Fun facts วันนี้อาจไม่ Fun สักเท่าไหร่เพราะเป็นเรื่องใหญ่ระดับมนุษยชาติ หากเพื่อน ๆ ติดตามข่าวการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิดก็จะทราบข่าวเกี่ยวกับ herd immunity และการชะลอการระบาดของโรคในประชากร ซึ่งเป็นมาตรการของรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปหาคำตอบกันว่าเจ้า herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่นี้คืออะไร มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่เราได้เรียนกันมาอย่างไร
Herd immunity คืออะไร
Herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ คือภาวะที่ประชากรที่มีภูมิคุ้มกันภายในตัวมีมากขึ้นจนมีสัดส่วนที่มากพอที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันติดเชื้อได้ ดังนั้นเมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นในกลุ่มประชากรนี้อีกครั้ง โอกาสที่เชื้อจะระบาดก็ลดลงเพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโรคนั้นแล้ว นอกจากนี้ยังทำให้โอกาสในการติดเชื้อของผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้น้อยมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะโอกาสที่ผู้ไม่มีภูมิคุ้มกันจะได้เจอกับผู้ติดเชื้อนั้นน้อยลงนั่นเอง
แต่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย (immunization) ของประชากรแต่ละคน
คนเสื้อสีฟ้า = คนสุขภาพดีแต่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน COVID-19
คนเสื้อสีแดง = คนที่ติดเชื้อ COVID-19 และไม่มีภูมิคุ้มกัน
คนเสื้อสีเหลือง = คนที่มีภูมิคุ้มกัน COVID-19 และมีสุขภาพดี
ภาพที่ 1 จากทางด้านซ้าย จะเห็นว่ายังไม่มีใครมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งต่อมาในภาพขวา เชื้อได้แพร่กระจายในหมู่คนเสื้อสีฟ้า ที่สุขภาพดี
ภาพที่ 2 จากทางด้านซ้าย แม้จะเริ่มมีบางคนมีภูมิคุ้มกัน แต่ในภาพขวา เรายังคงเห็นการแพร่กระจายของเชื้ออยู่ดี เนื่องจากสัดส่วนของผู้มีภูมิคุ้มกันยังคงน้อยอยู่
ภาพที่ 3 จากทางด้านซ้าย จนเมื่อสัดส่วนของผู้มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นจนเกือบครบทุกคน การแพร่กระจายของเชื้อจะถูกควบคุมและชะลอลง
ทบทวนความรู้เรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ในที่สุดเวลาแห่งการทบทวนความรู้ของพวกเราก็มาถึงแล้ว! เพื่อให้เข้าใจเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้น เพื่อน ๆ ต้องเข้าใจเนื้อหาวิชาชีววิทยาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันก่อน การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้องเริ่มจากการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายของประชากรแต่ละคน ซึ่งภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์นั้นสามารถสร้างได้จากหลายวิธี จำแนกออกเป็น 2 ประเภทให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้
1. ภูมิคุ้มกันแบบรับมา (passive immunization) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับแอนติบอดีโดยตรง แบ่งตามที่มาของแอนติบอดีได้ 2 ประเภท
1.1 Passive naturally
คำว่า naturally แปลว่า ‘อย่างเป็นธรรมชาติ’ แปลตรงตัวเลยก็คือภูมิคุ้มกันที่รับมาโดยธรรมชาติ เช่น ทารกแรกเกิดได้รับอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin; Ig) หรือแอนติบอดีชนิด IgG จากคุณแม่ตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ หรือการได้รับน้ำนมสีเหลืองของคุณแม่ตอนแรกคลอดที่เรียกว่า colostrum
1.2 Passive artificially
คำว่า artificially นั้นมีความหมายว่า ‘อย่างไม่เป็นธรรมชาติ’ ซึ่งตรงข้ามกับ naturally เลย ภูมิคุ้มกันแบบรับมาแบบ Passive artificially จึงหมายถึงการได้รับภูมิคุ้มกันแบบสำเร็จรูปพร้อมใช้ซึ่งอาจสกัดมาจากคนหรือสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ก่อนแล้ว ตัวอย่างเช่น การฉีดซีรั่มต้านพิษงูให้กับผู้ที่ถูกงูกัด ข้อดีของภูมิคุ้มกันแบบรับมาชนิดนี้ก็คือตอบสนองต่อแอนติเจนรวดเร็ว ร่างกายนำไปใช้ได้ทันที เพราะกรณีฉุกเฉินอย่างเช่นงูกัด ถ้ารอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเองอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันซึ่งคงไม่ทันการณ์แล้ว แต่ภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะอยู่ได้ไม่นาน สามารถถูกกำจัดได้โดยร่างกาย และถึงจะสะดวกแต่ก็มีข้อควรระวังเพราะอาจพบอาการแพ้ซีรั่มในบางบุคคลได้ด้วย
2. ภูมิคุ้มกันแบบก่อเอง (active immunization) เกิดจากการที่ร่างกายรับแอนติเจนหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาแล้วสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง แบ่งได้อีก 2 ประเภท คือ
2.1 Active naturally
