โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วิชาภาษาไทย

โคลงภาพพระราชพงศาวดาร

เพื่อน ๆ น่าจะเคยได้ยินหรือเคยดูละครหรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์พระสุริโยทัยขาดคอช้าง หรือพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิตกันมาบ้างแล้ว ซึ่งมักจะมีการเสริมเติมแต่งไปเพื่อความสนุกสนาน แต่ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้จักเหตุการณ์ทั้งสองในฉบับที่บันทึกไว้ทั้งภาพจิตรกรรมและคำประพันธ์ ณ พระราชวังบางปะอิน เราขอชวนเพื่อน ๆ มาเรียนเรื่องโคลงภาพพระราชพงศาวดารกันเลย

นอกจากนั้น เพื่อน ๆ ยังสามารถเรียนเรื่องโคลงภาพพระราชพงศาวดารกันได้ในรูปแบบวิดีโอด้วยนะ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee แล้วไปเรียนกันได้เลย

Banner-Orange-Standard

ที่มาของโคลงภาพพระราชพงศาวดาร

โคลงภาพพระราชพงศาวดารเป็นพระราชดำริในรัชกาลที่ ๕ ที่มีพระราชประสงค์ที่จะสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ และต้องการเชิดชูเกียรติหมู่เสวกามาตย์ที่มีความกล้าหาญ สุจริต กตัญญูต่อแผ่นดิน อีกทั้งยังมีพระราชประสงค์ที่จะบำรุงฝีมือช่างสยาม ให้ได้แสดงความสามารถด้านการวาดภาพออกมา พระองค์จึงทรงเลือกสรรเรื่องในพระราชพงศาวดาร และให้ช่างที่มีฝีมือเขียนรูปภาพ และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่เชี่ยวชาญในการแต่งคำประพันธ์ แต่งโคลงถวายเพื่อใช้ในการประกอบเรื่อง

โคลงภาพพระราชพงศาวดารประกอบไปด้วยรูปภาพรวมทั้งสิ้น ๖๒ ภาพ โดยที่ภาพขนาดใหญ่มีจำนวนโคลงรูปละ ๖ บาท และภาพขนาดกลางและขนาดเล็ก มีจำนวนโคลงรูปละ ๔ บาท รวมเป็นจำนวนทั้งหมด ๓๗๖ บทด้วยกัน แต่ในวันนี้ StartDee จะชวนเพื่อน ๆ มาเรียนโคลงภาพพระราชพงศาวดารกันแค่ ๒ ตอน เท่านั้น คือ ภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้าง และภาพพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต

 
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้าง

โคลงภาพพระชาพงศาวดาร-สุริโยทัยขาดคอช้าง

ภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้างเป็นรูปขนาดใหญ่รูปที่ ๑๐ ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้รับรางวัลพระราชทานเป็นอันดับที่ ๓ ในปัจจุบันภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้างประดับอยู่ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ส่วนโคลงที่ใช้ประกอบภาพเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวนทั้งหมด ๖ บท

 

เพื่อน ๆ คงสงสัยกันว่า สมเด็จพระสุริโยทัย คือใครกันแน่นะ หากเพื่อน ๆ เคยดูภาพยนตร์ก็อาจจะทราบพระราชประวัติกันมาบ้างแล้ว แต่ StartDee ขอย้ำกันตรงนี้อีกรอบ สมเด็จพระสุริโยทัยเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๒๐๙๑ ถึง ๒๑๑๑ สมเด็จพระสุริโยทัย ทรงแต่งพระองค์เป็นพระมหาอุปราชเพื่อออกรบในศึกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า โดยทรงช้างพลายสุริยกษัตริย์ตามเสด็จพระมหาจักรพรรดิเข้าขบวนรบ

 

ถอดคำประพันธ์โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
ภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้าง

          บุเรงนองนามราชเจ้า

จอมรา มัญเฮย

ยกพยุหแสนยา

ยิ่งแกล้ว

มอญม่านประมวลมา

สามสิบ หมื่นแฮ

ถึงอยุธเยศแล้ว

หยุดใกล้นครา

 

บุเรงนอง กษัตริย์พม่ายกกองทัพอันมีแสนยานุภาพเก่งกล้าสามารถ ซึ่งรวมเอาทั้งทัพมอญและทัพพม่าได้ทหารราว ๆ ๓๐๐,๐๐๐ คน มายังกรุงศรีอยุธยา และหยุดเมื่อมาถึงใกล้ตัวเมือง

