เรียนพยาบาลที่ไหนดี แนะแนวคณะฮิต กับ StartDee

เรียนพยาบาลที่ไหนดี

ภาพหนุ่มสาวใส่ชุดสีขาว ถือคลิปบอร์ด เดินเคียงคู่กับคุณหมอที่หลายๆ คนเห็นตอนเด็ก ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับเพื่อน ๆ ชั้น ม.6 ตัดสินใจเลือกเรียนพยาบาล ซึ่งมีหลายมหาวิทยาลัย และหลายสถาบันเปิดสอนทั่วประเทศ แต่ด้วยความที่มีตัวเลือกมากมายเกือบ 100 แห่ง เพื่อน ๆ ย่อมมีคำถามในใจแล้วว่า เอ...ฉันจะเลือกเรียนพยาบาลที่ไหนดีนะ วันนี้ StartDee จะมาแจกแจงให้เห็นภาพกันชัด ๆ แต่ก่อนอื่นต้องตั้งใจเรียนให้เข้าใจเนื้อหา หนทางการไปสู่อาชีพพยาบาล ย่อมไม่ยากอย่างที่คิด

ตั้งในเรียนกับแอป ฯ StartDee ดาวน์โหลดฟรี คลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างได้เลย

Banner-Orange-Standard

อยากเป็นพยาบาล ต้องทำยังไงบ้าง

 

อันดับแรก ต้องพิจารณาที่ตัวเราเองก่อนว่ามีความต้องการจะเป็นพยาบาลขนาดไหน บางคนอาจจะแค่คิดว่าเป็นพยาบาลก็แค่ต้องมีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก ๆ แต่งานพยาบาลต้องการคุณสมบัติมากกว่านั้นอีกเยอะเลยล่ะ ทั้งต้องช่างสังเกต เพราะเพื่อน ๆ ต้องคอยสอดส่องอาการของคนไข้ไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตอยู่เสมอ ต้องแม่นต้องเป๊ะในการวินิจฉัยทางการพยาบาล อีกทั้งยังต้องมีความมั่นใจอีกด้วย เพราะต้องทำแผลและฉีดยาให้ผู้ป่วย จะมากล้า ๆ กลัว ๆ เป็นลมเวลาเห็นเข็มฉีดยาไม่ได้นะจ๊ะ

นอกจากนั้น เพื่อน ๆ ยังต้องจบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์อีกด้วยนะ เพราะการเรียนพยาบาลเพื่อน ๆ ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ซึ่งถ้าได้ลองกันมาสักหน่อยในวิชาชีววิทยา ก็จะสามารถนำไปต่อยอดได้ง่ายเวลาเข้าสู่รั้วคณะไงล่ะ นอกจากนั้น ภาษาอังกฤษก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยนะ ลองนึกถึงบทเรียนเรื่องหัวใจและหลอดเลือด ที่เราเรียนกันตอน ม.2 ชื่อเรียกส่วนต่าง ๆ ของหัวใจนี่ภาษาอังกฤษล้วน เพราะฉะนั้น ระดับอุดมศึกษาภาษาอังกฤษมาเต็มแน่นอน

อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเรียน ก็คือร่างกายของเพื่อน ๆ นี่แหละ ต้องไม่เป็นโรคหรือมีอาการบางชนิดที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงาน เช่น ตาบอดสี เป็นต้น นอกจากนั้นหลาย ๆ สถาบันยังกำหนดน้ำหนักและความสูงด้วย เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร รับเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 45 กิโลกรัม และส่วนสูงไม่น้อยกว่า 150  เซนติเมตร (ข้อมูลรับตรงโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย ปี 2564)

ในส่วนของผลการสอบ โดยส่วนใหญ่จะใช้ GAT, PAT2 และ 7 วิชาสามัญ ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ซึ่งสัดส่วนอาจต่างกันในแต่ละสถาบัน

 

เป็นผู้ชาย...เรียนพยาบาลได้มั้ยนะ

 

ถ้าใจรักซะอย่าง ไม่มีอะไรมาห้ามเพื่อน ๆ ได้เลย ขอบอกว่าบุรุษพยาบาลมีข้อดีทั้งด้านส่วนสูงและความแข็งแรง สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีไม่แพ้ผู้หญิงเลยล่ะ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางสถาบันที่รับเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น เช่น วิทยาลัยพยาบาลทหารเรือ เป็นต้น

 

