิจ ย่อเป็น ศฐก
    กระบวนการ ย่อเป็น กบก
    Background ย่อเป็น bg

     

  4. จดให้เหมือนการออกเสียง: วิธีนี้ง่ายแถมไม่ซับซ้อนเลย ด้วยการจดออกมาเป็นคำสั้น ๆ ที่เหมือนกับเวลาเราพูดออกเสียงคำนั้น เช่น

    English ย่อเป็น อิ้ง, อิ๊ง

     

ส่วนการใช้สัญลักษณ์ก็ไม่ยากแต่อาจจะต้องใช้จินตนาการและศิลปะการวาดรูปมากกว่าการย่อคำนิดหน่อย เพื่อน ๆ ที่เป็นมือใหม่อาจเริ่มใช้เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์หรือสัญลักษณ์ที่พบได้บ่อย ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจด ถ้าเริ่มเก่งแล้ว จะลองสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาใช้เองก็ย่อมได้ ตัวอย่างสัญลักษณ์ที่เราพบได้บ่อย ๆ เช่น


ตัวย่อ-จดโน้ต

ชวนใช้: มาใช้สารบัญตัวย่อและสัญลักษณ์กันเถอะ

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้การใช้ตัวย่อและสัญลักษณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็คือการทำ “สารบัญสัญลักษณ์และตัวย่อ” นั่นเอง เมื่อจดบันทึกไปเรื่อย ๆ คลังตัวย่อของเราก็อาจจะเยอะขึ้นและอาจจะเริ่มมึนได้ ลองใช้เวลาว่าง ๆ รวบรวมตัวย่อและสัญลักษณ์ที่เราใช้ลงในกระดาษซักแผ่นเอาไว้เปิดดูเวลาไม่เข้าใจ วิธีนี้จะช่วยให้เรามึนกับสารพัดตัวย่อน้อยลงได้เยอะ

 

เทคนิคจดเร็วขอบคุณรูปภาพจาก lifebywhitney

 

หวังว่าเทคนิคการจดโน้ตด้วยสัญลักษณ์และตัวย่อที่เรานำมาฝากจะทำให้เพื่อน ๆ สนุกกับการจดโน้ตและทำสรุปมากขึ้น และถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากได้ไอเดียสำหรับการจดโน้ตเพิ่มเติมก็คลิกไปอ่านบทความ ​Studygram ของเราต่อได้เลย !

อย่าลืมใช้เทคนิคนี้ในการอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนกับแอปพลิเคชัน StartDee นะ ส่วนใครที่ยังไม่โหลดก็เชิญไปตำกันได้เลย

 

Reference:

Smith, S. (2020, April 28). Using symbols & abbreviations. Retrieved June 12, 2020, from https://www.eapfoundation.com/listening/notetaking/symbols/

แสดงความคิดเห็น