‘แฮมทาโร่’ จากป๊อปคัลเจอร์ สู่สัญลักษณ์ทางการเมือง

แฮมทาโร่

“เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ 

ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ 

ของอร่อยที่สุดก็คือ…”

ประโยคต่อไปจะเป็นอะไรนั้น...คงขึ้นอยู่กับว่าเราฟังเพลงนี้เวอร์ชันไหน แต่ถ้าได้ยินเพลงแฮมทาโร่ช่วงหลังเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากจะชวนให้เรานึกถึงเหล่าหนูแฮมสเตอร์แล้ว คงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงแฟลชม็อบ #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ เพราะเพลงแฮมทาโร่เวอร์ชันใหม่ ในปี 2020 ได้แทรกปัญหาการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันในเนื้อเพลงด้วย แต่การ์ตูนสุดมุ้งมิ้งกับการเมืองเรื่องซีเรียสจะมาอยู่ด้วยกันได้ยังไง ไปอ่านเกร็ดความรู้เรื่องนี้กันเลยดีกว่า

 

รู้จักแฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย

แม้เราจะรู้จักเจ้าแฮมทาโร่ในฐานะแอนิเมชันสุดคิวต์ แต่จริง ๆ แล้วแฮมทาโร่เริ่มต้นขึ้นจากการเป็นนิทานเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยคุณคะวาอิ ริทสึโกะ (Ritsuko Kawai) นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ซึ่งต่อมานิทานเรื่องดังกล่าวได้ออกอากาศทางทีวีของญี่ปุ่นช่วงปี พ.ศ. 2543 ก่อนจะดังเป็นพลุแตกและได้ฉายทางโทรทัศน์กว่า 35 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย 

แฮมทาโร่

ตัวละครแฮมทาโร่ (ขอบคุณภาพจาก vizzed.com)

ลายเส้นการ์ตูนสุดแสนจะน่ารัก บวกกับเรื่องราวการผจญภัยแสนสนุกของแก๊งตัวจิ๋ว ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่เด็กหลายคนในยุคนั้นจะเอ็นดูจนอยากขอพ่อแม่เลี้ยงหนูแฮมสเตอร์เลยทีเดียว และสำหรับใครที่ยังไม่เคยดู เราขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า การ์ตูนเรื่องนี้มีตัวละครหลักชื่อ ‘แฮมทาโร่’ เป็นหนูแฮมเตอร์สุดร่าเริง ชอบช่วยเหลือคนอื่น และเป็นฮีโร่สำหรับผองเพื่อนแก๊งแฮมแฮม (Ham-Hams) แก๊งหนูแฮมสเตอร์ที่สมาชิกชาวหนูมาจากพื้นเพหลากหลายและมีนิสัยแตกต่างกันออกไป เช่น ‘โคชิคุง’ แฮมสเตอร์ลายวัวแสนขี้อาย ชอบกินเป็นชีวิตจิตใจ จนต้องถือเมล็ดทานตะวันติดตัวไว้ตลอดเวลา ‘แพนด้าคุง’ ที่หน้าตาคล้ายแพนด้าสมชื่อ มีนิสัยชอบสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ และฝันอยากจะเป็นช่างไม้ ‘ริบบ้อนจัง’ สาวน้อยลุคคุณหนูจากฝรั่งเศส แม้จะเอาแต่ใจตัวเองบ้าง แต่ก็เป็นที่รักของเพื่อน ๆ เป็นต้น (จะว่าไปก็คล้ายกับเพื่อน ๆ รอบตัวเราที่มีนิสัยแตกต่างกันมารวมตัวกันเลยล่ะ) โดยเจ้าหนูแก๊งแฮมแฮมเหล่านี้จะมีภาษาที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม และมักจะแอบเจ้าของออกมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของเรื่องราวสุดป่วนที่ชวนให้เด็กและวัยรุ่นหลายคนติดงอมแงมเลยทีเดียว

 

รู้จักป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) 

แอนิเมชันเรื่องแฮมทาโร่ได้รับความนิยมจนเรียกว่าเป็น ป๊อปคัลเจอร์ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากการ์ตูนในจอแล้ว นอกจอเราก็เจอแฮมทาโร่บ่อยไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเกมแฮมทาโร่ ตุ๊กตา เสื้อผ้า รองเท้า หรือสินค้าอื่น ๆ ที่มีลายการ์ตูนแฮมทาโร่อยู่ แต่อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ บางคนอาจสงสัยว่าป๊อปคัลเจอร์ที่ว่าคืออะไรกันนะ ? 