คำศัพท์และความหมาย

จอม             หมายถึง ผู้ที่ยอดเยี่ยมในหมู่

รามัญ           หมายถึง มอญ

พยุหแสนยา  หมายถึง กองทัพ หมู่เสนา

แกล้ว           หมายถึง เก่งกล้า องอาจ

มอญ            หมายถึง ชื่อชนชาติหนึ่ง

ม่าน             หมายถึง พม่า

ประมวล        หมายถึง รวบรวมเข้าเป็นหมวดหมู่

สามสิบหมื่น  หมายถึง ๓๐๐,๐๐๐ (สามแสน)

อยุธเยศ        หมายถึง อยุธยา

นครา            หมายถึง เมือง

 

          พระมหาจักรพรรดิ์เผ้า

ภูวดล สยามเฮย

วางค่ายรายรี้พล

เพียบหล้า

ดำริจักใคร่ยล

แรงศึก

ยกนิกรทัพกล้า

ออกตั้งกลางสมร

พระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงสยาม ทรงวางกำลังพลมากมายเพื่อเตรียมรับศึก และทรงมีพระราชดำริในการออกไปดูลาดเลาเพื่อประมาณการจำนวนข้าศึก จึงทรงยกกองทัพออกไปตั้งกลางสนามรบ

คำศัพท์และความหมาย

เผ้าภูวดล  หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน

เผ้า           หมายถึง ส่วนที่สูงที่สุดของศีรษะ

ภูวดล        หมายถึง แผ่นดิน

วางค่าย     หมายถึง ตั้งค่าย

รี้พล          หมายถึง กองทัพ

เพียบ        หมายถึง จำนวนมาก

ดำริ           หมายถึง คิด ไตร่ตรอง

ใคร่           หมายถึง อยาก ต้องการ

ยล            หมายถึง มองดู

แรงศึก      หมายถึง กำลังข้าศึก

นิกร          หมายถึง หมู่ พวก

สมร          หมายถึง การรบ การสงคราม

 

          บังอรอัคเรศผู้ 

พิสมัย ท่านนา

นามพระสุริโยทัย

ออกอ้าง

ทรงเครื่องยุทธพิไชย

เช่นอุป ราชแฮ

เถลิงคชาธารคว้าง

ควบเข้าขบวนไคล

หญิงผู้เป็นใหญ่ ผู้ทรงเป็นที่รักของพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งก็คือพระสุริโยทัยนั่นเอง ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดนักรบเหมือนกับพระมหาอุปราช และทรงควบช้างเข้ากระบวนทัพตามเสด็จไปด้วย

คำศัพท์และความหมาย

บังอร                        หมายถึง นาง ผู้หญิง

อัคเรศ                       หมายถึง ผู้เป็นใหญ่

พิสมัย                       หมายถึง รัก

นาม                          หมายถึง ชื่อ

ทรงเครื่องยุทธพิไชย  หมายถึง แต่งกายด้วยชุดนักรบ

เถลิง                         หมายถึง ช้างทรง

คว้าง                         หมายถึง เคลื่อนลอยไปอย่างรวดเร็ว

ไคล                          หมายถึง เข้าขบวนและเคลื่อนไป

          พลไกรกองน่าเร้า

โรมรัน กันเฮย

ช้างพระเจ้าแปรประจัน

คชไท้

สารทรงซวดเซผัน

หลังแล่น เตลิดแฮ

เตลงขับคชไล่ใกล้

หวิดท้ายคชาธาร

ทัพของไทยและทัพของพม่าเริ่มปะทะกัน ทัพหน้าของทั้งสองฝ่ายยกพลเข้าสู้รบ ช้างของพระเจ้าแปรเข้าสู้กับช้างของพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งพระมหาจักรพรรดิเสียทีพระเจ้าแปร โดยช้างของพระองค์เสียหลัก หันหลังวิ่งแตกหนีออกไป กองทัพของพม่าจึงได้โอกาสขี่ช้างไล่ตามช้างของพระมหาจักรพรรดิ จนเกือบโดนด้านหลังของช้าง

คำศัพท์และความหมาย

พลไกร    หมายถึง ทหารที่เก่งกล้า

กองน่า    หมายถึง กองหน้า (เป็นคำเอกโทษ)

