แผ่นดินถล่ม และ แผ่นดินทรุด ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 วิชาสังคมศึกษา

แผ่นดินถล่มและแผ่นดินทรุด

เวลาที่เราอ่านข่าวในอินเทอร์เน็ต หรือดูข่าวทางโทรทัศน์ เพื่อน ๆ น่าจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินถล่ม และแผ่นดินทรุดกันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ถึงแม้ธรณีภัยพิบัติ 2 ประเภทนี้ดูเผิน ๆ อาจไม่ร้ายแรงและยิ่งใหญ่เท่ากับแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในประเทศไทยของเรา แถมยังเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ภาค ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพ ฯ ที่ไแทบไม่มีภูเขาหรือพื้นที่ธรรมชาติเลยสักนิด ซึ่งวันนี้แอปพลิเคชัน StartDee จะพาทุกคนไปเรียนรู้ทั้งสาเหตุการเกิด และแนวทางในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิด 2 เหตุการณ์นี้กัน ลุยเลยจ้า

Banner-Orange-Standard

แผ่นดินถล่ม คืออะไร

แผ่นดินถล่ม คือ การเคลื่อนที่ของมวลดินตามแรงโน้มถ่วงของโลก โดยส่วนใหญ่ เหตุการณ์แผ่นดินถล่มในประเทศไทยมักมี “น้ำ” เป็นส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ โดยเกิดจากน้ำหนักของดินที่อุ้มน้ำเอาไว้ นอกจากนั้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว หรือการกระทำแบบอื่นเป็นตัวกระตุ้น เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินถล่มได้บ่อย มักเป็นพื้นที่ลาดชัน เช่น ไหล่เขา เป็นต้น รวมไปถึงพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ๆ พื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะของแม่น้ำ ทำให้มวลดินลดลง 

 

สาเหตุของแผ่นดินถล่ม

สาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินถล่าม แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ได้แก่

  • การกระทำของธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว รวมไปถึงปริมาณน้ำฝน อันเกิดจากฝนตกหนักเป็นเวลานานจากพายุฝนฟ้าคะนอง ภูเขาไฟปะทุ หิมะถล่ม เป็นต้น
  • การกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การเพาะปลูกบริเวณไหล่เขาและบนเขา การสร้างสิ่งปลูกสร้าง การตัดไม้เพื่อทำพื้นที่การเกษตรและอยู่อาศัย การทำเหมือง และการระเบิดภูเขา

แผ่นดินถล่มในประเทศไทย

ส่วนใหญ่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน โดยภาคเหนือและภาคใต้มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มได้มาก เพราะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและมีเนินสูง ตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินถล่มในอดีต เช่น แผ่นดินถล่มที่ต. น้ำก้อ อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 มีผู้บาดเจ็บ 109 คน เสียชีวิต 136 คน สูญหาย 4 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหมด 188 หลัง เสียหายบางส่วน 441 หลัง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 645 ล้านบาท เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินถล่มนั้น อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเหตุการณ์เฉียบพลัน อาจมีบ้านเรือนพังเสียหาย รวมไปถึงเกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยด้วย

 

ความหมายและสาเหตุของแผ่นดินทรุด

แผ่นดินทรุด คือ ธรณีพิบัติภัยประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากพื้นผิวดินพังทลายเป็นหลุม เกิดจากน้ำในโพรงใต้ดินเหือดแห้ง หรือลดลงจากกระบวนการธรรมชาติ และการสูบน้ำบาดาลของมนุษย์ 

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการกดทับของน้ำหนักจากชั้นผิวดิน เช่นการมีอาคารก่อสร้าง เมื่อบวกกับแรงดันน้ำใต้ดินที่ลดลง รวมไปถึงดินตะกอนที่อยู่ลึกลงไปจากผิวดิน เป็นดินตะกอนประเภทไม่แข็งตัว ได้แก่ ดินเหนียว ดินทราย เป็นต้น ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป อาจเกิดปัญหาทรุดตัวของดินได้

 

