หากเพื่อน ๆ ติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคมไทย เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ต้องเคยได้ยินประเด็นเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ กันบ้างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอื่น ๆ อีกมากมาย ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 การจัดการปัญหาที่ไม่ครอบคลุมและนโยบายที่เข้าไม่ถึงคนบางกลุ่มยิ่งขับเน้นภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันผู้คนในสังคมก็เริ่มถกเถียงถึงความช่วยเหลืออย่าง ‘เท่าเทียม’ และ ‘เสมอภาค’ อันเป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้รับมากยิ่งขึ้นด้วย
แต่เพื่อน ๆ เคยสงสัยไหมว่า ‘ความเท่าเทียม’ และ ‘ความเสมอภาค’ นั้นเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำอย่างไร แล้วสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำในมิติไหนบ้าง วันนี้ StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปหาคำตอบ บอกเลยว่าเรียนรู้ไว้จะทำให้เราเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้เยอะเลยล่ะ
ความหมายของ Equality, Equity, Inequality
และจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำ
หากแปลตรงตัวตามความหมาย Equality ก็คือความเท่าเทียม ส่วน Equity ก็คือความเสมอภาค ถึงนิยามของความเท่าเทียมและความเสมอภาคจะยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักสังคมวิทยา แต่คอนเซปต์หลัก ๆ ของความเท่าเทียมและความเสมอภาคก็คือ “การที่ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาส และได้รับผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับอย่างเท่า ๆ กัน” นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมความเท่าเทียมและความเสมอภาคจึงเป็นภาวะของสังคมในอุดมคติที่หลายคนมุ่งหวังให้เกิดขึ้น
ทว่าในสังคมไม่ได้มีคนอยู่แค่กลุ่มเดียวหรือรูปแบบเดียว เพราะสังคมไทยในความเป็นจริงนั้นเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม (Multicultural society) มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย มีคนชายขอบ* มีบุคคลที่มีข้อจำกัดด้านความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ และมีคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้หลอมรวมอัตลักษณ์ของตนเป็นหนึ่งเดียวกับบรรทัดฐานและค่านิยมหลักของสังคมอยู่ด้วย บ่อยครั้งที่ความแตกต่างนี้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การละเลย เพิกเฉยต่อคนบางกลุ่ม รวมไปถึงการเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มเป็นพิเศษ เมื่อการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเหล่านี้รวมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ รากฐานทางสังคม และวัฒนธรรมความเชื่อแบบเดิม ๆ ความไม่เท่าเทียม (Inequality) และความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ จึงถือกำเนิดขึ้นมา
*คนชายขอบ (marginal people) หมายถึงกลุ่มคนที่มีชีวิตอยู่กึ่งกลาง หรือห่างไกลจากความเป็นสังคมหลัก ไม่ว่าจะเป็นความห่างไกลทางภูมิศาสตร์หรือวัฒนธรรม (Samutkhup and Kitti-Asa, 1999) การ ยกตัวอย่างประชากรชายขอบ เช่น ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชนเผ่า (ethnic) คนพิการ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
นึกภาพความเหลื่อมล้ำไม่ออก ?
ลองมาดูสถานการณ์จำลองเรื่องความไม่เท่าเทียมกันเถอะ !
ถ้านึกไม่ออกว่าความไม่เท่าเทียมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมอย่างไร เราอยากให้เพื่อน ๆ ลองจินตนาการถึงสถานการณ์สมมติต่อไปนี้…
กำลังจะมีกิจกรรมร้อยลูกปัดเกิดขึ้น ณ ห้องเรียนแห่งหนึ่ง คุณครูประจำชั้นวางถุงใส่ลูกปัดไว้หน้าห้องเรียน จากนั้นจึงบอกให้เด็ก ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งห้อง ไม่ว่าจะเป็นหน้าห้อง กลางห้อง มุมห้อง หรือหลังสุดของห้องเข้ามาหยิบลูกปัดกันได้ตามสบาย
เด็ก ๆ ทุกคนกรูกันเข้าไปหยิบลูกปัด เด็กที่อยู่หน้าห้องถึงถุงลูกปัดก่อนจึงหยิบได้มากกว่า แถมยังมีโอกาสได้เลือกลูกปัดสวย ๆ ด้วย ในขณะที่เด็กที่อยู่หลังห้องได้ลูกปัดมาเพียงหยิบมือเดียว เพราะกว่าจะวิ่งไปถึงลูกปัดก็เหลือน้อยซะแล้ว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะวิธี (หรือนโยบาย) การแจกลูกปัดของคุณครูเอื้อให้เด็กที่อยู่หน้าห้องมากกว่าเด็กหลังห้องนั่นเอง และเมื่อกิจกรรมร้อยลูกปัดเริ่มขึ้น ผลจากความเหลื่อมล้ำของจำนวนลูกปัดในมือเด็ก ๆ ก็เริ่มทำให้เราเห็นความแตกต่าง เพราะในขณะที่เด็กหน้าห้องสามารถร้อยลูกปัดเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือหลาย ๆ เส้น เด็กหลังห้องหลายคนกลับร้อยได้แค่แหวนวงเล็ก ๆ เพราะลูกปัดไม่พอ และเมื่อคุณครูแก้ปัญหาด้วยการแจกลูกปัดเด็กทุกคนเพิ่มในปริมาณที่เท่า ๆ กันก็ไม่ได้ทำให้ปัญหานี้หมดไป เพราะถึงจะทำให้เด็ก ๆ ที่มีลูกปัดน้อยมีโอกาสสร้างสรรค์เครื่องประดับมากขึ้นก็จริง แต่เด็ก ๆ ที่มีลูกปัดเยอะอยู่แล้วก็จะยิ่งมีลูกปัดมากขึ้นไปอีก
