ไร่เหล่าคืออะไร: รู้จักไร่หมุนเวียนและภูมิปัญญาการทำไร่ของชาวปกาเกอะญอ

ไร่เหล่าคืออะไร

จากประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิในพื้นที่ทำกินและการจัดการของภาครัฐ จนนำไปสู่แฮชแท็ก #Saveบางกลอย ที่ชวนให้หลายคนตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า “ชาวปกาเกอะญอคือใคร และวิถีการทำไร่ของพวกเขาคือการเผาทำลายป่าจริงหรือ” วันนี้ StartDee อยากพาทุกคนไปสำรวจการทำไร่เหล่า และพัฒนาการของไร่หมุนเวียนที่เป็นทั้งตัวตน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ พร้อมสำรวจที่ทางของการอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ในอนาคตไปด้วยกัน

Banner-Green-Standard

ชาวปกาเกอะญอคือใคร เมื่อชาวไทยหลากหลายกว่าที่เราคิด

เราอาจจะรู้สึกว่าความเป็นไทยมีแบบเดียว และคนไทยก็มีแต่คนเหนือ คนอีสาน คนใต้ และคนภาคกลางเท่านั้น แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมว่าในพื้นที่กว่า 5 แสนตารางกิโลเมตรของประเทศไทย ประชากรชาวไทยของเรานั้นหลากหลายกว่าที่คิดมาก จากฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย (Ethnic Groups in Thailand) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 40 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวภูไท มอญ ม้ง อ่าข่า และอื่น ๆ โดยในบรรดาชาวชาติพันธุ์ที่เป็นชาวเขา ชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง จกอร์ หรือคานยอ) เป็นชาวเขากลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ชาวปกาเกอะญอมีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ จกอร์ (สะกอร์) โพล่ง (โปว์) กแบ (คะยา) และปะโอ (ตองสู) ปัจจุบันชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ในภาคเหนือ 9 จังหวัด และภาคตะวันตกอีก 7 จังหวัด* จากรายงานโครงการสำรวจข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยงโดยเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือเมื่อปี 2560 ระบุว่ามีประชากรกะเหรี่ยงอยู่กว่า 5.5 แสนคน ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

*ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย ตาก แพร่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี  อุทัยธานี

 

เรื่องของไร่เหล่า วิถีของชาวปกาเกอะญอ

หัวใจสำคัญของวัฒนธรรมแบบชาวปกาเกอะญอคือความผูกพันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ ชาวปกาเกอะญอเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  และเรียกการเกษตรแบบหมุนเวียนนี้ว่า ฆคึ๊ (สำเนียงจกอร์) หรือเฆคอะ (สำเนียงโพล่ง) ในการทำไร่หมุนเวียนนี้ ชาวปกาเกอะญอจะเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชที่สืบทอดกันมาใน ‘ไร่เหล่า’ หรือพื้นที่การทำไร่ทั้ง 7 แห่ง ในแต่ละปีพวกเขาจะเลือกไร่มาหนึ่งแห่งเพื่อเพาะปลูกและทำการเกษตร และเมื่อฤดูกาลเพาะปลูกจบลง ไร่แห่งนั้นจะถูกปล่อยให้พักฟื้นตามธรรมชาติ ชาวปกาเกอะญอจะไม่เพาะปลูกในที่ดินผืนเดิมซ้ำ ๆ แต่จะปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองหลังการเพาะปลูก ไร่เหล่านี้จะค่อย ๆ ฟื้นตัวและมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี

 

ในปีแรกหญ้าจะค่อย ๆ งอกปกคลุมผืนไร่จนทั่ว ต้นถั่ว งา พริก มัน ฟักเขียว ฟักทอง และแตงไทยที่หลงเหลือจากฤดูเพาะปลูกครั้งก่อนจะผลิดอกออกผลให้ได้เก็บกิน จนกระทั่งปีที่สอง ตอไม้สูง ๆ ที่ตัดกิ่งก่อนเผาในปีแรกจะเริ่มผลิใบใหม่ หญ้าที่คลุมผิวดินสูงขึ้นมากและแน่นขนัดจนแทบเดินไม่ได้ ในปีที่สองนี้ ต้นสาบเสือจะบานสะพรั่งปกคลุมพื้นที่ไร่จนกลายเป็นสีขาว ชาวปกาเกอะญอจึงเรียกไร่เหล่าปีที่สองนี้ว่า ‘ไร่เหล่าขาว’ สัตว์เล็ก ๆ จำพวกตุ่น อ้น หนู และนกต่าง ๆ  เริ่มพากันเข้ามาอาศัยในไร่ จนกระทั่งปีที่สาม สัตว์ป่าที่ใหญ่ขึ้นอย่างเม่น เก้ง หมูป่า จะเริ่มเข้ามาหากินในไร่เหล่า

ไร่เหล่าคืออะไร-2ภาพความแตกต่างของไร่เหล่าที่ถูกปล่อยให้พักฟื้นในแต่ละปี ขอบคุณภาพจาก Forestbook