ติ๊กต๊อก ๆ ๆ เฉลยเลยแล้วกัน....

ป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) หรือป๊อปปูลาร์คัลเจอร์ (popuar Culture) มีชื่อเรียกไทย ๆ ว่า วัฒนธรรมประชานิยม หรือวัฒนธรรมสมัยนิยม หมายถึงวัฒนธรรมที่กำลังป๊อปหรือฮิตกันอยู่ในสังคมช่วงนั้น โดยอาจจะเป็นเพลง หนัง อาหาร การแต่งกาย หนังสือ กีฬา การ์ตูน รวมทั้งแอนิเมชันอย่างแฮมทาโร่ก็นับเป็นป๊อปคัลเจอร์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งป๊อปคัลเจอร์ไม่ได้สอดแทรกอยู่ตามสินค้าและบริการต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังสอดแทรกอยู่ในเรื่องอื่น ๆ อย่างสถาปัตยกรรม หรือแม้แต่การแสดงออกทางการเมือง

 

#วิ่งกันนะแฮมทาโร่  จากป๊อปคัลเจอร์สู่สัญลักษณ์ทางการเมือง

อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่าป๊อปคัลเจอร์สอดแทรกอยู่ในเรื่องการเมืองได้ด้วย เช่นเดียวกับแฮมทาโร่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองโดยนำเนื้อเพลงเดิมมาดัดแปลงใหม่ สื่อถึงปัญหาการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้จัดที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับเป็นบรรยากาศการชุมนุมรูปแบบใหม่ที่มีดนตรี เนื้อเพลงสนุกสนานแต่แฝงไปด้วยความซีเรียสของการเมือง 

แฮมทาโร่

ภาพกิจกรรมวิ่งกันนะแฮมทาโร่ (ขอบคุณภาพจาก ประชาไท)

การนำแฮมทาโร่มาใช้แสดงออกทางการเมืองครั้งนี้ อาจมีที่มาจากความฮิตของการ์ตูนและเพลงแฮมทาโร่ จนเรียกได้ว่าเป็นป๊อปคัลเจอร์ที่พอพูดถึงแล้วคนก็ร้องอ๋อ บวกกับคาแรกเตอร์ของชาวแก๊งแฮมแฮมที่มีความน่ารัก สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ และพร้อมผจญภัยที่คล้ายกับเด็กรุ่นใหม่ วัยรุ่น และหนุ่มสาวซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ออกมาชุมนุมกันในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน เพลงประกอบการ์ตูนเรื่องแฮมทาโร่ก็มีจังหวะและเนื้อเพลงเหมาะกับการนำมาปรับล้อไปกับสถานการณ์การเมือง จนกลายเป็นเพลงฮิตติดหูและเป็นที่มาของแฮชแท็ก #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ นั่นเอง (ฟังประกอบการอ่านบทความได้ในลิงก์นี้เลย https://www.youtube.com/watch?v=UPU9QyhUZ78)

นอกจากแฮมทาโร่แล้วยังมีป๊อปคัลเจอร์เรื่องอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ‘การชูสามนิ้ว’ ที่อิงมาจากภาพยนตร์เรื่องเดอะฮังเกอร์เกมส์ (The Huger Games) หรือกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ที่มาจากเรื่องแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ โดยอิงจากโครงเรื่องของแฮร์รี่และเหล่าพ่อมดแม่มดหนุ่มสาวที่ต้องต่อสู้กับเหล่าจอมมาร คล้ายกับการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้มีการเสกคาถาผู้พิทักษ์ พร้อมพูดถึงประเด็นการถูกบังคับสูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศกัมพูชา 

