
ในช่วงวัยเรียนอันแสนว้าวุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่น บอกเลยว่าเรื่องเพื่อนนี่นับเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว เพราะเป็นช่วงวัยที่ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน แถมยังต้องใช้เวลาด้วยกันเกือบทุกวัน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดปัญหากวนใจอย่างความรู้สึกที่ว่า ไม่ค่อยมีเพื่อนเลย พอต้องเจอคนใหม่ ๆ แล้วทำตัวไม่ถูก ไม่กล้าเข้าไปทำความรู้จัก ซึ่งนานวันเข้าก็เริ่มส่งผลต่อความสุขประจำวันของเราไปด้วย
วันนี้เราเลยรวบรวมวิธีที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ ได้เริ่มผูกมิตรและสร้างความสนิทสนม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ หรืออยากจะเริ่มต้นทำความรู้จักคนเดิมให้มากขึ้น เผื่อจะช่วยคลายความกังวลใจในเรื่องนี้ได้
01 เริ่มจากการถามตัวเองก่อน
เริ่มจากการถามตัวเองว่า ‘อยากจะมีเพื่อนไหม’ เพราะถ้าบางคนสบายใจกับการอยู่คนเดียวมากกว่า โดยที่ยังอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ปกติ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และไม่จำเป็นต้องพยายามจนฝืนตัวเอง เพราะมิตรภาพเป็นเรื่องของการรับและการให้ ถ้าไม่ได้เกิดจากความเต็มใจของทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้น ก็อาจจะสานสัมพันธ์ต่อไปยากมาก ๆ เลย
แต่ถ้าบางคนรู้สึกว่าการไม่ค่อยมีเพื่อนเป็นปัญหาที่เริ่มกวนใจ เราอยากให้ตั้งคำถามต่อมาว่า ‘อยากจะมีเพื่อนแบบไหน’ เพราะคำว่าเพื่อนของบางคนอาจจะหมายถึง การไปกินข้าว ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด แต่บางคนอาจหมายถึง คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน คุยกันถูกคอ แต่ไม่ต้องตัวติดกันตลอดก็ได้ เราจะได้รู้ว่าตัวเองต้องการเพื่อนแบบไหน แล้วก็พยายามมองหาคนที่น่าจะไปด้วยกันได้ และช่วยให้เราไม่คาดหวังให้คนอื่น เป็นแบบที่เราต้องการ หรือเปลี่ยนตัวเองมากไปจนไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนมีนิยามของความเป็นเพื่อนที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
02 รู้ทัน ‘Spotlight Effect’
“เผลอพูดอะไรออกไปเนี่ย”
“ทุกคนจะคิดว่าเราแต่งตัวแปลกรึเปล่านะ”
“มุขที่เล่นเมื่อกี้น่าอายมากเลย ทุกคนต้องจำได้แน่ ๆ ”
วันแรกที่เจอเพื่อนใหม่ ไม่ว่าจะในโรงเรียน ไปค่าย หรือเจอคนเยอะ ๆ เพื่อน ๆ เคยมีคำถามเหล่านี้บ้างรึเปล่า ซึ่งเราบอกเลยว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะกังวลว่าสายตาของคนอื่น ๆ กำลังจับจ้องเราอยู่ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘Spotlight Effect’ คือ การที่เราคิดว่าคนอื่นกำลังสนใจหรือจับจ้องเราอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ
เช่นเดียวกับวันแรกในโรงเรียน เราอาจจะรู้สึกประหม่า โดยเฉพาะเรื่องที่เราทำพลาดหรือไม่มั่นใจ อย่างการทำซอสหกใส่เสื้อ เดินสะดุด พูดผิด ลิ้นพันกัน ซึ่งเป็นความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผ่านไปแปบเดียวคนก็ลืมแล้ว แต่เรามักจะเผลอคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ จนเสียความมั่นใจ ไม่กล้าคุยกับใครต่อ เพราะฉะนั้น เราอยากให้เพื่อน ๆ รู้ทันตัวเองว่ากำลังเจอ Spotlight Effect อยู่รึเปล่า และอย่าเพิ่งรีบสูญเสียความมั่นใจที่จะพูดคุย หรือเป็นตัวของตัวเองในวันแรกไปล่ะ
03 ฟังให้เป็น
หลังจากที่เรารู้ทันและจัดการตัวเองได้แล้ว พอเจอเพื่อนใหม่ สิ่งที่เราอยากให้เพื่อน ๆ เริ่มทำต่อไป คือ การฟัง ซึ่งคุณ Faye Doell (2003) ได้ศึกษาเรื่องนี้แล้วพบว่า ‘การฟังเพื่อทำความเข้าใจ’ ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ และสร้างความพึงพอใจให้กับคู่สนทนาของเรามากกว่า ‘การฟังเพื่อการตอบสนอง’
ถ้าเพื่อน ๆ อยากจะลองสำรวจตัวเองว่ากำลังฟังแบบไหนอยู่ ให้ลองสังเกตดูว่า เรากำลังเดาว่าต่อไปเขาจะพูดอะไร พยายามคิดว่าจะตอบโต้แบบไหน หรือเชื่อมโยงกับเรื่องของตัวเอง แล้วเล่าต่อทันทีหรือพูดแทรกขึ้นมาเลยรึเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณคร่าว ๆ ที่บอกให้เรารู้ว่า เรากำลังฟังเพื่อการตอบสนองอยู่ ซึ่งนอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการทำความรู้จักอีกฝ่ายแล้ว ยังทำให้เพื่อนคนนั้นอาจจะไม่ค่อยกล้าเล่าอะไรให้เราฟังอีกแล้วก็เป็นได้
