เวลาอ่านหนังสือหรือดูละครหลังข่าว เพื่อน ๆ เคยนึกสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมพระเอกในเรื่องมีแฟนก่อนคบนางเอกตั้งหลายคน แต่กลับได้รับการถูกยกย่องว่าเป็น “พระเอก” แต่สำหรับผู้หญิงที่เคยผ่านมือชายมาก่อน กลับต้องรับบทเป็น “นางร้าย” อยู่ตลอด StartDee ขอบอกว่า ไม่ใช่แค่ละครสมัยนี้เท่านั้นนะ แต่วรรณคดีไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ อย่างเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา ก็มีพล็อตเรื่องไม่ต่างกันเท่าไร เพียงแต่ตอนที่เราหยิบยกกันมาให้เพื่อน ๆ อ่านนี้ ไม่ได้มีนางร้าย แต่กลับมี “นางเอก” ที่ดันไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องและมีแฟนแค่คนเดียวเหมือนนางเอกละครไทยทั่วไป เอ...นางเอกคนนี้เป็นใครกันนะ ต้องติดตามอ่านกันแล้ว ลุย
หากเพื่อน ๆ ไม่ใช่สายอ่านแต่ชื่นชอบการฟังและดูวิดีโอสนุก ๆ มากกว่า แนะนำให้ไปตำแอปฯ StartDee คลิกแบนเนอร์ด้านล่างได้เลย
ที่มาของเสภาขุนช้างขุนแผน
เสภาขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยโปรดเกล้าให้ประชุมกวีเพื่อประพันธ์เสภาเรื่องนี้ขึ้นจากนิทานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เองด้วยในบางตอน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมเรื่องราวเนื้อหาต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเนื้อหาและลีลาวรรณคดีของเสภาเรื่องนี้มีคุณค่าโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง วรรณคดีสโมสรจึงได้ยกย่องให้เป็นยอดแห่งกลอนสุภาพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่สำหรับเนื้อหาที่เพื่อน ๆ ชั้น ม.๖ เรียนกันนั้น มีแค่เฉพาะตอนขุนช้างถวายฎีกาเท่านั้น ซึ่งเป็นตอนที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง
ลักษณะคำประพันธ์ของเสภาขุนช้างขุนแผน
กวีที่แต่งเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถายฎีกานั้นใช้กลอนเสภาในการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยเรื่องนี้ขึ้น โดยกลอนเสภา ถูกแต่งขึ้นเพื่อใช้ในการขับเสภาในราชสำนัก ถือเป็นกลอนที่มีความยืดหยุ่นในการใช้คำมาก โดยไม่ได้กำหนดลักษณะการแต่งตายตัว เพราะแต่ละวรรคจะเป็นไปตามทำนองเสภานั่นเอง
สำหรับกลอนเสภานั้นใน ๑ วรรคจะมี ๖-๙ คำ/พยางค์ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้
วรรคแรก มีชื่อเรียกว่า นารีเรียงหมอน
วรรคที่สอง มีชื่อเรียกว่า ชะอ้อนนางรำ
วรรคที่สาม มีชื่อเรียกว่า ระบำเดินดง
วรรคสุดท้าย มีชื่อเรียกว่า หงส์ชูคอ
เท้าความก่อนจะมาถึงตอนขุนช้างถวายฎีกา
