หลายครั้งที่เกิดบรรยากาศน่าเบื่อขึ้นในห้องเรียน เมื่อเพื่อน ๆ เริ่มอ้าปากหาว คุณครูก็งัดเรื่องผีสนุก ๆ มาเล่าจนเด็ก ๆ ตาลุกวาวขึ้นมาได้ และเมื่อออกนอกห้องเรียนไป เราก็ยังพบเห็นเรื่องราวลี้ลับได้ไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรายการวิทยุ รายการทีวี ไหนจะภาพยนตร์ผีไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลอน และสารพัดเรื่องผีที่แยกเป็นหมวดหมู่ย่อย ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ อ่านมาถึงจุดนี้ เพื่อน ๆ คงเริ่มสงสัยแล้วว่า
“ทำไมเรื่องผีและความลี้ลับถึงดึงดูดใจผู้คนได้มากขนาดนี้”
วันนี้ StartDee จะพาไปหาคำตอบ !
ความกลัวช่วยฝึกฝนจิตใจ ? เหตุผลว่าทำไมใคร ๆ ก็ชอบเรื่องผี
หากเพื่อน ๆ เคยชมแอนิเมชันเรื่อง Inside Out ก็คงคุ้นเคยกับอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์อย่างความสุข ความเศร้า ความโกรธ ความอี๋ (Disgust) และความกลัวเป็นอย่างดี ซึ่ง ‘ความกลัว’ นี่แหละ คืออารมณ์หลัก ๆ ที่เราจะยกมาพูดถึงกันในวันนี้ โดยทุกครั้งที่เรารู้สึกกลัวจากการอ่าน ดู ฟัง หรือประสบพบเจอกับเรื่องผี ๆ ร่างกายของเราจะมี ‘กลไกทางจิตวิทยา (Psychological Mechanism)’ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความกลัวนี้ด้วย
คุณ Frank T. McAndrew ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง Knox Collage กล่าวว่า ความสยดสยองและความรู้สึกกลัวมีประโยชน์ในแง่ของการเตรียมพร้อมตั้งรับกับภัยคุกคามที่ไม่แน่นอน และยังช่วยให้เราจัดการสมดุลระหว่างการรักษ์ตนเอง (self-preservation) และการนำเสนอตัวเอง (self-presentation) ด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ การได้ประสบพบเจอเหตุการณ์สยองแบบไม่ทันตั้งตัว มีส่วนช่วยให้เราควบคุมตัวเองได้ว่าจะนำเสนอพฤติกรรมแบบไหนให้คนรอบข้างได้เห็น และถ้าอธิบายในเชิงจิตวิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary Psychology) ความกลัวยังมีบทบาทในการเอาตัวรอดด้วย เพราะความรู้สึกกลัวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราสัมผัสได้ถึงอันตราย ทำให้เราเริ่มป้องกันตัวหรือหลีกหนีจากอันตรายนั้น ๆ เพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของสิ่งลี้ลับที่เป็นต้นเหตุ
แต่การพาตัวเองไปนั่งดูหนังผีไม่ได้เหมือนกับการโดนผีหลอกแบบไม่คาดฝันซะหน่อย ดังนั้นสาเหตุที่คนบางกลุ่มชอบเสพเรื่องผีและความลี้ลับจึงเป็นเพราะ “การรอดชีวิตจากประสบการณ์ลี้ลับเฉียดตาย ช่วยเพิ่มความมั่นใจและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem)” แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขคือร่างกายต้องรู้ว่า...