ส่วนวิธีการฟังเพื่อทำความเข้าใจ สามารถทำได้โดยการทวนถาม หรือสรุปความเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ เช่น “จากที่ฟังเมื่อกี้เหมือนเธอจะชอบการ์ตูนเรื่องนี้มากเลยนะ” หรือ “ตอนเด็ก ๆ เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ เลยไม่ชอบอะไรแบบนี้ เราเข้าใจถูกไหม” การใช้คำพูดเหล่านี้ ก็เพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าใจตรงกับที่เพื่อนต้องการจะสื่อหรือเปล่า โดยยังไม่ได้เน้นการแชร์เรื่องราวของเราเท่าไร แต่เป็นการพยายามรู้จักตัวตนจริง ๆ ของเพื่อนคนนั้นมากขึ้น จะได้ไม่ตีความหรือเข้าใจกันผิดตั้งแต่แรก แถมยังสร้างความประทับใจให้คู่สนทนาของเราด้วยนะ เพราะใคร ๆ ก็คงรู้สึกดีที่มีคนรับฟังเราอย่างตั้งใจ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วกันเนอะ
04 เปิดใจ จริงใจ และวางใจ
หลังจากที่ได้รู้จักเพื่อนผ่านการฟังแล้ว พอถึงจังหวะที่เราสามารถแชร์เรื่องราวของตัวเอง ก็อยากให้กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนจริง ๆ ของเราออกมา ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นหรือมุมมองของเพื่อนด้วย เพราะบางครั้งเขาก็อาจจะไม่ได้คิดเหมือนเราเสมอไป แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างอาหารที่เราชอบ เพื่อนอาจจะไม่ชอบก็ได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องห้ามอีกฝ่ายไม่ให้กิน หรือพยายามบอกว่าเมนูไหนดีกว่า แต่เป็นการรับฟังอย่างเข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่ชอบ และสื่อสารออกไปด้วยว่าทำไมเราถึงชอบ เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนกันมากกว่า จะได้รู้ว่าทำยังไงต่อไปดี หรือมาเจอกันครึ่งทางเพื่อให้อยู่ด้วยกันต่อไปได้
ดังนั้น การเปิดใจในที่นี้ เลยหมายถึงการเปิดใจให้อีกฝ่ายได้มองเห็นตัวตนจริง ๆ ของเรา แล้วก็เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเขาเช่นกัน โดยสิ่งสำคัญ คือ ‘ความจริงใจ’ เพราะหากเราพูดหรือแสดงความคิดเห็นกัน บนพื้นฐานของความจริงใจ และเป็นห่วงจากใจจริง ยังไงเพื่อน ๆ ก็จะสัมผัสได้อย่างแน่นอน ซึ่งการเปิดใจและความจริงใจที่ว่านี้ จะทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกัน ต่อไปก็จะกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่สบายใจ และอาจจะกลายเป็นคนที่เราสนิทกันไปยาว ๆ เลยก็ได้นะ
ไหน ๆ ก็เปิดเทอมมาสักพักแล้ว ถ้าเพื่อน ๆ อยากจะลองเข้าไปพูดคุยกับคนใหม่ ๆ หรือทำความรู้จักกับใครให้มากขึ้น ก็สามารถนำ 4 วิธีนี้ไปปรับใช้กันได้เลย และถ้าอยากจะเสริมทักษะด้านอื่น ๆ อย่างการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจ หรือ การค้นหาคณะที่ใช่ ก็ติดตามกันต่อได้ใน Blog StartDee นี้ได้เลย หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee สำหรับทบทวนบทเรียนแถมยังหาเพื่อนใหม่ได้ใน Forum ด้วยนะ
Reference
The Standard Podcast. (2018, September 18). รู้สึกไม่มีเพื่อนเลยจะเป็นโรคต่อต้านสังคมไหม และจะเริ่มต้นอย่างไรถ้าอยากผูกมิตรกับใครสักคน. Retrieved July 04, 2020, from https://thestandard.co/podcast/ruok29/
Raab, D. (2017, August 09). Deep Listening in Personal Relationships. Retrieved July 04, 2020, from https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-empowerment-diary/201708/deep-listening-in-personal-relationships
พัชชา พูนพิริยะ. (2019, October 18). Spotlight Effect ทฤษฎีจิตวิทยาที่ทำให้เราไม่ต้องนอยด์อีกต่อไป เมื่อเกิดเรื่องน่าอาย. Retrieved July 04, 2020, from https://thestandard.co/opinion-double-tap-spotlight-effect/
The Friendship Report. (2019, June 25). Retrieved July 04, 2020, from https://forbusiness.snapchat.com/blog/the-friendship-report