เรียนพยาบาลที่ไหนดี...เลือกได้จาก 4 หัวข้อย่อยนี้

1. เรียนพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก

สถาบันพระบรมราชชนก ถือเป็นสถาบันที่ผลิตพยาบาลเป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว เพราะมีเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลกระจายอยู่ถึง 30 แห่งทั่วประเทศ เช่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ในภาคเหนือ วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคามในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ในภาคตะวันออก เป็นต้น

พยาบาลพระบรมขอบคุณรูปภาพจาก Facebook วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น 

สำหรับการรับสมัครเข้าเรียนต่อที่สถาบันพระบรมราชชนกนั้น มี 3 รอบด้วยกัน โดยรอบแรกคือ ระบบการรับตรงจากพื้นที่ ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเลือกสอบเข้าในวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดของเพื่อน ๆ เอง หรือจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากรอบนี้จะใช้ภูมิลำเนาเป็นเกณฑ์ในการสมัคร โดยใช้แค่เกรดเฉลี่ยรวมทั้งหมดร้อยละ 20 เกรดเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ร้อยละ 30 และภาษาอังกฤษร้อยละ 20 

ส่วนรอบที่ 2 คือรอบ Admission ที่รับรวมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และรอบที่ 3 คือรับตรงอิสระ โดยในปี 2564 นี้ ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ของทั้ง 2 รอบอย่างชัดเจน หากเพื่อน ๆ เลือกเรียนพยาบาลศาสตร์กับสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อน ๆ ทุกคนจะได้รับทุนถึง 40,000 บาทต่อปีโดยอัตโนมัติ ซึ่งเพื่อน ๆ ต้องใช้ทุนที่โรงพยาบาลในสังกัด 4 ปีหลังจบการศึกษา แต่ถ้าเพื่อน ๆ ไม่อยากรับทุนการศึกษาก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยเพื่อน ๆ จะมีอิสระในการเลือกทำงานหลังจากเรียนจบ 

 

2. เรียนพยาบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

สถาบันที่เปิดสอนคณะพยาบาลศาสตร์ (หรือบางแห่งอาจใช้ชื่อว่าสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์) มีมากมายหลายแห่ง เพื่อน ๆ สามารถเลือกได้ตามใจชอบเลย โดยแต่ละที่จะมีหลักสูตรที่คล้ายคลึงกัน แต่อาจแตกต่างที่ทุนการศึกษา การใช้ทุนการศึกษา และโรงพยาบาลที่เพื่อน ๆ จะเข้าไปสังกัดหลังจากเรียนจบ ซึ่งเราขอยกตัวอย่างคณะพยาบาลศาสตร์ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล VS โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ถือว่าเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ 2 แห่งที่ทำเอาเด็ก TCAS สับสนกันมากที่สุด เพราะทั้งคู่เป็นอยู่ในเครือมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งคู่ แต่แยกกันเรียนคนละที่ตั้งแต่ระดับชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มักถูกเรียกกันสั้น ๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า “พยาบาลศิริราช” เพราะมีการเรียนการสอนรวมไปถึงการฝึกงานต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลศิริราช ส่วนโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีชื่อเรียกสั้น ๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า “พยาบาลรามา” เนื่องจากมีการเรียนการสอนที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั่นเอง

พยาบาลศิริราช

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอบคุณรูปภาพจาก : https://ns.mahidol.ac.th/english/th/gallery/2010/graduate(31-03-10)/index.html

 

ในส่วนของสวัสดิการนั้น สำหรับพยาบาลรามา สามารถเลือกอยู่หอพักฟรีพร้อมอาหารฟรีสามมื้อได้เลย แถมหอพักยังอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกด้วย ใกล้ที่เรียนและค่อนข้างทันสมัย แต่สำหรับพยาบาลศิริราช เพื่อน ๆ ต้องออกเงินค่าเทอม ค่ากินอยู่ และค่าหอพักเองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกเรียนที่ไหน เพื่อน ๆ ก็จำเป็นจะต้อง “ใช้ทุน” ระยะเวลา 2 ปีที่โรงพยาบาลไม่ต่างกัน

พยาบาลรามาภาพนักศึกษาจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ขอบคุณรูปภาพจาก : https://med.mahidol.ac.th/nursing/Brochure/RSNBrochure22

 

  • สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทรา สภากาชาดไทย

หรือในชื่อเดิมคือวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย โดยสถาบันแห่งนี้ เคยเป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน และยังเคยรับปริญญารวมกับนิสิตจุฬาฯ ด้วยนะ หลาย ๆ คน จึงอาจได้ยินคนเรียกผู้ที่จบจากสถาบันนี้ว่า พยาบาลจุฬาฯ