เมื่อถึงปีที่ห้า พื้นดินของไร่เหล่าเริ่มมีใบไม้ใบหญ้าเน่าเปื่อยผุพัง ต้นไม้ในไร่เหล่าก็เติบโตจนมีขนาดเท่าโคนแขนโคนขาและกลายเป็นป่าย่อม ๆ มีผลไม้และลูกไม้ให้เก็บกิน บางครั้งก็พบเก้งและกวางมากินลูกไม้ในไร่เหล่าด้วย จนกระทั่งปีที่หก ดินในไร่เหล่าจะอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำไร่ข้าวมากที่สุด เพราะเศษหญ้า ใบไม้ และลูกไม้ทับถมกันกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นดี ในปีนี้พืชในไร่จะสูงและมีลำต้นใหญ่ ใช้มือสองข้างกำไม่รอบ ชาวปกาเกอะญอเรียกไร่เหล่าในปีนี้ว่า “ดู บะ ฉกี่ เจ๊าะ” แปลว่าไร่เหล่าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในทางนิเวศวิทยา ไร่เหล่าที่ถูกปล่อยให้พักฟื้นถือเป็นป่ารุ่นที่สอง (Secondary Forest) มีความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยพบต้นไม้กว่า 242 ชนิด และพบลูกไม้กว่า 345 ชนิดให้ชาวบ้านและสัตว์ป่าได้อาศัยประโยชน์ และหลังจากพักฟื้นมากว่า 6 ปี ไร่เหล่าแห่งนี้จะถูกถางและเผาเพื่อเตรียมดินสำหรับการทำไร่ข้าวในปีต่อไป

 

บุกรุก เผาป่า แผ้วถาง ทำลาย: คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ชาวปกาเกอะญอในบ้านพะอัน จังหวัดเชียงใหม่ จะเริ่มฟันไร่และตัดกิ่งต้นไม้สูง ๆ ให้เหลือแค่ประมาณ 1.5 เมตร แต่จะไม่ตัดต่ำเกินไปกว่านี้เพื่อให้ต้นไม้เหล่านี้แตกกิ่งได้อีกครั้งในปีต่อไป จากนั้นชาวบ้านจะเริ่มทำแนวกันไฟก่อนเผาเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามไปยังป่าส่วนอื่น ๆ แล้วจึงเริ่มจุดไฟเผาเพื่อเตรียมหน้าดิน การเผานี้จะกินเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง เมื่อเสร็จเรียบร้อยชาวบ้านก็จะเดินสำรวจรอบ ๆ แนวกันไฟอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไฟจะไม่ลามเข้าป่า หากพบกองไฟเล็ก ๆ ที่ปลิวข้ามแนวกันไฟมา พวกเขาจะรีบช่วยกันดับทันที

ถ้าต้องเผาป่า แบบนี้ก็ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมน่ะสิ”

สาเหตุที่ ‘การเผาเพื่อเตรียมหน้าดิน' กลายมาเป็นขั้นตอนสำคัญของการทำไร่หมุนเวียนนั่นก็เพราะดินของภูเขาในเขตร้อนนั้นเป็นดินเก่าแก่ตั้งแต่ยุคเทอร์เชียรี มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้าต่ำ มีธาตุอาหารละลายอยู่น้อย แต่ธาตุอาหารส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในใบและลำต้นพืช การตัดกิ่งต้นไม้และเผาหญ้าทำให้ธาตุอาหารและคาร์บอนกลับคืนสู่ผิวดินอย่างรวดเร็ว ดินจึงเหมาะแก่การทำการเกษตรโดยที่ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด และแม้ว่าการเผาเตรียมหน้าดินจะดูเป็นตัวการที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Forestbook ว่า “ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ไร่เหล่าได้พักฟื้น ต้นไม้ในไร่ก็จะเติบโตและดูดซับคาร์บอนเข้าไปในปริมาณเท่า ๆ กับที่ปล่อยออกมา การเผาเตรียมหน้าดินเพื่อทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะจึงไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณคาร์บอนในอากาศแต่อย่างใด”

 

ส่วนปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก เพราะชาวปกาเกอะญอหลายครอบครัวอาศัยอยู่บนภูเขาและทำไร่หมุนเวียนมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ กฎหมายสิทธิที่ดินทำกินที่ออกโดยรัฐเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา เมื่อรัฐนำกฎหมายเหล่านี้มาบังคับใช้ ทว่าไม่ได้ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านและเตรียมทางออกที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายไว้ก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการบีบบังคับให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีชีวิต จากไร่หมุนเวียนที่ใช้เวลา 6 - 7 ปีต่อรอบ ก็ถูกบีบให้สั้นลงจนเหลือแค่ 3 - 4 ปี เมื่อป่าฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ชาวบ้านก็ต้องใช้ปุ๋ยและสารกำจัดวัชพืชมาเป็นตัวช่วย สุดท้ายการทำไร่หมุนเวียนเพื่อยังชีพก็เริ่มหายไป กลายเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่เดิม ๆ ซ้ำ ๆ และเมื่อดินเสื่อมโทรมจนทำการเกษตรต่อไปไม่ไหว หนทางทำกินสุดท้ายของชาวบ้านคือการลาจากถิ่นฐานบ้านเกิด มุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อใช้แรงงาน หากแต่นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตที่พวกเขาต้องการเลยแม้แต่น้อย

เรื่องราวของไร่เหล่าจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของความแตกต่างที่รัฐ (และเรา) ควรจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเคารพในวิถีชีวิตของผู้อื่น ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะนำเสนอแง่มุมที่น่าอนุรักษ์เกี่ยวกับการทำไร่เหล่า สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ และอย่างมากที่สุดคือหวังว่าความเข้าใจนี้จะนำไปสู่หนทางแก้ปัญหาที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย เพื่อที่อนาคตประเทศไทยเป็นบ้านที่น่าอยู่และโอบรับความแตกต่างของคนไทยทุกชนทุกกลุ่ม

เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของมนุษย์ไปกับบทความดี ๆ จาก StartDee


References:

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. นังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, 2550

https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/79

https://www.youtube.com/watch?v=ZR_ymiujQ2Q

แสดงความคิดเห็น