โรมรัน     หมายถึง รบพุ่ง

ประจัญ    หมายถึง ปะทะต่อสู้

คชไท้      หมายถึง ช้างผู้เป็นใหญ่

สาร         หมายถึง ช้าง

ซวดเซ    หมายถึง เสียหลัก

เตลิด       หมายถึง แตกหนีคนละทิศ

เตลง       หมายถึง ทัพพม่า

หวิด        หมายถึง เกือบ เฉียด

            นงคราญองค์เอกแก้ว

กระษัตรีย์

มานมนัสกัตเวที

ยิ่งล้ำ

เกรงพระราชสามี

มลายพระ ชนม์เฮย

ขับคเชนทรเข่นค้ำ

สะอึกสู้ดัสกร

เมื่อพระสุริโยทัยมองเห็นว่าช้างของพระมหาจักรพรรดิเสียหลัก พระสุริโยทัยผู้มีน้ำพระทัยและมีความกตัญญูต่อพระมหาจักรพรรดิ วิตกว่าพระราชสามีจะสิ้นพระชนม์ พระสุริโยทัยจึงขับช้างพระที่นั่งโถมเข้าสู้กับศัตรู

คำศัพท์และความหมาย

นงคราญ          หมายถึง สาวงาม

มาน                 หมายถึง มี

มนัส                หมายถึง ใจ

กัตเวที             หมายถึง สนองคุณท่าน (กตัญญู)

พระราชสามี     หมายถึง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

มลายพระชนม์  หมายถึง สิ้นพระชนม์ (เสียชีวิต)

คเชนทร           หมายถึง ช้าง

เข่น                 หมายถึง ตีอย่างแรง

ดัสกร              หมายถึง ข้าศึก ศัตรู

          ขุนมอญร่อนง้าวฟาด

ฉาดฉะ

ขาดแล่งตราบอุระ

หรุบดิ้น

โอรสรีบกันพระ

ศพสู่ นครแฮ

สูญชีพไป่สูญสิ้น

พจน์ผู้สรรเสริญ

พระเจ้าแปรฟาดพระแสงของ้าวถูกส่วนอกของพระสุริโยทัยขาดสะพายแล่ง พระราเมศวรและพระมหินทราธิราช พระราชโอรสทั้งสองของพระสุริโยทัย จึงรีบนำพระศพกลับสู่กรุงศรีอยุธยา แม้พระสุริโยทัยจะสิ้นพระชนม์แล้ว แต่คำสรรเสริญ ยังคงอยู่คู่กับคุณงามความดีของพระสุริโยทัย 

คำศัพท์และความหมาย

ขุนมอญ หมายถึง พระเจ้าแปร

ร่อน       หมายถึง อาการของสิ่งที่ลอยไปมา

ง้าว       หมายถึง อาวุธรูปร่างคล้ายดาบ มีด้ามยาว

ฟาด      หมายถึง หวด เหวี่ยง

ฉาดฉะ  หมายถึง เสียงของการฟาดฟัน

แล่ง      หมายถึง ผ่า ทำให้แตก

อุระ       หมายถึง อก

โอรส    หมายถึง ลูก

ไป่       หมายถึง ไม่

พจน์    หมายถึง คำพูด ถ้อยคำ

 

โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ภาพพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต

ภาพพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิตเป็นรูปที่ ๕๖ เขียนโดยนายทอง (พระวรรณวาดวิจิตร) ได้รับรางวัลพระราชทานอันดับที่ ๑๑ ในปัจจุบัน ภาพนี้ประดับอยู่ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน

เป็นบทพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าวรวรรณากร ต้นราชสกุล วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับเจ้าจอมมารดาเขียน ทรงเป็นนักเขียนเรื่องสั้นมีนามแฝงว่า “ประเสริฐอักษร” และเป็นผู้ให้กำเนิดละครร้อง โดยดัดแปลงมาจากละครตะวันตก จึงได้รับพระนามว่า “พระบรมครูแห่งละครร้อง” อีกทั้งยังทรงตั้งคณะละครชื่อ ปรีดาลัย สร้างสรรค์บทละครที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น บทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า พระเจ้าสีป้อมินทร์ บทละครรำเรื่องพระลอ เป็นต้น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงรับราชการในหอรัษฎาพิพัฒน์ เป็นรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงสร้างสรรค์ผลงานมากมาย ได้แก่ จดหมายเหตุลาลูแบร์ ตำนานพระแท่นมนังคศิลาบาตร รุไบยาต นรางกุโรวาท สร้อยคอที่หาย เป็นต้น 

สำหรับภาพพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต ประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญหลายต่อหลายท่าน โดยมีสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีนิสัยดุ เอาจริงเอาจัง ชอบการต่อยมวยและตกปลา และเป็นผู้ที่มีวาจาสิทธิ์ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีภาพของพันท้ายนรสิงห์เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย โดยเดิมมีชื่อว่า “สิน” เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ปัจจุบันคือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีภรรยาชื่อนวล หรือศรีนวล ได้พบกับสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ ในการแข่งขันชกมวยไทย ด้วยความเก่งกาจและมีฝีมือ จึงทำให้สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ โปรดปรานเป็นอย่างมาก จนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด โดยมีตำแหน่งเป็น “พันท้ายนรสิงห์” ทำหน้าที่นายท้ายเรือพระที่นั่งนั่นเอง