คือการที่ร่างกายได้รับแอนติเจน ไวรัส เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ อย่างบังเอิญ ไม่ได้ใช้วิธีการทางการแพทย์ช่วยเหลือแต่อย่างใด แล้วร่างกายก็เกิดการสร้างแอนติบอดีเพื่อตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมนั้นขึ้นมา ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือการเป็นไข้หวัดต่าง ๆ
2.2 Active artificially
คือการที่มนุษย์ใช้เทคนิคทางการแพทย์ต่าง ๆ ช่วยให้ร่างกายได้รับเชื้อแล้วสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ตัวอย่างเช่น การรับวัคซีน (แบคทีเรียหรือไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงจนไม่สามารถก่อโรคได้) เข้าร่างกายเพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
ถึงจะใช้เวลานานเพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี แต่ข้อดีของภูมิคุ้มกันแบบก่อเองก็คือภูมิคุ้มกันนี้สามารถอยู่กับเราได้นานเพราะมีการสร้าง memory cell ไว้ ครั้งต่อไปถ้าร่างกายเจอแอนติเจนตัวเดิมร่างกายก็จะตอบสนองได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังจากทบทวนความรู้กันไปแล้วเพื่อน ๆ พอจะเดาออกไหมว่า ถ้าต้องรับมือกับการระบาดของโคโรนาไวรัสเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้น ร่างกายของเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันรูปแบบไหน
เฉลยก็คือ! ภูมิคุ้มกันแบบก่อเอง (active immunization) นั่นเอง อย่างที่เรารู้กันว่าหากร่างกายได้รับเชื้อโรคหรือไวรัสและสามารถต่อสู้จนหายจากโรคนั้นได้ ร่างกายก็จะสร้างแอนติบอดีและ memory cell ขึ้นมา ทำให้ครั้งต่อไปที่เราเจอแอนติเจนตัวเดิมเราก็อาจจะมีอาการไม่รุนแรงหรืออาจจะไม่ป่วยเลย ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันแบบก่อเองแบบ Active naturally นอกจากนี้ หากในอนาคตเราคิดค้นวัคซีนขึ้นมาได้ การรับวัคซีนและกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบก่อเองแบบ Active artificially ด้วย (แต่ถ้าหากเชื้อหรือไวรัสมีการวิวัฒนาการไปจนแอนติบอดีของเราจำไม่ได้ ร่างกายก็ต้องเตรียมรับมือกันใหม่อีกครั้งนะ) และเมื่อประชากรส่วนใหญ่สร้างภูมิคุ้มกันในตัวได้สำเร็จและมีจำนวนมากพอก็สามารถเกิด Herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาได้
ถือว่าระบบภูมิคุ้มกันเป็นหนึ่งในกลไกการรับมือกับโรคติดต่ออันชาญฉลาดของร่างกายมนุษย์เลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการปล่อยให้เกิดภูมิคุ้มกันแบบหมู่ในประชากรก็มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเยอะมาก และยังคงเป็นที่ถกเถียงของนักวิจัยและประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะการมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากย่อมหมายถึงต้องมีการรับมือด้านสาธารณสุขที่เพียงพอ ยังไม่รวมการสูญเสียประชากรจากการเสียชีวิตของผู้ที่มีอาการรุนแรงและผู้สูงอายุ ซึ่งอาจมีจำนวนมาก นอกจากนี้การสร้างภูมิคุ้มกันแบบก่อเองในประชากรแต่ละคนยังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ซึ่งปัจจุบัน COVID-19 ยังถือว่าเป็นโรคใหม่ที่น่ากลัว ยังไม่มีวัคซีนสำหรับรักษาโดยตรง แถมข้อมูลเกี่ยวกับโรคและไวรัสก็ยังมีน้อยมาก ทุกวันนี้นักวิจัยทั่วโลกก็ยังเร่งศึกษาและทำความรู้จักพฤติกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ตัวนี้ให้มากขึ้นเพื่อหาหนทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพให้กับพวกเราอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราทำได้คือพยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดและพื้นที่เสี่ยงเพื่อไม่ให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการติดตามข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป เรียนรู้ ทำความเข้าใจและปรับตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ส่วนเพื่อน ๆ ที่ต้องสอบในอีกไม่นานนี้ ก็ต้องหาทางเรียนออนไลน์รับมือเจ้าเชื้อโคโรนาไวรัสแล้วล่ะ
แล้วเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน!
Reference:
Fine, P., Eames, K., & Heymann, D. L. (2011). "Herd Immunity": A Rough Guide. Clinical Infectious Diseases, 52(7), 911–916. doi: 10.1093/cid/cir007
โชติมณี เทพชัย. (n.d.). 360 Concepts in Biology Part 1(1st ed.). Bangkok.
Hanage, W. (2020, March 15). I'm an epidemiologist. When I heard about Britain's 'herd immunity' coronavirus plan, I thought it was satire | William Hanage. Retrieved March 16, 2020, from https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/mar/15/epidemiologist-britain-herd-immunity-coronavirus-covid-19