จะว่าไปแล้ว เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเองก็ไม่ได้ต่างอะไรจากละครหลังข่าวที่เพื่อน ๆ ดูมากนัก เนื้อเรื่องส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ที่ตัวเอกสามคน คือขุนแผน ชายหนุ่มรูปหล่อ เคยบวชเรียนเป็นสามเณรชื่อพลายแก้ว ขุนช้างชายหนุ่มหน้าตาอัปลักษณ์แต่ฐานะดี และนางวันทอง หรือชื่อเดิมคือนางพิมพิลาไลย หญิงสาวผู้เลอโฉม เป็นที่รักและหมายปองของทั้งขุนแผนและขุนช้าง จนเกิดการแย่งชิงกันไปมา โดยนางพิมพิลาไลยนั้นแต่งงานออกเรือนกับพลายแก้วก่อน (ซึ่งจริงๆ ทั้งสองได้เสียกันตั้งแต่ก่อนจะมีพิธีแต่งงานแล้ว แถมพลายแก้วยังได้พี่เลี้ยงของนางพิมเป็นเมียด้วยอีกคน) แต่เมื่อพลายแก้วได้รับคำสั่งให้ไปรบที่เชียงใหม่ ขุนช้างก็หาอุบายมาหลอกนางพิมว่าพลายแก้วเสียชีวิตแล้ว แม่ของนางพิมจึงตกลงปลงใจให้นางพิมไปอยู่กับขุนช้างและเปลี่ยนชื่อเป็น “นางวันทอง” แต่ด้วยความที่ใจยังรักมั่นแต่พลายแก้วตามแบบฉบับนางเอกไทย นางวันทองจึงทำทุกวิถีทางเพื่อสงวนเนื้อตัวไว้ไม่ให้ขุนช้างแตะต้องได้
แต่เอ...ทำไมนางวันทองต้องย้ายไปอยู่กับขุนช้างด้วยนะ ทำไมไม่อยู่เป็นแม่ม่ายเก๋ ๆ แล้วค่อยแต่งงานใหม่เมื่อเจอคนที่ใช่ นั่นเป็นเพราะผู้หญิงไทยในสมัยก่อนไม่ได้มีสิทธิเหนือร่างกายของตัวเอง เมื่ออยู่กับบิดามารดาก็ถือว่าเป็นสมบัติของบิดามารดา แต่เมื่อถูกยกให้ชายหนุ่มบ้านอื่นไปแล้ว ก็จะถือเป็นสมบัติของบ้านนั้น และพ่อแม่จะไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลลูกสาวได้อีกต่อไป ตามกฎหมายตราสามดวง (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในช่วงรัชกาลที่ ๒ อันเป็นจุดเริ่มต้นของวรรณคดีเรื่องนี้) เล่ม ๒ หน้า ๒๖๒ กล่าวว่า
“...บุทคลใดให้บุตรีเปนภรรยาท่านแล้ว อยู่มาภายหลังได้คิดจะกลับคืนเอาบุตรีมาเล่าไซ้ ท่านว่าจะคืนเอานั้นมิได้เลย…”
แม่ของนางวันทองจึงต้องการให้นางวันทองมีสามีใหม่ อย่างน้อยจะได้มีคนดูแล เนื่องจากตัวนางศรีประจันผู้เป็นแม่นั้นไม่สามารถปกป้องลูกสาวได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขุนช้างกล่าวนั้นถือเป็นการโกหกคำโต เพราะพลายแก้วไม่ได้ตายในสนามรบ แต่รบชนะจนได้ยศเป็นขุนแผน แถมยังได้รับพระราชทานนางลาวทองมาเป็นภรรยาด้วย แม้ว่าขุนแผนจะได้ผู้หญิงคนใหม่ แต่กลับโกรธมากที่พบว่านางวันทองไปอาศัยอยู่กับขุนช้างเสียแล้ว ฝ่ายนางวันทองเองก็โมโหไม่ต่างกัน เพราะเห็นว่าขุนแผนนอกใจตน ทั้งสองจึงทะเลาะกันแล้วก็แยกจากันไปโดยความคับข้องหมองใจ ปรากฏว่าในคืนนั้น นางวันทองถูกขุนช้างข่มขืน นางจึงตกเป็นเมียของขุนช้าง อยู่กินกับขุนช้างไปโดยปริยาย (นี่มันพล็อตละครไทยชัด ๆ)
ถ่านไฟเก่ายังร้อนฉันใด ขุนแผนก็ยังคิดถึงนางวันทองฉันนั้น เลยลอบเข้าหานางวันทองแต่กลับพบคนรักเก่านอนเคียงคู่อยู่กับขุนช้าง ขุนแผนโกรธแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงได้แค่ประจานขุนช้างให้อับอายเท่านั้น หลังจากนั้นขุนช้างก็คิดหาทางแก้แค้นขุนแผนจนถึงขั้นทำให้ขุนแผนต้องระเห็จไปทำงานต่างถิ่น แถมยังถูกริบนางลาวทองอีกด้วย