ชูสามนิ้ว

ภาพการชูสามนิ้วใน The Hunger Games (ขอบคุณภาพจาก The SOURCE)

 

การเมืองก็นับเป็นป๊อปคัลเจอร์ได้เหมือนกัน

นอกจากการนำป๊อปคัลเจอร์ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแล้ว เชื่อไหมว่า เรายังทำให้การเมืองกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ได้เหมือนกัน เพราะปัจจุบันทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และการเมืองก็ได้กลายเป็นประเด็นสุดฮิตที่คนพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน ซึ่ง The Matter ได้เขียนถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การเมืองกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ขึ้นมาได้ เพราะเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้คนรับรู้ข่าวสารเรื่องการเมืองได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น แถมวิธีการแสดงออกทางการเมืองยังมีหลายรูปแบบที่ลดความจริงจังและดูเข้าถึงง่ายกว่าสมัยก่อน อย่างการทำเป็นมีม การแปลงเนื้อเพลง การให้ความรู้เป็นอินโฟกราฟิกที่อ่านง่าย แม้แต่การนำป๊อปคัลเจอร์มาช่วยดึงความสนใจของผู้คนก็มีส่วนทำให้การเมืองกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ไปในตัวได้เช่นกัน 

 

ไม่ว่าป๊อปคัลเจอร์จะอยู่ในการเมือง หรือการเมืองจะกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ ในชีวิตประจำวันของเรา หรือคนรอบตัวเราย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองทั้งนั้นเพราะ “การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว และการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ตั้งแต่การตื่นนอนไปโรงเรียน ระบบขนส่งสาธารณะ เครื่องแบบนักเรียน หลักสูตรการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือแม้แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ ‘ค่าใช้จ่าย’ กลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาที่ดี ซึ่งในที่นี้คือ เนื้อหาถูกต้อง ครูสอนเข้าใจและไม่น่าเบื่อ (เลยเป็นที่มาของการทำแอปพลิเคชัน StartDee นี่แหละเพื่อน ๆ เพราะเราอยากให้การศึกษาที่ดี เข้าถึงทุกคนในราคาที่จับต้องได้ อะ ไหน ๆ ก็ขายของแล้ว ใครที่อยากทบทวนบทเรียน แต่อยากประหยัดงบเรียนพิเศษ ก็โหลดแอปฯ StartDee มาลองใช้ได้นะเออ)

นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว เรายังมีประเด็นสังคมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอย่างบทความ สีผิวไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนมองบทเรียนวรรณคดีไทยและประเด็นเรื่องสีผิว และ บทความเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมไปกับ SpongeBob SquarePants ติดตามกันต่อใน Blog StartDee ของเราได้เลย หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee เอาไว้ทบทวนการบ้านวิชาต่าง ๆ ก็ได้นะ

Banner_N-Dunk_Orange



Reference

Aof. (2020, August 06). ถอดรหัส POP CULTURE เครื่องมือคลาสสิกในการเคลื่อนไหวทางการเมือง. Retrieved August 16, 2020, from https://www.prachachat.net/d-life/news-501998

#หนังสือก็ต้องอ่านรัฐบาลก็ต้องด่า : เมื่อโซเชียลมีเดียทำการเมืองให้เป็นป๊อปคัลเจอร์. (2020, March 03). Retrieved August 16, 2020, from https://thematter.co/thinkers/social-media-change-politics-to-pop-culture/102442

Reporter. (n.d.). มารู้จักแฮมทาโร่กันค่าาา ❤️❤️❤️. Retrieved August 16, 2020, from https://thaienews.blogspot.com/2020/07/blog-post_352.html

Hamtaro. (n.d.). Retrieved August 16, 2020, from https://cartoonnetwork.fandom.com/wiki/Hamtaro

 

แสดงความคิดเห็น