ดังนั้นวิธีที่จะลดความเหลื่อมล้ำของจำนวนลูกปัดในห้องเรียนนี้จึงเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนที่มีลูกปัดมากกับคนที่มีลูกปัดน้อยด้วยการแก้ไขระบบ โดยช่วยเหลือผู้ที่มีศักยภาพในการแข่งขันต่ำกว่าให้ได้เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม ปัญหานี้ก็อาจจะพอทุเลาลงได้
อีกหนึ่งตัวอย่างภาพที่อธิบายความเหลื่อมล้ำได้ดีก็คือภาพเด็กเก็บแอปเปิ้ลภาพนี้ ในรูปแรกพูดถึง Inequality หรือความไม่เท่าเทียม เพราะต้นแอปเปิ้ลดันโน้มเอียงไปฝั่งซ้ายมากกว่า ทำให้เด็กฝั่งซ้ายรอเก็บผลแอปเปิ้ลกินได้สบาย ๆ ในขณะที่เด็กฝั่งขวาไม่ได้แอปเปิ้ลเลย
เมื่อลองแก้ปัญหา ‘อย่างเท่าเทียม (Equality)’ ด้วยการมอบบันไดให้เด็กทั้งสองคน เด็กฝั่งซ้ายมือก็ยิ่งเก็บแอปเปิ้ลได้มากขึ้นไปอีก ส่วนเด็กฝั่งขวาก็ยังเก็บแอปเปิ้ลไม่ได้เหมือนเดิม นี่จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ‘การช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม’ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำไม่ได้ทำให้ทุกคนมีโอกาสเสมอภาคกันแต่อย่างใด แต่เมื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด โดยให้บันไดที่สูงกว่ากับเด็กทางขวาผู้มีโอกาสด้อยกว่าก็จะทำให้เด็กทั้งสองเก็บแอปเปิ้ลได้อย่างเสมอภาค (Equity) แต่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดก็คือการแก้ไขระบบให้เป็นไปอย่างยุติธรรม (Justice) อย่างในภาพที่สี่ เราจะเห็นการนำไม้มาค้ำต้นแอปเปิ้ลให้ตั้งตรง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กทั้งสองฝั่งเข้าถึงทรัพยากรอย่างแอปเปิ้ลได้อย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง
บทสรุปและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยเองก็มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยข้อมูลจากซีรีส์งานวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ (Thailand Future Foundation Series on Inequality) โดยมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า “โอกาสทางการศึกษาของเด็กแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน” โดยเด็กจากครอบครัวที่รวยที่สุด 20% ของประเทศนั้นมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรีมากกว่าเด็กจากครอบครัวที่จนที่สุด 20% ของประเทศถึง 3 เท่า ส่วนในแง่ของคุณภาพการศึกษา ผลการสอบประเมินผลในระดับนานาชาติอย่าง PISA ก็แสดงให้เห็นว่าเด็กจากครอบครัวที่รวยที่สุด 20% สามารถทำคะแนนผ่านเกณฑ์วิชาคณิตศาสตร์ได้มากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนที่สุด 10% ถึง 2 เท่า ทั้ง ๆ ที่ 'การศึกษาที่ดี' เป็นหนทางที่จะทำให้ประชาชนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตนเองเพื่อให้ได้รับโอกาสและรายได้ที่ดีกว่า แต่พวกเขากลับไม่ได้รับโอกาสนี้อย่างเท่าเทียมกันตั้งแต่แรก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แสดงถึงความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด และ StartDee ก็เล็งเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เราจึงมุ่งมั่นที่จะส่งต่อการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ ในราคาที่เข้าถึงได้ให้เข้าถึงเด็กไทยให้ได้มากที่สุด และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้
มีใครบางคนเคยกล่าวว่าถึงแม้จะนำมนุษย์ทุกคนกลับมาที่จุดเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดแล้วแจกทรัพยากรและทรัพย์สินให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จากนั้นให้ทุกคนใช้ชีวิตต่อไป ถึงจะทำแบบนั้น ความสามารถในการต่อยอดทรัพย์สินที่มีอยู่ของมนุษย์แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และสุดท้ายก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกอยู่ดี สังคมแห่งความเท่าเทียมในแบบที่มนุษย์ทุกคนมีเงินเท่ากัน มีบ้านมีรถเหมือน ๆ กันจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่สิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้คือการช่วยเหลือให้คนในสังคมทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันต่างหาก
บทความที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมและความเสมอภาค
- โซตัสคืออะไร ถอดบทเรียนวัฒนธรรมรับน้องที่เด็กใหม่ไม่อยากเจอ
- ไร่เหล่าคืออะไร: รู้จักไร่หมุนเวียนและภูมิปัญญาการทำไร่ของชาวปกาเกอะญอ
- ‘ระยะห่างเชิงอำนาจ’ ที่สะท้อนผ่านวรรณคดีเรื่องอิศรญาณภาษิต
- สีผิวไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนมองบทเรียนวรรณคดีไทยและประเด็นเรื่องสีผิว
References:
https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2014/04/8-ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในไทย_full_report.pdf