ขุนแผนเลยทำการแก้แค้น ด้วยการลงมือปีนบ้านขุนช้างอีกครั้ง แต่คงจะคำนวณผิดไปหน่อยเลยไปเข้าห้องนางแก้วกิริยา เมียอีกคนของขุนช้างแทน พี่ขุนแผนแสนสะท้านของเราจึงลงมือเป่ามนต์ให้นางแก้วกิริยางงงวย ก่อนจะลงมือโอ้โลมปฎิโลมจนสุดท้ายก็ได้นางแก้วกิริยาเป็นภรรยาอีกคน
เอาล่ะ...มาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ อาจคิดว่าขุนแผนนี่เป็นพระเอกได้ยังไง เพราะสิ่งที่ขุนแผนทำกับนางแก้วกิริยาถือได้ว่าเป็นการข่มขืนชัด ๆ ซึ่งได้มีผู้วิเคราะห์ว่า การข่มขืนในครั้งนี้เป็นการข่มขืนที่มี “การรับผิด” หรืออย่างน้อยที่สุดคือการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้หญิง ด้วยการที่ขุนแผนเองก็รับนางแก้วกิริยามาเป็นภรรยาอีกคน และนั่นทำให้สิ่งที่ขุนแผนทำไม่ได้ถูกมองเป็นการใช้กำลังเพื่อให้สมอารมณ์หมายของผู้ชายเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเป็นข้อผูกมัดให้ผู้ข่มขืนต้องรับผิดชอบอะไรบางอย่างต่อผู้หญิงมากกว่า ดังนั้น ถ้าว่ากันตามบรรทัดฐานของวรรณคดีไทยเรื่องนี้ การกระทำของขุนแผนนั้นไม่ได้ผิดแต่อย่างใด
แต่ไม่ใช่ว่าเพื่อน ๆ ผู้ชายจะนำบรรทัดฐานนี้มาใช้ในปัจจุบันได้นะ แม้ว่าเพื่อน ๆ จะรับผิดชอบตกลงเป็นแฟนกับผู้หญิงหลังจากทำมิดีมิร้าย แต่เพื่อน ๆ ก็ยังมีความผิดตามกฎหมายอยู่ดี
หลังจากขุนแผนได้นางแก้วกิริยาแล้ว ก็ถึงคราวไปลักนางวันทองออกมาจากบ้านของขุนช้าง และพากันไปอาศัยอยู่ตามป่าเขาอย่างยากลำบาก ซึ่งในระหว่างนี้นางวันทองก็ตั้งท้องขึ้นมา แต่ก็ดันมีเหตุให้มาถูกขุนช้างฉุดกลับไปอีก (ซึ่งขุนแผนเองก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะตัวเองติดคุก เนื่องจากไปทูลขอนางลาวทองจากพระพันวษา) จนสุดท้าย นางวันทองคลอดลูกออกมาชื่อ พลายงาม ที่ต่อมาถูกส่งไปอยู่กับแม่ของขุนแผนจนเติบใหญ่ได้รับราชการและมียศเป็น “จมื่นไวยวรนาถ”
ซึ่งจมื่นไวยวรนาถนี่แหละ ที่เป็นต้นเรื่องของเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา โดยตอนขุนช้างถวายฎีกานี้เกิดขึ้นหลังจากที่จมื่นไวยวรนาถชนะความต่อขุนช้างโดยการดำน้ำพิสูจน์ความจริง เพื่อน ๆ รู้ไหมว่าโทษครั้งนั้นของขุนช้างเกือบทำให้ขุนช้างต้องถูกประหารชีวิต แต่ดีที่ว่านางวันทองไปขอร้องลูกชายให้ไปกราบทูลพระพันวษาให้ยกโทษให้ จมื่นไวยวรนาถจึงใจอ่อนยอมไปเพ็ดทูลต่อพระพันวษา ขุนช้างจึงได้รับอภัยโทษ และพานางวันทองกลับไปอยู่สุพรรณบุรีด้วยกันอย่างสบายใจ
อย่างไรก็ตาม กลับเป็นจมื่นไวยวรนาถเองที่รู้สึกว่าชีวิตยังขาดหายเพราะไม่มีแม่ซึ่งก็คือนางวันทองมาอยู่ด้วย และที่สำคัญแม่ของเขาต้องอาศัยอยู่กับขุนช้างซึ่งเป็นคนที่คิดจะฆ่าตนเองเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก จึงทำให้จมื่นไวยวรนาถเจ็บใจเป็นสองเท่า ดังนั้นจึงคิดแผนการไปชิงนางวันทองจากขุนช้างให้กลับมาอยู่กับตนเอง
ถอดคำประพันธ์ เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา
จะกล่าวถึงโฉมเจ้าพลายงาม |
ถ้าเป็นความชนะขุนช้างนั่น |
กลับมาอยู่บ้านสำราญครัน |
เกษมสันต์สองสมภิรมย์ยวน |
พร้อมญาติขาดอยู่แต่มารดา |
นึกนึกตรึกตราละห้อยหวน |
โอ้ว่าแม่วันทองช่างหมองมวล |
ไม่สมควรเคียงคู่กับขุนช้าง |
เออนี้เนื้อเคราะห์กรรมมานำผิด |
น่าอายมิตรหมองใจไม่หายหมาง |
ฝ่ายพ่อมีบุญเป็นขุนนาง |
แต่แม่ไปแนบข้างคนจัญไร |
จมื่นไวยฯ แม้จะอยู่บ้านอย่างสุขสบายพร้อมพรั่งทั้งญาติมิตรและภรรยา แต่ก็เกิดคิดถึงแม่ซึ่งก็คือนางวันทอง แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกโกรธที่แม่ต้องไปอยู่กับคนเลว ๆ อย่างขุนช้าง ทั้ง ๆ ที่พ่อของตนเป็นถึงขุนนาง จมื่นไวย ฯ จึงคิดหาทางพาแม่กลับมาอยู่ด้วยกัน แต่บ้านของทั้งสองอยู่ห่างไกลกันมาก จมื่นไวย ฯ จึงต้องใช้วิชาอาคมในการเดินทางไปหาแม่ ดังคำประพันธ์ด้านล่างนี้
ได้ยินเสียงฆ้องย่ำประจําวัง |
ลอยลมล่องดังถึงเคหา |
คะเนนับย่ำยามได้สามครา |
ดูเวลาปลอดห่วงทักทิน |
ฟ้าขาวดาวเด่นดวงสว่าง |
จันทร์กระจ่างทรงกลดหมดเมฆสิ้น |
จึงเซ่นเหล้าขาวปลาให้พรายกิน |
เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว |
ลงยันต์ราชะเอาปะอก |
หยิบยกมงคลขึ้นใส่หัว |
เป่ามนต์เบื้องบนชอุ่มมัว |
พรายยั่วยวนใจให้ไคลคลา |
จับดาบเคยปราบณรงค์ครบ |
เสร็จครบบริกรรมพระคาถา |
ลงจากเรือนไปมิได้ช้า |
รีบมาถึงบ้านขุนช้างพลัน ฯ |
จมื่นไวย ฯ ใช้วิธีดูฤกษ์ยาม เอาเหล้าเซ่นผีพราย เสกว่านยาทาตัว หยิบยันต์มาแปะไว้บนอก สวมมงคลที่ศีรษะ รวมไปถึงเป่ามนตร์ลงที่ดาบคู่ใจ เพื่อเดินทางไปหานางวันทองที่เรือนของขุนช้าง นอกจากเป่าคาถาอาคมสำหรับหายตัวแล้ว จมื่นไวย ฯ ยังเสกคาถาให้ผีที่คุ้มครองบ้านเรือนของขุนช้างหายไปทั้งหมด และยังเป่ามนตร์ให้คนในเรือนหลับใหลไม่ได้สติ ซึ่งทำให้จมื่นไวยฯ เข้าไปหาแม่ที่ห้องของขุนช้างได้ แต่เมื่อไปถึงก็เห็นภาพบาดตาบาดใจของแม่ตัวเองกับขุนช้าง แม้จะเดือดดาลมาก แต่จมื่นไวย ฯ ก็สามารถสงบสติอารมณ์เพื่อให้ภารกิจสำเร็จได้
หลังจากนั้น จมื่นไวย ฯ ก็เป่ามนตร์เพื่อให้แม่ตื่นจากการหลับใหล เมื่อนางวันทองเห็นลูกชายก็สะดุ้งโหยง จมื่นไวย ฯ เข้าไปก้มกราบแม่ ทั้งคู่กอดกันตามประสาแม่ลูก
จากเนื้อหาที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าคนโบราณโดยเฉพาะคนในสังคมอยุธยามีความเชื่อด้านไสยศาสตร์เป็นอย่างมาก คนที่จะมีคาถาอาคมในสมัยก่อนจึงต้องเป็นผู้ที่ประพฤติดีจึงจะสามารถรักษาคาถาไว้ได้ กุศโลบายเรื่องไสยศาสตร์จึงออกมาเพื่อกำกับพฤติกรรมของคนให้ประพฤติแต่เรื่องดี ละเรื่องชั่ว ซึ่งทำให้คนสมัยก่อนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
นางวันทองถามไถ่จมื่นไวย ฯ ถึงวัตถุประสงค์ในการมาครั้งนี้ ซึ่งก็ทำให้รู้ว่าลูกนั้นผูกใจเจ็บขุนช้างและมีความคิดถึงตนเอง จึงหวังว่าจะพาตนเองไปอยู่ด้วย นางวันทองรู้ทันทีว่าการกระทำแบบนี้จะต้องนำปัญหามาสู่ตนและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน นางวันทองจึงทัดทานลูกชาย ตามบทประพันธ์นี้