ผลกระทบจากแผ่นดินทรุด

เหตุการณ์แผ่นดินทรุด อาจทำให้บ้านเรือนเสียหาย เกิดการเปลียนถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะการทรุดตัวลงอาจทําให้พื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับนํ้ำทะเล เช่น กรุงเทพมหานคร เกิดความเสียหายได้ นอกจากนั้น การทรุดลงเฉียบพลันอาจก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

 

แผ่นดินทรุดในไทย

สำหรับในประเทศไทย เหตุการณ์แผ่นดินทรุดเกิดขึ้นล่าสุดที่กรุงเทพมหานคร โดยเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ได้เกิดเหตุการณ์ถนนยุบ บริเวณถนนพระราม 4 หน้าประตูทางเข้าการไฟฟ้านครหลวง คลองเตย โดยมีลักษณะเป็นโพรงยุบลึก 1 เมตร เกิดจากการชะของหน้าดิน ที่อยู่ใต้ผิวถนน

นอกจากประเทศไทยของเรา ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีปัญหาในเรื่องของแผ่นดินทรุดอย่างหนักอันเป็นผลมาจากการขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่อง คือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยผลการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีบันดุงในปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า น้ำทะเลอาจจะทะลักเข้ามาท่วมพื้นที่ราว 26.86 เปอร์เซ็นต์ของกรุงจาการ์ต้าภายในปีพ.ศ. 2568 หรือในปี 5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปที่ “กาลิมันตัน (Kalimatan)” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะบอร์เนียว

 

แนวทางป้องกันดินถล่มและแผ่นดินทรุด

สำหรับดินถล่ม :
  • มีระบบเตือนภัยให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยง ให้ความรู้ และมีเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครคอยดูแล
  • ปลูกพืชคลุมดิน หรือสร้างเขื่อนกั้นการถล่มของดินบริเวณไหล่เขา
  • ดูแลรักษาผืนป่า
  • มีการซ้อมหนีแผ่นดินถล่ม และการให้ความช่วยเหลือ
สำหรับแผ่นดินทรุด :
  • สํารวจและตรวจสอบดินและชั้นดินใหถี่ถ้วนก่อนสร้างบ้านเรือน
  • ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องโอกาสในการเกิดแผ่นดินทรุด
  • ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ต้องมีระบบการจัดการน้ำ โดยเฉพาะน้ำบาดาลให้เหมาะสม และทางที่ดีควรใช้น้ำผิวดินในการอุปโภคบริโภค

อ่านดูแล้วก็รู้สึกได้เลยเนาะ ว่าธรณีภัยพิบัติทั้งแผ่นดินถล่มและแผ่นดินทรุดเป็นเรื่องที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย แถมยังมีโอกาสเกิดได้ในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยอีกด้วยนะ ต่างจากแผ่นดินไหว ที่โอกาสเกิดนั้นน้อยกว่ามาก ๆ  สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่เรียนออนไลน์เรื่องนี้จบแล้ว ยังมีบทเรียนวิชาสังคมศึกษาใน StartDee ให้อ่านอีกเยอะ คลิกเรื่อง มรดกของอารยธรรมกรีกโบราณ บรรยากาศภาค หรือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (APEC, AFTA, WTO) หรือจะดาวน์โหลดแอป StartDee มาเรียนออนไลน์กันเพลิน ๆ ก็ได้นะ

Banner_N-Dunk_Orange

Reference:

กรมทรัพยากรธรณี, สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย. (2010). ความรู้เกี่ยวกับดินถล่ม. Retrieved July 22, 2020, from http://www.dmr.go.th/download/Landslide/what_landslide1.htm

กรมอุตินิยมวิทยา. (N/A). แผ่นดินถล่ม (Land slides). Retrieved July 22, 2020, from https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=76

สยามรัฐออนไลน์.  (2019, August 19). กทม.ถนนยุบหลุมที่ 2 ใน 1เดือน. Retrieved July 22, 2020, from https://siamrath.co.th/n/97742

Spring News. (2018, December 9).แผ่นดินอินโดนิเซียทรุดหนัก ! คาด 1 ใน 4 ของกรุงจาการ์ต้าถูกน้ำทะเลท่วมในปี 2025 [คลิป]. Retrieved July 22, 2020 from https://www.springnews.co.th/global/398792

 

แสดงความคิดเห็น