แต่ในปัจจุบันวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ได้ถูกยกฐานะเป็นสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทรา สภาการชาดไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการเรียนการสอนแยกออกมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ส่วนชุดครุยก็เปลี่ยนจากสีขาวสะอาด เป็นสีแดงที่สวยไม่แพ้กัน

พญาบาลสภากาชาดไทยขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/Srisavarindhira

เพื่อน ๆ อาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า หากเลือกเรียนพยาบาลในสังกัดพระบรมราชชนก หรือมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่ง จะมีโอกาสได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่สำหรับนักศึกษาที่จบจากสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทรา สภากาชาดไทย จะไม่ได้เป็นข้าราชการ เนื่องจากได้รับทุนของสภากาชาดในระหว่างที่ทำการศึกษา อีกทั้งยังได้สวัสดิการด้านอาหารและหอพักคล้ายกับการเรียนพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วย แต่จะได้ปฏิบัติงานในสังกัดสภากาชาดไทย ที่โรงบาลจุฬาลงกรณ์โดยที่ไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาลเหมือนกับสถาบันอื่น ๆ

สำหรับการสอบเข้าสถาบันในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การรับในประเภท Portfolio การรับแบบ Admission และรับตรงอิสระ เราแนะนำให้เพื่อน ๆ ดูที่เว็บไซต์ของแต่ละสถาบันได้เลย


3. เรียนพยาบาล 4 เหล่าทัพ

นอกจากจะได้เป็นพยาบาลแล้ว ยังได้ติดยศด้วย ! ถ้าเพื่อน ๆ มีความฝันจะเป็นคนในเครื่องแบบ พอ ๆ กับฝันอยากเป็นพยาบาล เลือกเรียนเป็นพยาบาลในสังกัด 4 เหล่าทัพ รับรองไม่ผิดหวังแน่

ถึงจะเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงเหมือนกัน แต่การเรียนพยาบาลในแต่ละที่ จะมีความต่างกันเล็กน้อย โดยวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า และอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม และเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล เช่นเดียวกับวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ และวิทยาลัยพยาบาลกองทัพอากาศ ส่วนวิทยาลัยพยาบาลตำรวจนั้น สังกัดกรมตำรวจ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นกับกระทรวงใด และเป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พยาบาลทหารบกภาพพยาบาลทหารบก ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/RoyalThaiArmyNursingCollege/

พยาบาลทหารอากาศ

ภาพพยาบาลทหารอากาศ ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/nc.rtaf.mi.th

นอกจากนั้น ในส่วนของเกณฑ์การรับสมัคร ก็มีความต่างกันเล็กน้อย โดยเฉพาะในเรื่องของเพศ ส่วนสูง และน้ำหนัก โดยวิทยาลัยพยาบาลทหารเรือรับเฉพาะนักเรียนพยาบาลเพศหญิงเท่านั้น ในขณะที่วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกและวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศรับผู้ชายแค่ 15 คนและ 6 คนตามลำดับเท่านั้น มีเพียงแค่วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ ที่รับทั้งผู้ชายและผู้หญิงรวมกันทั้งหมด 46 คน แต่ไม่มีการกำหนดจำนวนของแต่ละเพศอย่างชัดเจน ส่วนน้ำหนักและส่วนสูง สำหรับวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศนั้น รับเฉพาะเพศหญิงที่ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 155 เซนติเมตร มีดัชนีมวลกาย (BMI) 17.5-25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และเพศชายไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร มีค่า BMI 19-25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร วิทยาลัยพยาบาลทหารเรือรับเฉพาะผู้ที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 155 เซนติเมตร น้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง 42-65 กิโลกรัม และมีค่า BMI ไม่เกิน 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สุดท้าย วิทยาลัยพยาบาลทหารบกและวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ รับเฉพาะผู้มีความสูงไม่ต่ำกว่า 155 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 45 กิโลกรัม มีค่า BMI ไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

พยาบาลทหารเรือภาพพยาบาลทหารเรือ ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_5909485

อีกส่วนที่มีความแตกต่างคือเรื่องของทุนในการเรียน วิทยาลัยพยาบาลตำรวจอาจมีการมอบทุนให้ หากเพื่อน ๆ เข้าไปเรียนแล้วมีผลการเรียนที่ดี แต่ไม่มีการกำหนดว่าจะให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร เพื่อน ๆ ที่สอบเข้าไปเรียนที่นี่ได้ จะต้องใช้ทุนส่วนตัวในการศึกษาเล่าเรียน ต่างจากวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศที่กำหนดไปเลยว่าจะรับนักเรียนโดยให้ทุนจำนวน 40 คน วิทยาลัยพยาบาลทหารบก และวิทยาลัยพยาบาลทหารเรือ รับนักเรียนโดยให้ทุนจำนวน 20 คน