เจ้าเป็นถึงหัวหมื่นมหาดเล็ก |
มิใช่เด็กดอกจงฟังคำแม่ว่า |
จงเร่งกลับไปคิดกับบิดา |
ฟ้องหากราบทูลพระทรงธรรม์ |
พระองค์คงจะโปรดประทานให้ |
จะปรากฏยศไกรเฉิดฉัน |
อันจะมาลักพาไม่ว่ากัน |
เช่นนั้นใจแม่มิเต็มใจ ฯ |
เมื่อรู้ว่าแม่ไม่เต็มใจไปกับตน เพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหา และยังเสนอให้ไปเพ็ดทูลขอต่อพระพันวษา จมื่นไวย ฯ กลับไม่สนใจคำพูดของแม่ แถมยังขู่แม่กลับด้วยคำพูดที่ไม่สุภาพ ดังนี้
จึงว่าอนิจจาลูกมารับ |
แม่ยังกลับทัดทานเป็นหนักหนา |
เหมือนไม่มีรักใคร่ในลูกยา |
อุตส่าห์มารับแม่แล้วยังมิไป |
เสียแรงเป็นลูกผู้ชายไม่อายเพื่อน |
จะพาแม่ไปเรือนให้จงได้ |
แม้นมิไปให้งามก็ตามใจ |
จะบาปกรรมอย่างไรก็ตามที |
จะตัดเอาศีรษะของแม่ไป |
ทิ้งแต่ตัวไว้ให้อยู่นี่ |
แม่อย่าเจรจาให้ช้าที |
จวนแจ้งแสงศรีจะรีบไป ฯ |
จมื่นไวย ฯ ตัดพ้อนางวันทองว่าไม่รักตนที่เป็นลูก แต่ไม่ว่าอย่างไร ลูกผู้ชายอย่างตนจะพาแม่ไปด้วยให้ได้ แม้จะต้องตัดศีรษะแล้วทิ้งตัวแม่ไว้ที่นี่ก็จะทำ สุดท้ายนางวันทองเองก็ต้องยอม เหตุเพราะรักลูก และก็กลัวว่าลูกจะฟันคอของตน
เมื่อมนต์คาถาเริ่มเสื่อมคลาย ขุนช้างเริ่มได้สติตื่นมาและรู้สึกงงงวย มองซ้ายมองขวาก็ไม่เห็นนางวันทองอยู่ข้างตัว ขุนช้างที่ยังไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าเลยแม้แต่น้อยก็ลุกขึ้นอาละวาด จากนั้นก็รีบออกไปตะโกนให้ข้าทาสออกตามหานางวันทองทั่วทั้งเรือน แต่ก็ไม่พบ ขุนช้าจึงสงสัยว่าอาจจะมีคนมาลักพานางวันทองไปอีก และรู้สึกโมโหสุดขีด
ฝ่ายจมื่นไวย ฯ เมื่อพาแม่กลับมาเรือนของตนเองได้สำเร็จแล้ว ก็เกิดรู้สึกตัวขึ้นมาว่าจะต้องเกิดเรื่องใหญ่แน่ ๆ ดังนั้นจึงคิดหาทางแก้ปัญหาโดยให้หมื่นวิเศษผลลูกน้องของตนเองไปที่เรือนของขุนช้างเพื่อไปแจ้งว่าจมื่นไวย ฯ เกิดป่วยและอยากให้แม่ไปดูแล ดังนี้
ข้าพเจ้าเป็นบ่าวพระหมื่นไวย |
เป็นขุนหมื่นรับใช้อยู่ในบ้าน |
ท่านใช้ให้กระผมมากราบกราน |
ขอประทานคืนนี้พระหมื่นไวย |
เจ็บจุกปัจจุบันมีอันเป็น |
แก้ไขก็เห็นหาหายไม่ |
ร้องโอดโดดดิ้นเพียงสิ้นใจ |
จึงใช้ให้ตัวข้ามาแจ้งการ |
พอพบท่านมารดาจึงหายทุกข์ |
ข้าพเจ้าร้องปลุกไปในบ้าน |
จะกลับขึ้นเคหาเห็นช้านาน |
ท่านจึงรีบไปในกลางคืน |
พยาบาลคุณพระนายพอคลายไข้ |
คุณอย่าสงสัยว่าไปอื่น |
ให้คำมั่นสั่งมาว่ายั่งยืน |
พอหายเจ็บแล้วจะคืนไม่นอนใจ ฯ |
เมื่อได้ฟังข่าวจากหมื่นวิเศษผลขุนช้างก็รู้ทันทีว่าเป็นเรื่องโกหกและแค้นใจมากที่จมื่นไวย ฯ มากระทำแบบนี้บนเรือนของตน ขุนช้างเพิ่งไปพูนทองสมเด็จพระพันวษาตามบทประพันธ์ดังนี้
จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช |
เสด็จคืนนิเวศน์พอจวบค่ำ |
ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ |
เรือประจำแหนแห่เซ็งแซ่มา |
พอเรือพระที่นั่งประทับที่ |
ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า |
ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา |
ผุดโผล่โงหน้ายึดแคมเรือ |
เข้าตรงบโทนอ้นต้นกัญญา |
เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ |
มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ |
ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา |
ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ |
มิใช่เสือกระหม่อมฉานล้านเกศา |
สู้ตายขอถวายซึ่งฎีกา |
แพ้เหลือปัญญาจะทานทน ฯ |
แม้พระพันวษาจะรับฎีกาของขุนช้างแต่ก็ทรงกริ้วมากจึงให้คนนำตัวขุนช้างไปโบยเพื่อเป็นการทำโทษ และตั้งแต่นั้นพระพันวษาได้ตั้งกฎเกณฑ์ในการเข้าเฝ้าโดยห้ามให้ใครเข้าใกล้พระมหากษัตริย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีโทษประหารชีวิต
เมื่อขุนแผนรู้ว่านางวันทองมาอาศัยอยู่ที่เรือนของลูกชายก็เกิดคิดถึง เมื่อนางลาวทองและนางแก้วกิริยาหลับก็แอบย่องไปหานางวันทองถึงห้อง โดยขุนแผนได้เล้าโลมนางวันทอง อีกทั้งยังพูดคุยถึงเรื่องราวเก่า ๆ เพื่อปรับความเข้าใจกัน แต่นางวันทองไม่ได้ยินดีที่ขุนแผนมาทำเยี่ยงนี้ เพราะเกรงว่าจะมีโทษทัณฑ์ จึงได้บอกให้ขุนแผนไปกราบทูลขอต่อพระพันวษา คุยกันไปมาทั้งสองก็พล็อยหลับไปและนางวันทองก็เกิดฝันร้ายตามบทประพันธ์นี้
ฝันว่าพลัดไปในไพรเถื่อน |
เลื่อนเปื้อนไม่รู้ที่จะกลับหลัง |
ลดเลี้ยวเที่ยงหลงในดงรัง |
ยังมีพยัคฆ์ร้ายมาราวี |
ทั้งสองมองหมอบอยู่ริมทาง |
พอนางดั้นป่ามาถึงที่ |
โดดตะครุบคาดคั้นในทันที |
แล้วฉุดคร่าพารี่ไปในไพร |
สิ้นฝันครั้งตื่นตกประหม่า |
หวัดผวากอดผัวสะอื้นให้ |
เล่าความบอกผัวด้วยกลัวภัย |
ประหลาดใจน้องผันพรั่นอุรา |
ใต้เตียงเสียงหนูก็กุกกก |
แมลงมุมทุ่มอกที่ริมฝา |
ยิ่งหวาดหวั่นพรั่นตัวกลัวมรณา |
ดั่งวิญญาณ์นางจะพรากไปจากกาย ฯ |
นางวันทองตกใจตื่นและร้องไห้หนักมาก จากนั้นก็เล่าความฝันให้ขุนแผนฟัง โดยขุนแผนได้ดูดวงตามตําราประกอบกับเวลายามที่นางวันทองฝันจึงรู้ทันทีว่านางวันทองรวมถึงฆาตเสียแล้ว ขุนแผนจึงคิดสะเดาะเคราะห์ให้นางวันทองในตอนเช้า
ฝ่ายพระพันวษาเมื่อออกราชการแล้วเห็นหน้าขุนช้าง ก็นึกถึงความที่ขุนช้างนำมาฟ้องจึงเปิดฎีกาออกอ่านแล้วก็เกิดโมโหจึงสั่งให้พระหมื่นศรีไปตามคู่ความมาพบที่ท้องพระโรง
ขุนแผนนั้นรู้ดีอยู่แก่ใจว่านางวันทองมีชะตาถึงฆาต จึงพยายามใช้คาถาเมตตามหานิยม ทาขี้ผึ้งที่ริมฝีปากและกินหมาก เพื่อหวังให้โชคชะตาที่ร้ายนั้นบรรเทาลง จากนั้น ขุนแผน จมื่นไวยวรนาถ และนางวันทองก็เดินทางมาเข้าเฝ้าตามพระราชโองการข้างต้น