- อันตรายที่ตนเองกำลังประสบพบเจออยู่ ‘ไม่ใช่ของจริง’
- เรื่องที่เกิดขึ้น ‘ไม่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตจริงได้’
- เหตุการณ์ระทึกขวัญนี้ ‘ต้องมีวันจบลง’
และถึงจะช่วยให้รู้สึกดีเมื่อผ่านไปได้ แต่รสนิยมการเสพเรื่องผีก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลด้วย และนอกจากเหตุผลเบื้องหลังความชอบเหล่านี้ ‘ความเชื่อเกี่ยวกับผี’ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าหยิบยกมาพูดคุยเช่นกัน
Photo by Stefano Pollio on Unsplash
ไม่ใช่แค่ความชอบ แต่เป็นความเชื่อ
หากลองเปลี่ยนมุมมองมาสำรวจความชอบเรื่องผีจากมุมคติชนวิทยา (Folkloristics) โดยศึกษาจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมของคนไทย เราก็จะเห็นสิ่งที่มากกว่าความชอบ นั่นก็คือ ‘ความเชื่อ’ และชุดความคิดเกี่ยวกับผีที่ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ยกตัวอย่างภาพยนตร์ผีไทยที่นำเสนอภาพความมีอำนาจและความน่ากลัวของผี และในตอนจบของเรื่องก็มักใส่แนวคิดเกี่ยวกับการแก้แค้น การเอาคืน และ ‘กฎแห่งกรรม’ ไว้เสมอตามคติชาวพุทธ ส่วนในแง่การนำเสนอ ภาพยนตร์ผีไทยยังทำหน้าที่ส่งต่อความเชื่อเหล่านี้อย่างมีศิลปะ โดยมีการผสมผสานตระกูล (Genre) ของภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ผีติดตลกอย่าง ‘หอแต๋วแตก’ รวมถึงการพลิกแพลงรูปแบบการนำเสนอ เช่น ‘ร่างทรง’ ภาพยนตร์ผีสัญชาติไทยที่นำเสนอในรูปแบบสารคดีปลอม (Mocumantary) และได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมชาวต่างชาติอย่างดีเยี่ยม เมื่อบรรดาผู้กำกับเลือกที่จะเล่นกับความกลัวอย่างมีศิลปะ คุณภาพของภาพยนตร์ผีไทยจึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ บทบาทของภาพยนตร์ผีไทยจึงไม่ใช่แค่ ‘การต่อยอดจากความกลัว’ แต่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) อย่างหนึ่งสร้างอิทธิพลทางความคิดกับผู้คนได้ในวงกว้าง
หอแต๋วแตก Cr. tenor.com
เรื่องราวเบื้องหลัง (และการต่อยอดจาก) ความกลัวก็เป็นแบบนี้ แต่นอกจากกลัวผี ชาว StartDee หลายคนต้อง ‘กลัวเรียนไม่ทัน’ กันแน่ ๆ แบบนี้ต้องให้แอปฯ StartDee เป็นตัวช่วย ส่วนตอนนี้เราขอตัวไปนอนคลุมโปงอ่านบทเรียนยาว ๆ ก่อนล่ะ !
บทความที่เกี่ยวข้อง:
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ 10 ประเทศผ่านการดู สนุกแถมยังได้ความรู้ด้วยนะ!
Reference:
Haunted house RESEARCHERS Investigate playing with fear. Association for Psychological Science - APS. (2020, November 30). https://www.psychologicalscience.org/observer/playing-with-fear.
McAndrew, F. T. (2020, July 31). Evolutionary psychology explains why haunted houses creep us out. The Conversation. https://theconversation.com/evolutionary-psychology-explains-why-haunted-houses-creep-us-out-48209.
Ringo, A. (2021, June 8). Why do some brains enjoy fear? The Atlantic. https://www.theatlantic.com/health/archive/2013/10/why-do-some-brains-enjoy-fear/280938/.
ปิลันลน์ ปุณญประภา, และ สามินี รัตนยงค์ไพโรจน์. (2016). ภาพยนตร์ผีไทย : ภาพมายาแทนความฝันของผู้ชม Ghost Film : the Illusion of the Dream. วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม, 2, 8–15. https://doi.org/http://ejournals.swu.ac.th/index.php/jcosci/article/viewFile/8554/7484