เมื่อพูดถึงการแปลสำนวนภาษาอังกฤษ เราไม่สามารถแปลกันได้แบบตรงตัว เช่น งูๆ ปลาๆ คือ Snake Snake Fish Fish หรือ ขี่ช้างจับตั๊กแตน แปลเป็น To ride an elephant to catch a grasshopper เจ้าของภาษาได้ยินคงงงกันใหญ่
วิธีการที่ง่ายและแม่นยำกว่าก็คือ ควรแปลโดยการเทียบความหมายของแต่ละสำนวนแทน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าสำนวนภาษาอังกฤษหลายสำนวนมีความหมายตรงกับสำนวนไทยของเรา แต่เพราะวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ส่งผลให้การใช้คำศัพท์ต่างกันไปด้วย แต่เมื่อแปลความที่ซ่อนอยู่ จะพบว่าใช้แทนกันได้แน่นอน
เราลองไปดูกันดีกว่าว่า เมื่อเราเทียบความหมายของสำนวนสุภาษิตภาษาอังกฤษและภาษาไทยแล้ว จะมีความเหมือน หรือ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
Kill two birds with one stone.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ฆ่านกสองตัวด้วยก้อนหินก้อนเดียว
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : ยิงปืนนัดเดียวได้นักสองตัว
Let a sleeping dog lie.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ปล่อยให้สุนัขนอนหลับไป หรือในอีกแง่หนึ่งอาจหมายถึงอย่าแหย่สุนัขที่กำลังนอนหลับ
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : อย่าแกว่าเท้าหาเสี้ยน
When the cat’s away the mice will play.
สุภาษิตนี้ไม่ว่าจะแปลตรงตัว หรือนำไปเทียบกับสุภาษิตไทย ต่างก็ใกล้เคียงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง”
A bad workman always blames his tools.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ช่างที่ไร้ฝีมือย่อมโทษเครื่องมือเสมอ
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
Like two peas in a pod.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : เหมือนอย่างกับถั่วในฝักเดียวกัน
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : เหมือนกันอย่างกับแกะ
Make hay while the sun shines.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ให้ทำฟางตอนที่มีแดด
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : น้ำขึ้นให้รีบตัก
คำศัพท์น่าสนใจ
hay แปลว่า ฟาง หรือหญ้าแห้ง
(To find) a needle in a haystack.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : (งม) เข็มในกองฟาง
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : (งม) เข็มในมหาสมุทร
คำศัพท์น่าสนใจ
haystack แปลว่า กองฟาง
When in Rome, do as the Romans do.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : อยู่ในเมืองโรม ก็ต้องทำตัวแบบเดียวกับชาวโรมัน
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
Time and tide wait for no man.
สุภาษิตนี้ไม่ว่าจะแปลตรงตัว หรือนำไปเทียบกับสุภาษิตไทย ต่างก็ใกล้เคียงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “เวลาและวารีไม่เคยคอยใคร”
Cut your coat according to your cloth.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ตัดเสื้อโค้ตตามผ้าที่มี
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : นกน้อยทำรังแต่พอตัว
The apple does not fall far from the tree.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ลูกแอปเปิลหล่นไม่ไกลต้น
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
Between the devil and the deep blue sea
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ระหว่างปีศาจร้ายและมหาสมุทรมืดและลึก หรือจะแปลว่าหนีปีศาจร้าย แต่ดันต้องมาเจอกับมหาสมุทรที่ทั้งมืดและลึกก็ได้
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : หนีเสือปะจระเข้
Two heads are better than one.
สุภาษิตนี้ไม่ว่าจะแปลตรงตัว หรือนำไปเทียบกับสุภาษิตไทย ต่างก็ใกล้เคียงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว”
A rotten apple spoils the barrel.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : แอปเปิลเน่าลูกเดียวเหม็นทั้งลัง
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง
คำศัพท์น่าสนใจ
barrel แปลว่า ลังหรือถัง
Use a sledgehammer to crack a nut.
แปลจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัวจะได้ว่า : ใช้ฆ้อนปอนด์แกะเมล็ดถั่ว
เทียบได้กับสุภาษิตไทย : ขี่ช้างจับตั๊กแตน
คำศัพท์น่าสนใจ
sledgehammer แปลว่า ฆ้อนปอนด์
เราจะเห็นได้ว่าการใช้สำนวนเปรียบเทียบของแต่ละภาษานั้นสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาที่แตกต่างกัน เช่น A rotten apple spoils the barrel. ในภาษาอังกฤษและปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้องของไทย จะเห็นได้ว่า มีการใช้คำศัพท์จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว อย่างแอปเปิล ซึ่งเป็นผลไม้ที่นิยมในโลกตะวันตก ส่วนประเทศไทยที่มีแม่น้ำลำคลองหลายสาย ปลาย่อมเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าแอปเปิลนั่นเอง นอกจากนั้น ในประเทศแถบตะวันตกยังมีการใช้ภาชนะประเภทถังหรือลัง แต่คนไทยในสมัยก่อนใช้ “ข้อง” ในการเก็บรักษาปลา เป็นต้น
สำหรับใครที่อยากฝึกความรู้เกี่ยวกับสำนวนสุภาษิต หรือสำนวนทั่วไปในภาษาอังกฤษ ลองเข้าไปหากิจกรรมหรือใบงานเพิ่มเติมกันได้ที่ Twinkl’s ESL resources - Idioms and Expression ได้เลย