 

ถอดคำประพันธ์โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
ภาพพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต

        สรรเพชญที่แปดเจ้า

อยุธยา

เสด็จประพาสทรงปลา

ปากน้ำ

ล่องเรือเอกไชยมา

ถึงโคก ขามพ่อ

คลองคดโขนเรือค้ำ

ขัดไม้หักสลาย

พระเจ้าสรรเพชญที่ ๘ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา นั่งเรือพระที่นั่งเอกไชยออกไปเที่ยวตกปลาที่ปากน้ำ เมื่อเดินทางมาถึงคลองโคกขาม ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ลำคลองมีความคดเคี้ยว ทำให้หัวเรือพระที่นั่ง ชนกับกิ่งไม้จนหักลง 

คำศัพท์และความหมาย

เสด็จ         หมายถึง ไป

ประพาส     หมายถึง ไปต่างที่หรือต่างแดน

ทรงปลา     หมายถึง ตกปลา

เรือเอกไชย หมายถึง เรือพระที่นั่งของพระสรรเพชญที่แปด

โคกขาม     หมายถึง คลองโคกขาม

โขนเรือ      หมายถึง ไม้ที่ต่อเสริมหัวเรือ ท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้น

          พันท้ายตกประหม่าสิ้น

สติคิด

โดดจากเรือทูลอุทิศ

โทษร้อง

พันท้ายนรสิงห์ผิด

บทฆ่า เสียเทอญ

หัวกับโขนเรือต้อง

คู่เส้นทำศาล

พันท้ายนรสิงห์ตกประหม่าจนขาดสติ จึงโดดลงจากเรือเพื่อทูลขอพระราชทานโทษประหารชีวิตตามความผิดในกฎมนเฑียรบาล ให้ตัดศีรษะ และตั้งคู่กับโขนเรือไว้ที่ศาล

คำศัพท์และความหมาย

ตกประหม่า หมายถึง เกิดความรู้สึกสะทกสะท้านใจ

ทูล            หมายถึง บอก

อุทิศ          หมายถึง ให้

บท            หมายถึง บทบัญญัติในกฎหมาย

หัว             หมายถึง ศีรษะ

เส้น            หมายถึง เซ่น ซึ่งหมายถึงสังเวยผี หรือเจ้าด้วยอาหาร

          ภูบาลบำเหน็จให้

โทษถนอม ใจนอ

พันไม่ยอมอยู่ยอม

มอดม้วย

พระโปรดเปลี่ยนโทษปลอม

ฟันรูป แทนพ่อ

พันกราบทูลทัดด้วย

ท่านทิ้งประเพณี

พระเจ้าเสือทรงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กลับขอยอมตาย แม้พระเจ้าเสือจะโปรดให้ปั้นรูปปั้นพันท้ายนรสิงห์ แล้วฟันรูปปั้นแทน พันท้ายนรสิงห์ก็ยังทัดทานว่า จะผิดพระราชประเพณีและผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง

คำศัพท์และความหมาย

ภูบาล     หมายถึง พระมหากษัตริย์

บำเหน็จ  หมายถึง ตอบแทนความชอบที่ได้กระทำมา

ให้โทษ   หมายถึง ยกโทษให้

ถนอมใจ  หมายถึง รักษาน้ำใจ

มอดม้วย  หมายถึง ตาย สิ้นชีวิต

ทัด         หมายถึง ทัดทาน ต้านไว้

เรื่องราวกำลังเข้มข้น ไม่รู้ว่าพันท้ายนรสิงห์จะยอมฟังพระเจ้าเสือหรือไม่ หรือจะขอยอมตายจริง ๆ ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ตอนจบ เราแนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ซึ่งไม่ได้มีแค่ตอนจบเท่านั้นนะ แต่มีการวิเคราะห์คุณค่าด้านต่าง ๆ และการอธิบายคำศัพท์เพิ่มเติมด้วย

สำหรับเพื่อน ๆ ชั้น ม.๒ ที่อยากเรียนภาษาไทยกันต่อ เราของแนะนำบทเรียนเรื่อง บทเสภาสามัคคีเสวก ตอนวิศวกรรมาและสามัคคีเสวก และศิลาจารึก หลักที่ 1 หรือจะข้ามไปเรียนวิชาสังคมก็ได้นะ เรื่องลักษณะภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติในทวีปแอฟริกา สนุกมาก ๆ เลยล่ะ ขอบอก

ขอบคุณข้อมูลจาก ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)

แสดงความคิดเห็น