หลังจากผ่านด่านยื่น คะแนน TCAS กันมาแล้ว สถานีสุดท้ายก่อนรายงานตัวเป็นเฟรชชี่ก็คือ ‘การสอบสัมภาษณ์’ นั่นเอง ! ในขั้นตอนนี้เพื่อน ๆ หลายคนคงรู้สึกไม่มั่นใจเอามาก ๆ เพราะไม่ว่าจะ O - Net หรือ GAT - PAT เราก็ยังเตรียมตัวได้ด้วยการอ่านหนังสือสอบได้ แต่สอบสัมภาษณ์เนี่ยสิ… จะต้องเตรียมตัวยังไงกันน้าาาา
ไม่ต้องกังวลไปเลย เพราะวันนี้ StartDee มีเคล็ดลับการสอบสัมภาษณ์ดี ๆ มาบอก เทคนิค 5 ข้อนี้ทำตามได้ไม่ยาก รับประกันเลยว่าตื่นเต้นแค่ไหนก็สอบติด ได้เรียนชัวร์ ๆ จ้า !
1. สัมภาษณ์ตึกไหน เวลาเท่าไหร่ ไหนเช็คดูซิ ~
เหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ขอบอกว่าข้อนี้สำคัญมาก ! ก่อนจะถึงวันสัมภาษณ์จริงเพื่อน ๆ ควรเช็คให้ดีก่อนว่าเรา…
☑️ สัมภาษณ์วันไหน
☑️ เวลากี่โมง ช่วงเช้าหรือบ่าย (เคยมีคนไปผิดเวลามาแล้วจริง ๆ ไปถึงปุ๊บกรรมการกำลังเก็บโต๊ะเลยจ้า)
☑️ ตึก /อาคารไหน ถูกวิทยาเขตแน่นะ (เพราะบางมหาวิทยาลัยมีหลายวิทยาเขต ห้ามไปผิดเด็ดขาด !)
☑️ พอร์ตโฟลิโอและเอกสารที่ต้องเตรียมมีอะไรบ้าง อย่าลืมหยิบไปให้ครบ !
รายละเอียดอื่น ๆ อย่างเช่นการแต่งกาย วิธีการเดินทางไปมหาวิทยาลัยก็อย่าลืมเช็คให้เรียบร้อย ถ้าเป็นไปได้เราแนะนำให้เพื่อน ๆ ไปเดินสำรวจมหาวิทยาลัยกันก่อนสักหนึ่งยก ลองไปเดินทัวร์รอบ ๆ คณะ ฝึกหาตึกสัมภาษณ์กันไว้ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าวันจริงจะไม่หลง คิดซะว่ามาเดินชิล ๆ ทำความรู้จักว่าที่ตึกเรียนใหม่ในอนาคตก็ได้จ้า
Photo by Sebastian Hietsch on Unsplash
2. แรกพบสบตา เสื้อผ้าหน้าผมต้องเป๊ะไว้ก่อน
จริงอยู่ที่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะไม่เคร่งเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมเท่าระดับมัธยมแล้ว แต่บางมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะ วิทยาลัยพยาบาล ต่าง ๆ) ก็ยังให้ความสำคัญกับการแต่งกายที่ถูกระเบียบอยู่ ดังนั้นอย่าเพิ่งใจร้อนรีบสลัดชุดนักเรียนทิ้งกันตอนนี้ เพราะในวันสัมภาษณ์เพื่อน ๆ ยังต้องใส่ชุดนักเรียนกันอีกครั้ง การแต่งหน้าจัดจ้าน ย้อมผมสีสดใสอาจทำให้อาจารย์ตกใจเอามือทาบอก มองแรงแถมเขม่นเราตั้งแต่แรกพบ การแต่งกายเรียบร้อยนอกจากจะช่วยให้เราปลอดภัยไว้ก่อน ยังช่วยสื่อเป็นนัย ๆ ว่าเราเคารพกฎระเบียบของแต่ละสถานที่เป็นอย่างดี (ถึงจะเป็นโรงเรียนที่เรียนจบมาแล้วก็เถอะ) แถมยังช่วยสร้างความประทับใจแรกได้ง่าย ๆ แบบไม่ต้องทำอะไรมากเลยด้วย
3. มารยาทดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