สำหรับการสอบเข้านั้น ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ จะใช้ผลการสอบเหมือนกันเป๊ะ โดยใช้คะแนน GAT, PAT2 และ O-NET แต่สำหรับตำรวจ จะใช้ GAT, PAT1 และ PAT2

พยาบาลตำรวจภาพพยาบาลตำรวจ ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/Nursepolicepage

 

4. เรียนพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร

สำหรับเพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่อยากไปอยู่ไกลบ้าน สามารถเลือกเรียนคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (เรียนที่เดียวกับแพทย์วชิรพยาบาลที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ) ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับเพื่อน ๆ ที่มี Portfolio สวยหรู ทำเกรดได้ดี มีกิจกรรมเด่น ๆ ทางด้านสาธารณสุขมากมาย เพราะคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์รับนักศึกษาในรอบพอร์ตสูงถึง 225 คน โดยรับนักเรียนที่ศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลัก

พยาบาลเกื้อการุณย์ขอบคุณรูปภาพจาก คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยานวมินราธิราช

แม้มหาวิทยาลัยจะไม่ได้ใหญ่หรือมีเครือข่ายมากมายนัก แต่เพื่อน ๆ ก็จะได้รับทุนไม่ต่างจากที่อื่น ๆ แต่เป็นทุนจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วต้องใช้ทุน 3-4 ปี ที่โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพฯ จำนวน ๘ แห่ง หรือโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งจะต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ เล็กน้อย เพราะเพื่อน ๆ จะถูกบรรจุเป็นพนักงานพยาบาล ไม่ได้เป็นข้าราชการเหมือนโรงพยาบาลอีก ๘ แห่ง

 

อ่านจบแล้ว แต่เพื่อน ๆ หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยว่า เรียนพยาบาลแล้วจะได้เป็นข้าราชการหรือไม่ ข้อตอบตรงนี้ว่าเพื่อน ๆ จะต้องสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพก่อน ถึงจะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการพยาบาลได้ ซึ่งตอนนี้มีคิวรอบรรจุอยู่ถึง 30,000 คนเลยล่ะ

อย่างไรก็ตาม หากเพื่อน ๆ เรียนพยาบาล 4 เหล่าทัพหรือเรียนพยาบาลเกื้อการุณย์ เพื่อน ๆ จะมีโอกาสเป็นข้าราชการโดยที่ไม่ต้องไปต่อคิวเหมือนบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่น ๆ ที่เมื่อจบแล้ว ต้องเข้าทำงานในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะพยาบาลทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ สังกัดกระทรวงกลาโหม ส่วนพยาบาลตำรวจนั้นสังกัดหน่วยแพทย์ กรมตำรวจ ในขณะที่พยาบาลเกื้อการุณย์ส่วนใหญ่สังกัดกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย จึงมีโอกาสในการเป็นข้าราชการเร็วกว่าเล็กน้อยนั่นเอง  

เป็นไงบ้างเพื่อน ๆ ข้อมูลครบขนาดนี้ คงทำให้เพื่อน ๆ รู้จักคณะพยาบาลศาสตร์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว ซึ่ง StartDee มองว่า เรียนที่ไหน ก็จบมาเป็นพยาบาลที่ดีได้เช่นกัน ลองเลือกที่ที่ถูกใจและพิจารณาปัจจัยส่วนตัวเพิ่มเติมดูนะ เช่น เพื่อน ๆ ที่ติดบ้าน อยากอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเลือกสถาบันบรมราชชนกที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ได้ หากรู้สึกว่าไม่อยากทำงานใช้ทุน สามารถเรียนคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนต่าง ๆ ได้ หรือเลือกเรียนพยาบาลศิริราชหรือรามา ที่ใช้ทุนแค่ 2 ปีก็ยังได้ (แต่คะแนนสูงหน่อย พยายามเข้าล่ะ !) 

สำหรับเพื่อน ๆ ที่ชอบการช่วยเหลือผู้คน แต่ไม่ถนัดการเป็นพยาบาล เพื่อน ๆ สามารถศึกษาหาข้อมุลเกี่ยวกับอาชีพครู และนักจิตวิทยา ได้ด้วยนะ

หาข้อมูล และเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ หนทางการเป็นพยาบาลอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่อย่างน้อยก็รู้ทางที่ขวากหนามน้อยกว่าไม่เตรียมตัวเลยแน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น