อืม… ดูเผิน ๆ แล้วข้อนี้ไม่น่ายาก แต่พอลองแก้โจทย์จริง ๆ ดันทำผิดเฉย ! ทำไมกันล่ะเนี่ยยยย
เริ่มตะลุยโจทย์กันไปไม่เท่าไหร่ เพื่อน ๆ ก็ต้องเหนื่อยใจกับโจทย์ยาก ๆ ที่คิดเท่าไหร่ก็แก้ไม่ตก หลายคนเริ่มท้อเพราะทำโจทย์ฟิสิกส์ไม่ได้สักที ไม่วาดรูปผิดก็แทนค่าผิด ไม่คิดเลขผิดก็ใส่หน่วยผิดบ้าง เริ่มจะเหนื่อยแล้วนะ ! แต่อย่าเพิ่งหมดไฟถ้ายังไม่ได้ลองเทคนิคการทำโจทย์ฟิสิกส์ที่ StartDee นำมาฝาก จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย !
1. ทำความเข้าใจโจทย์ฟิสิกส์
เมื่ออ่านโจทย์เสร็จ ขั้นตอนแรกให้เพื่อน ๆ ลองคิดภาพตามโจทย์ก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง (ถ้าคิดเป็นภาพเคลื่อนไหวได้จะดีมาก ๆ) จากนั้นพยายามทำให้โจทย์คิดได้ง่ายขึ้นด้วยการตัดตัวแปรที่ไม่จำเป็นออกไป ลองวาดภาพออกมา แล้วแทนค่าตัวแปรที่ทราบค่าลงไปในรูป ยกตัวอย่าง โจทย์ฟิสิกส์ เรื่อง การเคลื่อนที่แนวตรง ข้อนี้
มะเฟืองยืนอยู่บน ตึกสูง 500 m ปล่อยลูกบอลลงมาจากตึก อยากทราบว่าลูกบอลจะตกถึงพื้นเมื่อเวลาผ่านไปเท่าใด
จากโจทย์ที่ให้มา ถ้าเรามองหาคีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญก็จะเห็นคำว่า ตึกสูง 500 m และ ปล่อยลูกบอลลงมาจากตึก เราสามารถทำให้โจทย์ง่ายขึ้นได้ด้วยการไม่คิดความสูงของมะเฟือง (เพราะโจทย์ก็ไม่ได้ระบุมาด้วย ดังนั้นไม่ต้องคิดก็ได้) จากนั้นก็วาดภาพ ตึกสูง 500 m และ ลูกบอลที่กำลังตกลงมาจากตึก ออกมาดังรูปนี้ แล้วจึงแทนค่าตัวแปรต่าง ๆ ลงไป
จะเห็นว่าตัวแปรที่โจทย์ให้มามีแค่ความสูงของตึก (s = 500 m) ส่วนตัวแปรอื่น ๆ เราต้องรู้ได้เองตามทฤษฎีบทที่เรียนมา เช่น ลูกบอลเคลื่อนที่จากจุดหยุดนิ่ง ดังนั้นความเร็วต้น (u) ของลูกบอลจะมีค่าเท่ากับ 0 m/s ส่วนค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วง (g) ปกติจะมีค่าประมาณ 9.8, 9.81 หรือ 10 m/s2 เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ
2. เลือกสมการที่เหมาะสมแล้วเริ่มแก้โจทย์
เมื่อวาดรูปและแทนค่าเรียบร้อยก็มาดูกันว่าโจทย์ถามอะไร โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์แบบแทนค่าหรือโจทย์แบบคิดวิเคราะห์ สามารถใช้สูตรไหนมาคิดได้บ้าง ยกตัวอย่างจากโจทย์ข้อเดิม โจทย์ถามว่า ลูกบอลจะตกถึงพื้นเมื่อเวลาผ่านไปเท่าใด ดังนั้นสิ่งที่เราต้องหาก็คือเวลา หรือ t นั่นเอง
ตอนนี้เรารู้ระยะทาง (s) ความเร็วต้น (u) ความเร่ง () และอยากหาเวลา (t) สูตรการเคลื่อนที่แนวตรงที่มีครบทุกตัวแปรที่กล่าวมาก็คือ
จากนั้นจึงเริ่มแทนค่าลงไปในสมการ ใช้หลักคณิตศาสตร์มาคำนวณหาคำตอบ แล้วจึงเลือกแสดงคำตอบในรูปแบบเลขนัยสำคัญที่เหมาะสมแบบนี้
3. ตรวจสอบคำตอบอีกครั้ง
เมื่อได้คำตอบมาแล้วก็อย่าเพิ่งดีใจ ให้เพื่อน ๆ เช็กอีกทีว่าคำตอบของเรามีหน่วยที่ถูกต้องหรือไม่ การตรวจสอบหน่วยของคำตอบสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใช้หน่วยตามทฤษฎีบทที่เคยเรียนมา ใช้หน่วยตามระบบ SI หรือเช็กจากสมการด้วยการแทนค่าหน่วยลงไปด้วยตอนคำนวณ ยกตัวอย่างการคำนวณจากโจทย์ข้อเดิม ถ้าเราใส่หน่วยไปคำนวณด้วยก็จะออกมาประมาณนี้
หน่วยของ t ที่ได้คือ s หรือวินาที ตรงตามหน่วย SI ถือว่าถูกต้อง ส่วนคำตอบที่เป็นตัวเลขก็ดูสมเหตุสมผล การที่ลูกบอลตกจากตึกสูง 500 เมตรภายในเวลา 10 วินาทีก็ยังดูเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริงบนโลก ไม่ได้ดูเหนือธรรมชาติแต่ประการใด ดังนั้นคำตอบของเราที่ว่า ลูกบอลจะตกถึงพื้นเมื่อเวลาผ่านไป 10 วินาที จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน มั่นใจได้เลย
เสร็จแล้ว !!! เห็นมั้ยว่าโจทย์ปัญหาฟิสิกส์ไม่ยากเลยถ้าเราคิดอย่างมีระบบ เพราะการแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นตอนจะช่วยลดความผิดพลาด แถมเทคนิคนี้ยังมีประโยชน์มาก ๆ ถ้าเพื่อน ๆ เจอโจทย์ที่ต้องแสดงวิธีทำ เพราะเวลาอาจารย์ตรวจข้อสอบ ทุกจุดที่เราเขียนไปจะเป็นจุดที่อาจารย์ให้คะแนนได้ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพจำลองเหตุการณ์ การเลือกใช้สูตร การแทนค่า คำตอบสุดท้ายทั้งค่าคงที่และหน่วยของคำตอบ ถึงขั้นตอนจะดูเยอะไปนิด แต่ถ้าฝึกบ่อย ๆ จนคล่องแคล่วเพื่อน ๆ ก็จะแก้โจทย์ได้เร็วขึ้น ไม่เชื่อลองไปทำ โจทย์ฟิสิกส์ เรื่อง บทนำและหน่วยวัด และ โจทย์ฟิสิกส์ เรื่อง การเคลื่อนที่แนวตรง กันต่อได้เลย หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาตะลุยโจทย์พร้อมเฉลยละเอียดก็ได้เช่นกันจ้า