นอกจากบุคลิกภาพและการแต่งกาย มารยาทและการวางตัวในห้องสัมภาษณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ เริ่มด้วยการไปสัมภาษณ์ให้ตรงเวลา (ไปถึงก่อน 15 - 20 นาทีจะยิ่งดีเข้าไปใหญ่) เมื่อถึงคิวสัมภาษณ์ของเราก็สวัสดีทักทายอาจารย์ก่อน แล้วจึงนั่งเมื่อได้รับอนุญาต (หรือขออนุญาตอาจารย์นั่งก็ได้) จากนั้นให้ตอบคำถามพร้อมรอยยิ้ม ไม่หลบตาอาจารย์ ไม่เลิ่กลั่กหรือเหม่อลอย เพื่อน ๆ อาจใช้มือหรือภาษากายช่วยตอบคำถามเพื่อลดปัญหาเรื่องการวางมือ แต่ก็อย่าให้เยอะจนเกินไปจนดูแปลก
หลัก ๆ คือ ‘สุภาพ มีมารยาท เป็นธรรมชาติ และอย่าเกร็งจ้า’
Photo by Van Tay Media on Unsplash
4. ฟังคำถามอย่างมีสติและตอบให้ตรงคำถาม
นอกจากการแนะนำตัวที่มักโผล่มาเป็นคำถามแรก ๆ คำถามที่พบบ่อยในห้องสัมภาษณ์ยังมีอีกเยอะ เช่น
- ทำไมถึงเลือกเรียนที่นี่ /คณะนี้
- คิดว่าคณะนี้เรียนอะไรบ้าง
- ตอนเรียนมัธยมเคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง
- ถ้าไม่ได้ที่นี่จะทำอย่างไร
ถ้าเจอคำถามแบบนี้ก็อย่าเพิ่งตกใจ พยายามมีสติ แล้วตอบให้ตรงคำถาม ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ในขั้นตอนนี้อาจารย์อาจขอดูพอร์ตโฟลิโอของเพื่อน ๆ ด้วย ซึ่งเราแนะนำว่าควรทำพอร์ตโฟลิโออย่างจริงใจ ไม่ควรคัดลอกงานใครมาเด็ดขาด ไม่ว่าจะจากพินเทอเรสต์หรืออินเทอร์เน็ต เพราะมีรุ่นพี่เคยโป๊ะในห้องสัมภาษณ์มาแล้วจริง ๆ ด้วยการก็อปงานลูกศิษย์อาจารย์มาลงในพอร์ต งานนี้ยิ่งกว่าจังหวะซิตคอม ไปต่อไม่ถูกกันเลยทีเดียวจ้า
5. แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจให้กรรมการเห็น
ในการสอบสัมภาษณ์ คำถามหลายข้อออกถูกแบบมาเพื่อวัดใจเพื่อน ๆ ว่าพร้อมแค่ไหนสำหรับการเรียนคณะนี้ ลองใส่ความมุ่งมั่นตั้งใจลงไปในทุก ๆ คำตอบ บอกให้อาจารย์รู้ว่าเราอยากเรียนคณะนี้แค่ไหน เตรียมตัวมานานเท่าไหร่ มองเห็นอนาคตของตัวเองในคณะนี้อย่างไรบ้าง หากเจออุปสรรคหรือความยากลำบากเราก็พร้อมเผชิญหน้าและเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อาจารย์มั่นใจได้มากยิ่งขึ้นว่าคณะนี้ มหาวิทยาลัยนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ เติบโตได้อย่างแท้จริง
Photo by Gabrielle Henderson on Unsplash
จุดมุ่งหมายของการสอบสัมภาษณ์ส่วนใหญ่คือการเช็ครอบสุดท้ายว่าเพื่อน ๆ มีความพร้อมในการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจริง ๆ ทั้งด้านความรู้ ร่างกาย และความมุ่งมั่นตั้งใจ ถ้าไม่มีข้อผิดพลาดอะไรใหญ่โต มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็จะไม่ตัดใครทิ้งในรอบนี้แน่นอน StartDee ขอเป็นกำลังใจให้ และขอแสดงความยินดีกับว่าที่เฟรชชี่หน้าใหม่ทุกคนเลย !