เมื่อทั้งสามไปถึง พระพันวษาได้ต่อว่าจมื่นไวย ฯ ที่ทำอะไรไม่เกรงใจกฎหมายบ้านเมือง ไม่เห็นแก่หน้าตาของพระพันวษาบ้าง จากนั้นจึงสอบสวนนางวันทองถึงสาเหตุที่ต้องไปอยู่กับขุนช้าง นางวันทองได้ตอบไปตามความจริงว่า เมื่อขุนแผนติดคุกและตนเองท้องแก่ ขุนช้างได้เข้ามาอ้างว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระพันวษาที่ต้องการให้ตนเองไปอยู่กับขุนช้าง ตนกลัวพระราชอำนาจจึงไปอยู่กับขุนช้างโดยไม่เต็มใจ พระพันวษาได้ยินดังนั้นก็โกรธมาก จึงต้องการชำระความนี้ให้เด็ดขาด ด้วยการให้นางวันทองเลือกว่าจะอยู่กับใคร ดังบทประพันธ์นี้
อีวันทองตัวมันเหมือนรากแก้ว |
ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว |
ใครจะควรสู่สมอยู่กลมเกลียว |
ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้ |
เอ้ยอีวันทองว่ากระไร |
มึงตั้งใจปลดปลงให้ตรงที่ |
อย่าพะวงกังขาเป็นราคี |
เพราะมึงมีผัวสองกูต้องแค้น |
ถ้ารักใหม่ก็ไปอยู่กับอ้ายช้าง |
ถ้ารักเก่าเข้าข้างอ้ายขุนแผน |
อย่าเวียนวนไปให้คนมันหมิ่นแคลน |
ถ้าแม้นมึงรักไหนให้ว่ามา ฯ |
พระพันวษามองว่านางวันทองก็เหมือนกับ “รากแก้ว” ของปัญหานี้ ถ้าตัดรากแก้วออกไป ใบไม้ซึ่งเปรียบได้กับปัญหาต่าง ๆ ก็จะเหี่ยวตายไป
แต่คงเป็นเวรกรรมของนางวันทองที่ดวงถึงฆาต จึงเกิดความประหม่าเลือกไม่ได้ กลัวว่าเลือกแล้วจะไม่ถูกพระทัยพระพันวษา เพราะขุนแผนก็เป็นรักแรกและนางวันทองยังคงรู้สึกกับขุนแผนเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง ส่วนขุนช้างก็ดูแลนางวันทองให้อยู่สุขสบายมาหลายปี ในขณะที่พลายงามเองก็เป็นลูกชายในไส้
พระพันวษาเห็นนางวันทองลังเลใจ ก็โมโหสุดขีด ติดเครื่องด่านางวันทองอย่างหนัก ตามบทประพันธ์ ดังนี้
ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ฟังจบแค้นคั่งดังเพลิงไหม้ |
เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ |
ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง |
จะว่ารักข้างไหนไม่ว่าได้ |
น้ำใจจะประดังเข้าทั้งสอง |
ออกนั่นเข้านี่มีสำรอง |
ยิ่งกว่าท้องทะเลอันล้ำลึก |
จอกแหนแพเสาสำเภาใหญ่ |
จะทอดถมเท่าไหร่ไม่รู้สึก |
เหมือนมหาสมุทรสุดซึ้งซึก |
น้ำลึกเหลือจะหยั่งกระทั่งดิน |
อิฐผาหาหาบมาทุ่มถม |
ก็จ่อมจมสูญหายไปหมดสิ้น |
อีแสนถ่อยจัญไรใจทมิฬ |
ดังเพชรนิลเกิดขึ้นในอาจม |
รูปงามนามเพราะน้อยไปฤๅ |
ใจไม่ซื่อสมศักดิ์เท่าเส้นผม |
แต่ใจสัตว์มันยังมีที่นิยม |
สมาคมก็แต่ถึงฤดูมัน |
มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถอยอีท้ายเมือง |
จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์ |
ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน |
อีกร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ |
ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว |
หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่ |
หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย |
อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา |
กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นหัวหมื่น |
คนอื่นรู้ว่าแม่ก็ขายหน้า |
อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา |
กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย |
หญิงกาลกิณีอีแพศยา |
มันไม่น่าเชยชิดพิสมัย |
ที่รูปรวยสวยสมมีถมไป |
มึงตัดใจเสียเถิดอีคนนี้ |
เร่งเร็วเหวยพระยายมราช |
ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี |
อกเอาขวานผ่าอย่าปราณี |
อย่าให้มีโลหิตติดดินกู |
เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน |
ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่ |
ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู |
สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทไชย |
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่นางวันทองพูดไปทุกประการ สุดท้ายบาปทั้งหมดที่ใครต่อใครสร้างขึ้นก็มาตกที่นางวันทอง ต้องมาโดนพระพันวษาสั่งประหารเพราะมองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด และแม้ว่าวรรณคดีจะพยายามบอกว่านางวันทองถูกประหารเพราะถึงฆาต แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างมีต้นสายปลายเหตุ ถ้าเพื่อน ๆ พิจารณาดูดี ๆ จะเห็นว่า นางวันทองต้องมารับผลที่ตัวเองไม่ได้ก่อเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น หากจะเรียกนางวันทองว่าเป็นผู้หญิงสองใจ เราก็อยากให้เพื่อน ๆ ลองคิดดูใหม่ว่า นางเหมาะสมกับฉายานี้แล้วจริง ๆ หรือ ?
ถอดคำประพันธ์เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกากันไปแล้ว แม้ว่าเนื้อหาอาจจะดูไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวรรณคดีเรื่องนี้ไม่มีคุณค่านะ ครูหนึ่งแห่ง StartDee จะพาเราไปวิเคราะห์คุณค่าด้านต่าง ๆ ของวรรณคดีไทยเรื่องนี้กัน (พร้อมด้วยการขับเสภาเพราะ ๆ เป็นของแถม ได้อรรถรสแน่นอน)
นอกจากเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกาแล้ว ยังมีบทเรียนออนไลน์วิชาภาษาไทยสนุก ๆ อีกเยอะ ทั้งกาพย์เห่เรือ และการประเมินคุณค่าเรื่องสั้น หรือจะข้ามไปเรียนฟิสิกส์ มีเรื่องหลอดแก้วรูปตัวยูด้วยนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ธีรศักดิ์ (ครูหนึ่ง) จิระตราชู
References :
https://prachatai.com/journal/2020/05/87759
พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล. "ผู้หญิงไทยในกฏหมายตราสามดวง : จากผู้หญิงเป็นใหญ่ ถึงผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน." วารสารอักษรศาตร์ปีที่ 32 ฉบับที่ 1, มกราคม 2546. essay. Retrieved from: https://cuir.car.chula.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/14012/Pornpen_Women.pdf?sequence=1&isAllowed=y