เพื่อน ๆ รู้ไหมว่า...
เด็กไทยร้อยละ 48 เคยเกี่ยวข้องกับการรังแกบนโลกออนไลน์
เด็กไทยร้อยละ 41 เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์
และตัวเลขทั้งสองชุดนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วโลก*
*ผลสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI ; Child Online Safety Index) โดยเอไอเอสและ สถาบัน DQ ระดับโลกร่วมกันจัดทำขึ้น โดยสำรวจจาก 450 โรงเรียนทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2562
สถิติการเกิด Cyberbullying ในสังคมไทยไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในสังคม ในทางกลับกัน Cyberbullying เป็นเรื่องใหญ่ที่เด็กและวัยรุ่นอย่างพวกเราไม่ควรมองข้าม แต่ควรหันกลับมาสำรวจตัวเองสักหน่อยว่า เราเคยเกี่ยวข้องกับ Cyberbullying กันบ้างหรือเปล่า ทั้งในฐานะผู้กระทำและผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาเหล่านี้
Cyberbullying คืออะไร ?
Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นผ่านเครื่องมือสื่อสาร หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น การโพสต์ข้อความด่าทอ การส่งข้อความนินทา คุกคามทางเพศ การปลอมแปลงแอคเคานต์ ฯลฯ เพื่อให้คนอื่นเกิดความเสียหายหรืออับอาย โดยผู้กระทำอาจเป็นคน ๆ เดียวหรือเป็นกลุ่มก็ได้
ไม่ได้โพสต์เอง ถือว่าเป็น Cyberbullying ไหม ?
แม้ไม่ได้เป็นคนโพสต์เอง แต่การรีทวีต แชร์ต่อ หรือคอมเมนต์ ก็นับเป็นการสนับสนุน Cyberbullying เช่นกันเพราะเป็นการเผยแพร่โพสต์นั้นไปสู่สายตาผู้คนอีกจำนวนมาก ต่อให้ต้นโพสต์ถูกลบทิ้งไป แต่ใช่ว่าจะลบสิ่งที่ผู้คนเคยรับรู้ไปแล้วได้ แถมยุคสมัยนี้เรายังสามารถดาวน์โหลด แคป หรือส่งต่อกันได้ง่ายแค่เพียงปลายนิ้ว การแชร์ของเราเพียงครั้งเดียว จึงอาจสร้างความเสียหายมหาศาลต่อชีวิตคน ๆ หนึ่งเลยก็ว่าได้ ดังนั้นถ้าเพื่อน ๆ เห็นการ Cyberbullying เช่น การโพสต์คำหยาบคายดูถูกรูปลักษณ์ภายนอก หรือการเปิดเผยข้อมูลความลับของผู้อื่น เราควรเปลี่ยนจากการแชร์ รีทวีต หรือคอมเมนต์ มาเป็นการกดรีพอร์ต (Report) โพสต์นั้น หรือแจ้งองค์กรที่เกี่ยวข้องแทนจะดีกว่า
รับมือยังไง เมื่อเราเจอ Cyberbullying ?
- ใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่การตอบกลับหรือทำแบบเดียวกัน แต่เป็นการจัดการกับโพสต์ หรือแอคเคานต์นั้นด้วยการกดรีพอร์ต (Report) ให้ผู้บริการสื่อออนไลน์แบนโพสต์นั้นไป หรือการบล็อค (Block) แอคเคานต์นั้นไม่ให้กลับมาคุกคามเราได้อีก
- แจ้งบุคคลหรือองค์กรที่ช่วยเหลือได้ นอกจากพ่อแม่และคุณครู ยังมีองค์กรที่รับฟังปัญหาด้านนี้ เช่น บริการสายด่วนอินเทอร์เน็ตไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
- เอาผิดทางกฎหมาย หากทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง เราสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้เช่นกัน โดยมีทั้งโทษปรับและจำคุก เช่น มาตรา 326 ที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 ที่เกี่ยวข้องกับการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือทำให้เกิดความอับอาย รวมถึงพรบ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอื่น ๆ (ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน https://ictgeneral.police.go.th/?p=434)
- ดูแลใจให้แข็งแรง เมื่อรู้สึกเศร้า หรือรับปัญหานั้นไม่ไหว การเก็บไว้คนเดียวอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพใจที่รุนแรงได้ ดังนั้น เพื่อน ๆ ควรจะบอกเล่าปัญหาให้คนที่เราไว้วางใจ อาจจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน หรือผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าการรับมือ คือการป้องกันไม่ให้เกิดตั้งแต่ต้น โดยเริ่มจากการปรับมุมคิดว่า Cyberbullying ไม่ใช่เรื่องปกติ และเปลี่ยนจากการโฟกัสที่เจตนาว่าแค่ล้อเล่นหรือแกล้งกัน มาเป็นการนึกถึงใจคนที่ได้รับผลกระทบก่อนจะพูด พิมพ์ หรือโพสต์แทน
ถ้าเพื่อน ๆ อยากทำความเข้าใจปัญหา Cyberbullying ให้มากขึ้นก็สามารถอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ใน นิยาย 6 เรื่อง จากโครงการ Joy All Star : Just Typing ที่เสนอมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง Cyberbullying ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังช่วยเพิ่มยอดบริจาคให้กับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิพยาบาลศรีธัญญาด้วยนะ
Reference
มูลนิธิยุวพัฒน์. (2019, May 10). การกลั่นแกล้ง (Bullying) ความรุนแรงในสังคม. Retrieved August 22, 2020, from https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/ข่าวสาร/บทความทั่วไป/การกลั่นแกล้ง-bullying-วัยรุ่น/
Aroundonline. (2019, May 12). ประเทศไทย ติดอันดับ TOP 5 ของโลก เรื่อง Cyberbullying การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่มีผลต่อสภาพจิตใจ. Retrieved August 22, 2020, from https://www.aroundonline.com/thailand-top-5-cyberbullying/
Digital Media and Online Services of News and Entertainment by MCOT Plc. (2020, June 19). Retrieved August 22, 2020, from https://www.mcot.net/viewtna/5eec412be3f8e40aef44da05?read_meta=%7B%22label%22%3A%22articlepage_number2%22%2C%22group%22%3A%22NA%22%7D